ลมหายใจเดียวกัน
อ่าน: 20752บันทึกนี้เขียนสืบเนื่องจากบันทึก ไปเรียนวันที่สี่: โครงการนิสิตแพทย์ฯ จากลานอุ๊ยสร้อย รอจนอุ๊ยสร้อยเขียนครบ 4 วันก่อน อิอิ
คำนี้ขอยืม อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู มาใช้หน่อย เป็นศัพท์ที่สอนให้ทีมวิทยากรทำงานร่วมกันดุจลมหายใจเดียวกัน
ภาพนี้เป็นกิจกรรมปิดตาพาเดินที่ อ. สร้อยใช้ในครั้งนี้ กิจกรรมนี้คิดว่าเป็นการฝึกให้วางใจในผู้อื่น แถมให้เดินอย่างมีสติด้วย ทีมวิทยากรก็ควรจะวางใจซึ่งกันและกันดุจลมหายใจเดียวกัน
โครงการนี้เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างจิตสำนึกต่อชุมชน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน” จัดโดยศูนย์แพทยศาสตรชั้นคลินิก โรงพยาบาลชลบุรี สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2555 ที่สวนป่า อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ครูบาสุทธินันท์ส่งข่าวบอกชาวเฮให้มาช่วยกันหน่อย ทีมที่มาช่วยเป็นประจำก็จะมี Conductor ครูออต หมอเจ๊ ทีมลำพูน (ครูอึ่งกับครูอาราม) อุ๊ยสร้อย น้าอึ่งอ๊อบ และทีมจากโรงพยาบาลชลบุรี ปีนี้ Conductor ติดประชุมที่ กทม. หมอเจ๊ติดรับนักศึกษาแพทย์จากออสเตรเลียมาฝึกงานที่โรงพยาบาลกระบี่ แต่ก็มีพี่ฝน และพี่จู มาเสริมทัพ
ไม่ทราบชัดเจนว่าทางทีมงานโรงพยาบาลชลบุรีมีวัตถุประสงค์อะไร แต่ก็เดาๆเอา กำหนดการก็ไม่ทราบล่วงหน้า ทราบแต่ว่าเป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 30 คน มาถึงคืนวันที่ 4 กลับสายๆวันที่ 7 พค. 2555
วันที่ 4 พค.
เดินทางจากหาดใหญ่ตั้งแต่เช้า มาที่ กทม. แล้วนั่งรถทัวร์คันแรกที่จะมาบุรีรัมย์ ครูอึ่งเป็นคนขับรถมารับ มีอุ๊ยสร้อยเป็นเนวิเกเตอร์ ถึงสวนป่าก็มืดค่ำแล้ว ครูบาฯก็ให้พี่จูเอาหนังสือจากโรงพยาบาลมาให้ดู ไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนมากนัก แต่ระบุกิจกรรมไว้คร่าวๆ กิจกรรมจะคล้ายๆปีที่แล้ว คือมีกิจกรรมปั้นพระโดยไม่ให้พูดคุยกันของ Conductor และเรื่องราวของศิลปะที่ดมได้ กินได้ของครูออต แต่ปีนี้ไม่ว่างทั้งคู่ เลยคุยกับอุ๊ยสร้อย ครูอึ่งว่าจะประสานงานกับอาจารย์อุ๊จากโรงพยาบาลชลบุรีดู ทีมลำพูนเชียงใหม่อาจต้องนำกิจกรรมทั้งสองนี้แต่สามารถประยุกต์ได้ตามใจชอบ อุ๊ยสร้อยเสนอว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นปั้นขนมกุยช่ายแทนปั้นพระ สงสัยคืนก่อนกินกุยช่ายจนกุยช่ายขึ้นสมอง อิอิ
นิสิตแพทย์และอาจารย์มาถึงดึกหน่อยเลยยังไม่ได้พูดคุยอะไรกัน
วันที่ 5 พค.
เช้า พบอาจารย์อุ๊ อาจารย์จุ๊ พี่หมอเบิร์ด จากโรงพยาบาลชลบุรี เลยถามวัตถุประสงค์ของการนำนิสิตมาในครั้งนี้ ได้ความว่า อยากให้นิสิตมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อความสนิทสนม ให้นิสิตรู้จักตัวเองและเรียนรู้เป็น แล้วปรึกษากันต่อว่าจะทำงานกันอย่างไร?
เริ่มกิจกรรมด้วยการสอบถามความคาดหวังของนิสิตที่มาในครั้งนี้ ส่วนมากก็คาดหว้งมาสัมผ้สธรรมชาติ ได้เล่นเกมสนุกๆ เลยให้พี่ฝน (เดินทางจากเชียงใหม่ตั้งแต่เย็นวาน มาถึงตอนเช้าก็โดนถีบให้นำเกมเลย) แสดงฝีมือจับนิสิตเล่นเกม เป่า ยิ้ง ฉุบ แต่เปลี่ยนเป็น เสือ นายพราน ตำรวจแทน สนุกหรือเปล่าไม่รู้แต่เด็กๆขอเล่นต่อไม่ยอมเลิก อิอิ
ตามด้วยฝึกการพูดคุยและผู้นำสี่ทิศโดยอาจารย์อุ๊ พี่หมอเบิร์ด
บ่าย
หลังจากกิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ อุ๊ยสร้อยก็ให้ปั้นกุยช่ายแต่กุยช่ายต้องแสดงถึงความเป็นสวนป่า และตามด้วยกิจกรรมปิดตาพาเดิน
ช่วงเย็นๆมีฝนตกลมแรงมาก ไฟดับ น้ำก็ไม่ไหล เป็นการทดสอบที่สำคัญมากๆ
วันที่ 6 พค.
เช้าครูบาพาเดินชมสวนป่า แล้วกลับมานั่งคุยเรื่องความรู้และการเรียนรู้แล้วก็โยนไมค์มาให้ ฝนก็มาในบัดดล ไฟฟ้าก็ไม่มี ต้องเข้าไปในบ้านที่มืดมิด เลยชวนเด็กๆเล่นกิจกรรมทิ้งไพ่ (กิจกรรมนี้เรียกเองว่ากริยา 4 ช่อง)
หลังอาหารกลางวัน (ไก่ย่างจากเตาดาโกต้า ส้มตำ) ก็เป็นกิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้อีก ตามด้วยกิจกรรมให้เด็กๆแบ่งทีมทำกับข้าวกัน สนุกกันตั้งแต่วางแผนทำกับข้าว ขณะทำและการนำเสนอก่อนอาหารเย็น
หลังอาหารก็เป็นการนำเสนอเรื่องความรู้และการเรียนรู้อีกเล็กน้อย ตามด้วยกิจกรรมของพี่จู ให้เด็กๆสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสวนป่า ให้หลับตาฟังเพลง อิฐก้อนเดียว แล้วร้องเพลงทะเลใจ ร่วมกัน พี่จูอาสาขอนำกิจกรรมนี้เองนะครับ สาบานได้
วันที่ 7 พค.
เช้า ครูบาสรุปบทเรียน หมอเบิร์ดนำกิจกรรมให้เด็กๆสรุปสิ่งที่ได้จากสวนป่า และสิ่งที่จะนำไปปฏิบัติหลังจากกลับจากสวนป่า แล้วก็ร่ำลากัน พี่ฝนกับพี่จูมอบของที่ระลึกให้อาจารย์และเด็กๆ พี่ฝน พี่จูและพี่หมอเบิร์ดอุตส่าห์นั่งทำกันด้วยความรัก
แต่ที่ประทับใจที่สุดคงเป็นภาพนี้ครับ ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ
สรุป
จากเด็กๆที่ไม่ค่อยอยากจะมาสวนป่า สงสัยว่าทำไมอาจารย์อุ๊ไม่ไปจัดปฐมนิเทศน์ที่พัทยาหรือตามชายหาดที่ีแสนสวย แถมเจอทั้งความยากลำบากในเรื่องของอาคารสถานที่ เจอแจ็กพอตไฟดับ น้ำไม่ไหลอีก
ทีมวิทยากรที่พกกันมาแต่หัวใจ มีคนใหม่ๆที่ไม่รู้จักกันมาก่อนมาร่วมงานกัน กำหนดการ กิจกรรมก็ไม่รู้มาก่อน มาคิดกันสดๆ มอบหมายกันสดๆ ทีมอาจารย์จากโรงพยาบาลชลบุรีต้องไว้ใจทีมเฮฮาศาสตร์อย่างมาก เพราะถ้ามีปัญหาคงโดนด่ายับแน่ๆ
เด็กๆคงเห็นว่าในสถานะการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ ทีมวิทยากรก็ยังยิ้มแย้ม มีพลัง มีความไว้วางใจ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีความสุขในการทำงาน เลยทำให้บรรยากาศและกิจกรรมเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ราบรื่น เลื่อนไหลไปตามสถานะดุจมีลมหายใจเดียวกัน
ขอขอบคุณ ทีมงานสวนป่า นิสิตทุกท่าน วิทยากรทุกๆท่านที่ได้มอบโอกาสเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุขในครั้งนี้
« « Prev : การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2554 (3 )
Next : Pecha-Kucha - มาลองกันหน่อย » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ลมหายใจเดียวกัน"