มาทำความเข้าใจกับสารพิวรีน(purine)

8097 ความคิดเห็น โดย Lin Hui เมื่อ ธันวาคม 7, 2011 เวลา 22:17 ในหมวดหมู่ กรดยูริก, สารพิวรีน, เรื่องเล่าของLin Hui #
อ่าน: 28042

อาหารคือ ยา และ ยาพิษ หากรู้จักกินให้เหมาะสมกับร่างกายในแต่ละช่วงวัย ย่อมทำให้มีสุขภาพแข็ง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ เบียดเบียน เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมตามวัย หากรู้จักดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารให้เหมาะกับวัยใส่ใจในรายละเอียด ร่างกายก็จะเสื่อมช้าลง ทั้งนี้ควรออกกำลังกายที่พอเหมาะ อยู่ในสถานที่อาการบริสุทธิ์ และรู้จักบริหารอารมณ์ แค่นี้ผู้สูงวัย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วค่ะ

วันนี้ อาม่าขอพูดเรื่อง สารพิวรีน(purine) ที่มีอยู่ในอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าในเนื้อสัตว์บกสัตว์น้ำ สัตว์ปีก ธัญพืช ถั่วผักผลไม้….เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเลือกรับประทานอาหาร ที่เหมาะสมต่อวัย และสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัย ที่จะมีสภาวะกระดูกพรุนข้อเสื่อม สภาวะขาดแคลเซี่ยม

ข้อมูลโดย
หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย

กรดยูริกคืออะไร
กรดยูริก เกิดจากสารพิวรีน ที่มีอยู่ในอาหารหลายชนิดกรดยูริกในร่างกายได้จาก 2 ทางคือ
1. จากอาหารที่รับประทาน ประมาณร้อยละ 20 ได้จากอาหารที่รับประทาน ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะถูกย่อยสลายจนเกิดเป็นยูริก
2. จากร่างกายสร้างขึ้นเอง ประมาณร้อยละ 80 ได้ จากการสลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายแล้วถูกเปลี่ยนให้เป็นกรดยูริก เช่นกล้ามเนื้อทำงานมากขึ้นหรือภาวะอดอาหาร
โดยปกติร่างกายจะมีระดับกรดยูริกในเลือดไม่สูงกว่า 7 มิลลิกรัมในเลือด 1000 มิลลิลิตร เนื่องจาก มีระบบควบคุมการสร้างและการกำจัดกรดยูริกอย่างสมดุล โดยปกติกรดยูริกจะถูกขับออกทางไต 2 ใน 3 ของที่ร่างกายสร้างขึ้น อีกส่วนหนึ่งจะขับออกทางลำไส้ใหญ่ทางน้ำลาย น้ำย่อยและน้ำดีซึ่งจะถูกทำลายโดยแบคทีเรียในลำไส้

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุของภาวะกรดยูริกสูงในเลือดนั้นมักไม่ทราบแน่ชัด โดยทั่วไปมีปัจจัยมาจาก
1. ร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถควบคุมการสร้างกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์หรือบริโภคอาหารประเภทโปรตีนอาหารมากเกินไป
2. ร่างกายขับกรดยูริกออกได้ไม่ดีหรือน้อยลงดี จากโรคไตพิการ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาวัณโรคบางชนิด เป็นต้น


คุณรู้ไหมว่า ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการกินของเรา เพราะว่าถ้ากินไม่ดี ก็เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ารู้จักเลือกกินให้เหมาะสม จะทำให้คุณสามารถห่างไกลโรคได้ ซึ่งโรคเกาต์ ก็เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่เกิดจากปัญหาในเรื่องอาหารการกิน วิธีการป้องกันและบรรเทา อาการเจ็บป่วยจากโรคเกาต์ที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ที่มีพิวรีนสูง เพราะว่าจะทำให้เกิดการอักเสบของข้อขึ้นอีก

โรคเกาต์ เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดตามข้อชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกัน ของกรดยูริกภายในข้อ และประกอบกับการที่มีปริมาณกรดยูริกสูงด้วย คนแต่ละวัย ก็มีระดับกรดยูริกในเลือดที่แตกต่างกันได้ เช่น ผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน จะมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าคนในวัยอื่นๆ และนอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคเกาต์ มากกว่าผู้หญิงอีกด้วย

คราวนี้มาพิจารณา ว่า สารพิวรีน นั้นมีอยู่ในอาหารประเภทไหนบ้างมากน้อยอย่าง

อาหารที่มีพิวรีนน้อยได้แก่ ธัญพืชต่างๆ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ผัก และผลไม้เกือบทุกชนิด (0-50 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม

อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง ได้แก่ ข้าวโอ๊ต เนื้อหมู เนื้อวัว ปลากะพงแดง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ถั่วลันเตา หน่อไม้ ใบขี้เหล็ก สะตอ ผักโขม (50-100 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม)

อาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ปลาดุก ปลาซาร์ดีน ปลาไส้ตัน กุ้ง ไข่ปลา น้ำต้มกระดูก น้ำสกัดเนื้อ ซุปก้อน กะปิ ชะอม กระถิน สะเดา เห็ด (150 มิลลิกรัมขึ้นไปต่ออาหาร 100 กรัม)

แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 74 สิงหาคม 2549



Main: 0.027878999710083 sec
Sidebar: 15.741142988205 sec