อุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพเอกซเรย์กระดูกข้อเข่า: ธรรมดาๆ ไม่รู้ดังได้งัย??

2967 ความคิดเห็น โดย ถัง เมื่อ 12 ธันวาคม 2009 เวลา 15:54 ในหมวดหมู่ สุขภาพ #
อ่าน: 26761

          วันนี้ดิฉันกลับเข้าลานอีกครั้ง…….งงอยู่ชั่วครู่  เหมือนไม่ได้เข้าบ้านมานาน  หาลูกกุณแจไม่เจอ  ไม่รู้ว่าต้องใช้ดอกไหนเปิดประตู…….

          มะงุมมะงาหราอยู่ครู่ใหญ่…..จึงเข้าบ้านได้…..เอาละ….ต้องรีบปัดกวาดเช็ดถู

          เริ่มเรื่องไหนก่อนดีน้า……. 

          เอาเรื่องคุยโม้ก่อนดีกว่า

          เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (วันที่ 19 พ.ย. 52) ตอนเช้าดิฉันต้องทำตัวเป็นข่าว เพราะงาน ปชส. ของมหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

  

          เรื่องที่แถลงคือ นิสิต ม. นเรศวร (ที่ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำโครงงานวิชาชีพ)ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากการเข้าร่วมประกวดโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค  

          เสร็จแล้ว ม. ก็เอาไป ปชส. ที่หน้า Home Page ของ มน. ด้วย (โฆษณาไม่นานนัก…ดิฉันจึงต้องโฆษณาต่อ  แหะ  แหะ) 

         ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง  ทีวีไทยก็มาขอถ่ายทำเครื่องมือดังกล่าวไปออกรายการวันหยุดด้วย  แหม!  อย่างหลังนี้รู้สึกโก้มากเลย  ทั้งที่เมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกันนี้เอง  ช่อง 9 อสมท. ก็มาขอถ่ายทำเช่นเดียวกัน  แต่ครั้งนั้น  ไปถ่ายทำกันที่ รพ. พุทธชินราช   ครั้งนี้เราถ่ายทำกันที่ห้องเอกซเรย์ของภาควิชารังสีเทคนิค 

          ดิฉันอัดรายการที่ออกทีวีทั้ง 2 ช่องนี้เก็บลงแผ่นซีดีไว้เป็นอนุสรณ์เรียบร้อยแล้วค่ะ  ด้วยความอนุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่งของหน่วยโสตฯ ของสำนักหอสมุด มน.

          น่าแปลกไหมคะที่หน่วย ปชส. มน. ไม่มีอุปกรณ์เพื่อการณ์ดังกล่าว  แต่ที่สำนักหอสมุด  มีการให้บริการที่มีความคล่องตัวสูงมาก (ผอ. สำนักหอสมุด คือ รศ.ดร.รัตติมา  จีนาพงษ์  เป็นคนเก่งมากๆ  และน่ารักที่สุด)

          อ้อ!  สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่างคือ  ช่อง 9 ถ่ายทำไปแล้วตั้งเกือบ 2 เดือน  กว่าจะได้ออกอากาศ  แต่ช่องทีวีไทย ถ่ายทำวันพฤหัสฯ  ออกอากาศวันอาทิตย์  speed ต่างกันมาก  แถมเมื่อวาน ทางทีวีไทยยังได้ส่งแผ่นบันทึก DVD ที่ถ่ายทำทั้งรายการมาให้ดิฉันทางไปรษณีย์อีกด้วย บริการดีจริงๆ เชียว

          ดิฉันกำลังคิดจะหาวิธีเรียนรู้ว่าจะเอา สื่อไปลง You Tube ได้ยังงัย ??  เพราะกลัวชาวลานจะไม่ได้เห็นดารา “ถัง” ออกทีวี!!! …อีกอย่าง…..จะได้โม้ได้ทั่วโลกงัยคะ….อิ  อิ  อิ อิ….. 

          ความที่เป็นอาจารย์บ้านนอก  ดิฉันว่าได้เปรียบอยู่อย่างที่ว่า……….เรื่องธรรมดาๆ ก็ดังได้………

———————————————————————————————-

ภาคผนวก

ข้อความใน web ปชส. ของมหาวิทยาลัย

นิสิต ม.นเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย 2552
การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค

          นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552 (Thailand Innovation Awards 2009) ในงานเทคโนมาร์ท - อินโนมาร์ท 2009  ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี  กรุงเทพฯ ในผลงานเรื่อง “การพัฒนาอุปกรณ์ช่วยจัดท่าถ่ายภาพรังสีของกระดูกข้อเข่าในท่ายืนรับน้ำหนักด้วยระบบไฮโดรลิค” เจ้าของผลงานคือนางสาวจิรานันท์ สมศรี นางสาวณัฐพร ชูไว และนางสาวมนัญญา พลจังหรีด โดยมี รองศาสตราจารย์มาลินี ธนารุณ อาจารย์ประจำภาควิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
          ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) หรือ Thailand Innovation Awards 2009 เป็นเวทีสำคัญที่ส่งเสริมให้นิสิตได้แสดงศักยภาพของตนเอง นิสิตที่มีคุณภาพนั้น จะสามารถพัฒนางาน บูรณาการต่อยอดงานให้เกิดการผลสัมฤทธิ์ได้ในที่สุด มหาวิทยาลัยนเรศวรเน้นการพัฒนานิสิต ให้สามารถเก่งคน เก่งงาน เก่งคิด เก่งครองชีวิต เก่งพิชิตปัญหา ที่สำคัญต้องเกิดการเรียนรู้ควบคู่กับการดูแลชุมชนของตนให้เกิดความยั่งยืน
          รองศาสตราจารย์ มาลินี ธนารุณ   อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย ฯ กล่าวถึง ผลงานวิจัยดังกล่าวว่า เป็นการต่อยอดจากโครงงานวิชาชีพของนิสิตรุ่นก่อน คือ ของคุณณรงค์ศักดิ์ ชมวงศ์และโดยการประยุกต์ใช้ระบบไฮโดรลิคที่รับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 200 กิโลกรัม มาเป็นเครื่องช่วยยกฐานอุปกรณ์ให้ขึ้นลงได้ด้วยสวิตซ์ควบคุม ขนาดของอุปกรณ์กะทัดรัดขึ้นสามารถใช้งานได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังปรับปรุงวงรอบการหมุนของแท่นยืนจาก 180 องศาเป็น 360 องศา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องหมุนตัวกลับขณะเปลี่ยนท่า ทั้งนี้ เมื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับการจัดท่าด้วยอุปกรณ์ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นใหม่ และความพึงพอใจของนักรังสีเทคนิคที่เป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในแผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลตัวอย่าง  พบว่าทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิค ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าว ปัจจุบันได้นำไปใช้จริง  ณ แผนกเอกซเรย์ของโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นความสำเร็จของการประดิษฐ์ผลงานนวัตกรรมที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ

 



Main: 0.031495809555054 sec
Sidebar: 2.0741250514984 sec