วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๓) พบปราชญ์ชาวบ้านที่ชื่นชอบ
อ่าน: 2609ในการไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนบ้านใหม่ในครั้งนี้ ผมได้พบกับ ปราชญ์ชาวบ้านที่ผมชื่นชมอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ ผมได้เคยนำเรื่องราวของท่านไปใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนนักศึกษา ในเรื่องของการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ให้สามารถพึ่งตนเองได้จากการนำพืชป่าอย่างเช่นผักหวานป่ามาปลูกไว้เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นบำนาญชีวิต การส่งเสริมให้ชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ (ไมใช้สารเคมี) การประสานความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาหมู่บ้านของสามประสานคือ ชาวบ้าน พระสงฆ์ และ ครูนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ของตน ที่รู้จักกันชื่อ สามประสานแบบ บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร นั่นเอง
ปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ ในปัจจุบันเรียกขานกันว่า พ่อพรม ปีกกลาง ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านมาหลายสมัย ดังนั้นในวิดีโอเรื่องราวที่ผมใช้ประกอบการสอน จากรายการทีวี คนหวงแผ่น ในสมัยนั้นจะเรียกขานท่านว่า ผู้ใหญ่พรม ปีกกลาง เมื่อพบชื่อท่านจากแผ่นประชาสัมพันธ์และได้รับการแนะนำ ผมจึงนึกถึงสิ่งที่ผมได้รู้เรื่องราวของท่านได้ทันที และด้วยความบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อ ท่านมานั่งร่วมวงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ โดยนั่งอยู่ในที่นั่งที่ติดกันกับผมพอดี เป็นอะไรที่บังเอิญจริง ๆ ครับ จะเรียกว่าโชคดีหรือสวรรค์บันดาลก็คงจะได้ และผมเองก็ได้รับการผูกข้อมือจากท่านด้วยครับ และจากในรูปจะเห็นว่า แม่จินดา หลังจากผูกข้อมือให้ อาจารย์ หลินฮุ่ยแล้ว ก็จะมาให้ พ่อพรม ปีกกลาง ผูกข้อมือให้ด้วยครับ แสดงถึงความเคารพนับถือและสนิทสนมกันของคนทั้งสอง เราทั้งสองเลยคุยกันอย่างสนิทสนมเหมือนรู้จักกันมานาน และในตอนถ่ายรูปหมู่ท้ายการจัดเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้เราก็เลยนั่งติดกันในการถ่ายรูปครับ
ก่อนกลับ พ่อพรม ปีกกลาง ยังมากระซิบบอกผมว่า ต่อไปเมื่อเอาวิดีโอเรื่องดังกล่าวไปสอนนักศึกษาอีกก็บอกนักศึกษาว่า “เป็นน้องผมเอง” ได้เลย เป็นอะไรที่ผมตื้นตันจริง ๆ ครับ (พ่อพรม ปีกกลาง ทีแรกคิดว่าตัวเองน่าจะอายุมากกว่าผม แต่เมื่อสอบถามกันจึงทราบว่า เกิดหลังผมหนึ่งปีครับ….555) นอกจากนั้น พ่อพรม ยังชักชวนให้ไปเยี่ยม หมู่ที่ ๓ บ้านใหม่สมบูรณ์ ในโอกาสต่อไปด้วยครับ
« « Prev : วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๒) บทเรียนจากบ้านใหม่
Next : วุฒิอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (๔) ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านใหม่ » »
1 ความคิดเห็น
เป็นปลื้มแทนชุมแห่งนี้มาก ที่มีการรวมตัวของคนในชุมชน ภายใต้การนำของครูภูมิปัญญา ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ 5 แล้ว จนเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนเข็มแข็ง หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มิเพียงเท่านี้นะค่ะ ยังเอื้อเฟื้อเเผื่อแผ่ชี้แนะช่วยเหลือ ชุมชนรอบ ๆด้วยค่ะ