Ryanair - the airline we love to hate

โดย cinshy เมื่อ October 26, 2009 เวลา 4:28 am ในหมวดหมู่ Uncategorized #

เมื่อวานดูรายการทีวีว่าด้วยเรื่องสายการบิน low cost ยักษ์ใหญ่แห่งยุโรป พอบอกว่า low cost ของถูกใคร ๆ ก็น่าจะชอบ แต่รายการกลับใช้ชื่อตอนว่า Why Hate Ryanair?

อย่างที่บอกว่า Ryanair เป็นสายการบินราคาถูก ถูกขนาดไหน ก็ถูกขนาดบาทเดียวบินได้ บางครั้งค่าโดยสารฟรี จ่ายเพียงแค่ค่าภาษีสนามบิน บางครั้งค่าสนามบินฟรี จ่ายค่าโดยสารแค่เพนนีเดียว ราคาถูกอย่างเดียวอาจจะยังไม่หนำใจ แต่ Ryanair ยังมีเที่ยวบินครอบคลุมทั่วทั้งยุโรป เรียกได้ว่าอยากไปไหน Ryanair ไปถึงหมด ทุกวันนี้ Ryanair มีเส้นทางการบินกว่า 800 เส้นทางครอบคลุมเกือบ  150 สนามบินปลายทาง มีผู้โดยสารหลายสิบล้านคนต่อปี และมีส่วนแบ่งในตลาดยุโรปอยู่ที่ 30% เอ๊ะ เหมือนจะดี แต่ทำไมถึงมีคนพูดว่า It’s the airline we love to hate.

ถ้าดูเฉพาะค่าใช้จ่ายบนตั๋วนับว่าถูกสุด ๆ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซ่อนอยู่อีกไม่ใช่น้อย ที่เป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดคือผู้โดยสารต้องปรินท์ตั๋วโดยสารสำหรับเช็คอินด้วยตัวเอง กระดาษที่ใช้ปรินท์ของเรา เครื่องปรินท์ก็ของเรา ค่าไฟก็ของเราอีก แต่ Ryanair ขอคิดค่าปรินท์ตั๋วโดยสาร 5 ปอนด์ (ประมาณ 250 บาท) ต่อตั๋วโดยสารหนึ่งใบต่อผู้โดยสารหนึ่งท่าน นั่นหมายความว่า ถ้าเดินทางไปกลับก็ต้องจ่ายในส่วนนี้ 10 ปอนด์ เราอาจจะคิดว่าเรื่องอะไรต้องจ่าย 10 ปอนด์เพื่อปรินท์กระดาษ 2 ใบ โอเคไม่เป็นไร งั้นไปดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นที่สนามบิน ถ้าผู้โดยสารไม่มีตั๋วโดยสารติดตัวมาด้วย ทางสายการบินคิดค่าปรินท์ตั๋วโดยสาร 40 ปอนด์ ต่อตั๋วโดยสารหนึ่งใบต่อผู้โดยสารหนึ่งท่าน บินไปกลับก็ 80 ปอนด์ (ประมาณ 4000 บาท) ราคาถูกซะขนาดนี้ปล้นกันเลยดีกว่า

ยังไม่หมดแค่นั้น ผู้โดยสารต้องจ่ายอีก 5 ปอนด์เพื่อจะจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ถือเป็นค่าบริการบัตรเครดิตเดบิตทั้งหลาย ตั๋วเครื่องบินบาทเดียวแต่ตอนนี้โดนค่าบังคับจ่ายไปหลายสิบปอนด์ นี่ยังไม่นับค่าประกันภัย ค่ากระเป๋าเดินทาง และค่าอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ทุกซอกทุกมุมระหว่างจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์

Ryanair ขึ้นชื่อว่าเป็นสายการบินที่เสียเวลาเป็นปกติ (เหมือนรถไฟไทยเลย) ส่วนหนึ่งมาจากระบบเช็คอินที่สนามบิน สายการบินลดต้นทุนของบริษัทด้วยการจำกัดจำนวนพนักงานและจำนวนเคาน์เตอร์ที่สนามบิน ฉะนั้นแทนที่จะแยกโต๊ะเช็คอินของแต่ละไฟลท์ไปแต่ละเคาน์เตอร์ Ryanair กลับรวมทุกไฟลท์ให้มาเช็คอินที่เคาน์เตอร์เดียวกันหมด คิวเช็คอินจึงยาวเป็นงูพันหาง นี่ยังไม่นับกระเป๋าเดินทางสูญหายตกหล่นระหว่างทางอันเนื่องมาจากการใช้ระบบเช็คอินรวมกันที่เคาน์เตอร์เดียว

มาดูเรื่องบริการกันบ้าง เมื่ออยู่บนเครื่องผู้โดยสารต้องจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารเครื่องดื่ม อันนี้อาจจะไม่แปลกนัก สายการบินหลายแห่งก็ใช้วิธีนี้ แต่นโยบายของ Ryanair คือให้พนักงานบนเครื่องบินมีหน้าที่ขายของไม่ใช่ให้บริการอำนวยความสะดวก รายได้ของพนักงานบนเครื่องขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารเครื่องดื่มที่ขายได้ ง่าย ๆ คือค่าคอมมิชชัน แม้แต่นักบินก็ต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องดื่มเอง ไม่มีบริการใด ๆ ให้แก่พนักงานทั้งสิ้น ที่สำคัญตอนนี้ Ryanair กำลังจะคิดค่าใช้บริการห้องน้ำบนเครื่องบินเพิ่มขึ้นด้วย เรียกว่าจะกินเข้าจะเอาออกต้องจ่ายหมด

Ryanair มีเที่ยวบินครอบคลุมทั่วยุโรปก็จริง แต่สนามบินที่ Ryanair ใช้บริการนั้นไม่ใช่สนามบินที่อยู่ใกล้จุดหมายปลายทางที่เราอยากไปสักทีเดียว สนามบินในเมืองหลัก ๆ จะคิดค่าภาษีสนามบินค่อนข้างสูงซึ่งขัดกับนโยบายของบริษัท Ryanair จึงใช้บริการสนามบินที่อยู่ไกลออกไปอีกเป็นร้อยหรือหลายร้อยกิโลเมตร เครื่องบินอาจจะถึงสนามบินปลายทางแต่ผู้โดยสารต้องนั่งรถทัวร์ต่อไปอีกอย่างน้อย ๆ ก็ชั่วโมงกว่า บางครั้งก็ 3-4 ชั่วโมง และแน่นอนว่าผู้โดยสารต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้อีกเช่นกัน

ที่เล่ามาเป็นเพียงบางส่วนที่ผู้โดยสารได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ยังมีด้านอื่นที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลพนักงานทุกระดับชั้น การดีลกันทางธุรกิจกับบริษัทอื่น ๆ เช่นบริษัทขายเครื่องบินหรือกับสนามบิน

ถึงแม้ Ryanair จะโตวันโตคืนและมีแฟนคลับอยู่จำนวนมาก แต่แน่นอนว่าย่อมมีคนต่อต้าน และกระแสต่อต้านตอนนี้ก็เริ่มแรงวันแรงคืนไม่น้อยไปกว่ากัน หลายคนรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกโกง แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาเตือน Ryanair ให้ทบทวนนโยบาย แต่ล่าสุดผู้ก่อตั้ง Ryanair ออกมายำ้ว่า Ryanair จะยังยึดนโยบายเช่นนี้ต่อไปและจะให้บริการค่าโดยสารที่ถูกลงไปเรื่อย ๆ (แต่ไ่ม่ได้บอกว่าจะคิดค่ายิบย่อยเช่นค่าเข้าห้องน้ำ หรือต่อไปอาจจะคิดค่าอากาศหายใจบนเครื่องด้วย) และ Ryanair ยังตั้งเป้าที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 30% เพิ่มขึ้นเป็น 60% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ก็ต้องรอดูว่า low cost airline รายนี้จะใช้กลยุทธ์ไหนออกมาดึงดูดใจลูกค้า แต่ที่สำคัญถ้า Ryanair ไม่ทำอะไรเพื่อลบความรู้สึกถูกโกงออกไปและเพิ่ม royalty จากผู้โดยสารกลับมาได้ อนาคตของ Ryanair ก็อาจจะไม่เลิศหรูอย่างที่หวังไว้

จะว่าไป Ryanair ไม่ใช่ low cost airline รายเดียวที่ใช้นโยบายของถูก แต่เพราะความเป็นยักษ์ใหญ่และโตแบบก้าวกระโดดของ Ryanair ทำให้สายการบินอื่น ๆ ในยุโรป ทั้ง low cost หรือไม่ low cost ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ส่วนแบ่งการตลาดของ Ryanair ที่เพิ่มขึ้นอาจหมายถึงการล้มละลายของอีกหลายสายการบิน ไม่กี่ปีที่ผ่านมาสายการบินในยุโรปปิดตัวลงไปไม่ใช่น้อย หลายฝ่ายอาจจะอ้างว่าเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจ แต่ก็มีบางส่วนบอกว่าเป็นเพราะสายการบินรายนี้นี่เอง

ดูรายการนี้แล้วนึกถึง Walmart และ Lehman Brothers ทีแรกตั้งใจจะเขียนบันทึกเปรียบเทียบ Ryanair กับ Walmart แต่แค่ Ryanair ก็เขียนซะยาว ไว้ครึ้มอกครึ้มใจจะมาเล่าเรื่อง Walmart ละกันนะคะ

« « Prev : ปล่อยของ

Next : ส่งท้ายร้านหนังสือ Borders » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 October 2009 เวลา 7:08 am

    อ่านๆ ไป ก็นึกถึงงานสวนสนุกสมัยก่อน ค่าประตู 3 บาท หรือ 5 บาท เท่านั้น แต่…

    จะดูมวยก็มีประตูอีกชั้นด้านใน จะดูดนตรีก็มีอีกชั้นด้านใน จะดูลิเกก็ต้องยืนด้านนอกเพราะด้านในมีเก้าอี้ไว้บริการและต้องเสียค่าบริการ ฯลฯ

    บางคนก็บ่นเพราะต้องการเดินเที่ยวดูทุกอย่าง แต่บางคนก็ว่าดีเพราะต้องการไปดูแต่ลิเกเท่านั้น…

    เจริญพร

  • #2 ครูฌอง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 October 2009 เวลา 11:09 am

    low cost ของไทยก็นโยบายเช่นนี้แหละ

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 October 2009 เวลา 3:40 pm

    นึกถึงสายการบิน Low cost ของไทยเหมือนกันจ้ะ

    เค้ามี กม.ควบคุมอะไรบ้างมั้ย ที่จะช่วยดูแลเรื่องเหล่านี้ แล้วประกันภัยของเค้าล่ะจ๊ะ

  • #4 ตาหยู ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 November 2009 เวลา 3:53 pm

    ว้าว ตีแตกการตลาด เลย
    ..
    บริษัทไหน ต้องการเซียนวิเคราะห์การตลาด เชิญครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.53612899780273 sec
Sidebar: 0.19328713417053 sec