ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 5

โดย dd_l เมื่อ 13 มิถุนายน 2010 เวลา 1:39 (เย็น) ในหมวดหมู่ ศึกษาเรียนรู้, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1976

ป่าปลูกกว่า 700 ไร่ สะท้อนทัศนะของครูบาสุทธินันท์ในทางที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างอ่อนน้อมของคนต่อโลก และตระหนักถึงความเป็น “ผู้อาศัย” ไม่ใช่ผู้สร้าง การเริ่มปลูกต้นไม้ในที่กว้างๆ คงถูกตั้งคำถามมากมายว่า “ทำไม” คนทั่วๆ ไปเข้าใจว่าป่ามีไว้ให้ทำลาย นกมีไว้ให้ยิง ปลามีไว้ให้ขาย เก้ง กวาง หมูป่า ไก่ฟ้า และเสือมีไว้ให้ยิงเล่น คนทั่วๆ ไปคิดว่าการทำลายเล็กๆ น้อยๆ จะเป็นไรไป ทำลายมันเพื่อแปรค่ามาเป็นเงินดีกว่า จะได้มั่งมี จะได้มีฐานะที่ดีเชิดหน้าชูตา ฯลฯ และแล้วผืนป่าที่ช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล ให้อาหารธรรมชาติ ให้อากาศ ให้ความชื่นฉ่ำ และให้ความงาม ก็ค่อยๆ สลายหายไป

พ่อครูบาเล่าถึงหมอกบางๆ ในยามเช้าในอดีต น้ำค้างสดใสตามใบหญ้า นกยูงสีสวยรำแพนปีกและหางและความชุกชมของเห็ดป่าในหน้าฝน ข้าพเจ้าฟังด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ เพราะภาพอย่างนั้นได้สูญสลายหายไปจากเรานานแล้ว ตอนเป็นวัยรุ่น ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของการขี่จักรยานไปโรงเรียนในเวลาเช้า ฝ่าหมอกหนาๆ อากาศแสนจะหนาวของเมืองเชียงใหม่ บ่อยครั้งที่ไม่เห็นภาพถนนเกินสายตา 4-5 เมตรข้างหน้า น้ำในโอ่งเย็นจัดเพราะอากาศหนาวจัดในยามค่ำคืน เมื่อใช้อาบ ตัวก็จะเย็นยะเยือก และตามมาด้วยความอุ่นจากร่างกายภายใน ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ แข่งกันอาบน้ำโอ่งเสมอ เพราะหากอาบน้ำจากการตักจากบ่อ น้ำจะอุ่นมีไอขึ้นเต็ม แต่อาบน้ำโอ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งแข่งกันในวัยหลานครั้งกระโน้น

ฝนในอดีต เวลาตก เหมือนตั้งอกตั้งใจตกจริงๆ  บางครั้งฟ้ามืดครึ้มเป็นอาทิตย์ และมีสายฝนหลั่งจากฟ้าโปรยปรายเป็นสายเป็นเวลานานๆ บางครั้งตกข้ามคืนก็ยังมี การนอนฟังเสียงฝนตกกระทบหลังคากระเบื้องดินขอที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน กลางเสียงอึ่งอ่างระงมจากป่าข้างบ้าน เป็นเสน่ห์อย่างไม่รู้ลืมยังแน่นในจิตสำนึก

พ่อครูบากับข้าพเจ้านับได้ว่ามีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกัน ท่านเกิดปี 2491 ข้าพเจ้าเกิดปี 2492 ตลอดเวลาของการเจริญวัย ท่านกับข้าพเจ้าคงได้เห็นเหมือนกันคือความล่มสลายของป่า ของท้องทุ่ง ของแม่น้ำ ของสายฝน และละอองหมอกเรี่ยดินในยามเช้าและในยามเย็น ตลอดจนสูญไปของอากาศหนาวเหน็บถึงใจในช่วงฤดูหนาว ที่เสื้อกันหนาวราคาถูกของเรา ไม่ปิดกั้นความหนาวได้มิด บ่อยครั้งการผิงไฟริมเตาช่วยคลายหนาวได้มาก

แต่ท่านครูบาได้สร้างป่า ส่วนข้าพเจ้าได้แต่คิดจะสร้างแต่ไม่ได้สร้าง ข้าพเจ้าจึงได้แต่หาโอกาสมาอาศัยในป่าเช่นของครูบา เพื่อชื่นชม เพื่อขอบคุณ เพื่อคารวะในจิตใจที่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตแบบป่าๆ เพราะการได้ใช้ชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้ ช่วยฟื้นฟูจิตใจของข้าพเจ้าที่บ่อยครั้งโหยหาบรรยากาศในวัยเด็กที่ธรรมชาติยังบริบูรณ์ ที่ช่วยกล่อมเกลาชีวิตจิตใจของชุมชน และของข้าพเจ้าให้อ่อนโยน


โสรีช์ โพธิแก้ว

« « Prev : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 4

Next : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 6 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 5"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.37996816635132 sec
Sidebar: 0.014484882354736 sec