สัมผัสหลวงตาแชร์ พเนจร

โดย Panda เมื่อ 18 กุมภาพันธ 2010 เวลา 13:40 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน, เรื่องเล่าทั่วไป #
อ่าน: 2951

         ได้มีโอกาสสัมผัส หลวงตาแชร์ พเนจร  หรือ พระครูอมรชัยคุณ เจ้าอาวาสวัดสุชัยคณาราม และดูแล วัดอาศรมธรรมทายาท  ครั้งแรกในการ เข้าร่วมประชุม วุฒิอาสาธนาคารสมอง เมื่อปลายเดือนมกราคม  หลังจากนั้นก็มีโอกาสร่วมเดินทางไปถวายพระพรในหลวงกับท่านหลวงตาแชร์อีกในต้นเดือนกุมภาพันธ์  และเมื่อวันที่ ๑๑ ที่ผ่านมาก็ได้พบกันอีกในงาน ผู้ตรวจการแผ่นดินพบประชาชนอีสาน  แล้วในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ จึงได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมท่าน ที่วัดอาศรมธรรมทายาท  ซึ่งอยู่ติดกับอ่างซับประดู่  ต. มิตรภาพ อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา  ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากท่านหลวงตาแชร์ และคนในชุมชน ที่มาร่วมพูดคุยกับคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๙ นาฬิกา จนถึง ๑๑ นาฬิกาเศษ  จึงหยุดเพื่อหลวงตาและพระสงฆ์จะได้ฉันท์เพล ส่วนฆารวาส ก็รับประทานอาหารร่วมกัน จากฝีมือ โยมแม่ของหลวงตาแชร์  ซึ่งมาทราบภายหลังว่าเปิดร้านอาหารที่ชื่อ ร้านแม่มาลัยปลาเผา ที่อ่างซับประดู่  เป็นกิจการครอบครัว เพื่อบริการนักท่องเที่ยว  ที่มาพักผ่อนท่องเที่ยวในบริเวณนี้

           หลังจากได้พูดคุยกับคนในชุมชนที่มาร่วมและฟังคำอธิบายสรุปของสิ่งที่ ท่านหลวงตาแชร์ ได้ทำงานพัฒนาชุมชนมาแล้วอึ้งครับ  ท่านเป็นพระนักพัฒนาตัวจริง ที่น่าภาคภูมิใจของโคราช  นับว่าผมโชคดีจริง ๆ ที่ได้มีโอกาสมารู้จักครับ  วันนี้จึงขอนำข้อมูลบางส่วนของการทำงานพัฒนาเครือข่ายของท่านมาเสนอครับ

 “การทำงานพัฒนา” เครือข่ายพระสังฆพัฒนาโคราช
        ในอดีตที่ผ่านมา วัดและพระสงฆ์มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกันกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก วัดได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการประกาศศาสนาจนเป็นที่ยอมรับและศรัทธา และเป็นที่เคารพของคนในชุมชน แต่เมื่อความเจริญในรูปแบบต่าง ๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน บทบาทของวัดและพระสงฆ์เริ่มลดลง ทำให้วัดและพระสงฆ์มีการมุ่งเน้นการพัฒนาแต่ “ทางโลก” ทำให้ละเลยมิติ “ทางธรรม” เป็นเหตุให้สถาบันศาสนาคงเหลือแต่บทบาทในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น
      ในจังหวัดนครราชสีมาเองก็เหมือนกันที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ทางพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา จึงมีการรวมตัวกันเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน ในชื่อที่ว่า “เครือข่ายพระสังฆพัฒนาโคราช” ที่มีวิธีคิด และ วิธีการทำงาน  ที่หลายคนก็ยังคงสงสัยว่าพระสงฆ์ทำอะไรได้บ้างต่อการพัฒนาชุมชน  
       การก่อเกิดของเครือข่ายพระสังฆพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ก่อตั้งโดยพระสงฆ์นักพัฒนากลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์และเคยร่วมทำงานพัฒนามาด้วยกัน อีกทั้งมีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน    โดยการนำของพระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงตาแชร์”
       หลังจากมีการรวมกลุ่มกันได้ในครั้งแรก 10 วัด ก็ได้ทำงานหลายโครงการเพื่อชุมชน เริ่มต้นได้เริ่มทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน งานอบรมคุณธรรมจริยธรรม งานฝึกอาชีพด้านการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ในชุมชน จนทำเกิดความเชื่อมั่นของพระสงฆ์ในพื้นที่และคนในชุมชน” พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ หรือ “หลวงตาแชร์” ประธานเครือข่ายพระสังฆพัฒนากล่าวถึงความเป็นมาของเครือข่ายว่า
      ”เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2545 ก็คิดว่าการทำงานไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ทางพระสังฆพัฒนาจึงร่วมมือกับพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงสร้างเครือข่ายตามระบบการปกครองของคณะสงฆ์ประจำจังหวัด มารวมพลังกันเพื่อทำงานในการสร้างเข้มแข็งให้กับชุมชน จนตอนนี้ถ้าพูดถึงเครือข่ายพระสังฆพัฒนาโคราช ก็หมายถึงเครือข่ายของพระสงฆ์ทั้งจังหวัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทั้งแนวดิ่งและแนวราบ”

แนวคิด “พัฒนาคนก่อนพัฒนางาน”

        คุณธรรม นำหน้าการพัฒนาทุกรูปแบบ โดยเน้นการพัฒนาคนก่อนพัฒนางาน  นี่คือแนวคิดต้นแบบของการทำงานเครือข่ายพระสังฆพัฒนา โดยพยายามให้พระสงฆ์ในเครือข่ายได้ทำงานด้วยความสุข และมีสัมมาสมาธิให้เกิดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อสร้างความสามัคคีกันในหมู่ของพระสงฆ์เพื่อผลักดันงานให้ไปสู่ความสำเร็จ ซี่งพระสงฆ์นั้นมีความเชื่อความศรัทธาเป็นทุน มีบุญเป็นกำไร มีปัญหาเป็นตัวแก้ไข และมีเงินเป็นผลพลอยได้ โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อความยั่งยืนและความเข้มแข็งในชุมชน พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ หรือ “หลวงตาแชร์” กล่าว
ซึ่งมีปรัชญาวัดอาศรมธรรมทายาท จังหวัดนครราชสีมา ที่เปรียบเสมือนเป็นแนวคิดหลักสำหรับการทำงานของเครือข่าย ว่า “เสริมสร้างความรู้ เชิดชูคุณธรรม พัฒนาผู้นำ สงเคราะห์มวลชน ประสานองค์กร นำทางพ้นทุกข์” โดยมีกระบวนการทำงานที่สำคัญของเครือข่ายในด้านการจัดการให้ความรู้ จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งรวมไปถึงผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ เยาวชน หรือกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องต่าง ๆ ทั้งการติดยาเสพติด และติดการพนัน หรือชาวบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องการทำมาหากิน ทั้งการอบรม การศึกษาดูงานที่อื่น การพัฒนาความเป็นผู้นำ การให้ผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดี การรวมกลุ่มให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และการจัดสวัสดิการตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน เพื่อสร้างแกนนำและคณะทำงาน ซึ่งในอนาคตจะเป็นกำลังหลักในการทำงานของเครือข่ายพระสงฆ์

บันไดพัฒนา 7 ขั้นเพื่อชุมชน

           ในกระบวนการทำงานพัฒนาที่เครือข่ายพระสังฆพัฒนาได้ใช้ทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงาน จนกระทั่งลงมือปฎิบัติงานในพื้นที่ และรวมไปถึงการประเมินผลการทำงานในแต่ละพื้นที่เพื่อการพัฒนาและปรับปรุง โดยทางเครือข่ายฯ ได้สร้างเครื่องมือสำหรับการมองชุมชนและร่วมทำงานโดยใช้ “บันได 7 ขั้นเพื่อการพัฒนา” ดังนี้

ขั้นที่ 1.จะทำหน้าที่ในการค้นหาทุนทางสังคม เรียนรู้ศึกษางานชุมชน  

ขั้นที่ 2 ก็ถอดองค์ความรู้และถอดบทเรียนที่ได้ศึกษามา  

ขั้นที่ 3 ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปลุกจิตสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนตนเอง

ขั้นที่ 4 ก็พยายามพัฒนาปรับปรุงและสร้างความภูมิใจในชุมชนโดยการเสริมแรงสนับสนุนที่เข้มแข็ง เพื่อเกิดพลัง และความสุขในการมองชุมชน

ขั้นที่ 5 คือการพยายามหาทางออกและแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง เมื่อเห็นว่าการทำงานได้ผลในระดับหนึ่งควรเป็นแบบอย่างต่อการเรียนรู้ในชุมชนอื่นๆ  

ขั้นที่ 6 คือ ขยายผลสู่ชุมชนอื่น เพื่อเป็นแบบอย่าง  

ขั้นที่ 7 ก็นำสู่ความรู้เหล่านั้น ไปสู่เวทีสาธารณะ และ สร้างวิทยากรในชุมชน

         ถึงแม้สภาพปัญหาในชุมชนมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกันหลายๆ ฝ่ายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และค่านิยามความเชื่อ การที่จะแก้ปัญหานั้นคงเกิดขึ้นไมได้เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้ามองถึงการเชื่องโยงทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน นำมาประยุกต์และพัฒนาให้เกิดการแก้ปัญหานั้น พระสงฆ์เองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนานั้น แต่การทำงานของพระสงฆ์ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ถือได้ว่าส่งผลดีต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ในการเป็นจุดเริ่มต้นและกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมหรืองานในชุมชน ซึ่งหากถอดบทเรียนจากความสำเร็จในอดีต จะพบว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ “ความเชื่อ ความศรัทธา” ที่ประชาชนมีต่อพระ และ “จิตสาธารณะ” ที่สมาชิกในชุมชน มีร่วมกัน ทั้งนี้ “เครือข่าย” ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและนำไปใช้ในการเชื่อมโยงจากเครือข่ายพระสงฆ์สู่ชาวบ้านในชุมชนด้วยเช่นกัน.

 

ปลายเดือน มีนาคม ๒๕๕๓ นี้ จะมีงานบุญใหญ่ที่ วัดอาศรมธรรมทายาท  

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://luang-ta-share.blogspot.com/

« « Prev : ผู้ตรวจการแผ่นดิน ททท.

Next : ดีใจที่มีวันนี้ที่ มทส. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 กุมภาพันธ 2010 เวลา 14:13

    สุดยอดไปเลย อ่านจนตาลาย ขอบคุณที่ลิงค์ให้ได้สัมผัสหลวงตาแชร์มากขึ้นค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.070343017578125 sec
Sidebar: 0.041602849960327 sec