เม้งเป็นไผ? ไผ่คือพืชตระกูลหญ้าที่สูงที่สุดในโลก

โดย มิสเตอร์สะตอฯ เมื่อ 31 มีนาคม 2009 เวลา 12:00 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา, แนวคิด ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2965

สวัสดีครับทุกท่าน

เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเพียงเกร็ดข้อเท็จจริงที่จะบอกเส้นทางเดินและแนวคิดที่ผ่านมาในอดีตและสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต มิได้เขียนเพื่อให้ใครหมั่นไส้หรือชื่นชม เพียงแต่หากท่านอยากจะทราบว่าผมเป็นใคร ท่านคงได้รับรู้รายละเอียดพื้นฐานและรากเหง้าหลายส่วนในชีวิตผม (ครั้งแรกเขียนไว้ในโกทูโนว์ http://gotoknow.org/blog/mrschuai/138532 )

เฮฮาศาสตร์ ฉบับอีตาเม้ง…จากพอจำความได้ถึงปัจจุบัน…ฝันเลยไปถึงอนาคต

เกิด…วันสิ้นปีงบประมาณ เสือ 17 เขี้ยว
ราก…บ้านไผ่หนาม ต.ทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช
เรียน…รู้เอาจากสิ่งรอบข้าง ธรรมชาติ บ้าน ป่า ทุ่งนา โรงเรียน วัด ชุมชน มหาวิทยาลัย ฯลฯ

แผนที่เรื่องราว….



ตัวตนและแนวคิดตามยุคที่เปลี่ยนผันของอายุ


ช่วง 1-6 ปี

  • ก่อนจะจำความได้คุณแม่เล่าว่าป้อนกล้วยน้ำว้าบด ป้อนหายป้อนหายครับ แม่บอกว่าเคยป้อนเป็นหวีเลยหล่ะครับ ฮ่าๆ แล้วจับวางให้นั่งเล่นตรงไหนก็นั่งตรงนั้น
  • พอจำความได้ ตอนนั้นทราบว่าชอบขนมจีนมากๆ ครับ ร้องตามคุณแม่ไปตลาดนัดทุกจันทร์และศุกร์เพื่อกินขนมจีนน้ำยา ประมาณ 3-5 จานต่อครั้ง จนแม่ค้าไม่กล้าจะบอกว่าผมกินไปกี่จาน อิอิ
  • บ้านไหนมี พริกขี้หนูสด มะนาว ถั่วฝักยาว จะร้องตามไปนอนที่บ้านด้วยเพื่อจะให้เจ้าบ้านนั้นตำน้ำพริกกะปิให้ทาน ไม่เคยอยู่ติดบ้านเลยครับ ในช่วงก่อนเข้าโรงเรียนประถมฯ
  • ทานเผ็ดตั้งแต่เด็กๆในช่วงนี้ จนลิ้นติดเบอร์ มีโอกาสเป็นเครื่องมือในการพนันกินแกงเผ็ดเพื่อแลกกับสุราของนักเมาตามงาน ต่างๆ ผมทำหน้าที่กินอย่างเดียวครับ
  • ในช่วงนี้ จำได้ว่าเป็นเด็กโดนตามใจ ภาษาใต้เรียกว่าเอิด ด้วยเพราะกว่าคุณพ่อแม่จะมีลูกก็ 13 ปี ดังนั้น เกิดมาแล้วมีคนตามใจ ปู่จะสอนให้ด่าคนนั้นคนนี้ ฮ่าๆๆ ด้วยที่ไม่รู้ว่าความหมายมันคืออะไรหรอกครับ เพิ่งมาขัดเกลาเอาตอนขึ้นโรงเรียนแล้วครับ ว่าคำไหนควรไม่ควร

ช่วง 7-9 ปี

  • เพิ่งเข้าโรงเรียน ป.1 ไม่ได้รู้หรอกครับ ว่าไปโรงเรียนทำไม วันแรกคุณแม่ไปส่งนั้น เหมือนไม่ชินกับโรงเรียน คุณแม่แอบดูพฤติกรรมก่อนกลับบ้านแล้วมารับตอนเย็น (คุณแม่เล่าให้ฟังตอนโตแล้วครับ) กลับบ้านแต่ละวันคุณพ่อจะช่วยจับมือสอนเขียนหนังสือ
  • ยังจำภาพในห้องเรียนชั้น ป.1 ได้แจ่มชัดนักครับ ผมนั่งหลังห้องเรียนเลย จำได้ชัดว่าโดนคุณครูแม็ด (หยิก) เวลาเขียนหรืออ่านผิด ฮ่าๆ
  • ขึ้น ป. 2 ว้าว เจอคุณครูประจำชั้นคนใหม่ รักคุณครูจังครับ คุณครูก็สวยจังครับ เรียนหนังสือสนุกมากๆ ครับ ผมจำบรรยากาศในห้องเรียนได้แจ่มชัดมากๆ ถึงกิจกรรมที่พวกเราเรียนในชั้นเรียน ตอนนั้นชอบมากๆ คือคณิตศาสตร์และศิลปะวาดรูป
  • ขึ้น ป.3 คุณครูประจำชั้นตามขึ้นไปเป็นคุณครูประจำชั้นด้วย บรรยากาศในการเรียนจึงสนุกมากขึ้น รู้แต่ว่ารักคุณครูประจำชั้นมากๆ เลยครับ และเป็นครั้งแรกที่ได้เขียนชื่อเล่น ว่า “เม้ง” เพราะงานประดิษฐ์หมวกกระดาษโดยจะต้องเขียนชื่อเล่นติดไว้ที่หมวกของตัวเอง (เพราะว่าชื่อเล่นในภาษาใต้ไม่ได้อ่านออกเสียงอย่างนั้นครับ)
  • แนวคิดช่วงนี้…คิดได้เพียงแค่ว่าอยากเรียนหนังสือ เรียนให้สูงๆ ให้เป็นไปตามที่คนอวยพร เช่นขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน และอื่นๆ เพราะจำได้ว่ามีคืนหนึ่งคุณลุงมาตามคุณพ่อไปทำอะไรซักอย่าง แต่คุณพ่อสอนหนังสือให้ผมอยู่ คือคุณพ่อไม่ไปจนกว่าจะสอนหนังสือให้ผมเสร็จ จนคุณลุงแซวว่า “สอนกันเหมือนกับว่าพรุ่งนี้จะได้เป็นนายอำเภอ” จ๊ากๆๆๆ จ๊าบ มากๆ เลยครับ

ช่วง 10-12 ปี

  • ขึ้น ป.4 เปลี่ยนคุณครูประจำชั้น คุณครูท่านให้ฝึกใช้ปากกาเขียนแทนดินสอเป็นครั้งแรก เพื่อปรับตัวก่อนขึ้น ป.5 ก่อนจะเขียนด้วยปากกาจริงๆ ครับ
  • ประทับใจสุดๆ ก็ตอนที่คุณครูให้เขียนจดหมายถึงรุ่นพี่ ที่โรงเรียนหนึ่ง ประมาณว่า สวัสดีครับพี่เลขที่ 18 แล้วก็เขียนจดหมายเล่าไป มีการโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานหนึ่งปีนะครับ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับผมในการรู้จักโรงเรียนอื่น
  • เข้าเรียน ป.5 ท่องภาษาอังกฤษ ฝึกเขียนไปก่อนเข้าเรียน เพราะตื่นเต้นมากๆ ครับ ทำให้มีจินตนาการอันสูงส่งเทียบกับการเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ เขียนบนสมุดทันทีเลยครับ SMPR อ่านว่า สมพร นะครับนั่น ส่วนนามสกุลนั้นจำบ่ได้แล้วครับ กิจกรรมหลักชอบทุกวิชาโดยเฉพาะคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ
  • เข้าเรียน ป.6 สนุกจริงๆ กับกิจกรรมต่างๆ มากมายในโรงเรียน พร้อมกับการเป็นพี่ใหญ่ในโรงเรียน
  • แนวคิดในช่วงนี้ ประถมศึกษานี้ ฝึกให้ตัวเองเป็นคนมีระเบียบวินัยมากๆ ละอายและกลัวที่จะทำความผิด จะกลัวลวดหนามหรือรั้วที่โรงเรียนมากๆ ครับ หากไม่ได้รับอนุญาตจะออกจากรั้วไม่ได้
  • ประสบการณ์หลายอย่างเรื่องทางการเกษตร การปลูกผัก การทำงานเป็นทีม การวาดภาพ การกล้าที่จะตอบในชั้นเรียน แต่นิสัยลึกๆ คืออายต่อเพื่อนหญิงสุดๆ ครับ

ช่วง 13-15 ปี

  • ข้ามจากรั้วประถมสู่รั้วมัธยมนั้นก็เพียงแค่โรงเรียนคั่นด้วยถนนลาดยาง แค่นั้นเองครับ สอบจะเรียนวิทย์คณิตศาสตร์ พื้นฐานศิลปกรรม แต่โชคชะตานำพาให้เรียนพื้นฐานเกษตร เพราะคนเลือกเรียนน้อยเลยไม่เปิดสาขานี้ แต่ไปเอาดีในเรื่องศิลปะ ในคาบรายวิชาศิลปะแทนครับ
  • ทำให้รู้จักคุณค่าของการเรียนเกษตรมากๆ เลยครับ แม้จะมีคำสบประมาทว่า “หากเรียนเกษตรออกมาเดินตามหลังกรีดยางดีกว่า” หรือ “คำว่าเรียนเกษตรนั้น ฟังไม่ได้เลย ได้ยินแล้วเกลียดเข้าไส้” และอื่นๆ คำเหล่านี้คือยาชูกำลังให้ผมในการศึกษาและเรียนพร้อมการปฏิบัติอย่างจริงจัง
  • กิจกรรม ม.ต้น นี้นับว่า ทำให้โตขึ้นทางความคิดมากพอสมควรครับ แต่ช่วงวัยรุ่นเหมือนว่าตัวเองไม่มีเลยครับ เพราะเป็นลูกคนโต เก้าปีในการเรียน ประถมฯ และ ม.ต้น นั้น เดินไปกลับบ้านโรงเรียนทุกวัน วันละประมาณ 3-4 กิโลเมตร ผ่านทุ่งนา ป่า ชุมชนเมืองเสมือนเล็กๆ จนจบ ม.ต้น ได้บรรยากาศและซึมซับบรรยากาศท้องนา ป่าดอน พอสมควร
  • วันเลี้ยงส่ง ด้วยความที่เป็นภาพที่ดีจากมุมมองของเพื่อน และเป็นคนเรียบร้อยในสายตาของเพื่อน เพื่อนผมคนหนึ่ง ขอให้ผมจับบุหรี่ขึ้นมาแล้วทำท่าสูบแล้วเอาควันเข้าปากแต่ไม่เข้าปอดแล้ว พ่นออกมาเป็นของขวัญให้เพื่อนผู้ชาย เพราะเพื่อนอยากเห็นภาพไม่ดีในตัวของผมบ้าง ผมก็ทำให้ อิอิ
  • แนวคิดในช่วงนี้…สนุกกับการเรียน รู้ว่าต้องเรียนต่อ แต่ไม่รู้เส้นทางว่าจะไปทางไหน เหมือนว่ายังไม่เข้าใจระบบการศึกษาเท่าไหร่ รู้แต่ว่าเรียนก็เรียนไปและชอบวิชาในการเรียนแล้วนำมาใช้ได้ที่บ้านจริง โดยเฉพาะวิชาเกษตร
  • บทสรุปกับการเรียน…ในตอนนั้นคือ อยากเรียนวิชาใดให้เก่ง ก็ให้รักอาจารย์ประจำวิชานั้นๆ รักแบบตั้งใจเรียน แต่หากชอบวิชาันั้นๆ อยู่แล้ว ก็ให้รักอาจารย์วิชานั้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ผมมักจะแนะนำแบบนี้กับเด็กๆ ที่อ่อนในบางวิชา เพราะผมเชื่อว่าคุณครูนั้นมีบทบาทต่อการดึงเด็กให้สนใจในรายวิชาต่างๆ ได้ดีครับ และตรงนี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการปูพื้นฐานเด็ก

ช่วง 16-18 ปี

  • เข้าเรียน ม.ปลาย ที่ ร.ร.ทุ่งสง เพราะสอบเข้า ร.ร.ประจำจังหวัดไม่ได้ ห้าๆๆ จะได้ได้อย่างไร เจอข้อสอบคณิตศาสตร์ข้อแรกก็รู้แล้วว่าเราอยู่กันคนละโลก ก็เลยทำข้อสอบเต็มที่ แต่คิดว่าสอบไม่ได้ เลยไม่ไปดูผลการสอบ ไปสอบต่อที่ ร.ร. ทุ่งสงเลยสบายใจไปเลยครับ ได้สายวิทย์ เลือกพื้นฐานเกษตร เลยได้ ยาบำรุงพลังมาอีกหนึ่งประโยค คือ “เด็กคนนี้แปลกจังเลือกเรียนพื้นฐานการเกษตร” อิอิ อาหารสมองของผม ผมได้แค่ยิ้มรับประโยคที่น่ารักของท่านครับ
  • ม.ปลายนี้ ชีวิตนำมาสู่ความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นครับ ช่วงวัยรุ่นผมหายไปไหนหนอ.. หากช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ซิ่งมอร์เตอร์ไซต์ เที่ยวผับ จีบสาว เคล้าดนตรี ยกพวกตีกันนั้น ผมไม่มีเลย สงสัยท่าจะเป็นเด็กเรียน ฮ่าๆ รู้แต่ว่าไปโรงเรียนก็หยิบหนังสือมาอ่าน ฝึกทำโจทย์ข้อสอบ จริงๆ ไม่ได้ขยันเลยครับ รู้แต่ว่าทำแกล้งว่าขยันไปอย่างนั้นหล่ะครับ จนมาทราบตอนหลังว่า เพื่อนบางคนมาเอาเป็นตัวอย่าง เอาไปปรับใช้กับชีวิตตัวเองจนสอบเข้าได้ ฮ่าๆ
  • แต่จะว่าไปก็เหมือนจะขยันครับ เพราะตื่นตั้งแต่ตีสี่กว่าๆ มานั่งเรียนคณิต อังกฤษ ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี ทางหน้าจอทีวีตอนเช้าๆ เพราะเด็กบ้านนอกจะไปหาที่ติวที่ไหนได้ มันต้องเล่นลูกลัดคิวเอาตามที่พอมีนี่หล่ะครับ แล้วเอาที่จดนี่หล่ะ ไปสอนให้เพื่อนก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ
  • แต่ว่าก็ว่าเถอะครับ ตลอดการเรียนของผมทั้ง 12 ปีนั้น ผมไม่สนใจเรื่องเกรดเลยครับ สอบเอาแค่พอผ่านจริงๆ คือไม่ได้คาดหวังว่าต้องเกรดดี ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ทำดีที่สุดครับ รู้แต่ว่าชอบอะไรก็เรียนให้เต็มที่
  • วันสอบ โชคช่วยจริงๆ ครับ สอบได้หลายที่ ไม่รู้จะเลือกอะไรดี ห้าๆ ว่าแล้วน่าหมั่นไส้ใช่ไหมครับ ก็มันฟลุ๊คนะครับ ช่วยไม่ได้จริงๆ ครับ ญาติคนนี้บอกว่าเลือกเรียนครูซิ อีกคนบอกว่า เรียน มอ.นั่นหล่ะ ดีแล้ว อีกคนบอกว่า คุรุทายาทหน่ะดี จบแล้วได้งานทำเลย
  • ประโยคที่ตัดสินชีวิตผมคือ อาจารย์พละ ท่านหนึ่ง กำลังเขียนรายชื่อ นักเรียน 8 คนที่สอบได้ขึ้นประชาสัมพันธ์ให้กับโรงเรียน ท่านบอกว่า “หากที่บ้านอยากให้เป็นครู ก็เรียน มอ.ก็ได้ แล้วขยันเรียนให้เก่งๆ มอ.เค้าจะติดต่อทาบทามให้เป็นครูเองหล่ะ” นี่หล่ะครับ ประโยคที่ลอยมาในความว้าวุ่นในสมองผมตอนนั้น และตัดสินใจตามนั้นจริงๆ ส่วนพ่อแม่นั้น แล้วแต่ลูก ทำหน้าที่ได้แค่สนับสนุน เรื่องเรียนลูกเลือกเองครับ ผมมีอิสระมากๆ ในเรื่องการเรียน คือพ่อแม่ไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนนี่นั่น

ช่วง 19-22 ปี

  • แน่นอนครับ ผมเข้าเรียน มอ. ปัตตานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนสาขาวิชานั้น เอาเกรดปีหนึ่งไปวัดดวงกันว่าจะเรียนสาขาอะไร ท้ายที่สุดคือ ได้สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ตามที่คาดเอาไว้ว่าจะเรียนสาขานี้ จึงเลือกคณะนี้
  • ชีวิตในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ใช่แค่เรียนในห้องสี่เหลี่ยมอย่างเดียว นั่นคือนิยามชีวิตในมหาวิทยาลัยของผม ผมคิดว่า การเรียน ประกอบไปด้วย วิชาเรียนที่เป็นทางการมีครูสอน กับวิชานอกห้องเรียนที่เรียนกับเพื่อนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ภายใต้องค์กรนักศึกษาที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ประกอบกับการได้ยินเสียงบ่นกันว่า เด็กทำกิจกรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กไม่ค่อยเรียนหรือเรียนอ่อน ตรงนี้จึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งให้ผมก้าวเข้าไปคลุกเพื่อจะลองพิสูจน์ดูว่า หากเราทำกิจกรรมแล้วการเรียนจะเสียไหม และหากทำได้อาจจะเป็นการเปิดประตูใจให้คนที่เรียนอย่างเดียวก้าวเข้ามาสู่ ประตูโลกกิจกรรมได้ด้วย ก็น่าจะดีไม่น้อย นั่นคือประตูบานใหญ่ทางความคิดที่ผมประมวลได้ในตอนนั้น
  • เริ่มต้นด้วยการรับตำแหน่งวิชาการของสโมสรคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประมาณว่าทำอะไรเกี่ยวกับสอนๆ หรือติวๆ แบบวิชาการให้กับนักศึกษาในคณะ และในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย เป็นงานที่ท้าทายเช่นกัน ในปีที่สอง
  • ปีที่สามนั้น เพื่อนๆ ดัน เพื่อให้ลงสมัครเป็นนายกสโมสรนักศึกษา ด้วยคำพูดของเพื่อนที่ชวนเคลิ้มว่า พวกเราอยากให้เม้งทำสโมสรฯ และพวกเราจะช่วยเหลือเต็มที่ เมื่อเป็นเสียงเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ก็ดำเนินการ ทำกิจกรรมเต็มที่ กันอย่างสนุกสนาน โชคดีที่มีการวางแผนสร้างน้องๆ กิจกรรมที่ผูกโยงผ่านทางสายใจตอนที่ทำงานในส่วนวิชาการ ผ่านการสอนให้น้องๆ ในวิชาต่างๆ จึงได้แรงใจมาร่วมกันทำกิจกรรมอย่างสนุกในช่วงปีที่สาม
  • ปีที่สี่นั้นชีวิต คิดว่าตั้งใจเรียนให้จบ ก็จะเป็นอาจารย์สอนที่นี่ ซึ่งจริงๆ ก็ตรงตามคำแนะนำที่อาจารย์พละ ท่านกล่าวไว้จริงๆ ครับ เมื่อตอนกำลังจะจบ ปีที่หนึ่ง ท่านหัวหน้าภาคมาสอบถามจริงๆ ครับ ว่าสนใจจะทำงานเป็นอาจารย์ไหม ผมก็ปรึกษาพ่อแม่ ซึ่งดูแล้วท่านทั้งสองก็ดีใจหากลูกจะรับราชการ ผมเองเน้นการให้เพราะมีความสุขทุกครั้งที่ได้ให้ได้สอนในสิ่งที่เราพอจะรู้ ให้กับคนอื่น ก็เลยสมัครตามรูปแบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการพิจารณา ก็ผ่านการพิจารณา และรับทุนตั้งแต่ปีที่สองจนจบ ครับ
  • แต่ชีวิตการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ใช่จบแค่ปีที่สาม เพราะว่าปีที่สี่นั้น ชีวิตหักเห ให้หลุดโลกไปทำกิจกรรมต่อในชั้นปีที่สี่ครับ โดยขึ้นไปทำงานนายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ไม่ได้เพราะอำนาจมันหอมหวานเลยครับ แต่เพราะเห็นแรงศรัทธาของทีมน้องๆ ที่อยากทำกิจกรรม ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองก็ต้องทำโครงงานส่วนบุคคลในชั้นปีที่สี่ และต้องเตรียมตัวไปเรียนต่อเช่นกัน แต่ก็สู้กันหนึ่งตั้งครับ ได้ประสบการณ์มาอีกแบบครับ ซึ่งไม่ใช่เป็นกิจกรรมแบบเฉพาะกิจอย่างสโมสรนักศึกษาคณะฯ เลยครับ ด้วยเพราะองค์การบริหารฯ นั้นทำงานเหมือนองค์กรหนึ่งในมหาวิทยาลัย ผมจำได้แม่นว่า นับคืนได้ว่า ผมกลับหอพักไปนอนก่อนเที่ยงคืนอยู่กี่คืน แต่ส่วนใหญ่นั้นชีวิตหลังจากการเรียนในห้องเรียนคืออยู่ที่องค์การบริหารฯ ทำงานตั้งแต่ กวาดขยะถึงเซ็นเอกสาร และมือถือโทรโข่ง ห้าๆๆ
  • ชีวิตที่ผ่านมาได้นั่นทำให้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง เข้าใจความขัดแย้ง การประณีประนอมระหว่างองค์กร การทำงานกับบุคคลในต่างแบบ ต่างความคิด การเข้าถึงชุมชนและชาวบ้าน ตลอดจนการบริหารองค์กรในองค์การนักศึกษา การจัดสรรงบประมาณ การซักฟอกจากสภานักศึกษา และอื่นๆ ครบเครื่องครับ ด้วยเหตุว่า การทำกิจกรรมนักศึกษาในตอนนั้น ล้วนมาจากการอุทิศตนลงไปทำงานเพื่อส่วนรวมในเชิง จิตสาธารณะ เป็นส่วนใหญ่ไม่อะไรที่น่ากลัว

ช่วง 23 ปี

  • ชีวิตการทำงานปีแรก เป็นอาจารย์พี่เม้ง ของน้องๆ ในวิทยาเขตครับ พร้อมๆ เพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันเป็นอาจารย์กันหลายๆ คน นับว่าเป็นรุ่นที่เข้ารับราชการมากที่สุดก็ว่าได้ครับ
  • ชีวิตการสัมผัสเพื่อพิสูจน์ตัวเอง กับคำว่า “เช้าชามเย็นชาม” ว่ามีความเป็นจริงหรือไม่ พิสูจน์มาหนึ่งปี ทำให้ได้ข้อสรุปอะไรให้กับชีวิตมากมาย และไม่คิดว่าคำกล่าวนั้นเป็นจริงเลย หากคำนั้นอยู่ที่ตัวเราเองเป็นสำคัญ
  • การบริการวิชาการในวิทยาเขตทางด้านไอซีทีนั้น ได้พบกับความหมายหนึ่งที่น่าประทับใจคือ การเรียนรู้ไม่มีคำว่าสาย ผมชื่นชมและประทับอาจารย์รุ่นผู้ใหญ่ที่ท่านให้ความสนใจในการเรียนรู้มากๆ เลยครับ ด้วยเพราะผมมีโอกาสได้เป็นวิทยากรในการอบรมตามแต่วาระครับ

ช่วง 24-26 ปี

  • มีโอกาสได้เรียนต่อปริญญาโท ได้มีโอกาสในการผูกโยงงานวิจัยทางด้าน คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และเกษตรกรรม ทางด้านต้นไม้เข้าด้วยกัน เกี่ยวกับการจำลองการเจริญเติบโตของพืช นับเป็นก้าวแรกในการบูรณาการความรู้เกษตรที่เคยเรียนมาในระดับมัธยมศึกษา ผนวกเข้ากับ ความรู้คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาตรี มาเป็นงานบูรณาการเข้าสู่สาขาวิทยาการคณนา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แรงบันดาลใจในการทำวิจัยทางด้านการเกษตรตอนนั้นคือการทำเพื่อในหลวง
  • สิ่งที่ผมพูดกับตัวเองตอนนั้นก็คือ “ผมไม่อยากจะรบกวนทุนทางบ้านอีกต่อไปแล้ว หากจะให้ผมทำงานรับใช้ประเทศต่อไป ก็ขอให้ประเทศจ่ายเงินให้ผมด้วยเถิด” ผมได้เงินเดือนตอนลาเรียนมาจ่ายค่าหอพัก แล้วค่าเทอม กับ ค่ากินอยู่ หามาจากไหนหนอ จนในที่สุด ผมได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ ดร.แถบ นีละนิธิ จนจบปริญญาโท สำหรับค่าเทอม.. ส่วนค่าจ่ายรายเดือน ได้จากการทำงานรับทุนช่วยสอนช่วยวิจัย…นับว่าโชคดีมากๆ สำหรับชีวิตผมครับ
  • รู้จักโลกแห่งการทำวิจัยมากขึ้น กว้างขึ้น แล้วรู้ว่าหากเราสนใจสิ่งใดโดยเอาใจและแรงศรัทธาในสิ่งนั้นเป็นตัวตั้ง เราก็จะศึกษาได้และได้คำตอบเอง แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ก็ตามแต่จะเกิดความสว่างขึ้นส่วนหนึ่ง
  • แนวคิดในการทำงานเชิงบูรณาการเกิดขึ้นได้จากการรวมกันของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มีการ เปิดใจ เปิดหู เปิดตา เปิดสมอง เปิดปาก แล้วมาทำงานร่วมกัน เพื่อมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน งานทางด้านการบูรณาการ ก็จะเกิดได้
  • ได้กลับไปสอนนักศึกษาหลังจากจบโทอีกหนึ่งภาคการศึกษาก่อนจะลาเรียนต่อ อีกครั้งครับ นำความรู้จากที่เรียนไป ถ่ายทอดต่อให้นักศึกษา ทำให้รู้ว่าศักยภาพของนักศึกษาระดับปริญญาตรีนี้ก็สามารถทำวิจัยได้ดีเช่น กัน

ช่วง 27-ปัจจุบัน

  • มีโอกาสได้เรียนต่อทางด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์เพื่อทำวิจัยต่อในสาขา เดิมจากปริญญาโท ทางด้านการเกษตรซึ่งจะศึกษาต้นไม้ที่เหนือดินและใต้ดินครับ มีหลายๆ อย่างที่จะต้องลงลึกในรายละเอียดความรู้ทางการเกษตรที่เคยเรียนมามันไม่พอ แล้ว ความรู้คณิตศาสตร์ที่เคยเรียนมาก็ไม่พอ คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ก็ไม่พอ การเรียนรู้ที่ต้องใช้พลังความคิดของตัวเองนำทางนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เลยครับ แต่กลับได้อิสระในการเดิน
  • การได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษาปริญญาเอกจากที่ต่างๆ การได้พูดคุยสัมมนา และกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันกับนักศึกษาปริญญาเอกนั้น ล้วนสร้างเครือข่ายที่ดีต่อกันได้ในสาขาต่างๆ เพราะอยู่ในสถาบันวิจัยเชิงบูรณาการ โดยมีแก่นเป็นคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ แล้วทำงานที่เชื่อมโยงบูรณาการในด้านต่างๆ ที่เป็นปัญหาหรือจะแก้ปัญหาเฉพาะทางหรือการพัฒนาปรับปรุงในสิ่งที่สนใจ
  • เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานในการบ่มสิ่งต่างๆ ให้สุกได้นั้น นับว่าทรหดพอสมควร รู้สัจธรรมหลายๆ อย่างเกี่ยวกับชีวิต สิ่งสมมติ ธรรมชาติ และปรัชญาจากการใช้ชีวิต เพียงส่วนหนึ่ง เพียงแต่ประสบการณ์ต้องเพิ่มพูนและถ่ายเทในการเรียนรู้จากผู้ที่มี ประสบการณ์มากกว่า
  • แนวทางในการผูกโยงเครือข่ายวิจัยร่วมกันในทางเอเชีย และ เอเชียยุโรป ในอนาคต ในการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการในด้านการเกษตร คณิตศาสตร์ประยุกต์ ตลอดจนเรื่องภัยพิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
  • การมองกลับไปยังประเทศไทยจากมุมมองจากแดนไกล ก็ทำให้ตัวเราเข้าใจอะไรมากขึ้น แล้วปรับแนวคิดเดิมที่มีต่อต่างประเทศมากขึ้น ปรับแนวคิดเดิมที่มองก่อนมาต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นจะต้องแบ่งแยกตก ออก เลยเพราะยังไงก็คือเกื้อกูลกัน เพียงแต่ว่าเราจะเชื่อมแรงใจและศรัทธานั้นเข้าหากันได้อย่างลงตัวหรือไม่
  • ผมคิดว่าผมได้ชื่อว่าเรียนปริญญาเอกที่นานที่สุดในโลกก็ว่าได้ครับ เพราะว่าประมาณแปดปีครับ เป็นช่วงที่ยาวนานที่สุดกว่าระดับการเรียนใดๆ ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และปริญญาตรี โท แต่ผมก็พบกว่า แปดปีที่ได้ทุ่มเทและค้นคว้าวิจัยนั้นไม่เพียงพอต่อการทำงานวิจัยเพื่อสังคมเลย เพราะแท้ที่จริงแล้วเราต้องทุ่มเททั้งชีวิตในชีวิตหนึ่งๆ จะเพียงพอแค่ไหน แต่นั่นก็คิดว่าได้ถึงวาระช่วงของชีวิตที่ได้มีโอกาสเกิดเป็นคนเพื่อมาศึกษาและอยุ่ในวงการศึกษา
  • สิ่งที่ผมสุขใจมากในขณะนี้ที่มีลูกศิษย์ ผมเห็นว่าสมองๆ ทุกใบสามารถเรียนรู้ได้ อยู่ที่ว่าเราจะกระตุ้นสมองแต่ละใบให้ถูกจุด ถูกเวลา ถูกสถานที่ ได้อย่างไร การได้เห็นผลจากการให้ด้วยความตั้งใจจะสะท้อนกลับมายังผู้ให้เสมอ

แนวคิดตอนนี้เพื่อแผนงานในอนาคต (ฝันที่ต้องเดิน)

  • ชีวิตคงผูกติดอยู่กับการศึกษาตลอดเวลาช่วงชีวิตที่เหลือ โดยไม่ยึดติดว่าทำงานให้ใคร แต่จะเน้นว่าทำงานเพื่ออะไรเป็นสำคัญ และไม่ใช่การทำงานเพื่อชดใช้ทุน อยากจะเน้นการศึกษาในระดับล่างแม้ตัวเองจะต้องทำงานเกี่ยวกับการศึกษาใน ระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม เพราะคิดว่าการศึกษาระดับล่าง โดยเฉพาะการแนะแนวการศึกษาในระดับล่าง ก่อนช่วงทางแยกทางเลี้ยวของนักเรียน เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แนวทางนี้ จะเป็นเรื่องของการแนะแนวทางการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายคนทำงานในชุมชนนั้น เดินสายในพื้นที่เพื่อแนะนำน้องๆ นักเรียน เน้นศรัทธานำ เน้นว่าทำงานเพื่ออะไร
  • การวิจัยเชิงบูรณาการ เน้นศรัทธาวิจัย โดยอยากจะเชื่อมโยงในเรื่องคณิตศาสตร์ช่วยชาติ ผ่าน แนวทางการทำวิจัยในด้านการเกษตร และอุตุนิยมวิทยา ภัยพิบัติในด้านต่างๆ และผสมผสานแนวทางการวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยาทางการเกษตร นำมาผนวกต่อยอดกับงานวิจัยที่ทำอยู่ด้วย ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ไทยคิด ไทยทำ ไทยใช้ ไทยพัฒนา ไทยยั่งยืน ไร้ฟื้นฟู ไทยมุ่งสู่ ความพอเพียง อย่างเพียงพอ” โดยจะเน้นเพื่อส่งเสริมให้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ และยั่งยืน จุดหลักตรงนี้ผมจะเริ่มทำวิจัยร่วมกับพระอรหันต์ที่บ้านก่อนครับ
  • การนำความรู้ผลการวิจัยลงสู่ระดับชุมชน เพื่อนำไปใช้จริงให้เกิดการเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างยั่งยืนในเรื่อง ของชุมชนเข้มแข็ง ผ่านระบบครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง ในการป้องกันโรคภูมิคุ้มกันทางปัญญาบกพร่อง
  • การเกิดเครือข่ายของคนทำงานเพื่อชุมชนในประเทศผ่านเครือข่ายมิตรภาพ ศรัทธานำ เชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ที่มีประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาประเทศโดยไม่ลืมรากเหง้าของชุมชนในด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน
  • หมายเหตุ แนวคิดทั้งหมดนี้ เริ่มจากการทำในส่วนที่ตัวเองทำได้ก่อนทั้งหมดในแต่ละส่วน แล้วมีกลุ่มชุมชนตัวอย่างทำเป็นต้นแบบแล้วค่อยเชื่อมต่อในวงกว้างหากได้ผล เพราะสิ่งที่คาดหวังเบื้องต้นคือการปฏิบัติและทำได้จริงในระดับตนเองและวงเล็กๆ

ท้ายนี้มีคำสอนพ่อที่ฝากไว้ในการดำเนินชีวิต

  • การทำดี พูดดี คิดดี เป็นการให้พรตนเองอย่างประเสริฐดีกว่าพรใดๆ ทั้งหมด
  • การทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เป็นการสาปแช่งตนเองอย่างร้ายกาจ ร้ายกว่าคำสาปแช่งใดๆ ทั้งหมด
  • สวรรค์ก็ดี นรกก็ดี เราเป็นผู้สร้างเอง ใครไม่ได้สร้างให้
  • การสร้างความดี เป็นการสร้างสวรรค์ การสร้างความชั่วเป็นการสร้างนรก
  • เด็กๆ ที่ทำความดี ยังดีกว่าคนแก่ที่ทำความชั่ว
  • ผีมันเข้าคนที่ไม่รู้จักผี คนที่รู้จักผี ผีมันเข้าไม่ได้ ผีคือความชั่ว เช่นนี้เป็นต้น

และคำสอนแม่ที่เน้นเรื่องการศึกษา

  • แม่เกิดมาชาตินี้ได้เรียนหนังสือน้อย จึงขอสนับสนุนให้ลูกเรียนได้เต็มที่ตามความสามารถของลูก
  • การศึกษาและความรู้สร้างให้เกิดและอยู่ในตัวลูกไม่มีใครปล้นได้ ไฟไหม้บ้านหากมีความรู้ก็สร้างบ้านใหม่ได้ให้ดีกว่าเดิม
  • หน้าที่เรียนอยู่ที่ลูก หน้าที่พ่อแม่คือสนับสนุนและให้กำลังใจ

การสอนของพ่อแม่ที่สำคัญในชีวิตผมเน้นการปฏิบัติให้เห็น ทำให้เห็นเป็นสำคัญ ลูกต้องเรียนรู้และเก็บเกี่ยวเอาเอง มาจนถึงวันนี้ ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า พระอรหันต์ที่แท้จริงคือพ่อแม่ ผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งคือพระธรรมชาติ การบูรณาการจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์เมื่อหลายๆ สิ่งเหล่านั้นเชื่อมโยงกันด้วยการบูรณาการใจเข้ากันได้เป็นหนึ่งเดียว จึงขอกล่าวปิดท้ายไว้ ณ ที่นี่ว่า

ใจเขา ใจเรา เข้าใจร้อยครั้ง สุขใจร้อยครั้ง


ขอแสดงความนับถือและพระธรรมชาติคุ้มครอง

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

« « Prev : แม้นเห็นโลงศพ ก็มิอาจจะหลั่งน้ำตา กับการศึกษาไทย

Next : วิชาที่สอนเทอมหน้า (1/2552) ใครสนใจอยากลงชื่อเข้าฟัง ลงทะเบียนได้ ณ บัดเดี๋ยวนี้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 ตาหยู ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มีนาคม 2009 เวลา 8:41 (เช้า)

    ลูกที่ดีของพ่อ ของแม่ ของแผ่นดิน
    ..
    ไผ่ เป็นไม้สารพัดประโยชน์ สร้างคุณมากมาย
    ..
    สู้ต่อไป

  • #2 มิสเตอร์สะตอฯ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มีนาคม 2009 เวลา 7:41 (เย็น)

    สวัสดีครับ ตาหยู
    สบายดีไหมครับ สู้ต่อไปเช่นกันนะครับ
    จริงๆ ผมเล่นมุกครับ ไผ ภาษาใต้ คือ ไผ่ แต่ทางภาษาอีสานคือใคร เลยเอามาผูกๆ กันเล่นๆ ครับ เป็นการบอกว่าไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่สูงที่สุดในโลก เพราะจำเอาในหนังสือที่สุดในโลกที่เคยอ่านตอนเด็กๆ ครับ ความรู้รอบตัวตอนนั้นขายดีครับ

    สุขในการทำงานนะครับ

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 เมษายน 2009 เวลา 7:38 (เช้า)

    ชื่นชมค่ะ

    ความฝัน ความหวัง เป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้มีความสุขที่จะเดิน …สนใจวิธีการเรียนรู้ค่ะ เรียนรู้แบบไหน ขอให้มีความสุขในการทำงาน และธรรมรักษานะคะ

  • #4 Judithhaura ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มีนาคม 2017 เวลา 4:54 (เย็น)

    wh0cd361583 viagra australia


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.7649869918823 sec
Sidebar: 0.42027902603149 sec