นั่งรถตระเวณลาว (๕) นากาย น้ำเทิน คำเกิด เวียงจันทน์: สรุปบทเรียน

โดย silt เมื่อ 13 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:41 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2859

บันทึกการเดินทางค่อนประเทศลาวชุดนี้ ร้อยเรียงสิ่งที่ผ่านพบในระหว่างการเดินทางจากเมืองหงสาแขวงไชยะบุรี ผ่านวังเวียง เวียงจันทน์ บริคำไซ ท่าแขก คำม่วน เมืองนากาย เมืองคำเกิดชายแดนเวียดนาม วกกลับมาเวียงจันทน์ แล้ว(ส่งคณะ)ขึ้นเครื่องบินกลับไชยบุรี

๘ มังกอน ๒๕๕๒
เขาพาไปเยี่ยมชมหมู่บ้านจัดสรร หนึ่งแห่งชื่อ บ้านบัวผา เห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประเภท ถนน ไฟฟ้า ประปา บ้านเรือนที่ปลูกใหม่ หอประชุม โรงเรียน สุขศาลา ตลาด น่าชื่นชมกับสิ่งปลูกสร้างที่เขามอบให้พี่น้องประชาชน ในด้านอาชีพเขาก็มีหน่วยงานพัฒนาส่งเสริมคณะใหญ่ มีผู้เชี่ยวชาญระดับป.เอก ด้านเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด (ที่หงสา มีผู้เชี่ยวชาญเป-ลี่-ยน อยู่คนเดียวดูแลมันเสียทุกเรื่อง….เศร้า) เขายังมีพนักงานพัฒนาชุมชนประจำอยู่ในชุมชนอีกต่างหาก นับว่าเขาก็ตั้งใจดี(วัดที่ความตั้งใจ) แต่ผมก็เป็นประเภทชอบซอกแซก เดินไปมองมุมที่แตกต่าง พอดีไปเจอกับพี่น้องชาวโส้ เหมือนกับที่เราเป็นหัวหน้าเผ่านี้อยู่ที่ดงหลวง พูดคุยกันรู้เรื่องเลยได้บันทึก เสียงสะท้อนของแม่เฒ่าชาวโส้ที่นากาย

แล้วเขาก็พาไปขับรถวนรอบหมู่บ้านจัดสรรอีกสองสามแห่ง ไม่ให้ลงจากรถไปคุยกับใคร จนกระทั่งมาถึงหมู่บ้านที่สี่ เขาพาไปชม “กลุ่มทอผ้า” เห็นแม่เฒ่าชาวไทแมน ทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือนอยู่รายหนึ่ง (ช่างเหอะ อย่างไรผมก็ได้กำไรตรงที่ได้คุยกับชาวเผ่าไทแมน ภาษาพูดของชาวไทแมนเกือบเหมือนชาวไทดำ ไทแดง ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นไทแมน) เสร็จจากการดูงานด้านการพัฒนาชุมชน (อย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว) เขาก็พาไปดูเวียกงานการก่อสร้าง (คุณคร๊าบ..ผมรอนแรมมาสี่คืน ที่มานี่ไม่ได้อยากมาดูงานก่อสร้างคร๊าบ….ได้โปรด)

จากโครงการน้ำเทิน เราตัดเข้าตัวเมืองคำเกิด เส้นทางลัดเป็นทางดินมีหลุมมีบ่อตลอดทาง นึกขอบคุณเจ้ากระป๋องเหล็กที่นำพาผ่านพ้นไปได้ หากเป็นรถคันใหญ่คงจอดอยู่กลางป่า เมืองคำเกิด หรือหลักซาว อยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามสามสิบหกกม. จากชายแดนไปราว ๑๘๐ กม. ก็ถึงท่าเรือดานัง เมืองคำเกิดจึงเต็มไปด้วยแม่ค้าชาวเวียดนามเอวบางร่างน้อยหาบส้มมาขาย ส้มเวียดนามผลไม่กลมเหมือนบ้านเราแต่กลับแบนป้านๆรดชาดจัดจ้านดี ที่เมืองนี้เห็นรถบรรทุกเจ้าตูบบ่ายหน้าไปยังชายแดนสี่ห้าคัน คนลาวเขาว่าเป็นหมาจากฝั่งไทย ขนส่งข้ามน้ำโขงแถวนครพนม ใช้รถลาวขนข้ามประเทศไปเปลี่ยนรถเวียดนามที่ชายแดน อ้อ “หมาแลกคุถัง”บ้านเรานี่เอง เดินทางไกลเป็นว่าเล่น เป็นสินค้าออกที่ไม่น่าภาคภูมิใจสักเท่าไร

ชาวหงสาชาวไชยะฯเรียกร้องอยากกลับไปนอนที่เวียงจันทน์ บางท่านลูกสาวจะเข้าผ่าตัด หลายท่านอยากจะไปดูแลลูกๆที่มาเรียนในเมืองหลวง ทำเอาผิดไปจากเดิมแผนที่ทางฝ่ายจัดการเขาวางไว้ให้พักที่เมืองคำเกิด แต่ก็ต้องตามใจท่านๆ หลังจากไปบอกเลิกห้องพัก ไปกินอาหารเย็นเวลาบ่าย(เพราะเขาเตรียมไว้แล้ว) ก็เรากะไว้ว่าจะดูงานอย่างเจาะจิ้มรายละเอียดเต็มที่แต่เจ้าภาพเขา(มีโชว์)แค่นี้แล้วส่งแขกกับแบบสุภาพ โปรแกรมต่างๆเลยเลื่อนเร็วขึ้นหมด กะว่าจะมาถึงคำเกิดตอนเย็นก็มาถึงราวบ่ายโมง เราออกจากเมืองคำเกิดราวบ่ายสองโมงเศษ มุ่งหน้าทางตะวันตกเข้าหาแม่น้ำโขง ถนนหนทางปูยางเรียบร้อย ทิวทัศน์สองข้างทางเป็นภูเขาหินปูนงดงามเหมือนกับเมืองกุ้ยหลิน อดเป็นห่วงไม่ได้ที่ระหว่างทางเห็นมีโรงงานปูนซีเมนต์มาตั้ง และระเบิดหินเข้าโรงงานหลายแห่ง  

รถแล่นเข้าสู่ที่ราบริมแม่น้ำโขงที่เมืองหินบูน จากสามแยกนี้หากไปทางใต้ราวร้อยกม. เป็นเมืองท่าแขก แต่พวกเราขึ้นเหนือไปเวียงจันทน์ แม้จะรีบเร่งเพียงไหนคณะของเราก็ไม่เว้นที่จะหยุดแวะพักที่ตลาดทุ่งนามี พรรคพวกลงไปหาซื้อสมุนไพร หัวว่านต่างๆ เห็นมีวางขายทั้งแบบแยกชนิด และแบบที่ปรุงเป็นยาหม้อหรือบรรจุขวดพร้อมที่จะเทเหล้าลงดอง ผมว่าที่ลาวนี่เขาก็มีตลาดหรือแหล่งขายสินค้าเฉพาะอย่าง ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินทางดีอยู่หลายแห่งเลยทีเดียว มาถึงเวียงจันทน์เกือบสองทุ่ม เข้าพักที่โรงแรมศักดิ์นครอยู่แถบนอกเมืองออกไปหน่อย เขาจัดอาหารดนตรีสาวรำวงไว้ต้อนรับใหญ่โต แต่ผมใช้วิชาแว๊ปศาสตร์หลบเข้าห้องตั้งแต่สองทุ่มครึ่ง หมดแรงกับการเดินทาง ต้องเตรียมประเด็นสรุปบทเรียนวันรุ่งขึ้นอีก  

๙ มังกอน ๒๕๕๒ จัดกองประชุมสรุปบทเรียนอยู่ที่ห้องการในเวียงจันทน์ ทีมงานต่างสะท้อนความคิดเห็นจากที่ไปดูงานมา และสิ่งที่ต้องนำไปปรับปรุงในพื้นที่ของพวกเรา โดยส่วนตัวผมแล้ว ได้ข้อสรุปที่เป็นความคิดเห็นเฉพาะตัวดังนี้

  •  ได้ดูงานน้อยเกินไป จุดดูงานถูกกำหนดโดยฝ่ายเจ้าภาพ เหมือนไปชะโงกทัวร์เสียมากกว่า
  •  โครงการน้ำเทินมีจุดเด่นที่การนำเสนอผลงาน ทั้งภาษา ทั้งรูปแบบการนำเสนอ และการมีเวปไซด์ให้คนทั่วไปเข้าอ่านได้ตลอด
  •  มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม แต่ลืมคำนึงถึงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชน
     เป็นการย้ายชุมชนที่มีวิถีชีวิตแบบ “อิสระ” และเรียบง่ายอย่างพอเพียง (ที่ถูกมองว่าล้าหลังด้อยพัฒนา) มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนพร้อมทั้งพัฒนาบ้านเรือน ถนนหนทาง ไฟฟ้า โรงหมอ โรงเรียน (ที่เขาสรุปว่าเป็นการพัฒนา) แต่ที่หงสากลับไม่ใช่เป็นชุมชนดั้งเดิมมีบ้านเรือนถาวรมีวัดวาอารามแล้ว
  •  ที่นากายมีข้อดีคือ หลังการพัฒนาเขามีปลาให้จับ และมีป่าไม้ให้ตัดไปขาย(อันนี้ไม่แน่ใจในความยั่งยืน)
  •  สรุปแล้วการไปทัศนศึกษาครั้งนี้ ก็ดีที่ได้ไปครับ
     

 

« « Prev : นั่งรถตระเวณลาว (๔) คำม่วน น้ำเทิน นากาย: ที่ราบสูงป่าไม้สน

Next : เล่าเรื่องเมืองหงสา: หอมกลิ่นดอกรัง ที่บ้านกิ่วงิ้ว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.12947702407837 sec
Sidebar: 0.031486034393311 sec