ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 9

โดย dd_l เมื่อ 11 กรกฏาคม 2010 เวลา 8:31 (เย็น) ในหมวดหมู่ ศึกษาเรียนรู้ #
อ่าน: 2263

        นักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ลูกศิษย์ของพี่ประดิษฐ์ เอกทัศน์ รุ่นเดียวกับพี่ซูน และมาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสาน โดยตั้งใจจะหาแนวทางและช่องทางทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก นักศึกษาทุกคนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่วนมากหรือทั้งหมดมีตำแหน่งทางการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน หรือผู้ตรวจการของกระทรวง ฯลฯ

        ขุมกำลังมากประมาณ 30 คนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหากทำให้ดี ทำให้ถูกต้องด้วยสติปัญญาที่จะเข้าใจถึงสาระของการศึกษาที่แท้จะช่วยเปลี่ยนแปลงวิถีการศึกษาไทย หรือการศึกษาทั้งโลกได้

        นักศึกษาตั้งใจจะมา “ค้นหา” หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่มหาชีวาลัยอีสาน

        เมื่อมีโอกาสแสดงทัศนะ ข้าพเจ้าเสนอว่า Subject matter ของการวิจัยน่าจะคือพ่อครูบาสุทธินันท์นั่นเอง

        หากนักศึกษาเห็นว่า “สิ่ง” ที่ครูบาได้ทำมาตลอดเวลาหลายๆ ปีนั้นมีผลต่อความเข้าใจที่มีต่อคำว่าชีวิต ต่อทัศนะต่อชีวิต ต่อวิถีการใช้ชีวิต ซึ่งหมายรวมถึงวิถีการปกครอง วิถีการเมือง วิถีเศรษฐกิจวิถีสังคม วิถีชุมชน วิถีเกษตรกรรม วิถีสิ่งแวดล้อม วิถีแห่งสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับตัวเอง มนุษย์กับเพื่อนมนุษย์ มนุษย์กับเพื่อนร่วมโลกอื่น ฯลฯ ทั้งหมดที่นักศึกษาจะได้พบ น่าจะเป็นการวิจัยการศึกษาที่ช่วยไขความลี้ลับของชีวิต และยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น กว้างขึ้น จริงขึ้น ฯลฯ

        การวิจัยทุกวันนี้ วางรากฐานอยู่บนแนวคิดของการแยกส่วน แยกส่วนวิชา (ทำให้มีวิชาเป็นร้อยๆ วิชาเอก) แยกส่วนทฤษฎี (ในแต่ละวิชามีหลายสิบทฤษฎี) แยกส่วนแนวคิด แยกส่วนตัวแปร อาศัยฐานตัวเลขของแบบวัด และการคำนวณของสถิติ ทั้งกระบวนการดูน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่าค้นหา แต่คำตอบที่ได้จากการวิจัยก็อยู่บนฐานที่แคบ จนทำอะไรเพื่อการมีชีวิตที่ดีงามไม่ได้เลย

        ท่าน Matthieu Ricard ให้คำตอบแก่โยมพ่อที่ถามถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงละทิ้งงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่น่าจะช่วยให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นนักวิทยาศาสตร์ของโลก ทัศนะของท่าน Matthieu ที่มีต่องานวิจัยวิทยาศาสตร์เป็นข้อสังเกตที่น่าในใจที่สุด (หาอ่านเพิ่มเติมในหนังสือชื่อ The Monk and the Philosopher) ท่านบอกว่างานวิจัยวิทยาศาสตร์อย่างมากก็เป็นได้แค่ “approximation of truth” และ “…มันเป็นเพียง dispersion into details” คือมันเป็นเพียง “ค่าประมาณการความจริง” และ “…การกระจายไปในรายละเอียดปลีกย่อยขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

        ที่สำคัญมากคือ ท่านบอกว่างานวิจัยวิทยาศาสตร์ไม่ได้มุ่งหมายตอบคำถามที่เป็น Fundamental question of life คือไม่ได้มุ่งถามว่าชีวิตคืออะไร

        ดังนั้น ประโยชน์ของวิจัยวิทยาศาสตร์จึงเป็นประโยชน์ที่เป็นเสี้ยวส่วน แม้บางอย่างอาจมีปริมาณมาก แต่ก็มากในความเป็นเสี้ยวส่วนอยู่ดี งานวิจัยทางเคมีอาจช่วยให้เราผลิตยางรถยนต์ได้มากและใช้ได้ดี แต่ก็เฉพาะที่ของยางรถยนต์เท่านั้น

        ในแวดวงจิตวิทยา (และการศึกษา) ที่ข้าพเจ้าคุ้นเคย งานวิจัยวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างที่ท่าน Matthieu ตั้งข้อสังเกตไว้ทุกประการ เพราะแทนที่คำถามจะถูกถามไปถึงประเด็นของชีวิตและวิถีของการต้องมีชีวิต และการศึกษาอย่างวางรากฐานอยู่บนความรู้เรื่องชีวิต แต่ประเด็นเล็กๆ ต่างๆ (เรียกกันว่าตัวแปร) ถูกนำมาเป็นประเด็นในการวิจัย และเพื่อให้ดูมั่นคงและน่าเชื่อถือ ตัวเลขถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุน (ทั้งๆ ที่ตัวเลขก็เป็นสมมติไม่ใช่ความจริง) ทำให้เกิดการสร้างแบบวัด หรือวิธีการตรวจสอบแบบสถิติ (ซึ่งก็เป็นกระบวนการคิดที่วางอยู่บนสมมติ) แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการวิจัยที่ดูแน่นแฟ้น และแม่นตรงก็เพียงแค่อยู่ในกรอบของ “ตัวแปร” หรือ “ทฤษฎี” ที่คับแคบงานวิจัยที่ดูน่าเชื่อถือเหล่านั้น ล้วนอยู่ในทิศทางแห่งก dispersion into details ไม่ตอบปัญหา fundamental question of life เลย และสภาพที่เป็นอยู่เช่นนี้ก็คงเป็นไปอีกนาน งานวิจัยแนวดังกล่าว อาจช่วยให้เรามี “ความรู้” มากขึ้นมาก แต่จะช่วยให้เข้าใจชีวิตและยกระดับชีวิตนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ และหากไม่ระวัง การวิจัยทั้งหมดจะ…มนุษย์ของเราอยู่ในสิ่งที่คับแคบ หย๋อมๆ แหย๋มๆ กระจัดกระจายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด

        คำถามก็คือว่า เอากระบวยไปตักน้ำในมหาสมุทร เมื่อไหร่ถึงจะได้ความสมบูรณ์ของน้ำในมหาสมุทรสักที

        นั่นคืองานวิจัยที่วางรากฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์ซึ่งมีลักษณะแคบ แม้จะก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย จะนำมาใช้กับของที่มีลักษณะกว้างเช่นคำว่าชีวิตอย่างไรได้?

        งานวิจัยลักษณะแคบ ก็น่าจะเหมาะกับอะไรที่แคบๆ เฉพาะอย่าง เฉพาะเรื่องที่มีขอบเขตแคบที่พอจะมองเห็นได้ จับต้องได้ งายวิจัยเรื่องยางรถยนต์ที่ยกตัวอย่างไป ก็เป็นผลมาจากงานวิจัยที่แคบเฉพาะเรื่อง เป็นสิ่งที่จับต้องได้ สัมผัสได้ นั่นคือมีลักษณะของวัตถุที่ง่ายและเอื้อต่อการจับต้องต่อการวัด

        การวิจัยวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ มีลักษณะเป็นกระบวยตักน้ำ โดยการตักน้ำมาศึกษาทีละกระบวย แต่จะเข้าใจมหาสมุทรทั้งมหาสมุทร กระบวยจะช่วยได้หรือ?

        กระบวยต้องเปลี่ยน หรือไม่กระบวยก็ต้องขยายใหญ่เพื่อจะตักน้ำได้ทั้งมหาสมุทรใช่ไหม? หรือถ้าไม่มีกระบวยเลยล่ะ จะตักทุกอย่างที่ใหญ่ยิ่งกว่ามหาสมุทรไปอีกใช่ไหม? เราจะหาอุปกรณ์วิจัยใหม่ที่ใหญ่ครอบคลุมทุกอย่างได้ คงจะต้องอาศัย “ความไม่มีกระบวย” นี่แหละมั้ง

        ถ้าไม่แน่ใจ เราอาจจะต้องสนทนาไต่ถาม เจ้าชายสิทธัตถะแล้วล่ะ เพราะท่านวิจัยจนรู้จักทุกอย่างได้ก็ด้วยกระบวนท่าแห่งการไร้กระบวยนี่แหละ

        ทิ้งไว้ตรงนี้นะครับ เพราะวิจัยที่ให้คำตอบไม่น่าจะใช่วิจัยที่ดี วิจัยที่ดีต้องเป็นคำถามที่ดี เพื่อจะได้คำตอบที่ดี ใช่ไหมครับ?

        และทิ้งไว้ให้นักศึกษาปริญญาเอก จากมหาสารคามคิดพิจารณาต่อไปในคำถามที่ว่า ถ้าการศึกษาที่แท้จริงนั้น ควรเป็นไปเพื่อเข้าใจชีวิตและยกระดับชีวิต งานวิจัยประเภท “กระบวย” ก็ช่วยไม่ได้ สิ่งที่พึงจะทำต่อไปคืออะไร จะหา “กระบวยใหญ่ๆ” กันดีไหม ไม่ต้องพึ่งกระบวยเล็กแล้ว! หรือหาช่องทางเข้าสู่ภาวะ “ไร้กระบวย” กันดี

โสรีช์ โพธิแก้ว

« « Prev : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 8

Next : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 10 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 9"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.4105110168457 sec
Sidebar: 0.17848515510559 sec