เรื่องบ้านนอก : P2

โดย sutthinun เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 4:06 ในหมวดหมู่ การเมือง การปกครอง กฎหมาย, สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 1823

บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงเร็วมากในรอบ 50 ปี ถ้านึกย้อนหลังแล้วเหลือเชื่อจริงๆ จากความเป็นอยู่ในบ้านนอกสมัยผมยังเด็กๆ ทั้งตลาดมีบ้านเรือนไม่กี่แถว แถวที่ว่านี้เป็นบ้านชั้นเดียว สร้างด้วยเทคนิคเมืองจีน ที่ยังเอาดินเหนียวโป๊ะไว้ใต้หลังคาชั้นหนึ่ง พื้นเป็นดินทุบแน่นแข็ง ปูนซีเมนต์เพิ่งจะเข้ามาปลายปี 2494 เตี่ยเอามาลาดพื้นหน้าบ้าน ชาวส่วยมาเห็นนั่งลูบคลำ บอกว่ามันแข็งและเย็นดี ขอนอนกลิ้งดูหน่อย ตะเกียงเจ้าพายุเข้ามาเวลาไล่เลี่ยกัน หัวค่ำบ้านไหนจุดก็จะสว่างเป็นพิเศษ ชาวบ้านบอกว่าถ้าเอาไปส่องจับกบน่าจะดีกว่าใช้ไฟจากขี้ไต้ วิทยุเริ่มเข้ามา ใช้ลวดขึงบนหลังคาเป็นสายอากาศ ใช้ถ่านไฟฉายเป็นลังๆ ผมนะอัศจรรย์ใจมาก เฝ้าวนเวียนรูปคลำอยากเห็นเจ้าคนที่พูดอยู่ข้างใน หลังจากนั้นไม่ถึง 20 ปี ได้มาดูทีวีขาวดำในกรุงเทพแทนหนังตะลุงบ้านนอก สรุปว่ามีความแปลกใหม่เข้ามาไม่ขาดสาย

บ้านสตึกที่ผมอยู่ เกาะอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำมูล มีหมู่บ้านชาวประมงหย่อมเล็กๆ ทำนาและจับสัตว์น้ำ ตอนเย็นๆเด็กจากหมู่บ้านชาวประมงจะช่วยกันแบกปลาค้าวตัวยาวใหญ่หางลากดินเข้าไปเร่ขายตามถนน แต่ก็หาคนซื้อยากมาก ตัวโตเกินไปกินไม่หมดและเนื้อปลาชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะไข่ผ่าท้องทีได้เต็มกะละมัง ไข่ก็ไม่อร่อยอีก หน้าแล้งเคยไปดูผู้ใหญ่ล้อมอวน ได้ปลาตัวใหญ่ๆหลายหาบ ตัวเล็กขนาดฝ่ามือจะปล่อยทิ้งลงน้ำ

: ช่วงที่รอกอดพาอุ้ยไปเที่ยวจตุจักร มีมุมหนึ่งจัดสาธิตให้คนเอาเท้าไปแช่น้ำในสระจำลองเล็กขนาด 2 ตารางเมตร ให้ปลาตัวเล็กๆมาตอดผิวหนัง ไม่ได้ถามรายละเอียดว่าดียังไง กระตุ้นประสาท หรือเป็นการนวดเท้าอีกวิธีหนึ่ง คิดค่าบำบัดกี่บาท นึกย้อนไปสมัยเด็กๆ ถ้าวันไหนฝนไม่ตก พวกเด็กๆจะไปอาบน้ำในลำแม่น้ำมูล สาวๆนุ่งผ้าถุง ถือขันสบู่ไปอาบน้ำเช่นกัน กลางลำแม่น้ำมีหาดทรายใต้น้ำระดับลึก 1 เมตร ว่ายออกจากฝั่งไป 30 เมตรก็ถึงแล้ว พวกสาวๆจะจับกลุ่มยืนคุยกัน เด็กๆดำผุดดำว่าย ถ้ายืนนิ่งๆจะมีปลาตัวเล็กๆมาตอดตามแข้งขา สมัยนั้นไม่ได้นึกไปถึงว่าเป็นการบำบัดหรือกระตุ้นอะไร เพียงแต่จักกะจี้ หาดทรายที่ว่านี้มีหอยกาบตัวแบนๆสักครึ่งฝ่ามือเด็ก งมขึ้นมาแล้วเหวี่ยงให้มันวิ่งแฉลบไปตามผิวน้ำ เป็นกีฬาทางน้ำที่ไม่ต้องลงทุนเลย ในแม่น้ำมีปลารากกล้วยชอบอาศัยอยู่ตามพื้นหาดทราย ปลารากกล้วยรูปร่างขนาดปลาหลด ชาวบ้านเอาอวนตาถี่ลากไปตามผิวทราย เอาขึ้นมาทอดให้กรอบเคี้ยวทั้งก้างอร่อยนัก แถมยังได้แคลเซี่ยมอย่างเพียงพอ ช่วงบ่ายถ้าเราไปยืนทอดอารมณ์ริมฝั่ง นอกจากจะเห็นฝูงนกบินฉวัดเฉวียงแล้ว ยังได้ยินเสียงปลาร้องตามฝั่งป่าละเมาะอีกด้วย คำว่าทรัพยากรมีความหมายมากกว่าแม่น้ำ ที่เป็นแหล่งปล่อยน้ำโสโครกจากครัวเรือนเน่าเหม็น หรือเต็มไปด้วยขยะอย่างทุกวันนี้

: บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเราเจริญจริงหรือ สะดวกสบายโดยที่คุณภาพชีวิตยังปกติอยู่หรือ ดิ้นรนทำงานมีเงินเดือนเยอะแยะ แต่ก็เป็นหนี้หัวโต มีรายจ่ายที่แสนอึดอัดเป็นตุ้มถ่วงเหมือนดินพอกหางสุกร

ตอนผมเป็นหนุ่มรุ่นกระทง จะชวนเพื่อนชาวประมง ลงเรือไปกินข้าวป่ากัน ในเรือจะมีเตาไฟเอาหม้อใส่เครื่องต้มยำรอไว้ คนยืนหัวเรือถือแหหว่านไปตามทำเลที่มีปลา โครมลงไป ยกขึ้นมาปลาดิ้นกระแด่วๆ เลือกปลาสดๆโยนลงหม้อ คนงัดท้ายพายไปเรื่อยๆ เจอรังมดแดงก็โน้มกิ่งให้ตรงกับหม้อต้มปลา เปิดผาออกเคาะตัวมดแดงและไข่เล็กๆลงไปแล้วปิด เหหัวเรือขึ้นฝั่ง หามุมเหมาะๆยกหม้อข้าวหม้อแกงลงไปจัดวาง ก่อไฟปิ้งปลา ปลาต้มควันฉุยตักใส่ถ้วย ทุบพริกใส่ เหยาะน้ำปลาชิมดู ล้อมวงกันเข้า ฝักจิ้มก็เด็ดเอาข้างที่นั่งนั่นแหละ อิ่มแล้วก็นอนตอนบ่ายสบายอุรา ตื่นมาหว่านแหขากลับได้ปลาไปฝากทางบ้านทำกับข้าวมื้อเย็น

: วิถีไทยยุคนั้นมีองค์ประกอบความพอเพียงที่แสนจะอุดมสมบูรณ์ คนจนไม่เดือดร้อน ไม่ตกงาน ไม่ติดยา ไม่ต้องรับจ้างเดินขบวน ชักหน้าไม่ถึงหลัง อยู่กันพอเหมาะพอควรแก่อัตภาพ เรื่องที่เรากำลังพัฒนาชนบทอยู่ในขณะนี้ อันที่จริงมันเคยเกิดเคยมีอยู่แล้ว ลองย้อนรอยไปพิจารณาดูเถิดว่า จะหยิบส่วนไหนมาเป็นหัวเชื้อในการสร้างเสริมแผนแม่บทชุมชนได้บ้าง

อำเภอสตึกนั้นอุดมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณ ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นส่งโรงเลื่อยที่อยู่ใกล้ๆ มีหมู่บ้านชาวกูยเลี้ยงช้างไว้รับจ้างลากซุง กูยที่ว่านี้มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ยกเอามาเป็นต้นตำหรับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องความซื่อตรงซื่อสัตย์ การรักษาคำพูด ผมมีเพื่อนกูยคนหนึ่ง นัดกันว่าจะไปทำธุระด้วยกัน แต่บังเอิญว่าเจ้ากูยเพื่อนผมไม่สบายกะทันหัน เชื่อไหมครับ มันส่งเมียมาบอกตอน 3 ทุ่มท่ามกลางฝนเปียกมะล็อกมะแล็ก ถามว่าทำไมถึงดั้นด้นมายามนี้ เมียที่แสนดีบอกว่า..ผัวใช้ให้มาบอก เกรงจะเสียคำพูดว่านัดแล้วไม่มา

ผมเคยไปเลี้ยงช้างกับเจ้ากูยเพื่อนรัก มันพาขี่คอช้างลงแม่น้ำมูลข้ามไปเลี้ยงในป่าทามฝั่งตรงกันข้าม หลังจากจัดแจงปล่อยช้างหากินแล้ว ก็มาสอนวิชาหากบจำศีล ในป่าทามหน้าแล้งจะมีลำห้วยแห้งดินแตกระแหงปกคลุมด้วยใบไม้ เจ้ากูยผู้เจนจัดยังกับเจ้าเงาะเรียกเนื้อเรียกปลา สาธิตการเปิดใบไม้ จับกบตัวบักเอิ๊บมาให้ทีละตัวๆ กบพวกนี้หนังเหลืองอ้วนลงพุงไขมันเต็มท้อง เอามาปิ้งบิกินร้อนๆตอนควันฉุย อย่าว่าแต่สะเต๊กเลย เอาหูฉลามหูช้างหูม้ากี่หม้อมาแลกก็ไม่ยอม

หลังจากตื่นนอนตอนบ่ายแล้ว เจ้ากูยชวนลงเล่นน้ำ ก่อนลงน้ำกูยจะเด็ดเถาวัลย์เหนียวยาวประมาณ 1 วามาให้ผมถือไว้ แล้วเจ้าตัวไปหยิบหลาวเหล็กแหลมด้ามไม้ยาวประมาณ 3วา เดินแทงไปตามริมฝั่งแม่น้ำ เดินช้าๆปากก็คุยมือก็แทงยกๆ ไม่ถึง 10 นาทีก็ได้เฮ ปลาตัวโตๆดิ้นกระแด่วถูกแทงเข้าจังเบ้อเร่อ ค่อยๆถอดรูดออกมาร้อยเถาวัลย์ให้ผมถือ

: ลงน้ำจับปลา ขึ้นบกจับกบ ขึ้นดอนจับหนู คำว่ายิงนกตกปลาไม่ใช่คำพูดเล่นๆอย่างทุกวันนี้ แต่ในอดีตทำกันมาแล้ว เป็นเรื่องพิเศษที่ไม่ธรรมดา

มีครั้งหนึ่ง ครูประชาบาลสอนอยู่โรงเรียนริมแม่น้ำมูล ส่งข่าวมาบอกว่ามีผู้สันทัดกรณีด้านการตักปลาในแม่น้ำหลงเหลืออยู่ นัดหมายไว้ให้แล้ว ขอให้รีบไปด่วน เรื่องพิเศษอย่างนี้มีหรือที่จะไม่รีบเจ้น คณะเราแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกเป็นกลุ่มแม่ครัวเตรียมข้าวปลาอาหารรอไว้ ที่เหลือลงเรือพาย 3 ลำ ตัวเรือพระเอกอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือพี่เลี้ยงอยู่ซ้ายขวาพายเหลื่อมไปข้างหน้า เจอทำเลที่คาดว่าปลาจะอยู่อาศัย เรือ2ลำด้านข้างก็จะกระทุ้งน้ำด้วยไม้ที่ปลายมีโซ่มัดไว้ให้ปลาแตกตื่นรีบหาที่หลบภัย เรือตีน้ำล้อมวงมาหาเรือที่อยู่ตรงกลาง อาจารย์ปลาของเราก็จะเอาอวนที่ผูกไม้ไผ่รูปสามเหลี่ยมหย่อนจมลงไปใต้น้ำ ท้ายเรือจะพายเข้าจุดศูนย์รวมแล้วรีบยกยอที่ว่านี้ขึ้น โอ้โห! มีปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาหมู ฯลฯ ดิ้นกระแด่ว 4-5 ตัว ถ้าจะจับเอาแค่พอต้ม ยกยอตำหรับนี้ 5-6 ครั้งก็ล้นหม้อแล้ว

เด็กโรงเรียนรุ่งอรุณมาเข้าค่ายที่สวนป่า กลุ่มนี้คุณครูตั้งใจจะมาสอนวิชาฟิสิกส์พื้นที่ เตรียมตัวมาทำบ้านทาร์ซานบนต้นไม้ เตรียมรอกชนิดต่างๆมาดึงขนส่งสัมภาระ เตรียมจานรวมแสงดวงอาทิตย์มาจุดไฟแทนไม้ขีด ..บังเอิญวันนั้นฟ้าครึ้ม เอาละสิ วิกฤตความรู้เฉพาะหน้าเกิดขึ้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์ตัวจ้อยจากเมืองกรุงเริ่มกระวนกระวายใจ จวนจะ 9 โมงเช้าแล้วยังไม่มีไฟหุงข้าว ผมเห็นท่าไม่ได้การ เกรงว่านักวิทยาศาสตร์หน้ามืดเสียก่อน จึงแนะนำให้ไปถามคุณลุงชาวบ้านที่ตัดไม้อยู่ใกล้ๆ เด็กๆเล่าว่า..ลุงแกควักหินเหล็กไฟมาตีแป๊ก..แป๊ก ประกายไฟกระโดดไปเจอปุยนุ่นในกระบอก ยกขึ้นมาเป่าฟืดๆติดไฟควันโขมง เอาเศษหญ้าแห้งเศษไม้มาต่อไฟ ค่อยๆย้ายมายังที่ตั้งค่าย ไฟต่อไฟเป็นกองใหญ่ขึ้น เอาหม้อมาตั้งหุงข้าวต้มยำตำแกง เด็กๆไชโยลั่นป่า ที่รอดท้องกิ่วเพราะภูมิปัญญาไทย

: เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าประมาทความรู้ รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ดีกว่าความรู้ท่วมหัวเอาประเทศ ไม่รอด อิ อิ

« « Prev : เรื่องบ้านนอก : P1

Next : เอกสารประกอบการพบปะคุณพยาบาล ม.เชียงใหม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 4:25

    บันทึกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าลืมไฟแช็กครับ ฮาๆๆๆ

    การบริหารประเทศก็ไม่ใช่สมบัติผลัดกันชม ถ้าเก่งและเหมาะสม ตอนแรกไปหลบอยู่ไหนครับ

  • #2 handyman ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 10:20

    อ่านแล้วชอบครับ มีอะไรคล้ายๆกัน
    ที่ว่า … วิทยุเริ่มเข้ามา ใช้ลวดขึงบนหลังคาเป็นสายอากาศ ใช้ถ่านไฟฉายเป็นลังๆ นัีน เหมือนก้นเลย .. อิ อิ อ
    http://lanpanya.com/handyman/2009/05/24/%e0%b8%9c%e0%b8%a1-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a-%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b8%b8/#comments

  • #3 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 10:58
    • อ่านเพลินจนจบ…

    เฉพาะหอยกาบแบนๆ มาเหวี่ยงให้มันแฉลบน้ำ… สมัยเด็กๆ แถวบ้านก็เล่นกัน เพียงแต่ไม่ใช้หอยกาบเท่านั้น ใช้กระเบื้องหรืออย่างอื่น โดยแข่งกันว่าแฉลบน้ำกิ่ครั้งกว่าจะจม เช่นถ้าสองครั้งก็เรียกกันว่า สองน้ำ บางคราวนั่งจับกลุ่มเล่น ส่งเสียงเชียร์กันได้เป็นวันๆ…

    มีความเห็นต่างนิดหน่อย… คนเรามักจะรำลึกเพียงคุณค่าในอดีตที่ประทับใจเท่านั้น แต่ความลำบากในอดีตก็มีมากมาย เช่น พวกที่บ้านอยู่ในควน (ดง) ต้องนอนเฝ้าคอกวัวเพื่อระวังเสือจะมารบกวน หรือพวกที่บ้านอยู่ริมเล (ชายทะเล) ระวังจรเข้จะมากินหมูกินเด็กกินหมาใกล้บ้าน… สองอย่างนี้ อาตมาเกิดไม่ทัน แต่คนแก่กว่าซึ่งเกิดทัน เคยเปรียบเทียบให้ฟัง

    อีกอย่างหนึ่ง เรื่องความเป็นความตาย เมื่อก่อนพอไม่สบายหนัก ไม่นานก็ตาย สวด เผา… แต่เดียวนี้ โรงหมอทันสมัย ยื้อชีวิตไว้ได้ระยะหนึ่ง แต่ก็กินเบี้ยไปเยอะ… ประเด็นนี้ ไม่รู้ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษกว่ากัน…

    อย่างไรก็ตาม อาตมาก็ยังถวิลหาความเป็นอยู่ในอดีต ซึ่งก็คงจะเหมือนกับคนอื่นๆ

    เจริญพร

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 18:49

    เด็กรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสสัมผัสชีวิตเช่นนี้อีกแล้ว
    แล้วเขาจะสำนึกแห่งชนชั้นได้อย่างไร
    แล้วเขาจะสัมผัสความร้อนหนาวของชีวิตได้อนย่างไร
    แล้วเขาจะเข้าใจความต่างของชนบทและเมืองได้อย่างไร

    มันเป็นภาระของเราที่จะต้องสานวิญญาณผองเพื่อนร่วมชาติให้สำนึกถึงกันและกัน…

  • #5 aram ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 23:26

    อ่านแล้วนึกถึงตอนเด็กๆครับ เรื่องดูทีวี ตามผู้ใหญ่ไปขอดูทีวีขาวดำที่บ้านกำนัน ไฟฟ้ายังไม่มี สมัยนั้นเขายังใช้ไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ครับ  ถ้าแบตเตอรี่เต็มจอก็เต็มด้วย แต่ถ้าแบตเตอรี่อ่อนจอก็จะเหลือแคบลงแคบลงครับ
    …ยังจำได้ตอนนั้นนักมวยชื่อแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์กำลังต่อย แต่แพ้น็อคครับ..


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.068189144134521 sec
Sidebar: 0.071662902832031 sec