บ้านชานเมือง (10) มหาวิทยาลัยกับท้องถิ่น
เมื่อวานไปดูงานวันนัดพบเกษตรกร ที่ทาง อบต. สุรนารี จัดขึ้นร่วมกับการจัดงานวันลอยกระทง ได้พบกับอาจารย์ มทส. หลายท่านและได้ไปเยี่ยมชมบูธแสดงของ ฟาร์ม มทส. ที่นำเอาโพสเตอร์แนะนำผลงานต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีการเกษตรของ มทส. มาแสดง และนำชุดสาธิตการปลูกพืชแบบไร้ดิน หรือ Hydroponic ที่พัฒนาโดยคณาจารย์ มทส. มาจัดแสดง ในงานนี้นอกจากจะมีนิทรรศการจากหน่วยงาน และเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ แล้ว ยังมีการจัดประกวดผลิตผลทางการเกษตรอีกหลายชนิดด้วยกัน ช่วงที่ไปนั้นผู้มาดูงานส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน เข้าใจว่าเป็นนักเรียนจากโรงเรียนอ่างห้วยยางที่อยู่ใกล้ที่จัดงาน
นอกจากนั้นยังได้พบท่านรองอธิการบดี ที่มาร่วมเปิดงานและเดินชมงานกับท่านสมยศ นายก อบต. สุรนารี ที่เป็นประธานการจัดงาน ท่านนายกฯ คงแปลกใจพอสมควรที่พบเรา แต่ก็ยังจำเราได้ครับ เนื่องจากเราเป็นลูกบ้านของท่าน พักอาศัยอยู่ที่ หมู่บ้านรุ่งนิรันดร์ ที่ท่านเป็นผู้ดำเนินการมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่โครงการที่ 1 จนถึงโครงการที่ 10 แล้วในปัจจุบัน ท่านนายกฯ สมยศ จึงเป็นที่รู้จักของคนใน ตำบลสุรนารี เป็นอย่างดี
ดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่าง มทส. กับ องค์กรท้องถิ่นครับ อยากจะเห็น มทส. สนใจสนับสนุนท้องถิ่นใกล้ ๆ มากกว่านี้ครับ แทนที่จะไปเน้นแต่ผลงานระดับนานาชาติ
Next : บ้านชานเมือง (11) เกษตรกรดีเด่น » »
1 ความคิดเห็น
ตอนนี้เป็นราษฏร์ เป็น สว.เต็มขั้น สัมผัสชาวบ้านจนรู้ใจชาวบ้าน แค่มองตาก็เกือบเดาใจออก ว่ามีความอึดอัดแค่ไหนที่จะคุยกับนักวิชาการ พูดคนละเรื่องเดียวกันด้วยระดับภาษาที่ต่างกัน จึงเป็นการสื่อสารที่ต่อกันไม่ค่อบติด อาม่าเองเป็นนักวิชาการมาก่อน ผ่านประสบการณ์มากมายพอตัว รู้ความต้องการของประชนคนธรรมดา ผู้ลงมือปฏิบัติงานด้านเกษตร ที่มีความหลากหลาย และแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ ระดับความรู้และประสบการณ์ นั้นก็หลากหลายจริงๆค่ะ ความต้องการความช่วยเหลือ จากนักวิชาการจึงมีหลายระดับ หากสื่อกันไม่ตรงก็คงไม่ใคร่มีใครอยากคุยกับนักวิชาการสักเท่าไร เพราะใช้ภาษไทยที่ฟังยากค่ะ และจะเน้นเรื่องความเชี่ยวชาญเป็นจุดเล็กๆ แบบรู้ลึก แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านต้องการความรู้องค์รวมที่สามารถเข้าใจได้ และปฏิบัติได้จริง ทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกรของเขา แต่สถาบันสร้างนักวิชาการรู้ลึก เป็นแนวดิ่งเป็นเส้นตั้ง ขาดการประสานก่อให้เกิด เส้นสายความรู้ในแนวนอนที่สามารถถักทอ ก่อให้เกิดเป็นผืนองค์รวมของความรู้ ที่ทำความเข้าใจได้ง่าย มองเห็นจับต้องใช้ได้ มีความเหมาะสมในการใช้ได้อย่างจริงจัง สอดคล้องกับกับวิถึชีวิต และสภาพแวดล้อมแต่ละพื้นที่ อาม่าเองเป็นคนกลางคอยให้ความช่วยเหลือประสานความเข้าใจให้ตรงกัน และอยากให้มีการจัดสัดส่วนองค์ความรู้ เพื่อลงมาช่วยเหลือแก้ปัญหาในการลดต้นทุนการผลิต อย่ามองแค่การเพิ่มผลผลิต ในพื้นที่จำกัด ที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายแล้วใช้เทคโนโลยีที่สูง หรือความทันสมัยเพียงอย่างเดียว ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไรค่ะ