นั่งรถตระเวณลาว (๕) นากาย น้ำเทิน คำเกิด เวียงจันทน์: สรุปบทเรียน

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:41 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2873

บันทึกการเดินทางค่อนประเทศลาวชุดนี้ ร้อยเรียงสิ่งที่ผ่านพบในระหว่างการเดินทางจากเมืองหงสาแขวงไชยะบุรี ผ่านวังเวียง เวียงจันทน์ บริคำไซ ท่าแขก คำม่วน เมืองนากาย เมืองคำเกิดชายแดนเวียดนาม วกกลับมาเวียงจันทน์ แล้ว(ส่งคณะ)ขึ้นเครื่องบินกลับไชยบุรี

๘ มังกอน ๒๕๕๒
เขาพาไปเยี่ยมชมหมู่บ้านจัดสรร หนึ่งแห่งชื่อ บ้านบัวผา เห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประเภท ถนน ไฟฟ้า ประปา บ้านเรือนที่ปลูกใหม่ หอประชุม โรงเรียน สุขศาลา ตลาด น่าชื่นชมกับสิ่งปลูกสร้างที่เขามอบให้พี่น้องประชาชน ในด้านอาชีพเขาก็มีหน่วยงานพัฒนาส่งเสริมคณะใหญ่ มีผู้เชี่ยวชาญระดับป.เอก ด้านเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด (ที่หงสา มีผู้เชี่ยวชาญเป-ลี่-ยน อยู่คนเดียวดูแลมันเสียทุกเรื่อง….เศร้า) เขายังมีพนักงานพัฒนาชุมชนประจำอยู่ในชุมชนอีกต่างหาก นับว่าเขาก็ตั้งใจดี(วัดที่ความตั้งใจ) แต่ผมก็เป็นประเภทชอบซอกแซก เดินไปมองมุมที่แตกต่าง พอดีไปเจอกับพี่น้องชาวโส้ เหมือนกับที่เราเป็นหัวหน้าเผ่านี้อยู่ที่ดงหลวง พูดคุยกันรู้เรื่องเลยได้บันทึก เสียงสะท้อนของแม่เฒ่าชาวโส้ที่นากาย

แล้วเขาก็พาไปขับรถวนรอบหมู่บ้านจัดสรรอีกสองสามแห่ง ไม่ให้ลงจากรถไปคุยกับใคร จนกระทั่งมาถึงหมู่บ้านที่สี่ เขาพาไปชม “กลุ่มทอผ้า” เห็นแม่เฒ่าชาวไทแมน ทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือนอยู่รายหนึ่ง (ช่างเหอะ อย่างไรผมก็ได้กำไรตรงที่ได้คุยกับชาวเผ่าไทแมน ภาษาพูดของชาวไทแมนเกือบเหมือนชาวไทดำ ไทแดง ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นไทแมน) เสร็จจากการดูงานด้านการพัฒนาชุมชน (อย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว) เขาก็พาไปดูเวียกงานการก่อสร้าง (คุณคร๊าบ..ผมรอนแรมมาสี่คืน ที่มานี่ไม่ได้อยากมาดูงานก่อสร้างคร๊าบ….ได้โปรด)

จากโครงการน้ำเทิน เราตัดเข้าตัวเมืองคำเกิด เส้นทางลัดเป็นทางดินมีหลุมมีบ่อตลอดทาง นึกขอบคุณเจ้ากระป๋องเหล็กที่นำพาผ่านพ้นไปได้ หากเป็นรถคันใหญ่คงจอดอยู่กลางป่า เมืองคำเกิด หรือหลักซาว อยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามสามสิบหกกม. จากชายแดนไปราว ๑๘๐ กม. ก็ถึงท่าเรือดานัง เมืองคำเกิดจึงเต็มไปด้วยแม่ค้าชาวเวียดนามเอวบางร่างน้อยหาบส้มมาขาย ส้มเวียดนามผลไม่กลมเหมือนบ้านเราแต่กลับแบนป้านๆรดชาดจัดจ้านดี ที่เมืองนี้เห็นรถบรรทุกเจ้าตูบบ่ายหน้าไปยังชายแดนสี่ห้าคัน คนลาวเขาว่าเป็นหมาจากฝั่งไทย ขนส่งข้ามน้ำโขงแถวนครพนม ใช้รถลาวขนข้ามประเทศไปเปลี่ยนรถเวียดนามที่ชายแดน อ้อ “หมาแลกคุถัง”บ้านเรานี่เอง เดินทางไกลเป็นว่าเล่น เป็นสินค้าออกที่ไม่น่าภาคภูมิใจสักเท่าไร

ชาวหงสาชาวไชยะฯเรียกร้องอยากกลับไปนอนที่เวียงจันทน์ บางท่านลูกสาวจะเข้าผ่าตัด หลายท่านอยากจะไปดูแลลูกๆที่มาเรียนในเมืองหลวง ทำเอาผิดไปจากเดิมแผนที่ทางฝ่ายจัดการเขาวางไว้ให้พักที่เมืองคำเกิด แต่ก็ต้องตามใจท่านๆ หลังจากไปบอกเลิกห้องพัก ไปกินอาหารเย็นเวลาบ่าย(เพราะเขาเตรียมไว้แล้ว) ก็เรากะไว้ว่าจะดูงานอย่างเจาะจิ้มรายละเอียดเต็มที่แต่เจ้าภาพเขา(มีโชว์)แค่นี้แล้วส่งแขกกับแบบสุภาพ โปรแกรมต่างๆเลยเลื่อนเร็วขึ้นหมด กะว่าจะมาถึงคำเกิดตอนเย็นก็มาถึงราวบ่ายโมง เราออกจากเมืองคำเกิดราวบ่ายสองโมงเศษ มุ่งหน้าทางตะวันตกเข้าหาแม่น้ำโขง ถนนหนทางปูยางเรียบร้อย ทิวทัศน์สองข้างทางเป็นภูเขาหินปูนงดงามเหมือนกับเมืองกุ้ยหลิน อดเป็นห่วงไม่ได้ที่ระหว่างทางเห็นมีโรงงานปูนซีเมนต์มาตั้ง และระเบิดหินเข้าโรงงานหลายแห่ง  

รถแล่นเข้าสู่ที่ราบริมแม่น้ำโขงที่เมืองหินบูน จากสามแยกนี้หากไปทางใต้ราวร้อยกม. เป็นเมืองท่าแขก แต่พวกเราขึ้นเหนือไปเวียงจันทน์ แม้จะรีบเร่งเพียงไหนคณะของเราก็ไม่เว้นที่จะหยุดแวะพักที่ตลาดทุ่งนามี พรรคพวกลงไปหาซื้อสมุนไพร หัวว่านต่างๆ เห็นมีวางขายทั้งแบบแยกชนิด และแบบที่ปรุงเป็นยาหม้อหรือบรรจุขวดพร้อมที่จะเทเหล้าลงดอง ผมว่าที่ลาวนี่เขาก็มีตลาดหรือแหล่งขายสินค้าเฉพาะอย่าง ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินทางดีอยู่หลายแห่งเลยทีเดียว มาถึงเวียงจันทน์เกือบสองทุ่ม เข้าพักที่โรงแรมศักดิ์นครอยู่แถบนอกเมืองออกไปหน่อย เขาจัดอาหารดนตรีสาวรำวงไว้ต้อนรับใหญ่โต แต่ผมใช้วิชาแว๊ปศาสตร์หลบเข้าห้องตั้งแต่สองทุ่มครึ่ง หมดแรงกับการเดินทาง ต้องเตรียมประเด็นสรุปบทเรียนวันรุ่งขึ้นอีก  

๙ มังกอน ๒๕๕๒ จัดกองประชุมสรุปบทเรียนอยู่ที่ห้องการในเวียงจันทน์ ทีมงานต่างสะท้อนความคิดเห็นจากที่ไปดูงานมา และสิ่งที่ต้องนำไปปรับปรุงในพื้นที่ของพวกเรา โดยส่วนตัวผมแล้ว ได้ข้อสรุปที่เป็นความคิดเห็นเฉพาะตัวดังนี้

  •  ได้ดูงานน้อยเกินไป จุดดูงานถูกกำหนดโดยฝ่ายเจ้าภาพ เหมือนไปชะโงกทัวร์เสียมากกว่า
  •  โครงการน้ำเทินมีจุดเด่นที่การนำเสนอผลงาน ทั้งภาษา ทั้งรูปแบบการนำเสนอ และการมีเวปไซด์ให้คนทั่วไปเข้าอ่านได้ตลอด
  •  มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม แต่ลืมคำนึงถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชน
     เป็นการย้ายชุมชนที่มีวิถีชีวิตแบบ “อิสระ” และเรียบง่ายอย่างพอเพียง (ที่ถูกมองว่าล้าหลังด้อยพัฒนา) มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนพร้อมทั้งพัฒนาบ้านเรือน ถนนหนทาง ไฟฟ้า โรงหมอ โรงเรียน (ที่เขาสรุปว่าเป็นการพัฒนา) แต่ที่หงสากลับไม่ใช่เป็นชุมชนดั้งเดิมมีบ้านเรือนถาวรมีวัดวาอารามแล้ว
  •  ที่นากายมีข้อดีคือ หลังการพัฒนาเขามีปลาให้จับ และมีป่าไม้ให้ตัดไปขาย(อันนี้ไม่แน่ใจในความยั่งยืน)
  •  สรุปแล้วการไปทัศนศึกษาครั้งนี้ ก็ดีที่ได้ไปครับ
     

 


นั่งรถตระเวณลาว (๔) คำม่วน น้ำเทิน นากาย: ที่ราบสูงป่าไม้สน

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:35 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3418

บันทึกการเดินทางค่อนประเทศลาวชุดนี้ ร้อยเรียงสิ่งที่ผ่านพบในระหว่างการเดินทางจากเมืองหงสาแขวงไชยะบุรี ผ่านวังเวียง เวียงจันทน์ บริคำไซ ท่าแขก คำม่วน เมืองนากาย เมืองคำเกิดชายแดนเวียดนาม วกกลับมาเวียงจันทน์ แล้ว(ส่งคณะ)ขึ้นเครื่องบินกลับไชยบุรี

“คำม่วน…ดินแดนธรรมชาติ ประวัติศาสตร์วีรชน ต้นกำเนิดขับลำมหาไชย กินซุปหน่อไม้แกงไก่ใส่หน่อสาน เจ้าของขนมป่าน นมัสการพระธาตุศรีโครตตะบองปูชนียสถานงามสง่า” เป็นคำขวัญของแขวงคำม่วนครับ

๗ มังกอน ๒๕๕๒ วันนี้ตอนเช้ายังพาคณะเคลื่อนไหวอยู่ในเมืองท่าแขก ศูนย์กลางของแขวงคำม่วง มีประชุมรับฟังการบรรยายจากหน่วยงานจัดสรรยกย้ายประชาชนโครงการน้ำเทินสอง เป็นการบรรยายนำเสนอแบบมืออาชีพ เพราะเป็นโครงการที่ต้องถูกตรวจสอบจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลลาว เจ้าของเงินกู้และเอ็นจีโอจากนานาชาติ ทางธนาคารโลกยกย่องว่าเป็นโครงการที่ดีเยี่ยมในด้านการวางแผนยกย้ายประชาชน เพราะเขาเล่นเปิดคู่มือของ world bank ของ ADB มาทำตามทุกขั้นตอนนี่เอง (นี่ประเมินจากการนำเสนอที่ยังไม่ได้ไปดูของจริงนะครับ)

เขาพาไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านริมบึง ได้กินซุปหน่อไม้ และแกงไก่ใส่หน่อสาน ตามที่มีในคำขวัญของคำม่วน พออิ่มแล้วน้องนางที่มาช่วยยกอาหารพากันมายืนเข้าแถวรำวงแบบบาสะ ล๊อบให้ชม บรรดาท่านๆนึกสนุกพากันไปเข้าแถวเต้นกับน้องนางกันหลายท่าน ก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองนากาย พากันแวะซื้อขนมป่านที่วางขายกันหลายสิบเจ้าที่สี่แยก ขนมป่านหรือที่บ้านเราเรียกขนมใบป่าน มาจากทางเวียดนามเห็นเขาว่าเอาใบป่านมาเป็นส่วนผสมกับแป้งข้าวเหนียว ใส้ทำจากถั่วเหลืองรสชาดหอมหวานเฉพาะอย่าง ขนมป่านที่บ้านเราผมเคยได้กินที่สกลนคร กับที่มุกดาหารซึ่งมีขายอยู่เจ้าหนึ่งที่ตลาดเทศบาล๒ รู้สึกว่าที่บ้านเราจะกินได้เต็มปากเต็มคำมากกว่า ส่วนของที่นี่จะเป็นประเภทขายใบตองที่ห่อมากกว่า

เส้นทางจากท่าแขกไปเมืองนากายปูยางเรียบร้อย ผิดกับสมัยสิบกว่าปีก่อนที่ผมมีโอกาสติดตามเจ้านายมาสำรวจดิน สมัยนั้นยังเป็นเส้นทางขนส่งไม้ซุงเวลานั่งรถสวนกับรถลากไม้ต้องหลับตาสวดมนต์แทบทุกครั้ง ทัศนียภาพสองข้างทางเป็นภูเขาหินปูนสวยงามแปลกตา แต่ดูค่อนข้างแห้งแล้ง เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพป่าแถวเมืองหงสาทางภาคเหนือ เส้นทางตัดผ่านลำเซบั้งไฟ ลำน้ำนี้เป็นที่รู้จักและถูกจับตามองในแวดวงนัดอนุรักษ์เนื่องจากจะได้รับน้ำเพิ่มจากการผันน้ำจากน้ำเทิน (เขากั้นน้ำเทินขุดอุโมงค์มาผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้า ๑๐๐๐ เมกะวัตต์ แล้วปล่อยน้ำลงยังลำเซบั้งไฟ) ผ่านทางแยกไปเมืองยมราช ขึ้นสู่ที่ราบสูงนากาย

นากาย เป็นเมืองชายแดนของแขวงคำม่วนติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ที่ราบสูงนากายมีน้ำเทินไหลผ่าน มีป่าไม้สน มีพี่น้องบรรดาเผ่าหลายชาติพันธุ์ทั้งกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไท เช่นไทแดง ไทแมน ไทดำ ลาวลุ่ม และกลุ่มที่พุดภาษาตระกูลมอญเขมรเช่น ชาวโส้ กะเลิง เป็นต้น พอมีการพัฒนาโครงการ ท่านได้ยกย้ายพี่น้องที่อาศัยกระจัดกระจายตามลำน้ำขึ้นมาอยู่ในพื้นที่จัดสรร สร้งบ้านเรือน ถนนหนทาง ไฟฟ้า สร้างอาชีพ ให้เรือให้แหอวนไว้หาปลา มอบป่าไม้ให้สองหมื่นหกร้อยเฮกตาร์ระยะเวลาเจ็ดสิบปีให้ชุมชนบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์แปรรูปไม้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้องเช่นนี้ เขาโฆษณาอ้างอวดไว้ว่า “ช่วยให้พี่น้องหลุดพ้นความทุกข์ยาก” ก็แหงละสิ เขาเล่นคิดรายได้ที่เป็นตัวเงินจากการทำงานในสหกรณ์แปรรูปไม้ จากการขายปลา พี่น้องของผมที่หงสาบ่มีทั้งป่าไม้ บ่มีทั้งอ่างเก็บน้ำไว้หาปลา จะเอาตัวเลขตัวเงินจากไหนละนี่

ท่ามกลางป่าสน อากาศยามค่ำคืนที่เมืองนากายหนาวเย็นเหมือนกับอยู่บนยอดภูกระดึง ยังดีที่ห้องพักของโครงการน้ำเทินเขามีเครื่องทำความอบอุ่นให้ด้วย ช่างแตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อนที่มากางเต้นท์นอนฟังเสียงเสือร้องอยู่ที่นี่
ค่ำคืนที่นากาย ผ่านพ้นไปด้วยความสับสน ความขัดแย้งในใจ
การ “พัฒนาทางกายภาพ” แท้จริงแล้ว มีดีเช่นใด มีเสียเช่นใด จะให้มีแต่ดีไม่มีเสียเลยได้หรือไม่

 


นั่งรถตระเวณลาว (๓) วังเวียง-เวียงจันทน์-คำม่วน: เดินทางทั้งวัน

Comments Off โดย silt เมื่อ 13 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:28 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3139

 
บันทึกการเดินทางค่อนประเทศลาวชุดนี้ ร้อยเรียงสิ่งที่ผ่านพบในระหว่างการเดินทางจากเมืองหงสาแขวงไชยะบุรี ผ่านวังเวียง เวียงจันทน์ บริคำไซ ท่าแขก คำม่วน เมืองนากาย เมืองคำเกิดชายแดนเวียดนาม วกกลับมาเวียงจันทน์ แล้ว(ส่งคณะ)ขึ้นเครื่องบินกลับไชยบุรี

๖ มังกอน อำลาวังเวียงแต่เช้าตรู่ แต่บอกกับตัวเองว่ายังมีนัดหมายกับวังเวียงอีกสักครั้ง รอบนี้ไม่ยังนับ เอาไว้ถ้ามีโอกาสจะมานอนบ้านดินช่วยอ้ายสีนวดชาใบหม่อนสักสองสามคืน  มุ่งหน้าล่องใต้ผ่านเมืองหินเหิบ แขวงเวียงจันทน์ ตลอดสองข้างทางเห็นมีสวนยางพาราอายุสี่ห้าปีอยู่มากมาย ฤดูนี้ต้นยางกำลังผลัดใบชาวลาวเหนือไม่เคยเห็นพากันพูดว่า “อาจานต้นยางแม่นเป๋นพะยาดหยังคือต๋ายเหมิด” เข้าสู่กำแพงพระนครเวียงจันทน์เกือบสิบเอ็ดโมง เจ้าภาพจองอาหารกลางวันไว้ที่ร้านสะบายดี กลางกรุงเวียงจันทน์ ผมรีบเดินข้ามถนนไปฝั่งตรงกันข้ามกับร้านอาหารเพราะจำได้ว่าเป็นร้านขายปื้ม (หนังสือ)ของรัฐ เลือกได้หนังสือภาษาลาวสามเล่ม ๑ หนังสือคำต่างชาติในภาษาลาว ๒ หนังสือรักภาษาลาว เป็นเกร็ดความรู้และการใช้คำลาวที่มักใช้กันผิดบ่อย และ ๓ หนังสืองานวิจัยเรื่องเมี่ยงชาจักรพรรดิ

รับสมาชิกเพิ่มที่นี่อีกห้าชีวิต (แต่ไม่เห็นมีใครคิดจะเปลี่ยนรถ) ออกจากเวียงจันทน์มุ่งหน้าลงใต้ ออกจากตัวเมืองได้ราวยี่สิบกม.รถพาวิ่งผ่านสนามกีฬาที่กำลังเร่งก่อสร้างเพื่อรับซีเกมส์ที่จะจัดปลายปีนี้ ถัดไปอีกหน่อยเป็นสุสานนักรบนิรนามที่สร้างใหญ่โตไม่แพ้กัน ถนนหมายเลข๑๓ จากเมืองหลวงล่องไปทางใต้ของเมืองลาวสภาพดีมากเส้นทางไม่คดโค้งเหมือนทางภาคเหนือ ผิวถนนราดยางตลอด แต่หากเทียบกับบ้านเราแล้วรู้สึกจะแคบไปสักหน่อย ผ่านเข้าเขตแขวงบริคำไซ เมืองท่าพระบาท บางคราวถนนพาแล่นเลียบกับแม่น้ำโขง มองเห็นฝั่งไทยบ้านเราอยู่แค่ลำโขงกั้น รู้สึกแปลกๆที่เห็นบ้านเราจากแดนดินของเพื่อนบ้าน ยังดีที่บางช่วงมีสัญญานมือถือของไทยใช้ พอให้โทรฯไปทักทายกับญาติมิตรให้คลายคิดถึง โทรหาเอื้อยป้าแดงที่อยู่ฟากน้ำทางโน้น

รถพาตะบึงแล่นผ่านเมืองปากซันแบบไม่ทันรู้ตัวจึงไม่ทันมองเห็นสาวสวยที่เป็น “กุหลาบปากซัน” นั่งหลับๆตื่นๆเลาะล่องโขงไปอีกราวชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงเมืองปากกะดิง ถามเพื่อนร่วมทางว่าต้นน้ำกะดิงอยู่ไหนคนลาวพากันหัาเราะบอกว่าต้นน้ำกะดิงบ่มี ทางต้นน้ำเขาชื่อแม่น้ำเทิน ทางปลายน้ำเปลี่ยนชื่อเป็นน้ำกะดิง แปลกจริงๆแม่น้ำสายนี้ สรุปว่า น้ำเทินไม่มีปากน้ำ น้ำกะดิงบ่มีต้นน้ำ
แล่นเสียงเรียกร้องให้รถแวะพักที่บ้านน้ำทอน ก่อนถึงเมืองหินปูน แขวงคำม่วน ที่นี่เป็นแหล่งขายอาหารและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า สินค้าเกือบทั้งหมดมาจากสันภูหลวงชายแดนลาวกับเวียดนาม มีทั้งอาหารปรุงสำเร็จประเภท ลาบ ต้ม อ่อม ย่าง และมีหม่ำเนื้อฟานพวงโตๆแขวนโชว์ไว้หน้าร้านอย่างเปิดเผย นอกจากนั้นก็เป็นประเภทเหล้าดองชิ้นส่วนต่างๆของสัตว์ป่า ทีมงานชาวไชยะฯพากันรี่เข้าไปเลือกเอาตัวอ้นตัวตุ่นย่างซื้อติดมือไปหลายไม้

ผ่านเมืองหินบูนไปเกือบ๑๐๐กม. รถพามาถึงเมืองท่าแขกจนได้ เริ่มชอบเจ้ากระป๋องเหล็กคันนี้มาหน่อยแล้ว ตรงเข้าที่พักที่โรงแรมริเวอร์เรียริมแม่น้ำโขง วันนี้ได้พักโรงแรมหรูค่าห้องตกคืนละสามสิบแปดเหรียญ เห็นว่าเจ้าของเป็นชาวมาเลเซีย มองเห็นท้องฟ้ากำลังสวยรีบเก็บรูปยามเย็นที่มีเงาของวัดริมโขงเมืองนครพนมได้งามสมใจ
เขาพาไปกินข้าวเย็น แล้วก็ไปต่อร้านคาราโอเกะที่เป็นร้าน(นวด)ด้วย เปิดห้องวีไอพีร้องเพลงให้สองห้อง แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจร้องเพลง(แล้วไม่รู้ว่าท่านเรียกร้องจะมาทำไม?) ร้อยละแปดสิบของเพลงที่มีในรายการเป็นเพลงไทย ที่เหลือเป็นเพลงลาวและเพลงฝรั่งอย่างละเท่าๆกัน คนลาวนิยมร้องเพลงไทย แต่ก็มีคนไทยคนนี้ไปแย่งร้องเพลงปฏิวัติลาว ร้องจนเสียงแหบเสียงแห้งพรรคพวกก็ไม่ยอมเบื่อไม่ยอมกลับ กว่าจะกลับกันได้ล่วงเลยไปจนดึกดื่น ที่หัวเมืองทางลาวใต้นี่ไม่เห็นเข้มงวดเรื่องผู้หญิงเหมือนที่หงสา เห็นมีมาเสนอบริการพิเศษต่อรองกันอย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา ห้าร้อยหนึ่งพันพันห้าว่ากันเข้าไป นี่จะเรียกว่าค่านิยมที่ผิดๆ หรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม หรือเรียกการค้ามนุษย์ดี แต่หากจะโทษว่าเป็นเพราะท่าแขกอยู่ใกล้ชายแดนไทยเพียงแค่น้ำโขงกั้นก็ดูเหมือนจะเป็นการกล่าวโทษบ้านเรามากเกินไป 

ข้อดีของการร้องคาราโอเกะเพลงปฏิวัติลาวก็มีอยู่บ้าง เพราะวันรุ่งขึ้นหลายท่านที่ดูเชิงกับ “อาจานเปลี่ยน” ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง (เพราะท่านๆก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไอ้เราก็คุยไม่เก่ง ดื่มไม่เก่ง แล้วข้าพเจ้าจะปฏิบัติภาระกิจสำเร็จไหมเนี่ย?) ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นท่านเดินเข้ามาคุยมาแซวเล่นอย่างสนิทสนม  
ขอบคุณ เพลงบุญคุณพรรคปฏิวัติ เพลงสาวเชียงขวาง เพลงสายสัมพันธ์เวียดนามลาว เพลงชมเชยนักรบน้ำบาก      

 


นั่งรถตระเวณลาว (๒) จากไชยะบุรีแวะค้างคืนที่วังเวียง: เยี่ยมสวนเกษตรอ้ายสีของดีที่ต้องอวด

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:14 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2771

บันทึกการเดินทางค่อนประเทศลาวชุดนี้ ร้อยเรียงสิ่งที่ผ่านพบในระหว่างการเดินทางจากเมืองหงสาแขวงไชยะบุรี ผ่านวังเวียง เวียงจันทน์ บริคำไซ ท่าแขก คำม่วน เมืองนากาย เมืองคำเกิดชายแดนเวียดนาม วกกลับมาเวียงจันทน์ แล้ว(ส่งคณะ)ขึ้นเครื่องบินกลับไชยบุรี

เช้าตรู่วันที่ ๕ มังกอน บรรดาท่านทั้งหลายมีคุณนายที่บ้านขับรถมาส่งขึ้นรถ ยกเว้นท่านหัวหน้าแผนกสวล. ที่ภรรยายังอยู่โรงพยาบาลเพราะเพิ่งคลอดลูกสาวคนเล็กเมื่อวานนี้(แต่ท่านก็ยังร่วมเดินทางมากับคณะเรา) เห็นรถคันโตที่ท่านนั่งมาและกระเป๋าสัมภาระใบหรูแล้วรู้สึกเขินๆกับสภาพรถที่จะพาท่านๆไป ออกเดินทางจากที่ว่าการแขวงไชยะบุรี ข้ามน้ำโขงที่แพขนานบ้านท่าเดื่อ มุ่งสู่เมืองนานผ่านไปยังเมืองเชียงเงินเข้าเส้นทางสายหลักหลวงพระบางเวียงจันทน์

เส้นทางร้อยคดพันโค้ง นั่งชมทิวทัศน์สองข้างทางที่สวยงาม มองเห็นยอดภูสลับกับหุบเขายอดแล้วหุบเล่า (ท่านที่ดูหนังเรื่องสวัสดีหลวงพระบางคงได้ชมจากในหนังแล้ว) ราวป่าข้างทางกำลังแต้มแต่งด้วยสีของใบของดอกต้นไม้ป่า ปีนี้ต้นไม้ป่าพากันผลัดใบผลิดอกสวยงามแปลกตาคงเป็นเพราะอากาศที่หนาวเย็นกว่าทุกๆปี เห็นพี่น้องชาวบ้านต่างเก็บดอกแขมแบกกลับมาตากมาฟาดตลอดทาง นับเป็นรายได้หลักอีกอย่างหนึ่งของชาวลาว พี่น้องขายได้กิโลละห้าพันกีบ(ยี่สิบบาท) เป็นทรัพย์ที่ขึ้นตามธรรมชาติไม่ต้องปลูก ผู้ซื้อก็คือประเทศไทยบ้านเรานี่เอง เอามาทำไม้กวาดที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี่แหละครับ

แวะพักคนพักรถที่จุดพักบ้านกิ่วกะจำ เพื่อนร่วมทางที่เป็นนักรบเก่าเล่าให้ฟังว่า ที่นี่เป็นฐานที่มั่นเก่าของทหารผ่านอเมริกาและทหารรับจ้างชาวไทย ที่ปะทะกันยาวนานในสมัยต่อสู้  ปัจจุบันมีบ้านเรือนร้านรวงอยู่หนาตา ขายทั้งอาหารลาว อาหารฝรั่ง เลือกซื้อแผ่นซีดีเพลงลาวสองสามแผ่นมาเปิดให้ท่านๆฟัง เพราะสังเกตดูสีหน้าท่านๆดูเหมือนจะไม่ค่อยพอใจเวลาฟังเพลงไทยที่คุณโชเฟอร์ผู้นิยมของนอกเปิดตลอดเช้าที่ผ่านมา

จากบ้านกิ่วกะจำไปแวะพักอีกครั้งที่บ้านผาตั้งตามคำเรียกร้องของขายาดอง และคนป่วยโรคเก๊าต์ เนื่องจากว่าเป็นแหล่งขายยาดองเหล้าคุณภาพลือชื่อ และน้ำมันเลียงผาของแท้(รึเปล่า)แก้ปวดข้อ นอกจากยาดองและน้ำมันเลียงผาแล้วยังเห็นมีดีหมี กระเพาะเม่น ปูห้วยใส่ในตะกร้า ยอดหวาย ยอดตาววางขายอยู่เกือบยี่สิบเจ้า
ก่อนถึงวังเวียงจอดแวะซื้อส้มสีทองของพี่น้องชาวม้งที่บ้านผาหอม  เป็นส้มที่ปลูกตามธรรมชาติรดชาดดีทีเดียว คงเป็นเพราะคุณภาพดินที่นี่ดีเป็นดินที่เกิดจากหินปูน เพื่อนร่วมทางเล่าว่าพ่อค้าคนไทยมาจองไปขึ้นห้างสินค้าปลอดสารเคมีขายดิบขายดี

ถึงวังเวียงห้าโมงเย็นกว่าๆ แวะส่งท่านๆเข้าพักที่โรงแรมภูอ่างคำ (ห้องละ ๖๐๐ บาท) โรงแรมตั้งอยู่ห่างจากย่านกลางเมืองประมาณครึ่งกิโลเมตร วังเวียงมีภูมิทัศน์ที่สวยงามมีเสน่ห์ แต่ก็อดที่จะได้ติดตามคณะไปเที่ยวชมวังเวียงยามค่ำ เพราะผมมีเป้าหมายพิเศษที่เพื่อนร่วมงานสาย เอ็นจีโอ อุตส่าห์นั่งรถย้อนกลับมาจากเวียงจันทน์เพื่อที่จะพาผมไปชม สวนเกษตรอินทรีย์ของ อ้ายสี สอระสุด

อ้ายสี จัดว่าเป็นเพชรในเมืองลาว เห็นว่าท่านโตที่เมืองฝรั่งเศส กลับมาทำงานพัฒนาบ้านเกิดกับองค์กรพัฒนาเอกชนข้ามชาติหลายหน่วยงาน พอถึงจุดอิ่มตัวก็เลยมาทำกิจการสวนเกษตรอินทรีย์ของตนเอง บรรยายสิ่งที่พบเห็นไม่หมด เท่าที่เดินแกมวิ่งแข่งกับแสงยามค่ำได้เห็น สวนหม่อน โรงอบชาใบหม่อน บ้านดิน โรงดินที่สามารถเก็บมะนาวได้๓เดือนเก็บผักได้ครึ่งเดือน อาคารเลี้ยงแพะรีดนมมาทำเนย ใต้อาคารมีกะบะเลี้ยงไส้เดือนไว้เกือไก่ ในขณะที่ไส้เดือนก็ช่วยย่อยมูลแพะให้เป็นปุ๋ยพร้อม ที่สำคัญคืออ้ายสีไม่หวงความรู้ ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ มีแม้กระทั่งชาวตะวันตกมากินนอนเรียนรู้ที่นี่ไม่ขาดสาย ได้พูดคุยกับอ้ายสีไม่ถึงครึ่งชั่วโมง (เพราะท่านมีแขกมาพบตามนัด แต่เราไม่ได้นัดใช้วิธีลัดคิว) แต่ได้แนวคิดมาทำการบ้านต่อมากมาย เมนูใบหม่อนชุปแป้งทอด เสริฟกับน้ำผลหม่อนปั่น ตามด้วยชาใบหม่อนที่คั่วได้หอมชนิดที่ว่าไม่เคยจิบชาใบหม่อนที่ใดหอมขนาดนี้มาก่อน….สุดยอด…ขอคารวะ

ได้ชมสวนอ้ายสี ได้คุยกับอ้ายสี แล้วคิดถึงท่านครูบาฯ ณ สวนป่ามหาชีวาลัยของกระผมอย่างจับใจ หากมีเทพอุ้มสมอัญเชิญสองท่านมาพบมาแลกเปลี่ยนกันได้ ผมว่าอ้ายน้องลาวไทยไม่มีวันยากจน ผมว่าผู้ที่เป็นประจักษ์พยานรับฟังการเสวนาในคราวนั้นได้ความรู้มาประเทืองปัญญาเต็มๆ
   

 


นั่งรถตระเวณลาว (๑) ปฐมบท จากหงสาไปตั้งตั้นที่ไชยะบุรี

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 13 กุมภาพันธ 2009 เวลา 2:22 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2852

บันทึกการเดินทางค่อนประเทศลาวชุดนี้ ร้อยเรียงสิ่งที่ผ่านพบในระหว่างการเดินทางจากเมืองหงสาแขวงไชยะบุรี ผ่านวังเวียง เวียงจันทน์ บริคำไซ ท่าแขก คำม่วน เมืองนากาย เมืองคำเกิดชายแดนเวียดนาม วกกลับมาเวียงจันทน์ แล้ว(ส่งคณะ)ขึ้นเครื่องบินกลับไชยบุรี

๔ มังกอน ๐๙ หลังปั้นข้าวสวย (เปล่า…ไม่ได้หมายความถึงใช้มือปั้นข้าวสวย แต่แปลว่ากินมื้อเที่ยง) เดินทางออกจากหงสา พร้อมคณะ ท่านรองเจ้าเมือง ท่านหัวหน้าองค์การทรัพย์สินที่ดิน หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมเมืองหงสา มุ่งหน้าสู่เมืองไชยะบุรี เพื่อไปสมทบกับคณะใหญ่อันประกอบด้วย ท่านหัวหน้าห้องว่าการแขวง(ปลัดจังหวัด) หัวหน้าแผนกพลังงานเหมืองแร่ หัวหน้าแผนกการเงิน(คลังจังหวัด) หัวหน้าแผนกที่ดินจังหวัด และบรรดาท่านข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนอีกหลายท่าน รวมยี่สิบกว่าชีวิตที่ร่วมภารกิจการเดินทางในครั้งนี้

มื้อค่ำที่ร้านอาหารจีนริมแม่น้ำฮุง ร้านเจ้าประจำของผม เจ้าของร้านจำกันได้เลยปรุงอาหารทุกรายการออกมาในแบบเสฉวนตามที่ผมเคยสั่ง ผัดตะพาบน้ำ ต้มซุปปลา ผัดซี่โครง ผัดเต้าหู้ ผัดมะเขือยาว ล้วนออกมา(โค ตะ ระ)เผ็ด เดือดร้อนบรรดาท่านๆน้ำหูน้ำตาไหล บ่นถึงร้านลาบหน้าตลาดกันใหญ่ เคราะห์ดีที่มีคณะของท่านรองเจ้าแขวงกลุ่มใหญ่มาแวะกินข้าวเย็นที่ร้านนี้ด้วย บรรดาท่านๆเลยได้รวมกลุ่มสังสรรกันเลือกเมนูใหม่ๆเพิ่ม เห็นมีเต่าปูลูด้วย

พักค้างคืนที่โรงแรมไชยอนันต์ตรงกันข้ามกับห้องว่าการแขวง ห้องละแปดสิบพัน(สามร้อยกว่าบาท)
จุดประสงค์ของการเดินทางในครั้งนี้ ก็เพื่อพาคณะกรรมการขั้นแขวง และขั้นเมืองไปถอดถอนบทเรียนด้านการพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่โครงการน้ำเทิน๒ ที่เมืองนากาย แขวงคำม่วน โดยที่คณะเดินทางได้รับการคัดเลือกจากท่านเจ้าแขวงไชยะบุรีในฐานะประธานกรรมการระดับชาติ ส่วนตัวข้าพเจ้ามีภาระหน้าที่เป็นฟา ไม่รู้ว่าจะเป็นฟาร์เมอร์ หรือตัวฟาที่เสียงต่ำกว่าตัวซอลหนึ่งขั้น แปลว่าอะไรบ่ฮู้ รู้แต่ว่าหากท่านบ่เบิ่งต้องชวนให้เบิ่ง หากท่านบ่ถามต้องช่วยถามแทน ต้องคอยเช็คว่าท่านได้เบิ่งหรือยังเบิ่งแล้วเข้าใจถูกหรือไม่ ชวนท่านคิดต่อ ถอดบทเรียนแต่ละวัน และสรุปบทเรียน

เราเช่ารถบัสสามสิบห้าที่นั่งมาจากเวียงจันทน์ ฝ่ายจัดการเขาวาดภาพว่าเป็นรถขนาดใหญ่เบาะปรับเอนได้เหมือนรถทัวร์วีไอพีบ้านเรา ที่ไหนได้พอมาถึงเข่าแทบทรุดเป็นรถมินิบัสยี่สิบที่นั่งถ้านับเบาะเสริมที่พับติดแถวกลางก็สามสิบห้าจริง ต้องนับถือสปิริตของบรรดาท่านที่ไม่บ่น(ออกนอกหน้า)ยอมนั่งหลังขดหลังแข็งออกจากไชยะบุรี (มีเทคนิคเล็กน้อย โดยให้น้องๆไปเดินถามว่าท่านพกบัตรประจำตัวมาหรือไม่เพราะขากลับจะพาขึ้นเครื่องบินกลับต้องแสดงบัตรด้วย)
สรุปบทเรียนตอนที่ ๑
• สั่งอาหารอย่าตามใจตัวเอง ทำให้แขกเดือดร้อน
• ไปเบิ่งรถคักๆก่อนตกลงราคา
• เทคนิคการเชิญแขกขึ้นรถ


เล่าเรื่องเมืองหงสา เมื่อดอกหมากปู๊บาน: คิดถึงแม่

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 5 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:11 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3873

๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ วันนี้ไปออกพบปะชุมชนที่บ้านแท่นคำ ระหว่างที่ยังไม่ถึงรอบตัวเองเล่นหน้าเวที ไปเดินเล่นในวัดเห็นมีต้นหมากผู้หมากเมีย(หมากปู๊)ชนิดต้นเขียวปลูกอยู่รอบวัด ต้นหมากปู๊กำลังแทงช่อดอกแทบทุกยอด เห็นดอกหมากปู๊แล้วคิดถึงแม่ขึ้นมาทันที
แม่เคยมอกปูนา(อ่อมกะปูของทางอีสาน) ใส่ดอกหมากปู๊….ลำแต้ๆ
แม่เคยแกงแคจิ้นแห้ง อ่อยด้วยดอกหมากปู้….อันนี้ก่ลำ
แม่เคยนึ่งดอกหมากปู๊กินกับน้ำพริกอ่อง….ลำแต้ลำว่า
ที่บ้านแม่แตงตอนแม่ยังอยู่ แม่จะดูแลกอหมากปู๊อย่างดี ที่บ้านมีกอหมากปู๊เป็นร้อยกออยู่รอบๆบ้าน นอกจากจะเก็บไปใส่แจกันดอกหิ้งพระแล้ว พอถึงเวลาที่หมากปู๊ออกดอก เคยช่วยแม่เก็บดอกหมากปู๊นำมามัด ๒-๓ ช่อต่อมัด แล้วใช้ใบหมากปู๊นั่นแหละพันรอบๆ มัดด้วยเชือกกาบกล้วย นำไปขายที่กาดแม่มาลัย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ปีหนึ่งๆทำเงินได้สองสามพันบาท ผมว่าแม่ผมนี่แหละต้นตำรับผักสวนครัวรั้วทำเงิน

ยิ่งคิดถึงแม่มากขึ้น เมื่อผมเห็นแม่เฒ่าสองสามคนหาบย่ามใบโตมาร้องขาย         “ข้าวแต๋น ทราย” หรือข้าวพองคลุกน้ำอ้อย กับขายเมี่ยง แม่เฒ่าบอกว่ามาจากเมืองหานจะไปขายถึงบ้านนาปุง ขาไปก็หาบขนมหาบเมี่ยงมาขาย ส่วนขากลับก็ซื้อฝ้ายกลับไปไว้ปั่นด้าย เอาไว้ทำด้ายผูกข้อมือ หรือทำผ้านวมระยะทางไปกลับเมืองหานนาปุงไม่ต่ำกว่า ๒๕ กม. เก่งจริงคุณยาย แม่ผมก็เคยทำผ้านวม ถึงฤดูว่างานในไร่ในสวนที่ใต้ถุนบ้านจะมีคนมาเรียนเย็บผ้านวม เย็บที่นอน เย็บหมอนหกกันเต็ม เด็กสาวๆก็มาเรียนตัดเสื้อเรียนเย็บจักรแม่เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า “แม่เรียนตัดเสื้อหลักเซนเป็นคนแรกของตำบลนะ” (สมัยก่อนเขาสอนตัดผ้าที่วัดขนาดเป็นนิ้วเป็นกระเบียดต่อมาจึงใช้การวัดแบบเซนติเมตร) คุณลูกชายโทนก็เลยได้บารมีของแม่ไปด้วย เด็กคนอื่นๆเขาเรียกกัน ไอ่หน้อย ไอ่แก้ว ไอ่คำ แต่สำหรับผมแล้วไม่ว่าผู้เฒ่า ผู้หนุ่มท่าน เรียกผมว่าอ้ายหมด
ตอนเที่ยงวันนี้เขาเชิญไป “ผูกแขนแอน้อยออกเดือน” คือการรับขวัญเด็กทารกที่อายุครบเดือน ที่หงสานี่เขาจัดใหญ่โตมาก มีการกินเหล้ากินเบียร์ ล้มหมูฆ่าเป็ดฆ่าไก่ต้อนรับขับสู้เฉลิมฉลองกัน ตั้งวงจั่วไพ่กันด้วย บางรายถึงกับจ้างวงดนตรีมาเล่นค่อนวันครึ่งคืน ทางเชียงใหม่สมัยก่อนเห็นมีแต่การ “หลอนเดือน” ไม่มีการฉลองเหมือนที่นี่ การหลอนเดือนคือ เมื่อเด็กอายุครบเดือนพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่มักอยากให้ “คนดีคนดัก” มาทักแต่เช้าตรู่เป็นคนแรกว่า “ออกเดือนแล้วก๋า” โดยเชื่อว่าเด็กจะได้นิสัยที่ดีๆจากคนๆนั้น
บันทึกเรื่อยเปื่อย บันทึกนี้บ่มีคำลงท้าย เพราะไปรับน้ำใจจากคนรินน้ำเมาที่งานผูกแขนแอน้อยมาหลายตำรับ หลายจอก ๕๕๕๕๕ฮิ้ว
 

 



Main: 0.21335887908936 sec
Sidebar: 0.014693975448608 sec