ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 6
อ่าน: 2657ว่าที่จริง ห้องเรียนเล็กๆ ที่จุฬาฯ กับป่าใหญ่ของมหาชีวาลัยอีสานก็มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นสัมพันธภาพลึกซึ้ง
หลักปรัชญาพื้นฐานของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของเรานั้น เป็นหลักสัจธรรมของธรรมชาติตามที่พระพุทธศาสนาได้ค้นพบ และนำมาแสดงให้แก่ผู้คนในสังคม เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเข้าใจความจริงของโลกและธรรมชาติ เพื่อการมีจิตใจที่สงบและอยู่ร่วมกันในชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างสอดคล้องกลมกลืน
ความทุกข์ในใจของมนุษย์เกิดจากการที่มนุษย์ไม่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม นั่นคือการขาดความเข้าใจความจริงของธรรมชาติ ที่หมายถึงการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งอย่างอิงอาศัยกัน ไม่มีสิ่งใดสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด ทุกสิ่งล้วนสำคัญในตัวของมันเอง และถึงตัวเองจะสำคัญ ก็สำคัญในเครือข่ายโยงใยของการอุปถัมภ์ค้ำจุนของสิ่งอื่นๆ ทั้งสิ้น
สิ่งที่เป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าที่คนปกติธรรมดาทั่วๆ ไปจะเห็น แต่สำหรับผู้ที่ใส่ใจสังเกต โดยมีกัลยาณมิตรคือผู้มีสัมมาทิฏฐิเป็นเพื่อนแล้ว การเห็นสิ่งต่างๆ ตามจริง จะทำให้เราเกิดความอ่อนโยน และซาบซึ้งใจในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ปรากฏตัวให้เราเห็น ให้เราได้ยิน ให้เราสัมผัส ฯลฯ ได้อย่างชัดเจนจนดำรงอยู่อย่างไม่เอาชนะธรรมชาติ แต่เรียนรู้จากธรรมชาติ และดำรงอยู่กับธรรมชาติอย่างเข้าใจ
สิ่งที่เราสนทนากันในห้อง.4 ปรากฏเห็นเป็นตัวจริงๆ ที่มหาชีวาลัยที่ตัวพ่อครูบาของเรานั่นเอง ในขณะที่พวกเราจะต้องเข้าใจธรรมชาติของชีวิต เพื่อจะนำความเข้าใจนั้นมาเยียวยารักษาจิตใจของผู้คน แต่ครูบาสุทธินันท์ได้ดำรงตนอยู่อย่างอ่อนน้อมสอดคล้องกับธรรมชาติในวิถีชีวิต ในขณะที่ครูบาท่านขมักเขม้นอยู่กับไก่ต้อก ไก่ป่า เห็ด ตระไคร้ ใบมะกรูด ขมิ้นขาว เสาวรส ซึ่งเป็นอุบัติการณ์ที่ธรรมชาติได้ปรุงให้ท่านได้สนใจศึกษา จนเห็นสัมพันธภาพของสรรพสิ่ง ทั้งแผ่นดิน แผ่นน้ำ แผ่นฟ้า เราได้อาศัยสัมพันธภาพเดียวกันนั้นมาขยายจิตใจ และพาผู้คนออกจากที่แคบออกสู่ที่กว้าง ในมิติที่ดูเป็นนามธรรม เป็นการทำงานกับกระบวนการคิด แต่ท่านครูบาอยู่กับกระบวนการแห่งความจริง (ซึ่งก็แฝงไว้ด้วยกระบวนการคิด ส่วนพวกเราอยู่กับกระบวนการคิดที่แฝงไว้ด้วยกระบวนการความจริง งงไหมล่ะ ฉันออกจะงงๆ ล่ะ)
ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับครูบา ข้าพเจ้าจึงสัมผัสลึกๆ ถึงความเป็นามธรรมกับความเป็นรูปธรรมได้มาบรรจบกัน (เธอว่าพูดได้เท่ไหม?) นั่นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเสมอ เมื่อพบกับปราชญ์ชุมชนที่ดำรงตนอยู่กับต้นไม้ใบหญ้าและสรรพสิ่งอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ใส่ใจกับวิถีที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แต่จะรู้สึกตรงข้าม เมื่อเจอเศรษฐีมีเงินที่จิตใจมุ่งแต่จะ “เอา” มาเป็นตนเองให้มาก (แต่เศรษฐีที่บรรลุธรรมก็เคยพบนะว้อย)
ทว่าว่าการบรรยายนี้จะทำให้ลูกศิษย์ได้เห็นความเชื่อมโยงของจุฬาฯ กับมหาชีวาลัยดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และถ้าเป็นได้พยายามยกจุฬาฯ มาไว้ในมหาชีวาลัยให้ได้บ้าง เราจะได้รับประโยชน์และสร้างประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น อาจตั้งชื่อว่า ชีวิตาลัย growth center ดีไหม?
โสรีช์ โพธิแก้ว
« « Prev : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 5
Next : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 7 » »
4 ความคิดเห็น
จะแจ้งให้นักศึกษาสถาบันวิจัยสังคมมาติดตามอ่าน นะครับ
อ่านบันทึกที่มีวงเล็บด้วย…อิอิ…รู้สึกสัมผัสกับอาจารย์โสรีช์อย่างใกล้ชิดเหมือนฟังตัวจริงๆ นั่งพูดตรงหน้าเลยค่ะ…
เคยคิดหลังจากไปสวนป่าว่าอยากอ่านบทความของอาจารย์โสรีช์ และอยากพบอาจารย์ในลานปัญญา ขณะนี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ คอยติดตามอ่านอยู่เสมอนะคะ ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ
ชีวิตาลัย Growth Center จงจาเริน ชาย โย้ ๆ ๆ ๆ อิอิอิ
ยังจำกระบวนการ Tuning in - Walking through - Reality ที่อาจารย์พูดถึงได้เลยค่ะ ซึ่งก็คือปฏิจจสมุปบาท พรหมวิหาร 4 และอริยสัจ 4 นั่นเอง ส่วนจะเป็นชื่ออะไรในศาสนาอื่นนั้นก็คงไม่หนีจากหัวใจของศาสนานั้นไปได้
เพียงเห็นในสิ่งที่เล็กน้อย ก็เรียงร้อยหัวใจที่ยิ่งใหญ่…
ดั่งเราอาจค้นพบความสุขได้ในเม็ดทรายเม็ดเดียว…
เพราะเม็ดทรายคือช่วงขณะแห่งการสร้างสรรค์
และจักรวาลก็ใช้เวลานับล้านปีสร้างเมล็ดทรายขึ้นมา
…โดยการใส่ใจกับทรายเพียงเม็ดเดียว …เจ้าจะเห็นความมหัศจรรย์ของโลก
-เปาโล โคเอโย ในหนังสือขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (The Alchemist)