ประชุมการพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพ

อ่าน: 1849

วันนี้ตื่นก่อนไก่ อาบน้ำแต่งตัวจิบชาอุ่น ๆ แล้วก็ชวนสารถีคู่ใจขับรถไปประชุมที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช ตอนแรกคิดว่าจะไม่ได้ไปเพราะนัดลูกน้องมาทำงานตรึม แต่เจ้าหน้าที่ติดตามมาถึงบ้าน เอาเอกสารมาให้เซ็นเป็นการมัดจำว่าจะไปให้เขาแน่ๆ ประชาชนก็ควรมีความรับผิดชอบใช่ไหมครับ สวมหัวโขนเป็นกรรมการแล้วก็ต้องทำหน้าที่แบบอุ้ยสร้อยนั่นแหละ เราลงเรือลำเดียวกันแบกหัวโขนเทิ่ง ๆ (หนักเป็นบ้า) เขาสั่งมาเราก็ต้องไป ในเอกสารไม่บอกสถานที่ ดีว่ารู้จักอาม่าซึ่งเป็นขาใหญ่โคราชอยู่แล้ว ถามแป๊บเดียวก็รู้ที่หมาย เจ้าเป็นไผดีอย่างนี้เอง ใครบ่อยู่ในเครือข่ายชาวฮานับว่าวาสนาตกต่ำอย่างน่าเสียดาย (ขอบใจหมอเบิร์ดตาดีจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใส่แว่นสักกะหน่อย แคว๊กๆ)

ตามแผนงานมีจอมยุทธที่ยุ่งเกี่ยวกับการทำเรื่องนำร่องจากหลายสำนัก ที่จะกำหนดทิศทางเป้าหมายการพัฒนาต้นแบบเขตสุขภาพในสำนักงานสาธารณสุขเขต 14 (นครชัยบุรินทร์) ผมชอบใจการตั้งชื่อกลุ่มมาก ที่หมายถึงนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์  มีผอ.โรงพยาบาล ตัวแทนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขจังหวัด คณะแพทย์ อบต. พยาบาล กลุ่มแพทย์ชนบท ผู้แทนท้องถิ่นภาคประชาชน ประมาณ 50 ชีวิต ร่วมกันพิจารณาโจทย์ยกแรกตามหัวข้อข้างล่างนี้

  • มุมมองต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย
  • ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์
  • บทบาทแต่ละภาคส่วนต่อระบบสุขภาพ
  • รูปแบบการกระจายอำนาจของเขตสุขภาพ

น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ได้โยนหินถามทางชวนคิด ..ภาพอนาคตของเขตสุขภาพควรจะเป็นยังไง เราคงไม่พูดถึงเรื่องสุขภาพเชิงเดี่ยว แต่จะค้นหาวิธีที่จะทำให้คนไทยรักตัวเอง รับผิดชอบสุขภาพตนเอง ช่วยกันดูแลกันเอง ซึ่งอาจจะโยงไปถึงความเชื่อ จารีตประเพณี วัฒนธรรมขององค์กร ฯลฯ บังเอิญผมเป็นคนขี้โรค แล้วพี่น้องชาวเฮต่างมะรุมมะตุ้มช่วยกันประคับประคอง ช่วยกันเสนอแนะผมควรจะสังคายนาสุขภาพตัวเองอย่างไร?  เนื้อหาที่พี่น้องชาวเฮดูแลผมนั้นสำคัญนัก มันเป็นเรื่องเชิงรุกยิ่งกว่าการรุกของระบบใด ๆ เพราะไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วม แต่เป็นการระดมความรู้ ช่วยการเรียนรู้อย่างสนุก และกำลังจะขยายความอธิบายมิติของการจัดการสุขภาพภาคประชาชน ที่นำร่องไปถึงเป้าหมายการพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพโดยไม่รู้ตัว

เรื่องสุขภาพไม่เคยนิ่ง มีโรคใหม่ ๆ มาตอแยมากขึ้น มาแล้วก็ไม่จากไปไหน โรคเอดส์ยังอยู่ โรคมะเร็งยังอยู่ ไข้หวัดนก ไข้หวัด 2009 โรคเบาหวาน ความดัน ยาบ้า อุบัติเหตุ (ที่ภาษาหมอเรียกว่าสาเหตุภายนอกการป่วยและการตาย) จำนวน 3,577 ราย อัตราตายประชากรต่อแสนคน 54.25 และยังมีโรคบ๊อง ๆ บวม ๆ ตามมาอีกเป็นกะตั๊ก โรคเนื้องอก กลุ่มโรคติดเชื้อและปรสิตบางชนิด โรคระบบไหลเวียนเลือด โรคระบบหายใจ โรคระบบย่อยอาหาร โรคระบบสืบพันธุ์ร่วมปัสสาวะ โรคต่อมไร้ท่อ โภชนาการและเมตะบอลิสั่ม โรคระบบประสาท

น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้บรรยายเรื่อง “ประสบการณ์เขตสุขภาพของนานาชาติ” และ ” เรื่องมุมมองต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย และระบบสุขภาพที่พึงประสงค์” เปิดประเด็น ตัวอย่างการจัดการบริการสุขภาวะต่างประเทศ ที่ไหนถูกจัดไว้ที่ลำดับเท่าไหร่และมีความต่างกันอย่างไร แล้ววกมาดูบ้านเรา ..ต้องรู้ร้อนรู้หนาวกับผู้มารับบริการ เป้าหมายใหญ่-กลาง-เล็ก อยู่ตรงไหน หาหุ้นส่วนให้เจอ แล้วมาตั้งเป้าหมายร่วมกัน ที่สำคัญต้อง “ไม่หน้างอ รอนาน” มีความเบิกบานไว้บริการแบบสร้างมิตรภาพยืนยาว คุณหมอยกกรณีตัวอย่างประเทศอังกฤษ แคนนาดา สวิสเซอแลนด์ เยอรมัน เล่าให้ฟังว่าเขามีวิธีบริหารบริการสุขภาพอย่างไร ผมเห็นว่าประเทศตะวันตกเหล่านี้มีความพร้อม เงื่อนไขทางสังคมก็ดีกว่าของเรามาก การพิจารณารายละเอียดของประเทศเหล่านี้ช่วยจุดชนวนแนวความคิดได้ดีพอสมควร แต่ก็ขอให้คุณหมอช่วยเติมกรณีการจัดการในกลุ่มประเทศตะวันออก อย่างจีน พม่า ภูฐาน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ประกอบด้วย เพราะเห็นว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีปัญหาใกล้เคียงกับของเรา จะได้เรียนรู้การทำงานบนฐานความไม่พร้อม ถ้าเอาจุดแข็งทั้ง 2 ส่วนมาดูน่าจะได้สไตล์เขตสุขภาพแบบไทย ๆ  คุณหมอให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ของบังคลาเทศน่าสนใจที่สุด

น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กระตุกที่ประชุมด้วยคำถามเด็ด ๆ เป็นระยะ ๆ

“เขตสุขภาพเพื่ออะไร”

“วิธีทำงานที่สำคัญ”

“บทบาทเชิงระบบของสปสช.”

“การทำงานกับภาคีต่างๆ”

” ถ้าได้สตังส์เพิ่ม ได้อำนาจเพิ่ม แล้วบริการสุขภาพดีขึ้นจริงหรือเปล่า”

“ความรู้เรื่องซื้อบริการสุขภาพ”

“ตั้งเป้าร่วม ปรับเป้าเป็นระยะ ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป มีวิธีเรัียนรู้ร่วมกัน มีตัวอย่างการรายงาน โดยเฉพาะวิธีริเริ่มโดยสปสช. “

“เวลาคนใช้ปํญหาการบริการใครรับหน้า เวลามีปัญหาเรื่องเงินใครรับผิดชอบ เวลามีปัญหาการให้บริการใครเป็นเจ้าภาพ”

“แทนที่จะโอนไม่โอนสถานีอนามัย คุยกันก่อนดีไหม จะก้าวเดินกันอย่่างไร?”

“เขตสุขภาพควรมีหน้าตายังไง ถ้ามีจริงอยากให้เปลี่ยนอะไรบ้าง ทำให้เป็นจริง-วิธี-ออกแบบ-กรณีตัวอย่าง”

“ภาพใหญ่ บทบาทแต่ละภาคส่วน”

ข้อเสนอที่ตรงกับแผนการบริหารกำลังคนสาธารณสุขที่ผมไปเกี่ยวข้อง ช่วงนี้ให้พิจารณาเอาคนทีี่มีมาทำงานในส่วนที่ขาดให้ได้ เดินไปเดินมารับ 15,000-35,000 นั้นมีอยู่จริงในหลายหน่วยงาน (เพิ่มความรู้ เพิ่มเงิน) จะง่ายกว่าไปหาคนใหม่ บริหารค่าตอบแทนให้เหมาะสม ระเบียบจ่ายค่าตอบแทนใหม่ พบว่าโรงพยาบาล 80 % อยู่ในฐานะจ่ายเงินเพิ่มได้ ช่วยแก้เรื่องอู้งาน และหมดกำลังใจการทำงาน

-ให้ความรู้ เพิ่มค่าตอบแทน ให้แรงจูงใจ

-จ้างคนที่จบแล้วมาทำงาน จะง่ายกว่าส่งคนไปเรียน จบมาก็ถูกเอกชนแย่งตัวไป

-ช่วยทำให้เห็นภาพ ไม่ใช่ลงทุนแล้วสูญเปล่าเหมือนบางกระทรวง

เขตสุขภาพจะเกิดขึ้นได้ จะต้องอธิบายวิธีให้ชัดมากกว่าการคำนวณตัวเลข ถ้าเขตสุขภาพทำงานเก่ง จะนำไปสู่มิติใหม่ๆ   (อนามัยเชิงรุกหน้าตาเป็นยังไง) ช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มตามรายจังหวัด 4 กลุ่ม ให้เวลา 1 ชั่วโมง แล้วให้ตัวแทนกลุ่มมานำเสนอ ทุกกลุ่มตั้งใจออกแบบกันจนสมองแฉะ มีข้อเสนอดี ๆ น่าสนใจพอควร บังเอิญเป็นแนวคิดของคนที่อยู่ในระบบเป็นส่วนใหญ่ จึงวนเวียนอยู่ในกรอบในความเคยชิน เรื่องนี้หลังจากได้ทดลองลงภาคสนาม เรียนรู้วิธีทำงานแบบอิงระบบและการจัดการความรู้ ประสานชุดความรู้ในภาคีพื้นที่อาจจะได้พบคำตอบ ถ้าเริ่มจากการจุดประกายใหม่ ๆ  คุยกันให้ตระหนักว่าทำไมถึงต้องทำเรื่องนี้ มองหาพระเอกในหน่วยงานในพื้นที่มาเป็นแกน เชื่อมต่อคนกับงาน คนกับองค์กร หาวิธีเฉลี่ยประโยชน์และความรับผิดชอบให้เหมาะสม

ชาวบ้านทำเรื่องปากท้องอยู่แล้ว วิถีไทยมีต้นทุนอยู่มากในรูปของภูมิปัญญา แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก จะประสานกับการแพทย์ปัจจุบันให้เนียนได้อย่างไร หมอนวด หมอฝังเข็ม หมอสมุนไพร ไม่ควรมองข้าม บริหารเงิน+บริหารใจ เปลี่ยนอำนาจเป็นอำนวย ใช้พระเดชร่วมกับพระคุณ คำนึงถึงคุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคมเป็นเป้าหมาย

ยกสุดท้าย   น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ให้การบ้าน

-บทบาทหน้าที่ของเขตสุขภาพควรมีอะไรบ้าง

-กลไกประกอบด้วยใครบ้าง

-อำนาจหน้าที่ และเครื่องมือที่จำเป็น

-พันธกิจ อยากให้เขตสุขภาพทำอะไรบ้าง

-การบริการปฐมภูมิ เขตสุขภาพจะเสริมเรื่องนี้อย่างไร?

-สิ่งที่ยากที่สุดคือการออกแบบที่สมบูรณ์ มีน้ำยา ร่วมมือกับองค์กรอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

-ยากที่สุดคือการออกแบบเชิงโครงสร้าง คิดใหม่เป็นอย่างไร

-ให้เงิน ให้เท่าไหร่ ให้ความรู้ ยากตรงให้ยังไง

เรื่องตั้งไข่ก็มีรายละเอียดซับซ้อนน่าปวดขมองอย่างนี้ละครับ จะต้องผ่านการลงมือปฏิบัติภาพต่าง ๆ ก็จะค่อยชัดขึ้น ผมเจอเรื่องเขตพื้นที่การศึกษามาเต็ม ๆ  ตอนนี้มาเจอเรื่องเขตสุขภาพอีก การเรียนรู้สู้สิ่งใหม่จำเป็นต้องอาศัยหน่วยกล้าตาย หรือพวกหมูไม่กลัวน้ำร้อนมาลุย ปัญหาอยู่ที่ว่าจะหาตัวจริงเสียงจริงเจอไหม ผมมีการบ้านกับเรื่องนี้เยอะ คงจะต้อง ๆ คลี่เบา ๆ ช้า  ๆ ไม่งั้นความคิดสะดุดขาดวิ่นหมด ถ้าอ่านแล้วปวดเฮดก็ผ่านไปนะครับ ในภาคอื่นก็อาจจะมีการจัดประชุมอย่างนี้อีก  ถ้าท่านมีส่วนเกี่ยวข้องมีอะไรดี ๆ ก็ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะขอรับ

ข่าวแถมพก..

คณะนักศึกษาแพทย์จุฬาพร้อมอาจารย์ 5 ท่าน รวม 35 ชีวิต

จะมาเข้าค่ายที่สวนป่าเดือนเมษายน

รายละเอียดแน่นอนจะประสานมาอีกที

ผมต้องการรับสมัครวิทยากรอาสา

ท่านใดอยากมาช่วยก้าวออกมาข้างหน้า 1 ก้าว

แคว๊กๆ

« « Prev : คิดถึงเจ้าจึงเว้าวอน

Next : เฮฮาศาสตร์วาระจร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มกราคม 2010 เวลา 11:08

    แวะมาเรียนรู้ครับ….อิอิ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มกราคม 2010 เวลา 13:26

    อิอิ กำลังประชุมกลุ่มครับ
    ประเด็น วิธีการจัดตั้งและบริหารเขตสุขภาพในเขต 4 ครับ

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มกราคม 2010 เวลา 13:44

    ใครอยู่ในเครือข่ายชาวฮานับว่าวาสนาตกต่ำอย่างน่าเสียดาย > แหงะ ไหงงั้นล่ะคะพ่อ 555555

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มกราคม 2010 เวลา 15:28

    แก่แล้วก็เลอะเลือนยังงี้แหละ
    เขียนปะแปะไปเรื่อยเหนื่อยคนอ่าน
    ถ้าช่วยแก้ช่วยไขในเนื้องาน
    เชิญวิจารณ์เสนอด้วยช่วยๆกัน

    แคว๊กๆ

  • #5 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มกราคม 2010 เวลา 16:19

    ป้าหวานขอออกความคิดในเรื่องที่ป้าหวานประสพนะคะ  ป้าหวานคิดว่าการสื่อสารแบบไป-กลับ สำคัญมาก เท่าที่สัมผัสคือ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆยังไม่ได้จ๊ะเอ๋กัน  มองแบบระยะสั้น หรือ มองแบบระยะยาว ก็ต้องลุกอยู่ดี แต่ลุกฝ่ายเดียวไม่ได้  ต้องลุกทั้ง 2ฝ่าย สร้างเครือข่าย ฮิฮิ แคว๊กๆ  อันนี้คนดูออกความเห็นค่ะ  คนชกก็ชกไป…แคว๊กๆ

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มกราคม 2010 เวลา 18:43

    ดีครับป้าหวาน

  • #7 handyman ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2010 เวลา 9:03

        ถึงตอนนั้น อยู่ไหน ก็จะทำตัวให้ว่าง และจะไปครับ .. นึกถึงคราว นศ. แพทย์ชนบท จากชลบุรี .. อยากเรียนรู้ อยากแลกเปลี่ยน อยากเจอคนกลุ่มแบบนี้อีกครับ ..  ศาสตร์ - ศิลป์ และ กุศล .. มีอะไรมากน้อยอย่างไรในตัวพวกเขา เสียดุลย์ด้านใดไปหรือไม่  อยากรู้ อยากฟัง อยากแจมครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.035670042037964 sec
Sidebar: 0.047162055969238 sec