เล่าเรื่องเมืองหงสา: หอมกลิ่นดอกรัง ที่บ้านกิ่วงิ้ว

โดย silt เมื่อ 10 มีนาคม 2009 เวลา 8:10 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3155

สวัสดีวันที่ ๙มีนา จากเมืองหงสาครับ
วันนี้ที่เมืองลาวเขาหยุดชดเชยกันครับ ชดเชยวันสตรีสากล(๘ มีนา) ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ เมืองไทยเราเหมือนกับไม่ปรากฏมีวันนี้เป็นวันหยุด (รึว่าผมจำไม่ได้ไปเอง….บ้านเราสากลกว่าเขาเยอะไม่หยุดได้อย่างไรเล่า?)
อากาศที่เมืองหงสา เริ่มร้อนในตอนกลางวัน แต่ยามดึกและยามค่อนแจ้งยังทิ้งผ้านวมไม่ได้ครับ  พี่น้องชาวหงสาเริ่มเผาไร่กันแล้ว บางแห่งควบคุมไฟไม่ได้ลุกลามไหม้ป่ากันหลายแห่ง กลางคืนมองไปทางไหนก็เห็นแต่แนวไฟระยิบระยับเป็นวงกว้าง เป็นความงดงามที่มาคู่กับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
เมื่อเช้าไปบ้านกิ่วงิ้ว(เดิม)มาครับ ไปหาพื้นที่ปลูกป่าตามโครงการฟื้นฟูสภาพป่าที่ได้เสนอแผนไว้ กะว่าจะให้พี่น้องมีส่วนร่วมทั้งในการคัดเลือกพื้นที่การปลูกและการดูแลรักษา โดยให้ห้องการกสิกรรมป่าไม้เมืองออกหน้า ส่วนโครงการเราสนับสนุนกล้าไม้และค่าแรงในการปลูก ระหว่างที่อ้ายน้องทีมงานกับผู้เฒ่าแนวโฮมพากันไปเดินจับพิกัดทำวงรอบพื้นที่กัน คนง่อยอย่างผมเขาให้นั่งรอใต้ร่มไม้ ว่าจะคุยกับผู้เฒ่าชาวไปรเรื่องฮีตคองกับการหาอยู่หากิน แต่มองไปทางไหนก็เห็นมีแต่เด็กๆกับผู้หญิงเลยไม่รู้จะคุยกับใคร
ในหมู่ไม้ที่ผมไปอาศัยร่มเงาอยู่นั้นมีต้นไม้รังอยู่ต้นหนึ่ง ที่กำลังทะยอยทิ้งดอกร่วงหล่นลงบนพื้นอย่างต่อเนื่อง กลิ่นหอมของดอกไม้กำจรไปทั่ว หอมเย็น หอมนุ่ม หอมละมุน กับกลิ่นเฉพาะของดอกไม้ป่า ท่ามกลางเสียงจั๊กจั่นเรไรระงมขับกล่อม เมื่อสายลมร้อนวูบพัดผ่านมา ใบไม้แห้งสีแดงฉานหลุดจากกิ่ง คว้างหมุนลงสัมผัสพื้นอย่างแผ่วเบา ทั้งดอกต้นรังและใบไม้พร้อมที่จะสลายตัวปลดปล่อยธาตุอาหารคืนสู่แม่ธรณี ให้หมู่มวลต้นไม้น้อยใหญ่ได้นำใช้ประโยชน์อีก ธรรมชาติหมุนเวียนไปตามกาลเวลาเช่นนี้เอง

ผมเกิดความคิดอยากจะรวบรวมเจ้าดอกต้นรังมาให้ได้สักกอบหนึ่ง จึงชวนเอาสาวน้อยชาวไปรชื่อ “นางพัด”มานั่งเก็บกันทีละดอกๆจนได้ปริมาณมากโข เลยได้รูปถ่ายมาอวดพี่น้อง ส่วนกลิ่นนั้นจะเอาติดจมูกไปฝากภายหลัง ผมว่าถ้าหากมีโอกาสจะพาเด็กๆลองรวบรวมบรรดาดอกไม้ป่าที่มีมากมายยามต้นฤดูร้อนอย่างนี้ ลองทำเป็นเครื่องหอม บรรจุในกระดาษสา หรือกระดาษที่ทำจากหน่อไม้ไผ่ที่พี่น้องหงสาก็ทำใช้กันอยู่ ทำเป็นเครื่องหอมเอาไปขายหารายได้มาจุนเจือ เป็นค่าสมุดดินสอของเด็กๆ คงเป็นไปได้ทีเดียว ขนาดน้องพัดมาช่วยเก็บไม่ถึงครึ่งชั่วโมงยังได้ตั้งเยอะ “แต่ก็ได้แค่คิดละมั้ง” งานประจำทุกวันนี้ก็แทบไม่ได้หยุดอยู่แล้ว

บ้านกิ่วงิ้ว ที่ต้องวงเล็บไว้ว่า (เดิม) เพราะปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว เรียกได้ว่าไม่มีบ้านกิ่วงิ้วเหลืออยู่แล้วก็ยังได้ เนื่องจากว่าทางการท่านสั่งให้ชาวบ้านกิ่วงิ้วย้ายลงไปอยู่รวมกับบ้านน้ำแก่น ตามนโยบาย “รวมศูนย์กลุ่มบ้านเพื่อพัฒนา” หรือ collectivization ไปได้สามสี่ปีมาแล้ว อันที่จริงการรวบรวมไพร่พลเยี่ยงนี้บ้านเราก็เคยทำกันมาแล้ว ก็ยุค “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”ในระยะฟื้นตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไรเล่าครับ การรวมศูนย์บ้านเพื่อพัฒนานั้น เท่าที่ได้รู้ได้เห็น ก็พบว่ามีทั้งผลดี และมุมที่น่าเป็นห่วง
ผลดีก็คือ เป็นการรวบรวมชุมชนเล็กๆที่อยู่กระจัดกระจายตามหุบห้วยภูดอย มารวมกันอยู่ใกล้ตัวเมือง หรือใกล้ทางรถ ทำให้การสัญจรไปมาสะดวก มีการตั้งโรงเรียนมัธยม ตั้งสุขศาลา ทำให้เด็กๆเข้าถึงการศึกษา และบริการสาธารณสุขได้ง่าย เรื่องไฟฟ้า น้ำอุปโภคบริโภคครบพร้อม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มีฝ่ายภาษี การเงิน การเกษตร มาประจำที่กลุ่มบ้าน
อย่างไรก็ตาม ในข้อที่น่าเป็นห่วงก็ยังมีอยู่หลายประการ เช่น
 แต่ละชนเผ่ามีฮีตคอง วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน พี่น้องชาวไปรขยันทำไร่จนขึ้นชื่อ พี่น้องชาวขมุอยู่อย่างพอเพียงเวลาที่เหลือชอบดื่ม พี่น้องชาวลาวสูงชอบเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
 ความขัดแย้งจากการแย่งพื้นที่ทำไร่กัน
 การแย่งใช้ทรัพยากรจากป่า และจากธรรมชาติกัน เป็นต้น
ประเด็นเหล่านี้ยังมีให้เห็น แม้ว่าจะปรากฏเพียงเลาๆลางๆก็ตาม เหมือนกับที่ได้คุยกับครอบครัวของชาวไปร ๔ ครอบครัวที่ต้องกลับมาปลูกขนำอยู่ที่บ้านกิ่วงิ้วเดิม เพราะ “ไม่มีที่เลี้ยงวัว” “อยู่ที่โน่นไม่มีที่ทำไร่ มีก็ดินไม่ดี”
อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
อยากบอกว่าทุกอย่างมีทั้งดีทั้งเสีย
เพียงแต่ว่าเราจะช่วยเยียวยาผลเสียนั้นได้อย่างไร
หากทำได้ก็ win win

« « Prev : นั่งรถตระเวณลาว (๕) นากาย น้ำเทิน คำเกิด เวียงจันทน์: สรุปบทเรียน

Next : ตีแตก(ที่สวนป่ามหาชีวาลัย)อีสาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 พี่นิด ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 มีนาคม 2009 เวลา 9:38 (เช้า)

    ดอกไม้ป่าหน้าร้อนที่หงสา จะหอมกว่า เมืองไทย มั้ยหน้อ  พี่เปลื่ยน เรื่องอากาศร้อนนี่ที่สองแคว กลางวันร้อนสุดๆๆ   พอแดดร่มลมตก ก็จะค่อยยังชั่วค่ะ
     บ้านเราชาวบ้านก็นิยมเผาป่า เป็นปัญหาต่อภาคหน้าที่สุด ไม่แน่ใจ ชาวบ้านเผาป่า เพื่อประโยชน์ ในการได้เก็บผักหวานหรือประโยชน์อย่างอื่นคะพี่เปลี่ยน ได้ยินแม่เล่าให้ฟังคะ  แพงมากเลยคะ ที่บ้าน กิโลกรัมละ  200 บาททีเดียว


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14983701705933 sec
Sidebar: 0.066916942596436 sec