หนึ่ง(คืน)วัน ธรรมสวนะ ที่บ้านเวียงแก้ว

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 24 สิงหาคม 2011 เวลา 12:57 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1879

บันทึกนี้ตั้งใจมาก ด้วยความที่ต้องการถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นออกมาให้ทุกท่านจินตนาภาพตามกันไปได้อย่างชัดแจ่ม เป็นเรื่องราวของ หนึ่ง(คืน)วัน ธรรมสวนะที่บ้านเวียงแก้วครับ ชุมชนชาวลื้อแห่งนี้ยืนหยัดรักษาอัตลักษณ์ฮีตคองของตนเองได้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะอพยพมาลงหลักปักฐานแปลกปนเป็นคนส่วนน้อยของเมืองหงสาก็ตาม

“คนลื้อไปวัดเฮดบุญแต่เดิก(ดึก)” “ชาวลื้อไปวัดแล้วกลับมานอนหลับได้อีกหนึ่งตื่น” ความนี้ได้ยินพี่น้องคนลาวบอกเล่าผ่านหูอยู่บ่อยๆ แต่พอถามไถ่ซักไซร้ไล่เลียง ก็ไม่มีท่านใดให้รายละเอียดได้ ทำให้ใฝ่ฝันว่าสักวันต้องไปร่วมบุญที่วัดชาวลื้อสักครั้งให้ได้ รั้งรอมานานเนิ่นจนได้โอกาสเหมาะธรรมจัดสรร เมื่อวันขึ้นสิบห้าค่ำที่ผ่านมานี่เอง เห็นว่าตรงกับวันอาทิตย์พอดี ไม่ต้องเข้าสำนักงาน แถมมีแจ้งการว่าไฟฟ้าจะมอดอีก ลุงเปลี่ยนเลยนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ในคืนวันเสาร์จนถึงตีสาม อาบน้ำพาดผ้าเบี่ยงโทรปลุกน้องให้พาไปวัดบ้านเวียงแก้วตอนตีสี่ ผู้คนล้นวิหารแล้วครับ (นี่ถ้าไม่บอกกล่าวเอาไว้ก่อนว่าจะมีคนต่างถิ่นจะมาทำบุญร่วมสงสัยท่านทำพิธีกันไปแล้ว)

“เจ้าวาน” ท่านเรียกกันอย่างนี้ หมายถึงเจ้าภาพในการทำบุญแต่ละวันพระในระหว่างพรรษา สามเดือนๆละสี่ครั้งรวม ๑๒ครั้ง ที่บ้านเวียงแก้วจะแบ่งกันเป็น “เจ้าวาน”กันตามคุ้มบ้านหมุนเวียนกันไปจนครบทั้งหมู่บ้าน เมื่อถึงรอบที่คุ้มบ้านใดได้เป็นเจ้าภาพ ท่านจะเต้าโฮมกันแต่งกินดาทาน ตระเตรียมอาหารคาวหวานห่อหมกห่อขนมข้าวต้มมาทำบุญที่วัดตั้งวันโกน (ส่วนชาวคุ้มอื่นเอาแต่ข้าวเหนียวมาใส่บาตร แต่หากจะมีอาหารอื่นมาเสริมก็ไม่มีข้อห้าม) นอกจากนั้น “เจ้าวาน”ยังต้องตระเตรียมอมเมี่ยง มาเลี้ยงผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาฟังธรรมกันในวันพระให้พร้อมพรัก

เช้าตรู่ของวันพระ ตีสอง สาธุท่านย่ำกลองสัญญาน ชาวบ้านต่างตื่นขึ้นมานึ่งข้าวเตรียมตัวมาวัด เจ้าวานนั้นมาตั้งแต่ได้ยินเสียงกลองแรกย่ำ ท่านมาตระเตรียมสถานที่ ปัดกวาด ปูเสื่อ เตรียมสำรับใส่อาหาร ที่ตักบาตร จุดเทียน ส่วนพระท่านสวดมนต์หนึ่งจบหลังย่ำกลอง แล้วกลับไปพักผ่อน

ตีสามกว่าๆ ชาวบ้าน (เกือบทั้งหมดเป็นแม่บ้าน มีพ่อบ้านสูงวัยมาวัดราวยี่สิบคนเท่านั้น) ท่านก็ทะยอยจุดโคมตามไฟกันมาที่วัด แต่งตัวสวยงามพาดผ้าเบี่ยง นอกจากกระติ๊บข้าวเหนียวอุ่นๆแล้วในขันเงินของแต่ละท่านยังมีดอกไม้ เทียน และ “ขวดน้ำหยาด..สำหรับกรวดน้ำ…คนละหลายขวดตามจำนวนญาติพี่น้องที่จะทำบุญไปถึง

เข้าไปในวิหาร กราบพระ ใส่ดอกไม้ใน “ขันแก้วทั้งสาม” ที่ฐานพระประธาน และที่ธรรมมาสน์ แล้วก็เดินเข่าไปตักบาตรที่ตั้งอยู่กลางวิหาร เอาขวดน้ำหยาดไปวางไว้หน้าอาสนะของสาธุท่าน “เก็บดอกไม้กับเทียนไว้ตอนพระมาสวดด้วย” แว่วเสียงแม่เฒ่ากระซิบบอกคนต่างถิ่นที่ท่าทางเก้ๆกังๆ

ก่อนตีห้า พระท่านเดินลงมาในวิหาร ไหว้พระ รับศิล กล่าวถวายทาน (สำเนียงที่อาราธนาศีล ใกล้เคียงกับของคนยวนที่บ้านหนองหล่ม บ้านเดิมของผม…เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปบ้าน) ขณะไหว้พระรับศีลญาติโยมต่างจุดเทียนไว้หน้าที่นั่งตนเองด้วย พระท่านให้พร(ไปด้วย กรวดน้ำจากขวดน้ำหยาดที่วางเรียงรายข้างหน้าไปพร้อมๆกัน) ญาติโยมก็มีขวดน้ำหยาดของตนเองกรวดน้ำพร้อมกันไปอีก (ถึงบางอ้อว่า ทำไมวิหารวัดชาวลื้อถึงมีรูๆๆๆเยอะท่านเอาไว้กรวดน้ำนี่เอง) เสร็จแล้วพ่อออกแม่ออกก็กล่าวคำขอสะมาลาโทษที่อาจ ทำ-คิด-พลั้งปาก ออกไปในช่วงที่มาทำบุญ แต่ละที่ไม่เหมือนกันสักแห่ง จำไม่ได้ซักที

ยังไม่ถึงหกโมง ลานวัดว่างเปล่า ญาติโยมกลับบ้านกันหมด ลุงเปลี่ยนก็สะพายย่ามเดินลงชุมชนแถวหน้าวัด ราวหกโมงกว่าๆจะเป็นรายการ “ทานขันข้าว หรือสำรับข้าว” อุทิศให้ผู้ที่ไปอยู่โลกอื่น เห็นชาวบ้านทะยอยกันยกสำรับขึ้นไปถวายพระบนศาลา ได้รับเชิญให้กินข้าวแทบทุกเรือนที่เดินผ่าน แต่ต้องปฏิเสธเพราะมีเจ้าภาพจองตัวไว้ เช้านั้นได้กินอาหารชาวลื้อของแท้ น้ำพริกข่าอ่อนจิ้มหน่อไม้ไร่ต้ม ปิ้งหน่อปรุงด้วยเครื่องแกง และขะแหนบยอดและดอกฟักทองยอดแตงไทปรุงด้วยพริกขมิ้นตะไคร้ห่อด้วยใบทูนแล้วปิ้งจนหอม

แปดโมงครึ่งกลับมาวัดอีกครั้ง พ่อเฒ่าแม่เฒ่าเริ่มทะยอยกันมา รอบสายนี่ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นอาวุโส บ้านเวียงแก้วมี “คองบ้าน” ที่น่าสนใจคือ คนสูงวัยตั้งแต่ห้าสิบปลายๆขึ้นไป หากวันพระวันศีล ไม่เคยเข้าวัดฟังธรรม ท่านจะไม่ยกเว้น “เวียกบ้าน”ให้ หมายความว่าหากมีงานเกณฑ์แรงงานพัฒนาบ้าน หรือออกแรงงานส่วนรวมแล้ว ท่านต้องไปออกแรงงาน ส่วนท่านที่มีหน้าปรากฏว่าเข้าวัดเข้าวา ท่านยกเว้นให้

ท่านเอาข้าวเปลือก ข้าวสาร ส้มสุกลูกไม้เปรี้ยวหวานมาใส่สำรับ เห็นท่านห่อประดิดประดอยด้วยใบตองแล้วเสียดายแทนคนที่ไม่ได้มาเห็น ส่วนเจ้าวาน ท่านก็หาบข้าวหนมข้าวต้มมาจากคุ้มบ้านท่าน นำมาใส่สำรับ ท่านเตรียมสี่ชุด เพราะมีพระเณรสามรูป อีกหนึ่งสำหรับมัคทายก ระหว่างนั่งรอ เจ้าวานก็เอาอมเมี่ยงห่อใบตองเป็นคำๆมาเลี้ยง

สิบโมงเศษๆ พระท่านลงมาประจำที่อาสนะ ไหว้พระรับศีลอีกรอบ แล้วก็อาราธนาธรรม พรรษานี้พระท่านเทศน์ ธรรมพื้นเมือง เป็นนิทานธรรมเรื่อง “จันทะคาด” แบ่งเป็นตอนๆจนจบเรื่องในพรรษา วันนี้ท่านว่าด้วย (หยังกะบ่ฮู้ ลุงเปลี่ยนไค่หลับ ก็ไม่ได้นอนมาทั้งคืน แถมบริโภคข้าวเหนียวกับอาหารเช้าแบบอิ่มไม่เป็น) จับเรื่องราวได้ตอนที่ เมียหลวงจะมาแก้แค้นพญาเจ้าเมือง พ่อลุงท่านที่นั่งข้างๆ อธิบายเสริมให้เข้าใจถึงบาปบุญคุณโทษตามท้องเรื่อง เช่นที่นางเมียหลวงถูกพญาเจ้าเมืองเอาใส่แพไหลน้ำ เพราะสมัยก่อนเคยโมโหแมวที่แง้วๆเซ้าซี้เอาข้าวเอาปลาให้ก็ไม่กิน เลยจับแมวโยนลงน้ำให้ไปหาปลากินเอง เป็นต้น

เทศน์จบตอน รับพรกรวดน้ำ ได้กราบลาพระเวลาใกล้เพล พ่อเฒ่าแม่แก่ให้ขนมข้าวต้มมาเต็มย่าม

นับเป็นวาระ ธรรมจัดสรร อีกหนึ่งวาระ


โบราณคดี นักปฐพี กับวิถีชาวถิ่น

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 22 สิงหาคม 2011 เวลา 1:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1493

 

เมื่อนักปฐพีร่วมทีมขุดค้นโบราณคดี มีมุมมองแปลกต่างมานำเสนอครับ

แหล่งโบราณคดีที่เราทำงาน ถูกปกปักรักษาผ่านกาลเวลามานานเนิ่นโดยวิถีชาวถิ่น พี่น้องชาวบ้านจำปา เรียกแหล่งนี้ว่า “ดอนธาตุ” ถือเป็นแหล่งสิงสถิตย์ของผู้ที่เคารพนับถือที่ให้คุณให้โทษได้ ดังนั้นจึงไม่ไปบุกรุกหักร้างถางพงเอามาทำเป็นไร่เป็นนา พอถึงเทศกาลงานบุญหรือก่อนทำไร่ไถนาก็พากันจัดสำรับอาหารหวานกับเครื่องเหลืองมาคารวะ ดอนธาตุจึงเป็นดอนรกทึบอยู่อย่างนั้น อย่างไรก็ตามดอนธาตุก็มีร่องรอยขุดสมบัติบ้างจากกลุ่มคนที่มีคาถาอาคม พี่น้องเล่าว่าเคยมีชาวม้งที่อพยพมาอยู่ใหม่ พวกนี้ไม่กลัวผีสางนางไม้ พากันเข้ามาถางไร่อยู่ครั้งหนึ่งแต่คณะบ้านก็มาห้ามปรามไว้ทัน แม้กระนั้นยังเจ็บป่วยล้มตายกันยี่สิบกว่าคน (มองอีกด้าน อาจเกิดเจ็บป่วยจากการย้ายถิ่นฐานมาเจอไข้ยุง หรือมาเจอน้ำที่ไม่สะอาดเหมือนบนยอดดอย) สุดท้ายต้องย้ายออกไปอยู่บนเขาเหมือนเดิม

บอกกล่าว ก่อนขุดค้น

ก่อนการขุดค้นต้องบอกกล่าว แม้ว่าทีมงานจะมาจากกรมมรดกโลกก็ตาม แต่ทางสปป ลาวนี่ อำนาจการปกครองบ้าน(กรรมการหมู่บ้าน) มีบทบาทและสิทธิ์เสียงค่อนข้างสูง(เมื่อเทียบกับแดนดินถิ่นสยาม) พวกเราจึงเข้าไปบอกกล่าว พร้อมทั้งหารือเรื่องฮีตคอง และการขอความช่วยเหลือให้จัดระดมแรงงานมาช่วยขุดค้น (แรงงานระดมที่ทางบ้านหามาช่วยงานของทางส่วนกลางได้ค่าจ้างวันละ ๓๐พัน ในขณะที่เอกชนไปจ้างทำงานส่วนตัวค่าจ้างจะสูงถึง ๕๐-๖๐ พันกีบ) หารือกันเรื่องการบอกกล่าว “เจ้าที่” ยึดถือเอาฮีตคองของเฒ่าแก่แนวโฮมบ้านเพื่อให้พี่น้องสบายใจ ท่านตกลงให้มีทั้งพิธีสงฆ์ และการเลี้ยงผี ให้นิมนต์พระแก่พรรษาระดับเจ้าวัดมาสี่รูป ส่วนพิธีผีทางบ้านจะจัดเตรียมข้าวของเอง

วันรุ่งขึ้น จัดเตรียมข้าวของเครื่องพิธีกรรม ครบถ้วน มีเครื่องไทยทาน กระทงเลี้ยงเจ้าที่ และถาดเครื่องสมมา เฒ่าแก่ชาวบ้านและทีมงานขุดค้น รวมถึงแรงงานที่จะมาช่วยงานมาพร้อมกัน

สาธุสี่รูปมาถึงปะรำพิธีเก้าโมงเช้า ไหว้พระ รับศีล แล้วท่านก็อาราธนาธรรม นิมนต์สาธุท่านเทศน์ธรรมเมืองอีกหนึ่งผูก ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พ่อเฒ่าว่าเป็นธรรมที่เทศน์แล้วคนจะแคล้วคลาดหายเจ็บหายไข้ จบธรรมพื้นเมืองแล้วพระท่านสวดชยันโต พระพรมน้ำมนต์ ถวายสังฆทาน พระให้พร ยถา…กรวดน้ำ แล้วท่านก็นิมนต์สาธุเจ้าตนเป็นประธานออกไปที่โนนดินที่เชื่อว่าเจ้าที่ท่านสถิตย์ พร้อมกระทงเลี้ยงเจ้าที่ พระท่านและเฒ่าแก่ทุกคนช่วยกันบอกกล่าวว่าขอเข้ามาทำงาน สรุปความว่า เชิญท่านออกไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้(จะได้ไม่ต้องรำคาญคนมารบกวน) “ให้ไหลล่องไปตามน้ำไปอยู่ภูเขียวอย่าเหลียวหน้าคืน” แล้วเฒ่าแก่ก็เรียกตำรวจบ้านที่แต่งเครื่องแบบเต็มยศให้ถือกระทงไปไหลน้ำเลือก นัยว่าเอาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาเชิญท่านออกไป

อย่างไรก็ตาม (เผื่อกันเหนียวไว้…หากท่านยังไม่ยอมไป) พิธีกรรมสุดท้าย เป็นการสมมา เฒ่าแก่ท่านถือถาดใส่กรวยดอกไม้พร้อมเครื่องเหลือง(ชุดผ้าไตรที่ยืมมาจากวัด) ไปยังดอนดินที่เดิมพร้อมทั้งกล่าวคำขอสมาลาโทษ หากสิ่งที่ได้ทำไปเมื่อครู่ ได้สร้างความขุ่นข้องหมองใจ วางกรวยดอกไม้ธูปเทียนไว้บนตอไม้ เป็นอันเสร็จพิธี

ลุงเปลี่ยนไปติดตามงานทุกวัน ทีมงานจากกองมรดกชุดนี้จัดมาทีมใหญ่ ท่านรองอธิบดีมาลุยเอง อีกท่านหนึ่งจบป.เอกมาจากเวียดนาม ส่วนท่านอธิบดีที่จบจากฝรั่งเศสมาวิจัยติดตามหลุมเจาะช่วงหลัง ผลการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของโบราณศาสนสถานแห่งนี้ ต่อไปคงจะจัดแสดงเป็นแหล่งที่น่าสนใจ พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนแผนการใช้ที่ดินให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ (ขอขอบคุณฝ่ายโครงการอย่างสุดอกสุดใจ ที่ได้กรุณาปรับผังของโครงการ)

ความเป็นนักดินที่ได้เล่าเรียนมา ก็ได้มีโอกาสช่วยวินิจฉัยหลุมเจาะโบราณคดีได้เหมือนกัน ดังเช่นรูปด้านบน จะเห็นชั้นความหนาของดินที่ปกคลุมพื้นอิฐ บริเวณดังกล่าวเป็นเนินดินมีระดับสูงกว่าพื้นที่โดยรอบเกือบเมตร ดังนั้นชั้นดินที่ปกคลุมไม้ม่ทางที่จะถูกพัดพามาจากที่อื่น ต้องเป็นชั้นดินที่เกิดจากการทับถมของเศษหญ้าที่ขึ้นบริเวณนั้น ดูตามชั้นความหนาเกือบคืบก็แสดงว่าอายุการทับถมสามร้อยปีโดยประมาณ อีกรูปหนึ่งเป็นหลุมเจาะที่เห็นดินเปลี่ยนสีชัดเจน ตรงแนวสีดำนั่นแสดงว่าดินที่ใหม่ไหลมาแทรก แสดงว่าตรงนั้นเป็นหลุมของเสาไม้ที่พอพุเปื่อยก็เกิดเป็นที่ว่างดินสีดำด้านบนจึงไหลมาอยู่แทน เป็นเยี่ยงนี้นั่นเอง

ดีใจจังเลย ได้มีส่วนช่วยรักษาไว้


กล้ายางพาราที่หลวงน้ำทา รายงานสภาวะ ณ ปี ๒๐๑๑

2 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 18 สิงหาคม 2011 เวลา 1:10 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2452

 

เมล็ดยางพารา ๑ กิโลกรัม ราคา ๓๕๐๐ กีบ(๑๔ บาท) นำมาเพาะได้ ๑๒๐-๑๘๐ กล้า หลังจากเพาะในกะบะทรายให้แทงรากเป็นถั่วงอกแล้ว นำลงแปลงอนุบาลกล้ายางที่ไถพรวนเตรียมไว้แล้ว ท่านทำแปลงขนาดที่คนนั่งติดตาได้สะดวก วิธีย้ายลงแปลงท่านถอนแบบเปลือยรากแล้วเอาไม้จิ้ม เป็นรูๆค่อยๆหย่อนรากกล้ายางฯลงไป ทำทีละต้นๆ ต้องสิ้นเปลืองเวลาไม่น้อย (อันนี้เป็นวิธีของชาวเมืองสิง หลวงน้ำทา)

จากนั้นก็เฝ้าดูแล ดายหญ้าแปลงกล้ายางฯจนอายุครบ ๑ปี แล้วก็เริ่มติดตา ยางพารานี่ก็แปลกทำไมต้องติดตาก็ไม่รู้ เพาะกล้าแล้วปลูกเลยก็ไม่ได้ พ่อเฒ่าเลามาบอกว่า ต้นที่ไม่ติดตาใหม่จะให้น้ำยางไม่เยอะ สมัยที่มีการเพาะกล้ายางกันใหม่ๆ ชาวบ้านงุนงงกับ “ต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์” แอบมาฟ้องว่า ทำไมต้นพ่อต้นแม่ที่เอามาติดตา บางทีขนาดเล็กเท่าๆกับกล้ายางฯเลย ทำให้ไม่เชื่อมั่นต่อผู้ผลิตกล้ายางฯรายนั้น บางคนก็มากระซิบกระซาบว่าสงสัยเขาเอาตาข้างบนจากต้นเดียวกันแกะมาติดตาล่างบ้างก็มี เป็นความเข้าใจผิดของชาวบ้านที่ “แอบจอบเบิ่งกัน แล้วคิดกันไปเอง” ลุงเปลี่ยนก็ต้องไปเสาะหาความรู้ และข้อเท็จจริง แล้วพาชาวบ้านมาดูของจริงให้หายกังวล ผู้รู้ท่านว่ากิ่งที่นำมาติดตายิ่งเอามาจากต้นพันธุ์ที่อายุน้อยเท่าไหร่ยิ่งดี หากเอามาจากต้นแก่จะเหมือนคนแก่มีลูกอ่อนท่านอธิบายว่าอย่างนั้น ส่วนการเอาตาบนมาติดต้นเดิมตาล่างนั้นท่านว่าดูออกง่ายนิดเดียวที่สีของตาใหม่จะดำไม่เขียวเหมือนการติดตาทั่วไป แล้วเราก็บัญญัติคำใหม่ ใช้คำว่าต้นพี่น้องพันธุ์ดี แทนคำว่าต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ป้องกันการเข้าใจผิด

สรุปแล้วก็คือ ดูแลกล้ายางฯอายุครบปีก็ต้องติดตา โดยเอากิ่งพันธุ์ดีมาติด วิธีการติดตาต้องมีขั้นตอนเทคนิคตั้งแต่การแกะตาออกมาจากกิ่งพันธุ์ให้ได้ตุ่มตา (บ่แม่นตาตุ่มเน้อ) ติดมาด้วย จากนั้นก็ค่อยๆปาดที่ต้นตอเอาตาใหม่มาติดพันด้วยให้มิดชิด เป็นอันจบกระบวนการ เจ้ารูปหล่อหมวกแดงข้างบนบอกว่าวันหนึ่งทำได้แปดร้อยต้น(หากเป็นลุงเปลี่ยนก็น่าจะได้สามสิบต้นเท่านั้น) ปกติจะติดตากันช่วงเดือน ๖-๑๐ เท่านั้นหากเข้าหน้าหนาวเป็นระยะพักตาก็ติดไม่ได้ หลังจากติดตาแล้วต้องบำรุงรักษาต้นกล้าไปอีกอย่างน้อย ๗-๘เดือน ก็จะถึงฤดูต้นฝนก็ย้ายไปปลูกได้ ก่อนย้ายไปปลูกสักหนึ่งสัปดาห์ต้องตัดยอดเพื่อกระตุ้นตาที่ติดไว้ให้งอกมาแทน สำหรับการจำหน่ายออกไปปลูกในที่ห่างไกล การขุดกล้ายางต้องทำแบบเปลือยราก หมายถึงตัดต้นเหลือแต่ตอขุดรากมามัดรวมกัน ป้องกันส่วนที่เป็นตาติดใหม่จะเสียหายด้วยการตัดไม้ไผ่มาประกบไว้ นำส่วนรากจุ่มลงในน้ำโคลนส่วนตอที่มีรอยตัดจุ่มน้ำสีป้องกันเชื้อรา เป็นอันพร้อมขนส่งเดินทางไกล

จะเห็นว่า กว่าจะได้กล้ายางพารามาปลูกสักต้นหนึ่งก็ต้องผ่านหลายขั้นตอน และใช้เวลาอย่างน้อยปีกว่าๆ ในการตระเตรียม หงสาต้องการกล้ายาง ๑๐๐๐๐๐ กล้าภายในปีหน้านี้ และในปีต่อไปต้องการมากกว่านี้อีก ทำให้ต้องรีบไปติดต่อทาบทามทั้งต้นกล้าสำหรับปีหน้า และเมล็ดสำหรับเพาะกล้าไว้ปลูกปีโน้นอีกแปดร้อยถึงหนึ่งพันกิโล ยิ่งปีนี้ได้ข่าวว่าทางฝั่งจีนยางพาราไม่ติดผลเนื่องจากฝนตกหนักอีก ไม่ใช่คลั่งบ้ายางพาราหรอกครับ แต่เป็นโจทย์ที่เขากำหนดให้ต้องทำ

สำหรับราคากล้ายางพาราที่หลวงน้ำทา สมัยก่อนซื้อขายกันในหมู่เพื่อนบ้านกล้าละ ๑พันกีบ(สี่บาท)ก็นับว่าแพงแล้ว แต่มาเมื่อปีสองปีก่อน เริ่มมีคนจากทางไกล จากต่างแขวง จากจีน จากเวียดนาม และจากไทยแลนด์มากว้านซื้อ ทำให้ราคาถีบตัวสูงพรวดๆจนถึง ๑๒พันกีบ(เกือบห้าสิบบาท) ม่ายรู้จะแย่งกันซื้อไปถึงไหน   

เราไปทาบทามกล้ายางกันสามแหล่งใหญ่ จุดแรกเป็นกลุ่มชาวลาวสูง(ม้ง)ลูกหลานพ่อเฒ่าเลามา ต้องออกจากหลวงน้ำทาไปอีกเกือบร้อยกิโล ที่เมืองสิง ชาวม้งแต่ละครอบครัวผลิตกล้ายางฯรายละห้าหกหมื่นกล้า แต่ละเจ้ากำลังง่วนอยู่กับการติดตา แต่มีข้อเสียคือ ตาที่นำมาติดเป็นแบบคละพันธุ์ ทำใจลำบากเหมือนกัน เพราะเราอยากได้พันธุ์ที่ทนทานสำหับมือใหม่ชาวหงสา เกรงว่าเอาชนิดที่ต้องมืออาชีพแต่ให้น้ำยางสูงนั้นน่าเป็นห่วง แต่ก็ใช่ว่าเจ้าของเขาอยากขายให้หรอกครับ มีแต่แบ่งรับแบ่งสู้ หรือให้มัดจำไว้ก่อน แต่ตอนส่งมอบขออิงตามราคาตลาด ล่าสุดเพิ่งโทรมาแจ้งว่าหมดเกลี้ยงไปแล้ว ชาวจีนเข้ามาเหมากล้าละ ๖พันกีบ เพิ่งติดตาได้สองอาทิตย์เอง เขาว่าชาวจีนเอาไปลงถุงดำแล้วเพิ่มราคาอีกหลายเท่า เขาบอกว่ารีบขายเพราะไม่งั้นถูกขโมยไปยกสวน

จุดที่สองไปเมืองเวียงพูคา เป็นของบริษัทเสินห่าว ที่ได้รับสัมปทานมาส่งเสริมการปลูกยางทั่วแขวงหลวงน้ำทาสามหมื่นเฮกตาร์ โดยใช้หลักส่วนแบ่ง บริษัทได้๗๐ ส่วนชาวสวนเจ้าของที่ดินได้ ๓๐ แต่ชาวสวนไม่ต้องลงทุนใดๆ บริษัทสนองกล้ายาง ปุ๋ย ค่าปลูก ค่าดายหญ้าจนได้กรีดยางฯ ในระหว่างที่ยังไม่ได้กรีดยาง ชาวสวนจะมีรายได้จากการรับจ้างดูแล ดายหญ้าในสวนตัวเอง และรายได้จากการปลูกพืชแซมระหว่างแถวต้นยาง ได้ข่าวว่าปีกลายบริษัทนี้แบ่งขายกล้ายางฯให้เวียดนามไปหลายคันรถสิบล้อ ก็นั่นแหละต้องรอให้เขาเหลือใช้ก่อนถึงจะขายออกนอกโครงการได้

ฝากความหวังไว้ที่หลวงน้ำทา ขากลับแวะทาบทามที่แผนกกะสิกำและป่าไม้แขวงอุดมไซ โชคดีเจอผู้ประสานงานที่เคยมาฝึกงานที่หงสาสมัยสิบกว่าปีก่อน เคยร่วมงานกับลุงเปลี่ยนหลายป่า(หลายเมา) เขาพาไปดูที่ศูนย์วิจัยส่งเสริมการเกษตรที่จีนมาสร้างไว้ให้ ที่นี่มีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราเก้าแขวงภาคเหนือ(จีนนี่เล็งผลระยะยาวได้แจ๋ว ปลูกแถวลาวเหนือพอได้ผลผลิตก็คงไม่พ้นส่งเข้าจีน) ที่นี่น่าจะมีความหวังสูงกว่าแหล่งอื่นๆ เพราะอยู่ในโครงการในแผนเขาพอดี แต่พวกเราก็เป็นธุรกิจเอกชนนี่ละสิ จีนเขาจะปันให้อย่างไรจะขายกันอย่างไรก็ยังต้องค้นคว้าหาช่องทางกันอีกที

ขอให้ได้ทีเถิด เพี้ยง


ทิศทั้งแปด บทท่องจำตามโคลงบุราณลาว

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 16 สิงหาคม 2011 เวลา 12:56 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5423

มีโอกาสได้เก็บเกี่ยวความรู้ ในการเข้าร่วมเป็นคณะขุดค้นโบราณสถาน กับคณะจากกรมมรดกของลาว (งานนี้เสนอหน้า อาศัยความเป็น อาจานเปลี่ยน จนเขาเชิญเข้าร่วมทำงานด้วย…ก็ของชอบ อิอิ)

เราขุดค้นจอมปลวกเก่าจนพบสิมโบราณ มีการปักพุทธเสมา แปดทิศด้วยกองหินที่เรียก “เก้าค้ำเก้าคูณ” ไล่เลียงกันเรื่องทิศทั้งแปด ปรากฎว่าไล่กี่รอบก็ลืมทิศ หรดี (ไอ้เราก็ได้แต่ ภูติบรพาอึ้งเยี๊ยะซือเจ้าเกาะดอกท้อ อั้งชิกงยาจกอุดรเจ้าของฝ่ามือพิชิตมังกร พิษประจิมอาวเอี๊ยงฮง ต้วนอ๋องทักษิณ จากมังกรหยก) จนท่านทองสา อธิบดีกรมฯท่านมอบบทท่องทิศทั้งแปดตามแบบลาวโบราณ ลองดูนะครับ

” ครุฑ ทะเนา นั่งเบื้องแห่งหนบูรพา

อาคเนย์ แมวอยู่เฝือแฝงฝัน

ทักษิณ ก้ำ ราชสีห์แหนแห่

บักเค่าเม่า นั่งเฝ้าหรดี (บักเค่าเม่า แปลว่านั่งตระหง่า แผลงเป็นเสือ)

ปัดสินเม(ประจิม) นาคเกี้ยวพันดอน

พายัพก้ำ โคจรหนูอยู่

อุดร ช้างพลายสารล้านเถื่อน

เลื่อนๆงัวแม่ง้อง กินหญ้าฝ่ายอีสาน”

ยังมีอีกหนึ่งบทเป็นโคลงสอง ท่านสอนว่า

” ซกงก(ช้าง) ทกเกวียน(งัว) เหียนแอ่น(ครุฑ) แบนโต(แมว) โสภาพ(ราชสีห์) นาบฟาน(เสือ) หานน้ำ(นาค) ช้ำโกลน(หนู)”

อันนี้ต้องออกเสียงตามภาษาลาวจะได้สัมผัสดีครับ

ลองเอาสัตว์ประจำทิศทั้งแปดวางตามตำแหน่ง จะเห็นว่าคนโบราณท่านกำหนดตำแหน่งของแต่ละคู่กัดไว้เป็นคู่ๆนะครับ

มีเวลาจะรายงานภาพรวมของผลการขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้ (ให้กองมรดกฯท่านได้เผยแพร่ก่อนครับ ให้เกียรติคนขุดค้นท่าน) แต่ก็อดเอาคำลาวงามๆมาอวดก่อนไม่ได้


ว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณ

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 สิงหาคม 2011 เวลา 1:13 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1799

 

เสียงเรียกเข้าของมือถือที่ตั้งเป็น “เพลงกาสะลอง” ที่มักถูกแซวว่า “เพลงคนเฒ่า”ดังขึ้นในขณะที่กำลังคุยกับทีมงานเรื่องการจัดฝึกอบรมการเฮดตัวหนอนปูทางเดินเป็นอาชีพเสริมให้พี่น้อง

“อาจานเปลี่ยน มีเซรุ่มแก้งูกะปะบ่ นี่โทรจากโฮงหมอเด้อ ที่นี่ยังแต่แก้งูแมวเซา ไทบ้านนาหนองคำถูกงูกะปะโตบักใหญ่ตอดตอนนี้มาอยู่โรงหมอนี่แล้ว” รีบโทรไปหน่วยพยาบาลขอเบิกด่วน ขอรถวิ่งเอาไปให้โรงหมอทันที อืมม…กลายเป็นศูนย์รวมเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยไปซะแล้วเรา

คิดอยู่นานว่าจะจั่วหัวเรื่องของบันทึกนี้ว่าอย่างไรดี “เห่อฝรั่ง” รึก็กลัวไปกระเทือนซางใครบางคนโดยเฉพาะนายจ้าง หรือจะเอา”ฝรั่งขี้เท่อ”ก็จะกลายพวกเป็นขี้แพ้จอมโวย อย่ากระนั้นเลยเอาชื่อกลางๆ “ว่าด้วยจรรยาบรรณ”นี่น่าจะเข้าท่าที่สุด

เวียกงานด้านสุขภาพอนามัยของโครงการฯ มีหลายงานที่ต้องปฎิบัติ เช่น การตรวจสุขภาพชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายที่๑ การติดตามเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพอนามัยของชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง งานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน งานปรับปรุงโรงหมอเมือง งานซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ งานสร้างหน่วยฉุกเฉินในแคมป์ทำงาน งานประสานความสัมพันธ์แพทย์สองประเทศว่าด้วยการส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งกระโถนอย่างไอ้กระผม ที่เขาเรียกแบบหลอกใช้งานว่า Resource Person (แปลว่าอะไรก็ไม่รู้….) ก็ต้องเข้าไปยุ่งด้วยมากบ้างน้อยบ้างตามที่เขาใช้สอย ประมาณว่าหาใครทำไม่ได้ เอ้าจานเปลี่ยนช่วยเป็นธุระที อะไรประมาณนั้น

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะปล่อยให้จานเปลี่ยน ทำทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียวหรอก เขาก็มีหมอ มีพยาบาล มีฝ่ายเซฟตี้ทีมใหญ่ บางงานเขาก็จ้างที่ปรึกษา หรือที่เรียกหรูๆว่า Consults ซึ่งไม่นับรวมลุงเปลี่ยน (ฟามจริงไอแอมก็คอนเซาท์คนหนึ่งเหมียนกันนะ) ทางโครงการได้จ้างที่ปรึกษาทั้งไทย จีน เมกา ออสซี่ เดินกันขวักไขว่ ดังเช่นเวียกงานวางแผนรวมด้านการป้องกันสุขภาพอนามัยของพนักงานและชาวบ้านที่อยู่รอบๆโครงการ ทางเจ้าของงานก็ส่งเทียบเชิญบริษัทที่ปรึกษาหลายเจ้า ที่ยื่นข้อเสนอมา รวมถึงบริษัทในเครือของผมด้วย (แต่อ่านดูยังไงก็ขาดๆเกินๆ ตรงไปตรงมาก็คือหากให้ผมเป็นกรรมการคัดเลือกก็คงทำใจลำบากที่จะให้งานชิ้นนี้) สรุปแล้วด้วยความโดดเด่น ด้านประสบการณ์และคุณวุฒิของบุคลากรหลัก ทางโครงการจึงตกลงเลือก ทีมงานที่ปรึกษาด้านสุขภาพจากเมกา เห็นว่าท่านเคยมาทำงานที่น้ำเทินของลาว และอีกสามสิบกว่าประเทศส่วนใหญ่จะดูแลด้านอาชีวอนามัยของแหล่งขุดเจาะน้ำมัน

แล้วคณะเชี่ยวชาญท่านก็มาดูพื้นที่ครั้งแรก มีสามท่านเป็นฝาหรั่งเมกาชายหญิงดูตามนามบัตรเห็นมีวุฒิการศึกษาห้อยหลังชื่อยาวเหยียดว่า MD, MPH, DABT, DTM&H แล้วก็มีสุภาพสตรีชาวไทยหนึ่งท่าน สำหรับชาวไทยท่านนี้มีพื้นเพ รากฐานใกล้กับลุงเปลี่ยน คือเป็นคนอู้กำเมืองและเริ่มอาชีพที่พยาบาลเหมือนกัน แต่ท่านไปจบโทและเอกที่ออสเตรเลีย ปัจจุบันทำงานด้านการป้องกันวัณโรคให้รัฐบาลปาปัวนิวกินี ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนที่รู้จักกันมาก่อน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายเรื่องโดยเฉพาะ วิทยาการวิจัย ทางสาธารณสุขที่ทันสมัย เช่นการตรวจมะเร็งปากมดลูกจากตัวอย่างปัสสาวะ ซึ่งสมัยก่อนต้องขึ้นขาหยั่งลูกเดียว อิอิ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ

ผมเข้าร่วมทีมกับคณะนี้ตั้งแต่การถ่ายทอดเรื่องราวข้อมูลด้านสา-สุขของชาวเมืองหงสา งานที่ต้องทำตามสัญญาสัมปทาน พาไปเยี่ยมชมโรงหมอเมือง พบปะพูดคุยกับคีย์อินฟอร์แม้นท์ต่างๆ อยากให้เขาเห็นภาพรวมของโครงการให้มากๆ อีกทั้งจะหาโอกาส”ครูพักลักจำ”เรียนรู้อะไรจากเขาบ้าง อันที่จริงก็แอบลักจำมาได้หลายกระบวนท่า เช่น เรื่องการเฝ้าระวังวัณโรคเชื้อดื้อยาที่อาจติดมากับแรงงานอพยพชาวจีน เรื่องการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ทำงานเหมือนเครื่องเอ็กเรย์ เรื่องวิธีการป้องกันโรคที่จะเกิดจากการรักสนุกของพวกกลัดมันทั้งหลาย รวมถึงการวัดฝุ่นขนาดเล็กมากๆ (พีเอ็มสอง พีเอ็มสี่) แถมโฆษณาขายเครื่องวัดแบบพกพาไปในตัวด้วย

แต่ธรรมเนียมฝาหรั่ง ก็ชวนให้ปวดหัวกับการไม่รู้จักเกรงใจคนลาว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การไม่รู้จักแสร้งฟังเรื่องที่ท่านอยากเล่า แม้ไม่ตรงกับคำตอบที่เราอยากได้ บางที่นัดไว้แล้วก็เปลี่ยนใจไม่อยากไป บางเรื่องก็ถามตรงๆเกินไป (ดีที่เราไม่ต้องเป็นนายภาษาแปลให้คนลาวฟัง….สุภาพสตรีชาวไทยท่านที่ร่วมคณะมาก็เหนื่อยหน่อย)

ก่อนกลับ ทางเราขอฟังสรุปว่าท่านได้อะไรไปบ้าง ยังจะมาทำอะไรอีกเมื่อไหร่ และมีประเด็นเร่งด่วนใดบ้างที่เราต้องรีบแก้ไข พี่ท่านสองฝาหรั่งก็เปิดเลกเชอร์สอนวิชาหลักการป้องกันสุขอาชีวอนามัยเบื้องต้นให้ฟัง ทำเอาในที่ประชุมเอ๋อว่าทำไมไม่เข้าประเด็นซะที (ก็ทนๆฟังกันไป ฝาหรั่งพูดต้องฟังไว้)

สุดท้าย ผมขอฟังความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบและรายการตรวจสุขภาพ (ที่ผมรับผิดชอบอยู่) ก็เห็นท่านเป็นฝาหรั่ง มีปริญญาหมอพ่วงหลายใบ และโฆษณาว่าเป็นคนทำที่น้ำเทิน (อันที่จริงผมก็แอบไปเลียนแบบมาจากน้ำเทินนั่นแหละ พร้อมกับแอบถามหมอเจ๊บ้าง) ที่ขึ้นจอขอความเห็นพี่ท่านคือร่าง หน้าเวียกหรือ ทีโออาร์ที่เรากำลังประกาศจ้างใหม่ที่ผมยกร่างไปประชุมกับคณะท่านหมอจากแขวงที่กำกับโครงการปรับแก้กันมาหลายรอบแล้ว

ความเห็นที่ได้เปิดเผยธาตุแท้ก็คือ มันว่าพวกเราตรวจเยอะเกินไป หากภาษาอังกฤษโรงเรียนภาคค่ำผมแปลไม่ผิดได้ยินว่า “ตรวจเยอะก็เจอปัญหาเยอะต้องแก้ไขเยอะ” ไรฟ่ะเอ้ย นี่ตรูก็ไปเอามารตฐานที่เอ็งสร้างไว้ที่น้ำเทินมานะ แล้วกรรมการในลาวก็ถือเป็นคัมภีร์อ้างอิง(เพราะมีโครงการเดียวที่ทำในลาว) พี่แกรบอกว่า ที่น้ำเทินเขียนไว้เยอะแต่ทำจริงๆไม่หมดหรอก นั่นฟังมันพูดเข้า หรือว่ามันมาหลอกว่าไปทำที่น้ำเทินมาก็ไม่อาจทราบได้ บอกมันไปว่างั้นขออัดเทปที่พูดเมื่อกี้ไปให้กรรมการฟังละกัน เผื่อจะได้ลดรายการตรวจโรคชาวบ้าน งานจะได้ง่ายเข้า เผื่อจะมีใครหลงเชื่อฝรั่งอีก



Main: 0.13950085639954 sec
Sidebar: 0.014672040939331 sec