งานแต่งตามประเพณีจีน
ก่อนจะถึงพิธีแต่งงานมักจะเริ่มต้นด้วย ความตกลงปลงใจระหว่างสองฝ่ายว่าจะร่วมชีวิตด้วยกัน ต่อมาก็เป็นการเข้าสู่พิธีการสู่ขอ โดยผู้ใหญ่ฝ่ายชายเดินทางไปสู่ขอต่อผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง อาจจะเป็นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือ กรณีของตนเองจำได้ว่าพ่อแม่และพี่ชายคนโตพร้อมผู้ใหญ่ เดินทางไปสู่ขอที่บ้านพักของญาติที่ฝ่ายหญิงเคยอยู่ด้วยและเคารพนับถือที่อยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากเป็นที่ตกลงกันแล้วก็เป็นการปรึกษาหาฤกษ์งามยามดี และเรื่องพิธีจัดงานหมั้นและงานแต่งต่อไป
เนื่องจากบ้านเกิดที่พ่อแม่และญาติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ อยู่ที่โคราช แต่เพื่อน ๆ ร่วมงานและผู้ที่เคารพนับถือ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาอยู่ที่เชียงใหม่ จึงจำเป็นต้องจัดงานทั้งสองที่ เพราะการเดินทางไกลในสมัยโน้นค่อนข้างลำบากกว่าสมัยนี้มาก
งานที่โคราชตามประเพณีจีน เริ่มตั้งแต่เช้ามืดตามปกติของแทบทุกคู่แต่งงาน ขบวนของผู้ใหญ่และเจ้าบ่าวพร้อมสินสอดทองหมั้น และสิ่งของอื่น ๆ ตามประเพณี ประกอยด้วยจำนวนคนที่มา รวมกันแล้วต้องเป็นจำนวนเลขคู่ เดินทางมายังที่พักของเจ้าสาว (ลำดับขั้นตอนโดยละเอียด ที่ถูกต้อง ผมไม่แน่ใจครับ….ท่านใดทราบโปรดชี้แนะด้วย เท่าที่จำได้มีดังนี้)
ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายนั่งพร้อมกัน ที่ชุดรับแขกที่เตรียมไว้ พูดคุยกันถึงเรื่องการมาขอหมั้นและแต่งงาน มีการนำสินสอดทองหมั้นออกมาแสดง เพื่อให้ผู้มาร่วมงานได้เห็นและรับทราบ แล้วพ่อเจ้าสาวไปรับเจ้าสาวที่รออยู่ในห้องพร้อมพี่เลี้ยงเพื่อออกมาทำพิธีหมั้น เจ้าบ่าวสวมแหวนหมั้นให้เจ้าสาว และแลกแหวนเกลี้ยง (ถ้ามี) เสร็จแล้วเป็นการเลี้ยงรับรอง (น้ำชากาแฟและอาหารว่าง) ผู้ที่มาร่วมงาน หลังจากนั้น พี่เลี้ยงเจ้าสาวพาเจ้าสาวขึ้นไปเปลี่ยนชุดที่บนห้อง เพื่อเดินทางไปบ้านเจ้าบ่าว เมื่อพร้อมแล้วเจ้าบ่าวขึ้นไปรับเจ้าสาว ซึ่งจะต้องผ่านประตูเงิน ประตูทอง และประตูเพชร…สำหรับบางคน (ขั้นตอนที่ต้องผ่านประตูต่าง ๆ ไม่แน่ใจว่าอยู่ช่วงไหนแน่ครับ….ขออภัย) เจ้าบ่าวนำช่อดอกไม้ไปมอบให้เจ้าสาว ติดช่อดอกไม้ผ้าสีชมพูให้เจ้าสาว มอบปิ่นทองปักผมให้เจ้าสาวพร้อมใบไม้โชคลาภ….เพื่อทัดที่หูตามประเพณีจีน ก่อนพาเจ้าสาวลงไปขึ้นรถที่จอดรออยู่ด้านล่าง แล้วเดินทางไปยังบ้านเจ้าบ่าว
เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว ก็จะพิธีไหว้ฟ้าดิน เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษ ก่อนที่จะขึ้นไปพักผ่อนบนห้องพัก มีการรับประทานขนมบัวลอยไข่หวานในห้องพัก เป็นอาหารมงคล ช่วงสาย ๆ จึงถึงการไหว้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่โดยการยกน้ำชา พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ก็จะมอบสิ่งของหรือซองเงินเป็นของรับไหว้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวมอบของที่ระลึกให้แทนคำขอบคุณ….เป็นการสิ้นสุดพิธี
ช่วงเย็นก็จะเป็นการจัดเลี้ยงงานมงคลสมรส (โต๊ะจีน) สถานที่จัดในสมัยนั้น ก็คือที่หอประชุมประจำอำเภอ ที่อยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอ แขกที่มาร่วมงาน ก็เป็นญาติ ๆ และผู้ใหญ่ในอำเภอ เช่นนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้กำกับสถานีตำรวจ ศึกษาธิการอำเภอ ครูใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน และแขกที่มาร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นแขกของพ่อแม่ที่ทำธุระกิจอยู่ในอำเภอนั่นเอง
ใครมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างไร หรือมีข้อคิดเห็นอย่างไร ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เชิญแลกเปลี่ยนครับ
Next : งานแต่งตามประเพณีไทย » »
2 ความคิดเห็น
รู้สึกว่าอาจารย์แพนด้ายังตกหลุมรักเจ้าสาวคนนี้มาตลอด 35 ปีที่ผ่านจนถึงวันนี้.. อิอิ
ยังคงเหมือนเดิมมิเปลี่ยนแปลง
http://lanpanya.com/panda/archives/242
อิอิ