ตีแตก(ที่สวนป่ามหาชีวาลัย)อีสาน
บรรยากาศกิจกรรม “ตีแตกอีสาน” ที่สวนป่าฯ เมื่อปลายเดือนกุมภาที่ผ่านมาได้ง่ายๆโดยสังเขปดังนี้
หลากหลายผู้คน ผู้รู้ ผู้ตระหนัก ผู้แสวงหา มาเจอกัน
แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ไร้กระบวนการ ไร้ขอบเขต
เหล่าชาวแซ่เฮฯเรา ฉกฉวยทุกโอกาส ในการเฮฯแบบมีศาสตร์อย่างเอื้ออาทร
ตีแตกอีสาน
ในทัศนะของผม
ตีจากการทำงานในอีสานมามากกว่าสิบปี
เท่าที่มีส่วนร่วมในงานด้านการพัฒนาหลายรูปแบบ อาทิ ชลประทาน การเกษตร ดินเค็ม โรงงานอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม การสร้างโลกใหม่ให้ช้างไทย และการพัฒนาชุมชน การพัฒนาองค์กรชาวบ้าน การเชื่อมเครือข่าย และ และ และ
ผมตีความได้ว่า
ชาวอีสานถูกมองอย่างไม่เข้าใจ มองจากภายนอก
ไม่ได้มองที่ตัวตน จิตวิญญาณที่แท้จริง
ตัวอย่าง มีมาตั้งแต่โบราณ เช่น บ้านกุดหูลิง แปลตามชื่อ คือ หนองน้ำหลงประเภทหนึ่งที่เกิดจากลำน้ำเปลี่ยนทิศทางเดิน แต่ทางบางกอก แปลเป็น กุฏิที่มีลิง เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วานรนิวาส” ความหมายเปลี่ยนไปหมด
หรือตัวอย่างเรื่องชวนหัวที่ผมไปพบ ที่ลูกเขยชาวต่างถิ่นเอา “ดินเอียด” มาถมที่ปลูกบ้าน เพราะเข้าใจว่า ดินเอียดคือดินที่มีเนื้อละเอียด ทั้งๆที่ดินเอียดแปลว่าดินเค็ม ผลที่ได้ก็คือบ้านเรือนที่ก่อด้วยปูนอยู่ได้สองสามปีก็ผุก็เปื่อยไปหมด
การทำงานกับคนอีสาน จำเป็นต้องเข้าใจระบบ “นิเวศวัฒนธรรม”ท้องถิ่น
เหมือนกับผม ต้องเรียนรู้ที่จะเป็น “เจ้าจ้ำ”ของชาวโส้ดงหลวงให้ได้
แต่ที่พบเห็นในการทำงานในอีสาน ผมกลับพบว่า
๑ พี่น้องถูกแย่งชิง ถูกหน่วยงานนั้นลากไป หน่วยงานนี้ลากมา หมู่บ้านหนึ่งๆมีการตั้งกลุ่มสามสิบกลุ่มก็มี มีประเภทปักป้ายถ่ายรูปก็มี
๒ นโยบายปูพรมจากส่วนกลาง ไม่ได้เลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น เช่นแจกเมล็ดผักคะน้าให้ชาวบ้าน แต่พี่น้องกินไม่เป็น
ความจริงพี่น้องชาวอีสานมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมสืบทอดกันมาแต่ยาวนาน มีปราชญ์มีผู้รู้มากมาย
มีศักยภาพในการรวมกลุ่ม เป็นเครือข่าย เป็นองค์กรชาวบ้าน เช่น ที่กุดชุม ที่กุดบาก เป็นตัวอย่าง
แนวทางการพัฒนาที่คิดว่าจะเป็นไปได้สวย
๑ ต้องอิงระบบ เกษตรนิเวศวัฒนธรรม
๒ พี่น้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน และกำหนดแผนพัฒนาชุมชน
ตีแตก “สวนป่า”
ได้ไปสวนป่าหนแรกก็คราวนี้ขอแปลภาพที่ได้พบเห็นได้สัมผัสออกเป็นตัวอักษร ได้ดังนี้
๑ สวนป่า เป็นโอเอซีสของภูมิปัญญา กลางเวิ้งทะเลทราย เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งเผยแพร่เคล็ดวิชาสหสาขา
๒ สวนป่า มีน้ำใจไมตรีเปี่ยมล้น แม่หวี น้องออย เตรียมอาหารตัวเป็นเกลียวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ยามดึกเห็นแม่หวีถือไฟฉายท่อมเดินไปดูความสุขสบายของแขกเหรื่อ
๓ แม้แต่เจ้าบ้านรายอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะเต็มใจต้อนรับคนแปลกหน้า เจ้าทองเหมียวแม่ลูก เจ้าตาหวานที่วิ่งมาแสดงระบำให้ดูอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เจ้าไก่ต๊อกและเจ้าเป็ดขาวที่เดินเป็นแถวมาทักทายอย่างน่าชม เจ้าวัวรุ่นกินฟางในคอกอย่างเป็นระเบียบ เจ้านกตัวน้อยช่วยกินหนอนในแปลงผักส่งเสียงไพเราะขับกล่อม หรือแม้กระทั่งเจ้าตั๊กแตนตำข้าวเห็นผมนั่งเหงายังบินมาเล่นด้วยอยู่ตั้งนานสองนาน
๔ ได้เห็นได้เรียนรู้ถึงวิถีแห่งธรรมชาติ เห็นปลวกพึ่งพาเปลือกไม้ เห็นต้นน้อยหน่าและต้นมะสังทิ้งผลลงฝากไว้กับผืนดินเพื่อรักษาชีวิตให้รอดผ่านฤดูแล้ง เห็นฝูงแมงแคงเกาะอยู่เต็มกิ่งไม้
แมงแคงกลิ่นฉุน ทางเหนือเรียกแมงแกง ทางวิชาการเรียกมวนพิฆาตเป็นตัวห้ำที่สำคัญที่ช่วยควบคุมหนอนกินผัก แต่แมงแคงสำหรับคนอีสานแล้วเป็นอาหารชั้นยอด
ข้อคิดจากแมงแคง สรุปได้ว่า
แม้ว่าอีสานจะแล้งจะร้อนเพียงใด ชาวอีสานก็ยังมีวิถีของชาวอีสาน วิถีแห่งการอยู่รอด ถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
ของดีมีอยู่ทั่วอีสาน ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะตี(โจทย์)แตก
« « Prev : เล่าเรื่องเมืองหงสา: หอมกลิ่นดอกรัง ที่บ้านกิ่วงิ้ว
Next : กระบี่ที่จำได้(ลางๆ) บทบันทึกก่อนไปกระบี่ » »
3 ความคิดเห็น
คิดถึงๆๆๆๆๆๆ ลุงเปลี่ยนๆๆๆๆๆๆ จังเลยๆๆๆๆๆๆๆ….กอดๆๆๆๆๆๆๆ
คือมาเขียนได้ดีคักแท้ๆอาว์เปลี่ยนนี่ มื้อหล้งไปฮ้องเพลงโผล่หน้าต่างอีกเด้อ
คิดถึงหนุ่ม ยืนร้องเพลงลาวผ่านหน้าต่างให้ฟัง ฮ่าๆๆๆๆ ฮิ้ว………