เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร ก่อนทัวร์ชุมชน
การไปทัวร์ชุมชนเป็นกิจกรรมหนี่งซึ่งอยู่ ในกระบวนการของการสร้างโอกาสให้เราได้มี โอกาสไปเรียนรู้จากปฏิบัติการในพื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ขึ้นอยู่กับว่า…เราในฐานะผู้ไปเยี่ยมเยียนจะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากน้อยเพียงใด หากอยากไปทัวร์ชุมชนให้ได้ประโยชน์ มีเคล็ด(ไม่)ลับมาบอก หากเพื่อนพ้องลองทำตามแล้วได้ผล ขอให้บอกต่อ และหากมีเคล็ดลับอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็อยากให้เล่าสู่กันฟังบ้าง เพื่อสร้างการทัวร์ชุมชนให้คึกคัก ฝ่ายททท.เขาส่งเสริมว่า “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” ของเราก็อาจเข้าทำนองว่า “ทัวร์ชุมชนบนฐานของปัญญา เพื่อพัฒนาเครือข่ายไทยให้คึกคัก”
ข้อแรก : ชัดเจนในเป้าหมาย
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ตรงประเด็น ผู้ศึกษา-ดูงานต้อง
ชัดเจนในเป้าหมาย เพื่อง่ายต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งสอง
ฝ่าย ทั้งพี่เลี้ยงที่พาไปทัวร์ชุมชน และชุมชนเองก็สามารถ
เตรียมคนและเนื้อหาเพื่อตอบสนองได้ตรงใจผู้มาเรียนรู้ให้ได้มาก
ที่สุด
ข้อสอง : เลือกพื้นที่ให้สอดคล้องกับความสนใจ
เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งต่อความสำเร็จของการ
ศึกษา-ดูงาน เพราะอย่างน้อยก็จะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้
มาทบทวน วิเคราะห์ และบอกได้ว่าได้เรียนรู้อะไรที่จะนำกลับ
ไปประยุกต์ใช้กับงานเพื่อท้องถิ่น หรือการพัฒนาชุมชนได้บ้าง
ข้อสาม : เลือกคนไปให้เหมาะสมและหลากหลาย
เขาเหล่านั้นสามารถเป็นตัวแทนทางความคิดของ
คนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน หากมีกระบวนการคัดเลือกก็อาจช่วยให้
ได้คนที่มีความตั้งใจจริงเข้าร่วม และเห็นคุณค่าว่า…กว่าจะได้
โควต้าไปทัวร์ชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย
ข้อสี่ : ศึกษาข้อมูลก่อนล่วงหน้า
ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์ บทเรียน และ
ประสบการณ์ของชุมชนที่เราจะไปดูงาน พอที่จะวางแผนได้ว่า
จะเลือกเจาะลึกเรื่องอะไร ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมมีฐานความรู้
ความเข้าใจในเบื้องต้นของชุมชนที่เราจะไปเยี่ยมเยียน
ข้อห้า : จัดสรรประเด็นและแบ่งงานกันทำ
การศึกษา-ดูงาน เป็นกระบวนการหนึ่งในการฝึกฝน
ในการสังเกต การจดบันทึก การสัมภาษณ์/พูดคุย การ
จับประเด็น การวิเคราะห์ ดังนั้น หากมีการแบ่งประเด็นการศึกษา
และแบ่งบทบาทหน้าที่ในการแนะนำตัว นำประเด็นการพูดคุย
การซักถาม การจดบันทึก และนำเสนอ ก็จะทำให้ทุกคนมีความ
ตื่นตัวในการเรียนรู้ และฝึกฝนตนเองในการใช้ทักษะต่าง ๆ ที่เป็น
พื้นฐานสำคัญของนักเรียนรู้เพื่อท้องถิ่น
ข้อหก : ออกแบบโปรแกรมและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม
หากรู้เป้าหมาย รู้จักพื้นที่ดูงาน รู้กลุ่มคนที่จะไป นับ
เป็นต้นทุนที่ดีที่จะช่วยให้ออกแบบการทัวร์ชุมชนให้สอดคล้อง
กับความสนใจรวมทั้งระยะเวลาที่มี การให้ชาวบ้านต่อชาวบ้าน
ได้พูดคุยกันด้วยภาษาแบบชาวบ้าน การให้เขาได้เห็นของจริง
หรือการสัมผัสด้วยการลงมือทำยิ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่
มากขึ้น การนำเสนอแบบบรรยายสรุปอาจช่วยตั้งหลัก การถอดรหัส
ให้เห็นภาพเบื้องหลังความสำเร็จ การวิเคราะห์ให้เห็นความยาก
และอุปสรรคในการทำงาน ควรเตรียมพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อจัด
กระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม จัดหาวิทยากรที่เหมาะกับเนื้อหา
ข้อเจ็ด : สร้างทีมให้เกิดความรู้สึกเร้าใจ…ที่จะไปทัวร์ชุมชน
แม้ว่าจะมีกระบวนการที่ทำให้เห็นว่าการไปเที่ยวชุมชน
เป็นเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง แต่การพาคนออกนอกชุมชน ซึ่ง
บางคนอาจไม่ค่อยได้มีโอกาสไปไหนมากนัก หรือบางคนก็อาจ
จะออกนอกบ้านถี่เกินไป บางคนอาจจะกังวลใจที่จะจากบ้านไป
ไกล และไปหลายวัน พี่เลี้ยงคงต้องอ่านใจชุมชนให้ออกและสร้าง
กลยุทธ์เพื่อทำให้การทัวร์ชุมชนน่าสนใจ ท้าทาย และไม่ควรพลาด
เช่น ถ้าเรียนรู้ด้วยตนเองอาจใช้เวลาหลายเดือน แต่ถ้าเรียนรู้
จากชุมชน อาจเพียงแค่หลายวัน เป็นต้น
ข้อแปด : สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง กัน
มิใช่แต่เราจะไปเรียนรู้จากเขา บางครั้งเขาก็อาจได้เรียน
รู้จากเราด้วย ดังนั้น ควรจะเตรียมเรื่องราวของชุมชนไปร่วม
แลกเปลี่ยน สร้างความรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมคิด มิตรร่วมอุดมการณ์
ด้วยการเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อนช่วยเพื่อน พี่สอนน้อง หรือ
การนำของดี ของกิน ของที่ระลึกที่ผลิตจากชุมชนไปฝาก ก็น่า
จะสร้างความรู้สึกประทับใจกันได้ หรือครั้งนี้เราไปเยี่ยมเขา
คราวหน้าอยากชวนเขามาเยี่ยมเรา มาดูผลงาน มาถามไถ่ความ
ก้าวหน้า มาสอนงานถึงถิ่น
ข้อเก้า : สร้างแรงบันดาลใจ
บางครั้งบริบททางสังคม วัฒนธรรมที่แตกต่าง เนื้อหา ที่ได้
จากการไปเยี่ยมเยียนชุมชน อาจยากต่อการนำไปปรับใช้
แต่ที่ได้มากกว่านั้นคือแรงบันดาลใจ จากบางสิ่งบางอย่างที่เรา
อาจไม่ได้ตั้งความคาดหวังไว้ว่าจะไปเรียนรู้ แต่การได้เห็นคนเล็ก
คนน้อย ที่เราไม่คาดคิดว่าเขาเหล่านั้น คือ แหล่งข้อมูล ชั้นยอด
คือผู้สร้างชีวิต-ชีวาให้กับงาน ซึ่งหากย้อนมองไปใน ชุมชนของตน
ก็มีไม่แตกต่างจากที่ชุมชนที่เรามาดูงานมี แต่ ที่ผ่านมาชุมชนอาจจะไม่สนใจ
หรือให้ความสำคัญ การเห็น ตัวอย่างเล็ก ๆ เช่นนี้ก็อาจ สร้างแรงบันดาลใจว่า
งานบางอย่าง ไม่ยากอย่างที่คิด…ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ (หากมีความตั้งใจ)
ข้อสิบ…สุดท้าย : สร้างคุณค่าใหม่ของการเดินทาง
ท่ามกลางการเดินไปข้างหน้าของกระแสโลกาภิวัฒน์
งานเพื่อท้องถิ่นได้สร้างการเดินทางอีกเส้นทางหนึ่ง มีชุมชน
เรียงรายระหว่างทาง เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้คน ชุมชน และ
หน่วยงานต่าง ๆ การทัวร์ชุมชนจะทำให้เกิดการเดินทางข้าม
หมู่บ้าน ข้ามจังหวัด ข้ามเขตภูมิประเทศ ข้ามภูมิภาค ข้าม
ประเด็นงาน ที่กำลังสานกันเป็นเครือข่ายชุมชนแห่งการ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่จะเป็นพลังของท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนการ
พัฒนาบนฐานของปัญญา เพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทยอย่างแท้จริง
เคล็ด(ไม่)ลับทั้งสิบข้อ คงพอทำให้การเดินทางครั้งต่อไปของนักพัฒนา ที่ตั้งใจไปทัวร์ชุมชน ได้ตั้งหลักและประสบผลสำเร็จในการทัวร์ และสร้างงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะการทัวร์ชุมชนให้เกิด “ทัวร์ชุมชนบนฐานของปัญญา เพื่อพัฒนาเครือข่ายไทยให้คึกคัก” ต่อไป
(เป็นบทความที่น่าสนใจ จึงนำมาฝากครับ โดยตัดทอนจาก : คุยกันก่อน โดย พจนา สานศรี ในจดหมายข่าวสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ปีที่ 10 ฉบัยที่ 2 ประจำเดือน มีนาคม-เมษายน 2552 )
Next : 9 สัปดาห์สู่สุขภาพดี รุ่นที่10(1) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร ก่อนทัวร์ชุมชน"