นั่งรถตระเวณลาว (๔) คำม่วน น้ำเทิน นากาย: ที่ราบสูงป่าไม้สน

โดย silt เมื่อ 13 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:35 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3411

บันทึกการเดินทางค่อนประเทศลาวชุดนี้ ร้อยเรียงสิ่งที่ผ่านพบในระหว่างการเดินทางจากเมืองหงสาแขวงไชยะบุรี ผ่านวังเวียง เวียงจันทน์ บริคำไซ ท่าแขก คำม่วน เมืองนากาย เมืองคำเกิดชายแดนเวียดนาม วกกลับมาเวียงจันทน์ แล้ว(ส่งคณะ)ขึ้นเครื่องบินกลับไชยบุรี

“คำม่วน…ดินแดนธรรมชาติ ประวัติศาสตร์วีรชน ต้นกำเนิดขับลำมหาไชย กินซุปหน่อไม้แกงไก่ใส่หน่อสาน เจ้าของขนมป่าน นมัสการพระธาตุศรีโครตตะบองปูชนียสถานงามสง่า” เป็นคำขวัญของแขวงคำม่วนครับ

๗ มังกอน ๒๕๕๒ วันนี้ตอนเช้ายังพาคณะเคลื่อนไหวอยู่ในเมืองท่าแขก ศูนย์กลางของแขวงคำม่วง มีประชุมรับฟังการบรรยายจากหน่วยงานจัดสรรยกย้ายประชาชนโครงการน้ำเทินสอง เป็นการบรรยายนำเสนอแบบมืออาชีพ เพราะเป็นโครงการที่ต้องถูกตรวจสอบจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลลาว เจ้าของเงินกู้และเอ็นจีโอจากนานาชาติ ทางธนาคารโลกยกย่องว่าเป็นโครงการที่ดีเยี่ยมในด้านการวางแผนยกย้ายประชาชน เพราะเขาเล่นเปิดคู่มือของ world bank ของ ADB มาทำตามทุกขั้นตอนนี่เอง (นี่ประเมินจากการนำเสนอที่ยังไม่ได้ไปดูของจริงนะครับ)

เขาพาไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านริมบึง ได้กินซุปหน่อไม้ และแกงไก่ใส่หน่อสาน ตามที่มีในคำขวัญของคำม่วน พออิ่มแล้วน้องนางที่มาช่วยยกอาหารพากันมายืนเข้าแถวรำวงแบบบาสะ ล๊อบให้ชม บรรดาท่านๆนึกสนุกพากันไปเข้าแถวเต้นกับน้องนางกันหลายท่าน ก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองนากาย พากันแวะซื้อขนมป่านที่วางขายกันหลายสิบเจ้าที่สี่แยก ขนมป่านหรือที่บ้านเราเรียกขนมใบป่าน มาจากทางเวียดนามเห็นเขาว่าเอาใบป่านมาเป็นส่วนผสมกับแป้งข้าวเหนียว ใส้ทำจากถั่วเหลืองรสชาดหอมหวานเฉพาะอย่าง ขนมป่านที่บ้านเราผมเคยได้กินที่สกลนคร กับที่มุกดาหารซึ่งมีขายอยู่เจ้าหนึ่งที่ตลาดเทศบาล๒ รู้สึกว่าที่บ้านเราจะกินได้เต็มปากเต็มคำมากกว่า ส่วนของที่นี่จะเป็นประเภทขายใบตองที่ห่อมากกว่า

เส้นทางจากท่าแขกไปเมืองนากายปูยางเรียบร้อย ผิดกับสมัยสิบกว่าปีก่อนที่ผมมีโอกาสติดตามเจ้านายมาสำรวจดิน สมัยนั้นยังเป็นเส้นทางขนส่งไม้ซุงเวลานั่งรถสวนกับรถลากไม้ต้องหลับตาสวดมนต์แทบทุกครั้ง ทัศนียภาพสองข้างทางเป็นภูเขาหินปูนสวยงามแปลกตา แต่ดูค่อนข้างแห้งแล้ง เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพป่าแถวเมืองหงสาทางภาคเหนือ เส้นทางตัดผ่านลำเซบั้งไฟ ลำน้ำนี้เป็นที่รู้จักและถูกจับตามองในแวดวงนัดอนุรักษ์เนื่องจากจะได้รับน้ำเพิ่มจากการผันน้ำจากน้ำเทิน (เขากั้นน้ำเทินขุดอุโมงค์มาผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้า ๑๐๐๐ เมกะวัตต์ แล้วปล่อยน้ำลงยังลำเซบั้งไฟ) ผ่านทางแยกไปเมืองยมราช ขึ้นสู่ที่ราบสูงนากาย

นากาย เป็นเมืองชายแดนของแขวงคำม่วนติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ที่ราบสูงนากายมีน้ำเทินไหลผ่าน มีป่าไม้สน มีพี่น้องบรรดาเผ่าหลายชาติพันธุ์ทั้งกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไท เช่นไทแดง ไทแมน ไทดำ ลาวลุ่ม และกลุ่มที่พุดภาษาตระกูลมอญเขมรเช่น ชาวโส้ กะเลิง เป็นต้น พอมีการพัฒนาโครงการ ท่านได้ยกย้ายพี่น้องที่อาศัยกระจัดกระจายตามลำน้ำขึ้นมาอยู่ในพื้นที่จัดสรร สร้งบ้านเรือน ถนนหนทาง ไฟฟ้า สร้างอาชีพ ให้เรือให้แหอวนไว้หาปลา มอบป่าไม้ให้สองหมื่นหกร้อยเฮกตาร์ระยะเวลาเจ็ดสิบปีให้ชุมชนบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์แปรรูปไม้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้องเช่นนี้ เขาโฆษณาอ้างอวดไว้ว่า “ช่วยให้พี่น้องหลุดพ้นความทุกข์ยาก” ก็แหงละสิ เขาเล่นคิดรายได้ที่เป็นตัวเงินจากการทำงานในสหกรณ์แปรรูปไม้ จากการขายปลา พี่น้องของผมที่หงสาบ่มีทั้งป่าไม้ บ่มีทั้งอ่างเก็บน้ำไว้หาปลา จะเอาตัวเลขตัวเงินจากไหนละนี่

ท่ามกลางป่าสน อากาศยามค่ำคืนที่เมืองนากายหนาวเย็นเหมือนกับอยู่บนยอดภูกระดึง ยังดีที่ห้องพักของโครงการน้ำเทินเขามีเครื่องทำความอบอุ่นให้ด้วย ช่างแตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อนที่มากางเต้นท์นอนฟังเสียงเสือร้องอยู่ที่นี่
ค่ำคืนที่นากาย ผ่านพ้นไปด้วยความสับสน ความขัดแย้งในใจ
การ “พัฒนาทางกายภาพ” แท้จริงแล้ว มีดีเช่นใด มีเสียเช่นใด จะให้มีแต่ดีไม่มีเสียเลยได้หรือไม่

 

« « Prev : นั่งรถตระเวณลาว (๓) วังเวียง-เวียงจันทน์-คำม่วน: เดินทางทั้งวัน

Next : นั่งรถตระเวณลาว (๕) นากาย น้ำเทิน คำเกิด เวียงจันทน์: สรุปบทเรียน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 คนไทย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 กุมภาพันธ 2009 เวลา 3:03 (เย็น)

    ถือว่าเป็นโครงการที่ผู้นำประเทศลาวมีวิสัยทัศน์พอสมควร เพราะภายใต้โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นี้ มีสัญญาที่บริษัทจะต้องสนับสนุนงบประมาณโครงการด้านการอนุรักษ์ต่อเนื่อง 30 กว่าปี  ๆ ละ 1ล้านUS   ไม่เหมือประเทศไทยที่คิดจะสร้างเขื่อนและพัฒนาอย่างเดียวแต่ไม่สนใจการอนุร้กษ์ ซึ่งไม่ใช่หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

    โครงการWMPA ถ้าวางแผนและบริหารจัดการดี ๆ (โดยดูบทเรียนที่ไม่ดีจากประเทศไทย ไม่ต้องไปดูอื่นไกล)  รับรองว่าป่าผืนนี้จะได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างแน่นอน  แต่ที่สำคัญ ทำอย่างไรที่จะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ จะต้องผ่านกระบวนการ สร้างจิตสำนึก เติมเต็มความรู้ เพื่อให้เกิดเจตคติ ซึ่งเกิดความรักความหวงแหนอย่างแท้จริง แล้วให้พวกเขาเกิดทักษะในการปกป้องรักษา ท้ายทีสุดต้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน (คิด วางแผน ดำเนินการ ติดตามประเมินผล สรุปบทเรียน)  เมื่อนั้นแหละความรูสึกเป็นเจ้าของป่าก็จะเกิดขึ้น และจะรั้วที่มั่นคงถาวรตลอดไป
     


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.04954195022583 sec
Sidebar: 0.015632152557373 sec