รักต้นไม้ดีกว่ารักคนเจ้าชู้
พรุ่งนี้ หมูไม่กลัวน้ำร้อนจะไปขึ้นเขียงที่กรมป่าไม้
ในการประชุมการป่าไม้ ประจำปี 2555
หัวข้อหลัก “ป่าไม้ให้ชีวิต สร้างเศรษฐกิจไทย”
ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้
ระหว่างวันที่ 12-17 กันยายน 2555
กรมป่าไม้จัดตารางให้ขึ้นเวทีไม่ตรงกับตารางบิน จึงต้องเดินทางมาล่วงหน้า1วัน ระหว่างเหิรหาวได้พิจารณาสภาพน้ำฝนบนที่สูง พบกว่าภาคอีสานชุ่มฉ่ำกำลังดี แต่พอเข้าเขตภาคกลางเห็นน้ำปริ่มพื้นที่ในวงกว้าง คาดว่า..ถ้าฝนกระหน่ำลงมาอีก รายการลอยคอก็อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก พี่น้องที่อยู่ในลุ่มอย่าประมาทก็แล้วกันนะครับ
ระหว่างที่นกขมิ้นเหลืองอ่อนมาเอ้อระเหยลอยชายในบางกอก ฝนตกพร่ำๆ..จึงขยาดที่จะออกไปไหน ไม่กล้านัดพบญาติโกทั้งหลายด้วยเกรงว่าจะทุลักทุเลเรื่องรถติด แต่บ่ายวันนี้ก็หนีไม่ออก ขาใหญ่โทรมาให้ไปเลี้ยงต้อนรับขาที่ใหญ่กว่าจากประเทศจีน ที่ภัตตาคารฮั่วเซ่งเฮง อยู่แถวๆปากซอยสุขุมวิท101 ดูเหมือนจะมีชื่อเสียงเรื่องหูฉลาม ..เจ้าภาพสั่งอาหารชั้นเลิศมาเต็มโต๊ะ ลิ้นบ้านนอกชิมแล้วก็ยังงั้นๆแหละ หูฉลาม หมูหัน เป๋าฮื้อ ปลานึ่ง กุ้งแก้ว ปูผัด สลัด ฯลฯ ค่าอาหารนับหมื่น แต่ก็อร่อยสู้ซุปผักสดสวนป่าราคา10บาทไม่ได้หรอกนะเธอ
ยังนั่งงงว่า..ค ว า ม อ ร่ อ ย วั ด จ า ก อ ะ ไ ร ?
เ ร า ค ว ร จ ะ ตี ร า ค า แ ล ะ คุ ณ ภ า พ อ า ห า ร จ า ก อ ะ ไ ร ?
หลังจากกลับมาถึงโรงแรม ก็นั่งคิดการบ้านที่จะไปโม้พรุ่งนี้สิเธอ ว่าเราจะสะท้อนมุมมองตามโจทย์ที่ได้รับมาในหัวข้อ “การพัฒนาทางเศรษฐกิจกับการจัดการป่าไม้อย่างยิ่งยืน”อย่างไร?
ผู้ดำเนินการเสวนา : รองอธิบดีกรมป่าไม้
ผู้ร่วมเสวนา
- ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ
- ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกป่าและFAO..
ในประเด็น : เศรษฐกิจก็จะเอา ความยั่งยืนก็จะเอา
เราจะจับปลา2มือสำเร็จได้อย่างไร?
ผ ม ข อ อ นุ ญ า ต เ ส น อ ค ว า ม รู้ สึ ก นึ ก คิ ด อ ย่ า ง นี้ ค รั บ พี่ น้ อ ง
1. ในกรณีความเป็นไปของการป่าไม้ไทย ข้อเท็จจริงก็คือยังตกอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง เรายังไม่สามารถปลูกฝังให้คนไทยรักและเข้าใจป่าไม้ได้อย่างที่ควรจะเป็น ทุกขั้นตอนอยู่ในสภาพลูบหน้าปะจมูก มีคนรักป่าไม้แค่หยิบมือเดียว แต่มีคนจดจ้องเขมือบป่าไม้และพื้นที่ป่าตาเป็นมันจำนวนมาก ใครมือยาวก็สาวเอาได้มาก ใครมือน้อยก็ตกกุ้งฝอยกันยุบยับ คำถามก็คือว่า..เราจะสร้างศรัทธาการป่าไม้เข้าไปในสำนึกคนไทยได้อย่างไร? ที่ผ่านมามีความพยายามอยู่ไม่น้อย แต่ผลลัพธ์ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ต้นไม้/ป่าไม้ของประเทศนี้
ยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกประหารโดยไม่รู้ว่ามีความผิดอะไร?
2. สังคมไทยบางส่วนยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้อย่างแท้จริง สนใจแต่มูลค่าที่ได้มาง่ายๆ จะเห็นว่า..เราส่งออกไม้สักเป็นสินค้าหลักในอดีต ส่งขายๆๆจนป่าหมดเกลี้ยงประเทศปัจจุบันต้องสั่งเข้าไม้จากต่างประเทศมาใช้ มั น เ กิ ด อ ะ ไ ร ขึ้ น กั บ ป ร ะ เ ท ศ นี้ เราควรฉุกคิดเรื่องความบกพร่องเชิงนโยบายบ้างหรือไม่? เราเอาสมบัติของชาติมาปู้ยี่ปู้ยำโดยไม่มีแผนจัดการให้อยู่ในกรอบที่สมดุลทางระบบนิเวศ ทุกวันนี้ยังพูดไม่ได้ว่า..เราจะยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าได้อย่างมีประสิทธิผลด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะใช้เชิงรุกหรือเชิงรับ ..ก็ยังอยู่ในสไตล์ไทยแลนด์ ถามว่า..เราจะยกเครื่องเรื่องนี้ให้สำเร็จด้วยกุศโลบายใด และเมื่อไร องค์กรไหนเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบตัวจริง?
3. ปัจจุบันเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นตามลำดับ แทนที่จะหยิบยกต้นเหตุของการเกิดผลกระทบโดยตรงจากอะไรมาสังเคราะห์ เรายังเล่นละครโทษปี่โทษกลองและโยนกลองกันสนุก ถ้าศึกษาและวิจัยให้ถ่องแท้ ก็จะเห็นว่า..ถ้าประเทศเราช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ให้สมบูรณ์มากกว่านี้ ป่ า ก็ จ ะ เ ป็ น เ ค รื่ อ ง มื อ บ ร ร เ ท า ส า ธ า ร ณ ภั ย ไ ด้ อ ย่ า ง วิ เ ศ ษ ช่วยลดปัญหาได้ดี ดีกว่าการขุดคลอง ทำกำแพงกั้นน้ำ และวิธีตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหลายแสนล้านบาท ถ้าเราเอางบประมาณบางส่วนของงบป้องกันน้ำท่วมประมาณ100,000ล้านบาท มาส่งเสริมปลูกป่า คุณค่าที่จะเกิดขึ้นคงจะช่วยการทำกำแพงคอนกรีต การทำประตูน้ำ การเตรียมบรรจุถุงทราย ฯลฯ ให้เกิดเป็นแผนงานป้องกันภัยพิบัติถาวรในระยะยาว เราต้องการเห็นแผนปลูกป่าแทรกอยู่ในแผนป้องกันอุทกภัยของชาติ ไม่ทราบว่าในเวลาอันใกล้นี้จะได้เห็นไหมหนอ..ในเมื่อท่านที่เกี่ยวข้องตาบอดสี มองไม่เห็นพลังของธรรมชาติที่แฝงอยู่ในบริบทป่าไม้ ว่ามันมีคุณประโยชน์หลากหลายวัตถุประสงค์อย่างไร?
4. ทำอย่างไรจะให้คนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นป่าไม้เป็นสมบัติของชาติที่ล้ำค่า นอกจากช่วยกันทะนุถนอมแล้ว ยังรณรงค์มุ่งมั่นที่จะปลูกป่าไม้เสริมสร้างสภาพแวดล้อมกันด้วยความเข้าใจและตั้งใจ จนเกิดเป็นกระแสรักชาติรักป่าไม้ เกิดความตระหนักตรงกันว่า การช่วยกันรักษาป่าคือการรักษาความปกติสุขของชาติ
5. ช่วยกันขยายแนวคิดให้แก่ประชากรในประเด็นที่ว่า..คนเราทำมาหากินในพื้นที่ตรงไหน ควรจะทะนุบำรุงสภาพแวดล้อมตรงนั้นให้อุดมสมบูรณ์ด้วยความรับผิดชอบต้นทุนของธรรมชาติ ให้ตระหนักอย่างท่องแท้ว่า ป่าไม้คือต้นทุนที่สำคัญของชาติ คุณภาพของทรัพยากรป่าไม้คือความมั่นคงของชาติ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ
6. ปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างบ้านเรือนก้าวหน้าไปไกล มีวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ๆที่สามารถใช้ทดแทนไม้ได้เป็นอย่างดี ราคาถูก คุณภาพแข็งแรงคงทน ประหยัดค่าแรงและลดเวลาในการก่อสร้าง จากการทดลองสร้างอาคารในหมู่บ้านโลก เราได้ทดลองใช้อิฐดินซีเมนต์ เหล็ก ไม้เชอร่า แผ่นสมาร์ทบอร์ดและยิปซั่มบอร์ท ฯลฯ ซึ่งใช้ประโยชน์ทดแทนไม้ได้แทบทั้งหมด ถ้ารณรงค์ให้ใช้วัสดุเหล่านี้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน หรือส่งเสริมการสร้างบ้านดิน ก็จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในทุกระดับ ไม้ควรใช้ในกรณีตบแต่งภายในในรูปของเครื่องเรือน ของใช้ไม้สอย ก็จะเป็นแนวทางลดการใช้ไม้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
7. ควรส่งเสริมการปลูกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ประโยชน์นานัปการในเวลาสั้นกว่าการปลูกไม้ยืนต้น ควรเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ๆที่ค้นคิดได้จากไม้ไผ่มาส่งเสริมให้แพร่หลาย ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการแปรรูปไม้ไผ่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ถ้าหยิบยกเอาเรื่องไม้ไผ่มานำเสนออย่างเป็นเรื่องเป็นราว อานุภาพของไม้ไผ่ก็จะปรากฏให้เห็นทางเลือก/ทางออกที่เป็นรูปธรรมทางด้านเศรษฐกิจและการจัดการป่าไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะช่วยลดอัตราการใช้ไม้ธรรมชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม
8. ปัจจุบันประเทศเรามีการส่งเสริมการปลูกยางพาราอย่างแพร่หลาย การปลูกยางพาราแบบกระต่ายตื่นตูม โดยหวังผลเรื่องรายได้สูง (ซึ่งก็ไม่แน่ไม่นอน ยังมีอัตราความเสี่ยงซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง) เป็นการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ควรระแวดระวัง ยางพาราไม่มีรากแก้ว ลักษณะลำต้นรูปทรงจะมีใบไปกองอยู่ข้างบน ถ้าเจอพายุเข้าในสักครั้ง สวนยางก็ล่มได้ง่ายๆชาวสวนยางก็จะได้รับความเสียหาย น่าจะมีแปลงทดลองปลูกยางพาราร่วมกับไม้ยืนต้นอื่นนอกจากได้ความหลากหลายแล้ว ยังช่วยป้องกันหายนะจากพายุดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง อนึ่งกระแสยางพาราเกิดขึ้นทั่วทั้งอาเซียนและเอเซีย ในไม่กี่ปีข้างหน้า..ถ้าสวนยางกรีดยางพร้อมกัน ความต้องการใช้ยางจะก้าวกระโดดมารองรับปริมาณยางพาราได้จริงหรือ การที่ประเทศนี้รณรงค์ปลูกยางพารา มากกว่าการปลูกไม้ทั่วไป แสดงว่าหลักการปลูกป่าไม้เพื่อการค้าและอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน ยังตอบข้อมูลเชิงคุณค่าและผลประโยชน์เปรียบเทียบใช่หรือไม่?
9. นอกจากเรามีปัญหาเรื่องการบุกรุกป่า บุกรุกที่ทำกิน บุกรุกสร้างรีสอร์ต ปัญหาที่รุนแรงขึ้นในขณะนี้คือการลักลอบตัดไม้พยุง พบว่าไม้พยุงในป่าธรรมชาติหมดไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ไม้พยุงที่อยู่ในเรือกสวนไร่นาเกษตรกรก็ไม่หลงเหลือเช่นกัน ถ้าเราไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเหิมเกริมของมอดไม้ก็จะลามปามไปขโมยตัดไม้ของสวนป่าเอกชน และไม้ที่ชาวบ้านรักษาไว้ตามหัวไร่ปลายนา อนึ่ง โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังชีวมวลบางแห่ง ก็มีส่วนสนับสนุนการลักลอบตัดไม้ทางอ้อมอยู่ไม่น้อย
10. ปัจจุบันเกิดโรคระบาดเกี่ยวกับไม้โตเร็วทั้งประเทศ ทำให้ผลผลิตมีประมาณลดลง อีกทั้งจะเป็นเงื่อนไขให้กับเกษตรกรที่จะปลูกไม้โตเร็วลดหรือล้มเลิกพื้นที่ปลูกไม้ดังกล่าว ประเด็นเหล่านี้เกษตรกรกำลังรอคำตอบ ควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้โตเร็วควรจะค้นหาคำตอบให้พบโดยเร็วไว ก่อนที่พื้นที่ป่าไม้ส่วนนี้จะหายไป
11. กรมป่าไม้คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกป่ามาเป็นเวลานาน ทรัพยากรบุคคลเหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีพื้นที่ปลูกป่าไม้เชิงประจักษ์ มีชุดความรู้ มีทักษะและประสบการณ์ตรง ที่สำคัญมีวัฒนธรรมพื้นถิ่น ถ้าได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่ขยายความคิดเรื่องการปลูกป่าไม้ในระดับต่างๆ โดยรัฐฯจัดงบประมาณให้ศูนย์เหล่านี้เป็นสถานที่ฝึกอบรมเรื่องการปลูกสร้างสวนป่าในบริบทต่างๆ ก็จะเป็นการกระจายจุดขยายนโยบายป่าไม้ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น อาจจะทดลองในศูนย์ที่มีความพร้อม ให้เสนอหลักสูตรการอบรม ประมาณการค่าใช้จ่ายรายหัว ทำการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องปีละพันกี่หมื่นราย ก็จะทำให้ทราบข้อมูลการฝึกอบรมทำความเข้าใจเรื่องการป่าไม้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นงานเชิงรุกด้านการป่าไม้ได้อีกทางหนึ่ง ช่วยเสริมการจัดอบรมโดยหน่วยงานของรัฐฯ
12. ควรให้เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกสร้างสวนป่าได้ทำการวิจัยในเรื่องที่พื้นที่เหล่านั้นสนใจ เช่น การผลิตน้ำควันไม้,การผลิตถ่านไบโอชา, การสร้างธนาคารแม่ไม้, การปลูกไม้เพื่อพลังงานทดแทน, การประดิษฐ์เครื่องเรือนจากไม้โตเร็ว, การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ , การใช้ใบไม้เลี้ยงปศุสัตว์ โดยเบื้องต้นจัดให้มีนักวิชาการป่าไม้เป็นพี่เลี้ยง เราก็จะได้นักวิจัยการป่าไม้ต้นทางที่เกิดจากการปฏิบัติเพิ่มขึ้น การแสวงหาความร่วมมือลักษณะนี้ เป็นการถ่ายทอดวิชาความรู้ลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้อีกทางหนึ่งค่อนข้างชัดเจน
13. ควรสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมปลูกป่าและดูแลพื้นที่ป่าไม้ต้นแบบในระดับระดับ ครัวเรือน ชุมชน อบต. โรงเรียน สถาบันการศึกษา วัด และสำนักสงฆ์ทั่วประเทศควรจะกำหนดเป็นนโยบาย1หมู่บ้าน1ป่าไม้1ต้นแบบ ภาคราชการจะได้มีแนวร่วมจากภาคประชาคม เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์กิจกรรมและกิจการป่าไม้ในแบบการมีส่วนร่วมอีกแนวทางหนึ่ง
14. รัฐฯควรสะสางกฎหมายป่าไม้ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมปลูกป่าไม้ และความเกี่ยวเนื่องให้ชัดเจนทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เพื่อโน้มน้าวให้เกษตรกรและกลุ่มอุตสาหกรรมปลูกป่าไม้หันมาร่วมมือเป็นพันธมิตรกับภาครัฐมากขึ้น
15. ควรใช้สื่อปลุกกระแสให้คนไทยรัก
และใส่ใจกับการปลูกและดูแลต้นไม้มากขึ้น
ประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่า..
“การปลูกป่าไม้ปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ของประชาชนไทยทุกคน”
“คุณภาพของป่าไม้ คือคุณภาพของสังคม”
“ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่เป็นต้นทุนหลักขอชาติ”
“ความมั่นคงของป่าไม้คือความมั่นคงของชาติ”
“ภัยพิบัติไม่น่ากลัวถ้าคุณมีป่าไม้เป็นเพื่อน”
“ปีนี้คุณปลูกต้นไม้แล้วหรือยัง”
“ช่วยกันสร้างประเพณีปลูกป่าไม้ให้เกิดขึ้นในชุมชน”
“ไม่มีต้นไม้ต้นไหนขี้เกียจแม้แต่ต้นเดียว”
“ปลูกต้นไม้ไม่มีคำว่าขาดทุน”
“ต้นไม้ให้อากาศสดชื่น ให้หมากผล ให้ปัจจัยที่จำเป็น ฯลฯ “-
“คุณจะส่วนแก้ปัญหาชาติได้อย่างแน่นอนถ้าคุณปลูกต้นไม้”
“ป่าไม้เป็นสมบัติของชาติเป็นมรดกของคุณทุกคน”
“ต้นไม้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้น”
“ต้นไม้ทุกต้นรักคุณ”
“รักต้นไม้ปลอดภัยจากการอกหักแน่นอน”
“รักคนเจ้าชู้ เปลี่ยนมารักต้นไม้ดีกว่า”
:: เอกสารประกอบการนำเสนอหัวข้อ
“การพัฒนาทางเศรษฐกิจกับการจัดการป่าไม้อย่างยิ่งยืน”
วันที่16 กันยายน 2555 เวลา 9.30-12,00 น.