บทบาทวุฒิอาสาธนาคารสมองโคราชร่วมกับสภาพัฒน์
อ่าน: 3274ในวันนี้ (๒๓ กันยายน) วุฒิอาสาธนาคารสมองโคราช ได้มีการประชุมประจำเดือนกันตามปกติ ที่ห้องประชุม ของศาลากลางจังหวัด โดยมีเรื่องที่รายงานให้ที่ประชุมที่สำคัญคือ กิจกรรมที่คณะวุฒิอาสาธนาคารสมองโคราช ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ชุมชน ๔ หมู่บ้าน ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านขบวนการแผนชุมชน โดยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนโดยตรง จำนวนถึง ๙ ครั้งด้วยกัน ผู้ที่ทำหน้าที่รายงานให้ที่ประชุมทราบได้อย่างละเอียดคือ ท่านวุฒิอาสาฯ เอกพล
การปรึกษาหารืออีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ก็คือ การพิจารณาแนวทางการดำเนินงานต่อไป ในบทบาทของวุฒิอาสาฯ กับการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกระบวนการแผนชุมชน ของวุฒิอาสาฯ โคราช เพื่อที่ผู้แทนจะได้นำไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้แทนวุฒิอาสาฯ จากทั่วประเทศ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ กันยายน ๒๕๕๓ นี้ ที่กรุงเทพฯ
ในการประชุมครั้งนี้เป็นที่น่าดีใจว่า มีสมาชิกใหม่หลายท่านที่มาร่วมประชุม และสนใจที่จะมาร่วมทำงานจิตอาสากับพวกเราเพิ่มขึ้น โดยสมัครเป็นวุฒิอาสาฯ ของจังหวัดนครราชสีมาในวันนี้ สมาชิกใหม่ท่านหนึ่งที่ผมอึ้งและทึ่งในเรื่องราวของท่านก็คือ ท่านนายแพทย์สำราญ อาบสุวรรณ ที่ท่านสามารถ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ http://www.bmess.com/page6.html ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของคลีนิกของท่านครับ
ในการประชุม เมื่อพูดถึงการทำงานของวุฒิอาสาฯ กับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะพูดว่า ทำงานร่วมกับ “สภาพัฒน์” ผมก็งงอยู่ วันนี้เลยลองค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจึงถึงบางอ้อ โดยได้คำอธิบายจาก กูรูสนุกดอทคอมดังนี้
“สภาพัฒน์ เป็นชื่อย่อที่คนทั่วไปใช้เรียก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานนี้รัฐบาลก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติที่กำลังตกต่ำ เดิมใช้ชื่อว่า ‘สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ’ มีหน้าที่หลัก คือ ให้ความเห็น คำแนะนำ วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแก่รัฐบาล รวมทั้งรวบรวมสถิติทั่วราชอาณาจักร ภายหลังขยายขอบข่ายงานและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ’ และ ‘สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ในที่สุด
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนทั่วไปจะเรียกสำนักงานฯ ว่า ‘สภาพัฒน์’ แต่ข้าราชการของสำนักงานฯ เองจะเรียกสถานที่ทำงานของพวกเขาว่า ‘สศช.’ ซึ่งเป็นชื่อย่อของสานักงานฯ ข้าราชการบางกลุ่มก็เรียก ‘สภาฯ’ เฉย ๆ”
Next : งานมุฑิตาจิตกับผู้เกษียณ » »
1 ความคิดเห็น
ขอบคุณหลายเด้อ ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับ สศช.ได้เลยค่ะ