ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 4

โดย dd_l เมื่อ 8 มิถุนายน 2010 เวลา 10:25 (เย็น) ในหมวดหมู่ ศึกษาเรียนรู้ #
อ่าน: 2105

โลกร้อนมากขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต ภูเขาหลายๆ แห่งมีสีแดงน้ำตาลมากกว่าสีเขียว แสดงถึงการทิ้งใบของต้นไม้เพราะปราศจากน้ำหล่อเลี้ยง ในอินเดีย มีความร้อนมากจนผู้คนล้มตาย และในหลายแห่งของโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน รากฐานของการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของโลก แน่นอนที่ว่ามาจากสภาพทางภูมิศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของโลกเอง แต่ปัจจัยที่เร่งความเปลี่ยนแปลงนั้นคือ การกระทำของมนุษย์เราทั้งสิ้น

 

ในทางจิตวิทยา การกระทำของมนุษย์ที่เป็นโทษเกิดมาจากความเข้าใจผิดที่มาจากความสำนึกผิดลึกๆ ว่าตนเองแยกออกจากสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม หรือเป็นสำนึกของความแบ่งแยกจากกระบวนการของความเป็นเนื้อเดียวของธรรมชาติ

ศัพท์ที่ใช้เรียกภาวะของการแบ่งแยกในใจมนุษย์ออกจากสิ่งแวดล้อมทั้งหมดนี้ คือ disconnection ซึ่งมีรากฐานมาจากทัศนะแยกส่วน (fractured worldview) ทัศนะแยกส่วนนี้เองที่ทำให้หัวใจของมนุษย์ถูกขังอยู่ในโลกของตนเอง (และต่างคนก็ต่างอยู่กับโลกของตนเอง) และดำเนินชีวิตอยู่อย่างเอาตนเอง (หรือโลกของตนเอง) เป็นศูนย์กลาง ทำให้มองว่าทุกสรรพสิ่งเป็นสิ่งที่อยู่ “ข้างนอก” ที่คนเราต้องพยายามเอาชนะ พยายามเป็นเจ้าของ พยายามครอบครอง และต่อมาก็นำให้เกิดการต่อสู้แย่งชิง ด้วยความเชื่อที่ว่ายังมีมาก ยังมีจำนวนมาก ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ก็ถูกซ่อนซ้อนไว้ด้วยความเชื่อในความอมตะไม่มีวันตายของ “ตนเอง” ที่โดยแท้จริงแล้วไม่ได้ยั่งยืนอะไรเลย การดำรงอยู่ของชีวิตแต่ละคนกินเวลาเพียงแค่หยาดน้ำค้างบนใบไม้ยามเช้า ที่อีกไม่นานก็จะระเหิดระเหยสูญสลายหายไป

การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ ทำให้มนุษย์พยายามทำให้เพื่อนมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสรรพสิ่งอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อมมาเป็นบริวารรับใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของตน เพื่อปรนเปรอความสุขในความรู้สึกมีมากๆ และดูเหมือนว่าจะเสริมความยั่งยืนของตน เขาได้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ นับพันนับหมื่นชนิดเพื่อใช้ในการเอาชนะผู้อื่น เอาชนะธรรมชาติ เอาชนะสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และเมื่อจิตใจเช่นนี้มีปริมาณมาก มีอุปกรณ์ต่างๆ มาก โลกก็ร่อยหรอลง ถูกใช้ตอบสนองตนเองของมนุษย์มากขึ้น และเมื่อผ่านไปไม่นานนัก อาการป่วยไข้ทางโลกก็เกิดขึ้น โลกร้อนสะท้อนความป่วยไข้ของโลกที่มนุษย์มีส่วนช่วยกระหน่ำซ้ำเติมอย่างหนัก

ทัศนะใหม่หรือทัศนะที่ถูกต้องของมนุษย์เท่านั้น ที่จะช่วยให้เกิดการกระทำที่ชอบ นั่นคือทัศนะที่เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นใหญ่หรือศูนย์กลางของโลก แต่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการพึ่งพาอาศัย หรือสัมพันธภาพแห่งการอิงอาศัยกันของสรรพสิ่งหรือธรรมชาติ ทัศนะเช่นนี้อาจมีชื่อเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ หรือทัศนะแห่งองค์รวม หรืออิทัปปัจจยตา หรือทฤษฎี Great Chain of Being หรือทฤษฎี Gaia (ทฤษฎี 2 ทฤษฎีหลังเป็นทฤษฎีอยู่ และรอคอยการพิสูจน์ ไม่เหมือนศัพท์ภาษาบาลีซึ่งเป็นสัจจะหรือความจริงที่ลึกซึ้งถูกต้อง)

หากมนุษย์ตระหนักว่าในจักรวาลที่ยิ่งใหญ่นี้ เขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่อย่างพึ่งพาอาศัย เขาไม่ใช่ศูนย์กลาง เขาไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุด เขาแทบจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย หากปราศจากน้ำค้างในยามเช้า หรือสายฝนเย็นฉ่ำในช่วงฤดูฝน หรือ หากปราศจากแสงแดดอบอุ่น เขาก็ไม่สามารถจะมีอาหารอร่อยๆ จากยอดผัดสดๆ หรือผลไม้หลากหลายชนิดที่ปรากฏอยู่รายล้อม และหากปราศจากไส้เดือน ผักงามๆ ที่เขากำลังบริโภคอยู่นั้น ย่อมผอมแคระเพราะขาดอากาศหล่อเลี้ยงที่ราก และหากเขาเกิดความรู้แจ้งในสัจจะเช่นนี้ เขาย่อมจะอ่อนน้อมต่อโลก และช่วยดูแลรักษาโลกให้ยั่งยืน เพราะการรักษาโลก อนุรักษ์โลก ดูแลโลก คือการดูแลตัวเองนั่นเอง

เมื่อทัศนะเปลี่ยน การกระทำของมนุษย์ก็จะเปลี่ยน มนุษย์ย่อมมีท่าทีที่เปลี่ยนไปต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เมื่อเขาเปลี่ยนทัศนะจากการเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง มาเป็นทัศนะแห่งการที่ตนเองเป็นเพียงผู้อาศัยที่ได้รับการโอบอุ้มดูแลทุกอย่างจากทุกคนและทุกสิ่ง ความขอบคุณ ความกตัญญู การเห็นตนเองเป็นเพียงผู้อาศัยเล็กๆ ในโลกกว้าง ย่อมทำให้ท่าทีของเขาที่มีต่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง และชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

โสรีช์ โพธิแก้ว

« « Prev : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 3

Next : ใต้ร่มเงามหาชีวาลัยอีสาน ตอนที่ 5 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.51283693313599 sec
Sidebar: 0.094496011734009 sec