ซุ้มประตูไทยจีน
จากระเบียงของ พระมหามณฑปฯ วัดไตรมิตรวิทยาราม ที่สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราสามารถที่จะมองเห็นทิวทัศน์บริเวณรอบ ๆ ได้ รวมทั้งบริเวณ วงเวียนโอเดียน ที่ปัจจุบัน ชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท ห้างร้าน กลุ่มมวลชน หน่วยงานราชการได้ร่วมใจกันจัดสร้าง ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย-จีน (รูปล่างซ้าย)
ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย-จีน หรือ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวายเป็นราชสดุดีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ออกแบบโดยช่างผู้ชำนาญด้านศิลปกรรมของจีน มีความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม ยอดหลังคาซุ้มประตู ประกอบด้วยมังกร ๒ ตัว ชูตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒” และทองคำบริสุทธิ์หนัก ๙๙ บาท ที่หุ้มพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. หมายถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนที่เทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เหนือเกล้า ใต้หลังคาซุ้มประตูเป็นแผ่นจารึกนามซุ้มประตู ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจารึกเป็นภาษาไทยด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จารึกอักษรจีน “เซิ่ง โซ่ว อู๋ เจียง” หมายถึง “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” พร้อมนามาภิไธย “สิรินธร”
วงเวียนโอเดียน เป็นวงเวียนอยู่หัวถนนเยาวราช เป็นจุดตัดของถนนเจริญกรุง, ถนนเยาวราช และ ถนนมิตรภาพไทย-จีน อยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นวงเวียนที่มีประวัติความเป็นมาคู่กับถนนเยาวราช เคยเป็นศูนย์รวมสถานบันเทิง เดิมเป็นวงเวียนน้ำพุ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ปัจจุบันปรับปรุงเป็นที่ตั้งของ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา ร้านค้าในย่านนี้ เรียกว่า ร้านค้าย่านโอเดียน เป็นย่านเก่าแก่เป็นที่มาของชื่อ เซียงกง แหล่งเครื่องยนต์มือสอง และอะไหล่มือสองจากญี่ปุ่นยุคแรก ปัจจุบัน ยังมีร้านค้าเหล่านี้อยู่บ้าง เช่น ร้านค้าอะไหล่รถยนต์ อะไหล่แทรกเตอร์ ร้านค้าโลหะ และร้านค้าเครื่องเรือ
ถนนเยาวราช เป็นถนนสายหนึ่งแห่งกรุงเทพมหานคร ระยะทางความยาวตลอดเส้นทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ได้รับการกล่าวขานและขนานนามว่าเป็น “ถนนมังกร” โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราชและสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ระยะเวลาในการตัดถนน ๘ ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ - พ.ศ. ๒๔๔๓ เพื่อให้เยาวราชกลายเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการค้าขาย เดิมทีชื่อ “ถนนยุพราช” และได้โปรดเกล้าพระราชทานนามใหม่ว่า “ถนนเยาวราช”
หลังจากไหว้พระทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว คณะของเราจึงถือโอกาสแวะไปไหว้พระต่อที่วัดมังกรหรือ วัดเล่งเน่ยี่ ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนและชาวไทย โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีน ที่อยู่ใกล้ ๆ (รูปล่างขวา)
วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) เป็นวัดจีนสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่าง ซอยเจริญกรุง ๑๙ และ ๒๑ ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ วัดนี้ บางคนเรียกว่า “วัดมังกร” เพราะคำว่า “เล่ง” หรือ “เล้ง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร (คำว่า ” เน่ย ” แปลว่า ดอกบัวและคำว่า ” ยี่ ” แปลว่า วัด) ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ “วัดมังกรกมลาวาส” พระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ วัดนี้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ใช้เวลาก่อสร้าง ๘ ปีกว่าจะแล้วเสร็จ มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ
จากประตูทางเข้า เข้าไปจะถึงวิหารท้าวจตุโลกบาล จะเห็นเทพเจ้า ๔ องค์ (ข้างละ ๒ องค์) ในชุดนักรบจีนและถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่นพิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ คนจีนเรียกว่า เรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง ๔ ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ทั้งหมด ๓ องค์ คนจีนเรืยก “ซำป้อหุกโจ้ว” พร้อมพระอรหันต์ อีก ๑๘ องค์ หรือคนจีนเรียกว่า “จับโป๊ยหล่อหั่ง” ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา คนจีนเรียกว่า “ไท้ส่วย เอี๊ยะ” เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา “หั่วท้อเซียงซือกง” และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” เทพเจ้าเฮ่งเจีย คนจีนเรียกว่า “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว” พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ “ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว” ซึ่งคล้ายกับพระสังกัจจายน์ของคนไทย ” กวนอิมผู่สัก” หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม “แป๊ะกง” และ “แป๊ะม่า” รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด ๕๘ องค์
(ข้อมูลจาก : วิกิพีเดียไทย http://th.wikipedia.org )
« « Prev : ชมศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
2 ความคิดเห็น
ขอบคุณหมียักษ์ มากๆๆๆๆๆๆ ที่ไปค้นคว้าหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยิ่งมาเพิ่มเติม ทำให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แค่ได้มากราบพระ ก็มีความสุข แค่ทำบุญก็อิ่มใจ ยิ่งมาอ่านข้อมูลยิ่งเบิกบานใจเพิ่มมากขึ้นค่ะ
ปัจจุบันการค้นหาข้อมูลสะดวกขึ้นมาก ถ้ารู้จักวิธีค้นหา แต่ข้อมูลจาก อินเทอร์เน็ต นั้นมีมากมาย ไร้การตรวจสอบ การประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล ก่อนนำมาใช้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งครับ ท่าน Lin Hui