เครื่องดนตรีไทย

โดย ครูฌอง เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2009 เวลา 10:02 (เช้า) ในหมวดหมู่ เครื่อง-วงดนตรีไทย #
อ่าน: 16421

เครื่องดนตรีของไทยนั้น สามารถจัดแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ เครื่องดนตรีไทยเดิม และเครื่องดนตรีไทยพื้นเมือง แต่หากพูดโดยทั่วไปเกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทยแล้ว จะเข้าใจกันได้ว่าคือเครื่องดนตรีไทยเดิมนั่นเอง

การจัดประเภทของเครื่องดนตรีไทย ส่วนใหญ่จัดโดยยึดวิธีการบรรเลงของเครื่องดนตรีไทย ซึ่งจัดแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า

  • เครื่องดนตรีไทยประเภทเคื่องดีด หมายถึงเครื่องดนตรีไทยที่ใช้มือหรือไม้ดีด ดีดสายให้เกิดเป็นเสียงดนตรี เช่น จะเข้ พิณ กระจับปี่ เป็นต้น
  • เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสี หมายถึงเครื่องดนตรีไทยที่ใช้คันชัก สีกับสายให้เกิดเป็นเสียงดนตรี เช่น ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ เป็นต้น
  • เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตี หมายถึงเครื่องดนตรีไทยที่ใช้ไม้หรือมือตีเครื่องดนตรีให้เกิดเสียง โดยแบ่งย่อยเป็น 3 ประเภทคือ
    • เครื่องตีที่ทำด้วยไม้ เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม กรับ เป็นต้น
    • เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง เป็นต้น
    • เครื่องตีประเภทขึงด้วยหนัง เช่น ตะโพน กลองทัด กลองสองหน้า กลองแขก โทน รำมะนา เป็นต้น
  • เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า หมายถึงเครื่องดนตรีไทยที่ใช้ปากเป่าลมผ่านเครื่องดนตรีให้เกิดเป็นเสียง โดยแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภทคือ
    • เครื่องเป่าที่ไม่ใช้ลิ้น เช่น ขลุ่ยหลิบ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ เป็นต้น
    • เครื่องเป่าที่ใช้ลิ้น เช่น ปี่ใน ปี่นอก ปี่มอญ ปี่ชวา เป็นต้น

นอกจากแบ่งตามประเภทของวิธีการบรรเลงแล้ว ในวงการดนตรีไทยยังมีวิธีการแบ่งเครื่องดนตรีไทยตามลักษณะการใช้งานหรือหน้าที่ในวงดนตรีไทยอีกด้วย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ เครื่องบรรเลงทำนอง และเครื่องกำกับจังหวะ กล่าวคือ

  • เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องบรรเลงทำนอง หมายถึงเครื่องดนตรีไทยที่บรรเลงทำนองเพลงตามลักษณะโน๊ตเพลงตามลักษณะการบรรเลงของแต่ละเครื่องดนตรี โดยแบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องนำและครื่องตาม ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มเครื่องดนตรีไทยให้มีหน้าที่เป็นฝ่ายนำและฝ่ายตามในการบรรเลงแบบ “ลูกล้อ” และ “ลูกขัด”
    • เครื่องดนตรีไทยที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องนำส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีเสียงแหลมและดัง เช่น ระนาดเอก ฆ้องวงเล็ก ซอด้วง จะเข้ ขลุ่ยหลิบ เป็นต้น
    • เครื่องดนตรีไทยที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องตามส่วนใหญ่มีเสียงทุ้มนุ่มนวล เช่น ระนาดทุ้ม ฆ้อวงใหญ่ ซออู้ ขลุ่ยเพียงออ เป็นต้น
  • เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องกำกับจังหวะ หมายถึงเครื่องดนตรีไทยที่ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการบรรเลงของวงดนตรีไทย โดยจะเลือกใช้ตามลักษณะของ “การประสมวง” เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก โทน-รำมะนา เป็นต้น

« « Prev : ลอยกระทงใน มอ.ปัตตานี

Next : เครื่องดนตรีต่างด้าวในวงดนตรีไทย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1812 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 6.6942329406738 sec
Sidebar: 0.039355039596558 sec