ออแกนิกส์ ออแกน็อค

อ่าน: 4947

งานวิจัยหลายสำนัก โดยเฉพาะของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ในปี 2003 ชี้ว่า พืชผักที่ปลูกแบบออแกนิกส์ น่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์มากกว่าพืชที่ปลูกตามวิถีเกษตรกระแสหลักในปัจจุบัน เพราะผักออแกนิกส์มีวิตามินและสารประเภทโฟลีฟินอล

โฟลีฟินอล ช่วยกระบวนการสันดาปในร่างกายและทำหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง บางตัวเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ บางตัวช่วยต้านมะเร็ง และบางตัวช่วยกำจัดเชื้อโรคในร่างกาย พืชผลิตสารโฟลีฟินอลตามธรรมชาติเพื่อต่อสู้กับแมลงและเชื้อโรคต่าง ๆ การฉีดยาฆ่าแมลงส่งผลให้พืชผลิตสารโฟลีฟินอลน้อยลง เพราะมีมนุษย์มาช่วยแบ่งเบาภาระ ในขณะเดียวกันการใส่ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมความหลากหลายทางชีวภาพ จนพืชไม่มีวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตสารโฟลีฟินอล

ถ้ามนุษย์สำนึกได้ ว่าตนเองเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของธรรมชาติ ต้องพึ่งพาธรรมชาติและให้ความเคารพในธรรมชาติ สถานการณ์ของโลกจะไม่เป็นอย่างในปัจจุบันอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามเมื่อจำต้องเผชิญกับความจริงที่นับวันจะเสื่อมโทรมรอบด้าน จะมีชาวโลกสักกี่คนที่ฉุกคิดว่าตนเองจะมีส่วนรับผิดชอบอย่างไร คิดและทำอะไรบ้าง วันนี้เราจะทำอย่างไรให้ความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี ๆ

เราจะวนเวียนอยู่กับเรื่องเขายายเที่ยง ที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนแค่นั้นหรือ สองร้อยปีนับแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา โลกใบนี้เกิดภาวะอลหม่านจับต้นชนปลายไม่ถูก เมื่อกิเลสวิ่งนำหน้าความรู้ความชอบธรรมและความพอดี จากวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ นอกจากไม่ใส่ใจดูแลรักษาแล้ว ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว จะทำอย่างไรให้พวกโรงงานอุตสาหกรรมสำนึกว่า กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนจะต้องไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เอาแค่เรื่องน้ำเสียและควันพิษที่มองเห็นง่าย ๆ ก็อ่วมแล้ว

คืนนี้ทีวีเสนอเรื่องการนำต้นปาล์มน้ำมันแก่ที่หมดอายุแล้ว มาผลิตเป็นฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ผู้บุกเบิกได้ประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับการเจาะและกลึง สามารถกลึงต้นปาล์มทำแจกันขนาดใหญ่ได้สวยงามมาก มีโรงแรมสั่งจองกันให้ควัก เพิ่มมูลค่าได้ต้นละหลายหมื่นบาท เป็นการค้นพบทางเลือกใหม่ที่น่าชื่นชม บังเอิญมาตรงกับเรื่องที่ผมกำลังตอแยอยู่กับต้นตาลที่ชาวบ้านโค่นทิ้ง คิดว่าจะออกแบบทำอะไรไว้บ้าง แต่ขาดเครื่องมือมาสนองความคิด ทำให้ผลิตอะไร ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มได้น้อยอย่างน่าเสียดาย ความคิดจึงมาอยู่ที่การทำภาชนะปลูกผักติดล้อ ทำโต๊ะนั่งจิบน้ำชาทั้งๆที่น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้

ไหน ๆ ก็ตั้งหัวข้อออแกนิกส์ ก็อยากจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่ยากหรอก ถ้าเรามองดูต้นทุนที่สวนครัวรอบบ้าน เราจะพบว่ามีไม้ผักยืนต้นมากมายหลายชนิด ที่เกิดเองบ้าง เราปลูกบ้าง ด้วยเห็นว่ามันอยู่ได้เองโดยธรรมชาติ พวกเราจึงไม่ไปโอ๋เอาใจแบบปลูกผักล้มลุก ที่ต้องให้น้ำใส่ปุ๋ยฉีดยาฆ่าแมลง ครั้นเมื่อหันมาพิจารณาเรืองโฟลีฟินอลหรืออาหารออแกนิกส์ เราพบว่าเรามีต้นทุนสิ่งนี้อยู่แล้วค่อนข้างดีที่ประเทศอื่นต้องอิจฉา

ชาวอีสานรู้จักผักพื้นเมืองและยังบริโภคกันอยู่เสมอ สะเดา ขี้เหล็ก เพกา ผักติ้ว ผักเม็ก ไผ่ หัวปลี หน่อหวาย มะยม มะรุม มะกรูด มะนาว มะกล่ำ มะตูม มะกอก มะดัน มะสัง ตะลิงปลิง ผักหวาน ชะมวง กระเฉด ยังมีชื่อผักพื้นเมืองอีกนับร้อยชนิด ผักพวกนี้ละครับที่เป็นยิ่งกว่าโคตรออแกนิกส์ บริสุทธิ์ผุดผ่องไร้ปุ๋ยเคมีและสารพิษใด ๆ เพราะเกิดขึ้นภายใต้สภาพธรรมชาติแบบไทย ๆ  เฉพาะที่สวนป่ามีก็ไม่น้อยกว่า 40 ชนิด

ในกลุ่มผักล้มลุกที่เราปลูกแบบอินทรีย์ก็มีสารพัดชนิด ผักหลายตัวมีแมลงรบกวนน้อยมาก ยกตัวอย่างน้ำเต้าที่ผมชอบปลูกนี่แหละ ยังไม่พบแมลงชนิดใดรบกวน ผักสลัด กุยไฉ่ ก็ปลอดแมลงตามคุณสมบัติที่พิเศษในตัวเอง น้ำเต้านอกจากจะนำมาประกอบอาหารได้อร่อยแล้ว ยังมีคุณสมบัติทางยาที่น่าสนใจอีกด้วย

น้ำเต้า…ควบคุมเบาหวาน

น้ำคั้นของน้ำเต้ามีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลกระเพาะอาหาร แต่ที่จีนและอินเดียกินน้ำเต้าควบคุมเบาหวาน



รู้จักน้ำเต้า

น้ำเต้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Legenaria sicerari Standl

ชื่อภาษาอังกฤษคือ Bottle Gourd อาจแปลได้ว่า แตงขวด

ชางกะเหรี่ยงเรียก คิลูส่า ส่วนทางเหนือเรียก มะน้ำเต้า

ชาวอินเดียเรียก Lauki หรือ Dudhi

น้ำเต้าเป็นพืชวงศ์บวบ แตงกวา ฟักทอง คือวงศ์ Cucubitaceae มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ เป็นไม้เถาขนาดใหญ่มีความยาวกว่า 10 เมตร แต่มีระบบรากตื้น

ลำต้นเหลี่ยมมีมือเกาะที่แยกออกเป็น 2 ทาง

ใบมีขนาดใหญ่คล้ายรูปหัวใจ ก้านใบยาว ผิวใบมีขนนุ่มทั้ง 2 ด้าน มีรอยหยักบริเวณใบ

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ มีก้านช่อดอกยาวกว่า 10 เซนติเมตร ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ปนต้นเดียวกันแต่ต่างดอกแยกเพศกัน ดอกตัวผู้มีลักษณะคล้ายถ้วย กลีบดอกเป็นสีขาว ส่วนดอกตัวเมียมีรังไข่ลักษณะคล้ายผลเล็กๆ ติดอยู่ที่โคนดอก ผสมพันธุ์โดยใช้แมลง

ผล น้ำเต้ามีลักษณะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เปลือกมีสีเขียวเป็นลาย ผลมีเนื้อในสีขาวหรือสีเขียวค่อนข้างจะนุ่ม

สามารถเก็บเกี่ยวผลน้ำเต้าเพื่อนำมากินได้หลังดอกบาน 6-7 วัน แต่ถ้าเป็นผลไม้น้ำเต้าแก่จะมีรสขม

น้ำเต้ามีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น

1. น้ำเต้าพื้นบ้านเป็นน้ำเต้าทรงเซียน ซึ่งเป็นทรงที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ

2. ผลกลมเกลี้ยง ไม่มีคอขวดเรียกว่าน้ำเต้า

3. ผลกลมยาวเหมือนงาช้าง เรียกว่าน้ำเต้างาช้าง

4. ผลคล้ายน้ำเต้าพื้นบ้าน แต่เนื้อในรสขม ต้นและใบขมด้วย เรียกว่าน้ำเต้าขมชนิดนี้หายาก ใช้ทำยาเท่านั้น


ประโยชน์ของน้ำเต้า

ใช้ประกอบอาหาร

คนไทยกินผลน้ำเต้าอ่อนต้มกับน้ำพริก ผัดกับหมูใส่ไข่ ผลอ่อน ยอดอ่อนใช้แกงส้มกับปลาเนื้ออ่อน หรือกุ้งสด รสชาติอร่อยมาก

ชาวอินเดียใช้เนื้อผลน้ำเต้าประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน

ใน สหรัฐอเมริกานำเนื้อผลน้ำเต้าอ่อนมานึ่ง ผัดในกระทะ ชุบแป้งทอด ต้มสตูว์หรือใส่ในแกงจืด โดยได้อิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากชาวเอเชียและเม็กซิกัน โดยเลาะเมล็ดและใยหุ้มเมล็ดออก แผ่นน้ำเต้าตากแห้งชุบซีอิ๊วกินกับปลาดิบญี่ปุ่นได้ดี

ทา งอนใต้ของทวีฟแอฟริกา คนพื้นเมืองจะกินใบน้ำเต้าหรือผักชนิดหนึ่ง ใส่ในซุปข้าวโพด หรือดองสดไว้กิน ใบแห้งเก็บไว้กินเสบียงยามยาก แต่ผลอ่อนจัดเป็นอาหารยามที่ขาดแคลน ผลแก่ขมไม่นิยมกิน

ใช้อุปโภค

ผล น้ำเต้าแก่ ปล่อยให้เนื้อแห้ง ขูดเนื้อในออกให้หมด ใช้บรรจุน้ำดื่ม เบียร์ ไวน์ บางคนเอาเชือกถักหุ้ม ป้องกันถูกของแข็งกระแทกแตกดูสวยงามดี ส่วนชนิดที่มีจุกขวด แต่ไม่ยาวมาก มักเห็นในภาพยนตร์จีนเรื่อง จี้กงทำเป็นที่ใส่เหล้าห้อยเอว ชาวบ้านเลยเรียกว่า น้ำเต้า-จี้กงถ้าจับผลงอ หรือรัดรอบผลขณะเติบโตสามารถจัดรูปร่างของผลแห้งเพื่อรองรับการใช้งานได้ตาม ความต้องการ

ชาว จีนในอดีตเชื่อว่า น้ำเต้าทำให้บ้านเกิดความร่มเย็น จึงมีแขวนไว้ในบ้านเกือบทุกครัวเรือน ส่วน น้ำเต้างาช้างมีจุกยาว นิยมเอามาทำเป็นลูกซัด หรือลูกแซก สำหรับเล่นประกอบเพลง ให้เสียงดังไพเราะดีมากในอดีตมีคนนำผลน้ำเต้าแห้งหลายลูกผูกรวมกันเพื่อทำ เสื้อิลูกชีพพยุงตัวลอยน้ำได้ด้วย

ใช้เป็นยา

แพทย์แผนไทยใช้รากน้ำเต้าขมเป็นยาแก้ดีแห้งขับน้ำดีให้ตกลำไส้

ใบน้ำเต้าเป็นยาดับพิษแก้ตัวร้อน ร้อนใน กระหายน้ำ พบว่ายาเขียวทุกชนิดมักเข้าใบน้ำเต้าหมด

น้ำเต้าเป็นยาภายนอก นำใบสดโขลกผสมกับเหล้าขาว ทาถอนพิษร้อน แก้ฟกช้ำ บวม แก้อาการพองตามตัว แก้เริม งูสวัสได้ดีมาก

ชาวอินเดียใช้ประกอบอาหารให้ผู้ป่วยเบาหวานและโรคความดันเลือด

บทความต่างประเทศกล่าวถึงฤทธิ์ขับปัสสาวะของเปลือกลำต้นและเปลือกผลน้ำเต้า

น้ำคั้นผลมีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยและแผลกระเพาะอาหาร

ที่ประเทศจีนและอินเดียมีการกินน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน มีเว็บไซต์เสนอเมนูคุมเบาหวานใช้น้ำเต้าหลายแห่ง

งาน วิจัยที่ประเทศอินเดีย ปี พ.ศ.2549 พบว่าสายสกัดน้ำเต้าด้วยคลอโรฟอร์มและแอลกอฮอล์ ที่ 200 และ 400 มก./กก. น้ำหนักหนูยับยั้งการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดี แต่เพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีในหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีปริมาณไขมันสูงเป็นสัด ส่วนโดยตรงกับปริมาณการกินสารสกัด และลดปริมาณคอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์และไขมันชนิดไม่ดีในหนูที่มีปริมาณไขมันในเลือด

ที่มา นิตยสารหมอชาวบ้าน

« « Prev : ไม่อร่อยยินดีคืนกอด

Next : ภาควิชาแคว๊กศาสตร์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 มกราคม 2010 เวลา 9:51

    หมอพื้นบ้านกล่าวว่า สมุนไพรตัวเดียวกัน เราเอามาปลูกกับมันขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นต่างกัน เพราะคุณสมบัติในดินมันต่างกัน สมุนไพรตามธรรมชาตินั้นมีสรรพคุณทางยามากกว่า ชาวบ้านที่เป็นหมอยาจึงขึ้นป่าไปเอายามาจากธรรมชาติ หากเราไม่รักษาป่า เราก็ไม่มีสมุนไพรที่มึสรรพคุณทางยาที่ดีกว่า

    มนุษย์เราเอา “เรา” เป็นตัวตั้ง ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อ “เรา” มากเกินไป เราไม่น้อมนำตัวเองเข้ากับธรรมชาติบ้าง ยิ่งบางคนบางส่วนบางพวกก็สุดโต่งไปเลย

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 มกราคม 2010 เวลา 13:19

    ขอบคุณที่ให้ข้อมูล จุดพิเศษ ที่มนุษย์ไม่ค่อยจะรู้เรื่องป่าๆ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.44104909896851 sec
Sidebar: 0.15722703933716 sec