การไปถวายพระพร

โดย Panda เมื่อ 6 กุมภาพันธ 2010 เวลา 11:18 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา, สังคม ครอบครัว ชุมชน #
อ่าน: 6176

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ พระชนม์มายุยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า วุฒิอาสา ธนาคารสมอง จังหวัดนครราชสีมา

 

          การไปถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นอาจจะไปเป็นการส่วนตัวคนเดียว ไปกับครอบครัว ญาติมิตร หรือ อาจจะไปเป็นหมู่คณะก็ได้

         กรณีไปเป็นหมู่คณะ และมีแจกัน กระเช้าดอกไม้ และ/หรือ สิ่งของอื่น ๆ ที่จะไปถวายด้วย  เมื่อเดินทางมาถึง ศาลาศิริราช ๑๐๐ ปี หรือที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ตึก ๑๐๐ ปี  ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำวิธีการเข้าถวายพระพร ที่บริเวณด้านหน้าตึก  ถ้ามีแจกัน กระเช้าดอกไม้ และ/หรือ สิ่งของอื่น ๆ ที่จะไปถวาย ก็จะต้องนำไปลงทะเบียน ที่โต๊ะที่ตั้งอยู่ภายในศาลาก่อน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก และรับทราบข้อมูลพร้อมเบอร์โทรศัพท์ ของผู้แทนหมู่คณะที่มา เพื่อเสียบไว้ที่กระเช้าดอกไม้และสิ่งของที่นำมาถวาย เมื่อพร้อมแล้วก่อนจะขึ้นไปถวายพระพร เจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำว่า เมื่อขึ้นไปตั้งแถวหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงพร้อมแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่นำบอกให้ทำความเคารพ ฝ่ายชายให้คำนับ ส่วนฝ่ายหญิงให้ถอนสายบัว  เสร็จแล้วให้ผู้แทนกลุ่มคนที่ถือแจกันหรือกระเช้าดอกไม้ก้าวออกไปข้างหน้าหนึ่งก้าว เพื่อมอบให้ผู้แทนพระองค์ที่จะออกมารับ โดยผู้แทนกลุ่มจะรายงานให้ผู้แทนพระองค์ทราบว่า เป็นหมู่คณะใด มาจากที่ได้ เพื่อมาร่วมถวายพระพร ผู้แทนพระองค์ก็จะรับมอบ แล้วกล่าวตอบ และนำแจกันดอกไม้ไปตั้งหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงในที่ที่จัดไว้   ผู้แทนกลุ่มก็จะถอยหลังหนึ่งก้าวเข้ามาอยู่ในแถวคืน  เจ้าหน้าที่อีกท่านก็จะบอกให้ถวายความเคารพอีกครั้ง ก่อนซ้ายหัน เพื่อเดินไปยังโต๊ะที่จัดไว้สำหรับลงนามถวายพระพร โดยจะมีโต๊ะกลมตัวหนึ่งที่จัดไว้สำหรับผู้แทนคณะจำนวนสามท่าน และอีกแถวหนึ่งจัดไว้สำหรับหกท่าน และสำหรับคณะสงฆ์ ก็จะมีการจัดโต๊ะแยกไว้ด้วย

         ช่วงของการถวายพระพรเป็นหมู่คณะ นักข่าวจากทีวีช่องต่าง ๆ ที่รอกันอยู่ในบริเวณหลังโต๊ะการลงทะเบียน ก็จะมาเก็บภาพและสอบถามรายละเอียดเพื่อไว้นำเสนอด้วย ดังที่จะสังเกตเห็นได้จากในภาพ

 

         กรณีไปเป็นการส่วนตัว เมื่อมาถึงศาลาศิริราช ๑๐๐ ปีแล้ว ก่อนจะลงนามถวายพระพร ก็จะต้องถอดรองเท้าที่บันไดเสียก่อน แล้วจึงขึ้นไปกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงก่อน การกราบนั้น กราบ ๑ ครั้งไม่ต้องแบมือ (มีเขียนบอกไว้) แล้วกลับลงมาใส่รองเท้า เข้าไปลงนามถวายพระพร โดยไม่ต้องถอดรองเท้า  ในที่โต๊ะที่เขาจัดเอาไว้เป็นแถว ๆ ที่อยู่ด้านซ้ายมือ การลงนามถวายพระพรของแต่ละคนนั้น ก็เพียงแต่เขียนชื่อ นามสกุลของเรา  ลงในช่องที่กำหนดไว้  โดยจะได้รับความสะดวกจากพนักงานที่นั่งอยู่อีกด้านของโต๊ะ ทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาลงนามถวายพระพร ซึ่งทำให้ได้รับความสะดวกเป็นอย่างมาก   กลุ่มเจ้าหน้าที่  คอยให้ความสะดวกกับผู้ที่มาลงนามถวายพระพร จะมีอยู่ทั้งด้านในตึกและด้านหน้าตึกครับ ดังที่จะสังเกตเห็นได้จากในภาพ

         

        เนื่องจากการทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง โดยการกราบ มีการเขียนบอกไว้ว่าให้ กราบ ๑ ครั้ง (ไม่ต้องแบมือ) จึงขอนำเรื่องรายละเอียดเรื่องการแสดงความเคารพของไทยที่เป็นเอกลักษณ์ มาบันทึกไว้ในที่นี้อีกครั้งดังนี้

 “การแสดงความเคารพ”  

       รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงความเคารพเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนไทย  การแสดงความเคารพมีหลายลักษณะ เช่น การประนมมือ การไหว้ การกราบ การคำนับ การถวายความเคารพ การที่จะแสดงความเคารพในลักษณะใดนั้น ต้องพิจารณาผู้ที่จะรับความเคารพด้วยว่าอยู่ในฐานะเช่นใด หรือในโอกาสใด แล้วจึงแสดงความเคารพให้ถูกต้องและเหมาะสม ในที่นี้จะพูดถึง การแสดงความเคารพโดยการไหว้ และ การกราบดังนี้ คือ

๑. การไหว้

     การปฏิบัติในท่าไหว้ประกอบด้วยกิริยา ๒ ส่วน คือ การประนมมือและการไหว้

การประนมมือ (อัญชลี) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือให้นิ้วมือทั้งสองข้างชิดกัน ฝ่ามือทั้งสองประกบเสมอกันแนบหว่างอก ปลายนิ้วเฉียงขึ้นพอประมาณ แขนแนบตัวไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา ขณะสนทนากับพระสงฆ์ รับพรจากผู้ใหญ่ แสดงความเคารพผู้เสมอกัน และรับความเคารพจากผู้อ่อนอาวุโสกว่า เป็นต้น

การไหว้ (วันทนา) เป็นการแสดงความเคารพ โดยการประนมมือแล้วยกมือทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง การไหว้แบบไทย แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ตามระดับของบุคคล

ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วแนบส่วนบนของหน้าผาก

ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว

ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่าเล็กน้อย โดยประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก

อนึ่ง สำหรับหญิงการไหว้ทั้ง ๓ ระดับ อาจจะถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลังครึ่งก้าวแล้วย่อเข่าลงพอสมควรพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ก็ได้

 ๒. การกราบ (อภิวาท) เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มี ๒ แบบ คือ

     ๒.๑  การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์

   เป็นการใช้อวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ซึ่งเป็นตัวแทน ของส่วนบนของร่างกาย มือและข้อศอกทั้ง ๒ เป็นตัวแทนส่วนกลางของร่างกาย เข่าทั้ง ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนส่วนล่างของร่างกายจรดพื้น การกราบมี ๓ จังหวะ คือ

ท่าเตรียม

       ชาย นั่งคุกเข่าตัวตรงปลายเท้าตั้ง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า เข่าทั้งสองห่างกันพอประมาณ มือทั้งสองวางคว่ำบนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพบุตร)

       หญิง นั่งคุกเข่าตัวตรง ปลายเท้าราบ เข่าถึงปลายเท้าชิดกัน นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางคว่ำ บนหน้าขา ทั้งสองข้าง นิ้วชิดกัน (ท่าเทพธิดา)

ท่ากราบ

จังหวะที่ ๑ (อัญชลี) ยกมือขึ้นในท่าประนมมือ

จังหวะที่ ๒ (วันทนา) ยกมือขึ้นไหว้ตามระดับที่ ๑ การไหว้พระ

จังหวะที่ ๓ (อภิวาท) ทอดมือทั้งสองลงพร้อม ๆ กัน ให้มือและแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น คว่ำมือห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้
ชาย ศอกทั้งสองข้างต่อจากเข่าราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง

หญิง ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย ราบไปกับพื้น หลังไม่โก่ง จากนั้นก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือทั้งสอง

ทำสามจังหวะให้ครบ ๓ ครั้ง แล้วยกมือขึ้นไหว้ในท่าไหว้พระ แล้ววางมือคว่ำลงบนหน้าขา ในท่าเตรียมกราบ จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถตามความเหมาะสม

๒.๒  การกราบผู้ใหญ่

กราบผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสรวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ครู อาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ ผู้กราบทั้งชายและหญิง นั่งพับเพียบทอดมือทั้งสองข้างลงพร้อมกันให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนมตั้งกับพื้น ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ไม่แบมือในขณะกราบ ไม่กระดกนิ้วมือขึ้นรับหน้าผาก กราบเพียงครั้งเดียว จากนั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถโดยการนั่งสำรวมประสานมือ จากนั้นเดินเข่าถอยหลังพอประมาณแล้วลุกขึ้นจากไป

 ข้อมูลจาก : การแสดงความเคารพ  ( http://www.yes-iloveyou.com/smfboard/index.php?topic=1571.msg1805#msg1805 )

« « Prev : สักการะบิดาแห่งการแพทย์ไทย

Next : สามชุกตลาดร้อยปี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.086935043334961 sec
Sidebar: 0.070739984512329 sec