ถามมาตอบไป

อ่าน: 2422
หนาวไหม หนาวไหม คนดี
คนไหนมีคู่ก็คงสุขล้น
คนไหนรักหล่นก็ต้องทนหนาวไป อิ อิ
และแล้วสวรรค์ก็ประทานลมหนาว มาให้คนชอบหนาวได้ระรี้ระริก หลายครอบครัววางแผนเดินทางไปสัมผัสหนาวที่ยอดดอย ไปกางเต็นท์ ไปหุงหาอาหาร ใช้ชีวิตช่วงสั้นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เยือกเย็นแต่อุ่นอิงใจ ก็ ดี น ะ ค รั บ .. ออกไประบายอากาศเสียเก่าๆออกทิ้งบ้าง สูดโอโซน ผิงไฟ ใส่เสื้อหนาว ชมดาว ชมทะเลหมอก จิบชา อาบแดด ไปเยี่ยมแม่คะนิ้ง ถ่ายภาพที่ระลึก
รอยต่อกาลเวลา..ระหว่างปีเก่าเข้ามาหาปีใหม่
คนสวยมีแผนไว้ในใจแล้วหรือยัง
มีคนถามว่า พ่อปีใหม่ไปไหนหรือเปล่า
คงไม่ไปไหนหรอกนะครับ ?
จะอยู่กับน้องหนาวให้จุใจ
ห่วงใยการเดินทางในช่วงนี้..
รถราประจัญบานกันมากเหลือเกิน
จราจรแทบจราจล..
ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง ควรคืบคลานใจเย็นๆนะน้อง
กลางดึกเมื่อคืนนี้ ระหว่างหลับอย่างสุขารมณ์ ลมหนาวกระโชกแรงมาก ชายมุ้งปลิว เสียงสิ่งของตกหล่นเปรี้ยงปร้าง ร่มปลิวไปหลายเมตร ใบไม้ที่ร่วงอยู่ก่อนแล้ว ลอยปลิวไปจนลานซีเมนต์เกลี้ยงเกลา เออ..เทวดาก็มาช่วยกวาดบ้านด้วย ลมแรงจริงๆนะเธอ ยังดีที่ไม่แตกตื่นนึกว่า โลกแตก.. ลุกมาปิดชายมุ้ง ..แล้วมุดเข้าไปนอนคลุมผ้าผวยเหมือนเดิม รู้สึกหนาวเหน็บ.. คนมีคู่อยู่คนละบ้านละเตียงก็ต้องทำใจ
แต่ก็ดีนะ ที่ไม่ต้องเดินทางไปหาความหนาวเย็นบนยอดดอย
นอนสัมผัสหนาวแบบพอเพียง
จะนอนเอียง นอนแผ่ นอนคุดคู้ ก็อยู่บนเตียงเราเอง
จึงไม่กลัวหนาว หนาวมาเล๊ยๆๆ
เย็นวานมีคณาจารย์หลายท่านมาเยี่ยม บางท่านเคยเป็นอธิการบดี บางท่านเป็นคณะบดีที่รู้จักกันมานาน ท่านเคยมาเยี่ยมยามผมเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว การมาครั้งนี้จึงมีคำถามใหม่ๆ คณะฯเล่าว่า..ระหว่างเดินทางก็เกิดคำถามขึ้นในหมู่กันเอง ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง..เมื่อมาพบหน้าก็มาเอาคำถามจากตัวเป็นๆดีกว่า
อาจารย์พจน์ พรหมบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
เปิดประเด็นว่า..คำถามอะไร? ที่ผมเจอมากที่สุด
คำตอบ
1. มีที่ดินเท่าไหร่
2. มีรายได้จากอะไร
3. ดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร
4. ยังเที่ยวตระเวนไปนอกบ้านมากไหม?
5. หมู่นี่ยังเขียนหนังสือเขียนและพิมพ์หนังสืออะไรบ้าง?
6. เรื่องอื่นทั่วไป
หลังจากผมเรียงลำดับคำถาม อาจารย์ก็สรุปว่า..คนทั่วๆสนใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เรื่องความรู้ความคิดไม่ค่อยจะใส่ใจกันเท่าที่ควร สิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมของคนไทยสมัยนี้ไปแล้วก็ไม่รู้นะ
ข้อที่ 1 เรื่องที่ดิน ทุกคนอยากจะมีพื้นที่ทำกินกันมากๆ ในระดับครัวเรือนทั่วไป ในความคิดผมมีที่ดิน10 ไร่ ก็ทำไม่ไหวแล้วละครับ แค่ปลูกผักกินเองไร่เดียวนี่ก็ไม่ได้พักได้ว้างเว้นเลย ไม่เชื่อก็ลองดู คนที่มีที่ดินมากควรจะมีความรู้ความเข้าใจมากๆ ถ้ากึ๋นไม่พอ มีที่ดินมาก ก็จะทำลายสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินให้เสื่อมโทรม ทำให้โลกร้อน โลกวิบัติ ตนเองก็ใช่ว่าจะได้อะไรจากการทำเกษตรฯแบบมักง่าย เรื่องน่าคิดนะครับ
กลายเป็นว่ามีที่ดินมากหรือน้อย
ถ้าความรู้จิบจ้อย..มันก็นำมาสู่ความเสื่อมโทรม!
ปรากฏการณ์เรื่องนี้ดูได้จากการทำการเกษตรในบ้านเมืองเรา
มีเกษตรกรสักกี่ครัวเรือนที่ทำการเกษตรแบบไม่ล้างผลาญแผ่นดิน
ข้อที่ 2 มีรายได้จากอะไร?
ข้อนี้มีคนสงสัยมาก ด้วยไม่เห็นผมทำกิจการอะไรที่พอจะมีรายได้เป็นน้ำเป็นเนื้อ ทำอะไรเล่นๆ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เผาถ่าน ไม่เห็นการรูปแบบการจำหน่าย ใครเห็นก็งงและมึนตึบ ผมจะขออธิบายว่า ผมไม่มีรายได้แน่นอน มีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น ไม่มีก็ไม่ทำ..ไม่ขยายงานอะไร นอนดูใบไม้หล่นไปวันๆ อยู่ได้เพราะไม่มีหนี้สักกะบาท คนไม่มีหนี้นี่มีอิสระนะเธอ มีหนี้ก็เหมือนมีไฟลนก้น อยู่นิ่งๆเฉยๆไม่ได้ ต้องดินรนหาเงินไปถวายให้คนอื่น เป็นขี้ข้าของระบบการเงินที่เอามาใช้ล่วงหน้า คนเป็นบ้าเป็นหลังก็เพราะเป็นทาสเงินกู้ทาสหนี้จิปาถะนี่แหละ ที่ผ่านมาผมเป็นคนที่เทวดาเลี้ยง ถ้าช่วงไหนไม่มีเงินใช้ ก็มักจะมีคนอุปการะ เงินลอยมาจนได้แหละ ไม่มากหรอก แต่ก็ไม่ขาดมือ แต่เราต้องสำเนียกว่า ..มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง
ขอเปิดเผยว่า..
ผมไม่มีเงินเดือน มีแต่เงินดิน
เงินดินเหมือนไข่ห่านทองคำ หรือน้ำซึมบ่อทราย
อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า..ไม่มีต้นไม้ต้นไหนมันขี้เกียจ
การที่ต้นไม้..เจริญเติบโตขึ้นทุกวัน..แสดงว่ามูลค่าเพิ่มทวีคูณทุกวัน
ต้นไม้ยิ่งโตก็ยิ่งแพงใช่ไหมละเธอ
บางคนคิดว่าปลูกต้นไม่มันนาน รอไม่ไหว ไม่ทันกิน ไม่เข้าใจวิธีทำวิธีได้ ขออนุญาตขยายความดังนี้..ต้นไม้นั้นมีหลายประเภท..ไม้ผักยืนต้น ไม้สมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้เศรษฐกิจ ไม้เพื่อพลังงานทดแทน พืชผักผลไม้ พืชผักตามฤดูกาล ไม้ล้อม ไม้ประดับ ไม้ประแดก ไม้ติดแผ่นดิน คนที่มีไม้สารพัดชนิด ก็เท่ากับมีต้นทุนปัจจัยการผลิตอยู่ในมือใช่ไหมละเธอ อยู่เฉยๆก็มีรายรับจากดอกเบี้ยของต้นไม้ทุกๆต้นทุกๆนาที
คนที่ปลูกต้นไม้ด้วยความรักความเข้าใจ มักจะมองข้ามเรื่องรายได้ ความร่ำรวย จะมองทะลุไปถึงการสร้างเสริมหน้าตาที่ดินที่อยู่อาศัยให้ร่มรื่น ช่วยสร้างความปกติให้แก่โลก ตอบแทนแผ่นดิน ตอบแทนโลก งานที่ทำควรเป็นการสะสมความอุดมสมบูรณ์ในอัตราก้าวหน้าขึ้นตามเดือนปีที่ผ่านไป สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นความรุ่มรวยที่แท้จริง เข้าใจไหมละน้อง
ค น โ ง่ จึ ง ไ ม่ ค ว ร มี ที่ ดิ น ม า ก ด้ ว ย ป ร ะ ก า ร ล ะ ฉ ะ นี้
ท่ามกลางกระแสสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคอย่างมาก ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เราทุกคนควรบ่มเพาะความเข้มแข็งของจิตใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเสียตั้งแต่บัดนี้ ด้วยการฝึกควบคุมความอยาก มีความเฉลียวในการใช้ชีวิตอย่างรู้ประมาณ รู้จักเกื้อกูลต่อเพื่อนร่วมโลก ทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม และเมื่อฝึกฝนจนกลายเป็นนิสัย เราก็จะเข้าใจและเข้าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้โดยไม่ต้องท่องนิยาม” จาก-เปิดเล่ม สื่อพลัง
ข้อที่ 3 ดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร?
เสียดายที่คณะอาจารย์มาไม่แจ้งเวลาและจำนวนคนล่วงหน้า ไม่อย่างนั้นจะอธิบายเรื่องนี้แบบจะๆให้ดู จะชวนเข้าสวนครัวสวนผัก แล้วเด็ดพืชอาหารมาประกอบให้ชิม ชวนรับประทานกันสดๆร้อนๆ จะได้เข้าใจวิถีดูแลสุขภาพ ที่ผมและแม่บ้านกำลังศึกษาหากระบวนการอย่างเข้มข้น ชมภาพข้างล่างก็แล้วกันนะครับ
เช้าๆโฉมยงเดินไปเด็ดผักสดมาล้าง ผักชนิดไหนรับประทานสุกเธอก็จะลวก เรียงไว้ในจาน อบปลาทูตัวหนึ่ง ผสมน้ำพริกปลาป่น (ตั้งชื่อให้ว่าน้ำพริกสด เพราะใช้พริกสดแทนพริกเผา/พริกป่น) ผมหุงข้าวกล้องแดงรอไว้แล้ว เธอกางโต๊ะเอาอาหารมาเรียง เอาน้ำชาสมุนไพรอุ่นๆวางข้างๆมื้อเช้ารับประทานกันง่ายๆยังงี้ละครับ ผักสดๆกรอบหวาน น้ำพริกผสมใส่น้ำปู๋รสเด็ด อร่อยเหาะ
หยิบใบชะพลูมาวาง ซ้อนด้วยใบพลูคาว
ตักน้ำพริกสดมาหยอด ตักชิ้นปลาทูมาวาง เติมงา-ขิง-หอม
พับม้วนใบ..แล้วก็เปิบ เคี้ยวตุ้ยๆ คุยกันท่ามกลางแดดอุ่น
ภัตตาคารที่ไหนก็สู้ไม่ได้หรอกนะเธอ อิ อิ ..
น่าจะชื่อ..ภัตตาคารผึ่งพุงกลางแดดอุ่น
ข้อที่4 ยังเที่ยวตระเวนไปนอกบ้านมากไหม?
เรื่องนี้พยายามลดลงมากแล้วละครับ เว้นแต่งานไหนที่เห็นว่าสำคัญ/จำเป็น/และเป็นงานที่เราถนัด ก็จะไปช่วยตามกำลัง มีงานประชุมบ้าง ไปโม้บ้าง และอยากไปช่วยคุณญาติผู้อารี ยกตัวอย่างกรณีของหนู๋ไพ ที่ร้องขอมาให้ไปช่วยดูแลแปลงปลูกผักและต้นไม้ ผมชอบใจตรงที่..
หนู๋ไพ สารภาพว่า..ไม่รู้การปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว
ผมชื่นชมนะ ..ที่หนู๋ไพถามหาความรู้ก่อน..
ผมจะหาโอกาสไปยุให้หนูไพ๋..ทำการเกษตรแบบประณีต
เพื่อเป็นตัวอย่างของจังหวัดหนองบัวลำภู
รักแล้วรอหน่อยนะหนู๋ไพ ..เรื่องนี้ต้องไปตามคิว..
ข้อที่ 5 หมู่นี่ยังเขียนหนังสือเขียนและพิมพ์หนังสืออะไรบ้าง?
เรื่องการเขียน ก็เขียนเปรอะไปทุกวัน ทำให้เหมือนการบันทึกไดอารี วันวันหลังเราก็ยังมาสืบค้นได้ว่า..ช่วงนั้นช่วงนี้เรามีกิจกรรมอะไร เรากำลังดำเนินการในเรื่องใด เราได้รู้จักใคร เราได้รับความเมตตาจากใคร เป็นการบันทึกเรื่องราวชีวิตคนบ้านป่า ที่ไม่ได้เขียนเชิงวิชาการอะไร เพราะไม่มีวิชากงวิชาการอะไรกับใครเขา คิดและทำอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น ดื้อๆทื่อๆตามสไตล์คนบ้านนอก
อาจารย์บอกว่าเคยได้อ่านหนังสือคนนอกระบบ
ตอนนี้หมดไปแล้วละครับ ยังไม่ได้พิมพ์ใหม่
แต่มีหนังสือ โมเดลบุรีรัมย์
หนังสือเจ้าเป็นไผ จากนาซาสู่รากหญ้า และหนังสือเจ้าแห้ว
จะไปวางจำหน่ายแบบอึกกะทึกครึกโครม!
ซื้อหนังสือแถมหน่อกล้วย เมล็ดผัก และแถมกอด อิ อิ
ในงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร์บุรีรัมย์เป็นเจ้าภาพ
จัดงานวันคนบุรีรัมย์ขับเคลื่อนให้บุรีรัมย์น่าอยู่
ข้อที่6 เรื่องอื่นๆทั่วไป “การตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาดึกดำบรรพ์ ที่เราได้ยินได้ฟังพอๆกับการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นคุณค่าและรักษาป่า ทว่าสถิติของกรมป่าไม้ กลับแสดงให้เห็นว่า จำนวนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงทุกปี ภาพที่สะท้อนสวนทางกันเช่นนี้ คงเป็นคำตอบได้ว่า เราจริงใจกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากน้อยเพียงไร? “
วันที่ 5 มกราคม 2556
. ห้องประชุมวิชชาอัตศาสตร์
ขอเรียนเชิญพี่ป้าน้าอาจังหวัดใกล้เคียง
มาแย้มดูหัวใจของคนเมืองแปะก็ดีนะครับ
ม า แ ล้ ว ท่ า น จ ะ รู้ ว่ า ..
บุรีรัมย์นั้นไฉไลนัก แล้วท่านจะรักบุรีรัมย์


บุรีรัมย์ตำน้ำกิน *****

อ่าน: 2954

ตอนเด็กๆผมตื่นใจมากกับเรื่องขงเบ้งดูดาว แล้วยังทำนายทายทักเรื่องลมฟ้าอากาศได้แม่นยำ นำมาวางกลยุทธหลอกล่อโจโฉจนตกน้ำป๋อมแป๋ม ตอนบ่ายคุณชายมาบอกว่าวันสองวันนี้จะหนาวแล้วละนะ จึงฉุกคิดว่า..เออ คุณชายนี่นะ..แกเก่งพอๆกับขงเบ้งนั้นแหละ บอกเรื่องลมฟ้าพยากรณ์แม่นยำทุกที คนขี้หนาวรู้แล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจสิครับ อาบน้ำเอาลูกมะกรูดมาขัดถูทุกซอกทุกมุม เผื่อหนาวจริงๆจะได้ใช้สูตร 7 วันอาบน้ำหนเดียว

ตอนหัวค่ำจะดูบอลไทย-สิงคโปร์ เปิดทีวี ..มันทะลึ่งบอกว่า..ให้ใส่รหัส อ้าว! รหัสบ้าอะไรอีกละใส่ไม่เป็น ก็เลยอดดู ไม่ดูก็ไม่ลงแดงตายหรอกว่ะ ไอ้พวกมนุษย์ขี้เหม็นมันก็สร้างเงื่อนไขสารพัดอย่างนี้แหละเธอ ..เอาโคมมาจุด1ใบส่งเคราะห์ส่งโศกให้ไอ้พวกหากินกับทีวี หาเสื้อหนาวกับหมวกไหมพรมที่คนใจดีส่งมาให้สวมฉับ แล้วก็กลับมามุดมุ้งนอน

ตื่นขึ้นมากลางดึก ..ลมหนาวกรูเกรียวมาวูบหนึ่ง ลมหนาวมาเปิดชายมุ้งมากระทบขอบเตียง เออ..หนอ ใครนะส่งลมเย็นมาปลุกเรา ลุกขึ้นจัดชายมุ้งให้เรียบร้อย ดึงผ้านวมมาคลุมจะนอนต่อ..แต่ตากับใจตื่นเสียแล้ว จึงเอาโต๊ะพับมากางกลางเตียง แล้วก็นั่งทำการบ้านในหัวข้อที่ว่า..คุณเป็นคนบุรีรัมย์รึเปล่า เมื่อก่อนก็ไม่เคยคิดอย่างนี้ ..ทำไมเราถึงได้มาเกิดอยู่ที่นี่ นั่นนะสิ จะถามใครละ คิดไปก็เท่านั้น คนเรานี่นะเธอ ต่อให้ไปเกิดบนสวรรค์ ถ้าไม่คิดทำอะไรให้กับถิ่นฐานบ้านเกิดตนเองมันก็ไอ้แค่นั่นแหละ

โจทย์นี้ค้างใจมาตั้งแต่ดร.พิสมัย ประชานันท์ มาชวนไปงานวันบุรีรัมย์โป๊ะเช๊ะ ในวันที่5 มกราคมที่จะถึงนี้ การจัดงานเสวนาต้นปีก็ดีนะเธอ เราจะได้ตั้งต้นคิดร่วมกันว่า ปีใหม่นี้เราจะคืนอะไรให้กับบุรีรัมย์ ค น บุ รี รั ม ย์ จ ะ ช่ ว ย กั น ก ว า ด บ้ า น ปั ด ฝุ่ น ใ ห้ บ้ า น เ มื อ ง ตั ว เ อ ง ผ่ อ ง ใ ส เ รี่ ย ม แ ร้ ไ ด้ อ ย่ า ง ไ ร ? เมื่อเค้าโครงความคิดออกมาอย่างนี้ ก็มีคำถามตามมา คนบุรีรัมย์จะทำอะไรให้บุรีรัมย์รึ ที่ผ่านมาจังหวัดนี้ก็ดูไม่ค่อยจะมีอะไรโฉ่งฉ่าง เงียบๆเหงาๆเหมือนที่เขาเรียกขานว่า

บุรีรัมย์ตำน้ำกิน

บุรีรัมย์ไม่ตำน้ำกิน จะตำอะไร? แค่ตำนานเกี่ยวกับเมืองนี้ มันก็หดหู่ดูแห้งแล้งในความรู้สึกแล้วนะเธอ เอาเถอะนะ ใครจะเรียกอย่างไรเราไปเปลี่ยนไม่ได้หรอก แต่เราแก้ไขได้ แทนที่จะบอกว่าบุรีรัมย์ตำน้ำกิน เราก็เปลี่ยนมาเป็น บุรีรัมย์ตำส้มตำปูดองอร่อยเหาะ-ตำน้ำพริก-ตำซุปหมากมี่-ตำลูกยอ-ตำข้าวเม่า-ต้มยำตำแกง เอาให้ตำตาตำใจแก่อาคันตุกะผู้มาเยือน

ทำให้ฮือฮากันไปเลย..

บุรีรัมย์มีเมนูอาหารอร่อย สะอาด ปลอดภัย

ใครได้มาชิมติดใจเป็นกำไรของกระเพาะ อิ อิ..

ภาคบ่ายมีหัวข้อเสวนา “เรื่องเครือข่ายชาวบ้านกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ได้หัวข้อนี้ชักเข้าเค้าแล้วสิเธอ แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คนไทยมักจะเห็นเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องตายเรื่องเล็ก สงสัยสืบเชื้อสายมาจากอีตาชูชก เราจึงเห็นการบริโภคอย่างมูมมาม เมื่อก่อนเจี๊ยะจอบเจี๊ยะเสียม สมัยนี้เจี๊ยะสะพาน เจี๊ยะถนนลาดยาง เจี๊ยะโครงการต่างๆ ต่อไปก็เจี๊ยะประเทศ

ในชั้นเราๆชาวบ้านนี่นะเธอ น้อยนักที่จะใส่ใจเรื่องการบริโภค ทั้งๆที่ต้องกินอยู่ทุกวันนี่แหละ มี สั ก กี่ ค น ที่ รั บ ป ร ะ ท า น อ า ห า ร ถู ก วิ ธี ไม่ใช่แค่กินร้อนช้อนกลางเท่านั้นหรอกนะเธอ คุณภาพอาหารนี่เป็นเรื่องใหญ่ วิธีรับประทานอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ ค น ไ ท ย ป่ ว ย ทั้ ง ป ร ะ เ ท ศ ก็ เ พ ร า ะ เ รื่ อ ง กิ น ไ ม่ เ ป็ น นี่ แ ห ล ะ แต่..การนำเสนอเชิงนโยบายเช่นนี้คงไม่มีเวลาสาธยายอะไรได้มากนัก จะลงขั้นกระบวนการก็ยากอีก ต้องมานั่งใคร่ครวญว่าจะออกแบบการนำเสนออย่างไร?

การกินเป็นนำไปสู่การคิดเป็น

ในงานพัฒนาสังคมปกติ เราก็เห็นการใช้ทางลัดจำนวนมากเพื่อหวังผลที่รวดเร็ว โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบาย นโยบายใดๆก็ตาม มักจะเกิดจากตัวอย่างระดับชุมชนเล็กๆ มาก่อน เมื่อหลายคนเห็นดีเห็นงามก็ผลักดันให้เป็นนโยบาย นโยบาย เป็นทางลัดที่จะเพิ่มพื้นที่การทำงานอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ถูกหยิบยกไปเป็นนโยบายส่วนหญ่ มักหยิบไปไม่หมด มักจะหยิบไปแค่ผลผลิต ไม่สนใจกระบวนการ สนใจผลสำเร็จ ไม่สนใจวิธีทำ โดยหาสำนึกไม่ว่า วิธีทำนั่นเองที่จะกำหนดว่าผลผลิตจะออกมาดีหรือเลว

ที่เห็นจะๆ คือหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นทันที เพราะโดยปกติทุกประเทศไม่มีเงินพอที่จะแจกประชาชนอยู่แล้ว ก็ต้องกู้หนี้ ใช้เงินในอนาคตมาใช้จ่ายวันนี้ ประเทศในยุโรปที่ล่มสลายหนี้สินล้นพ้นตัวหลายประเทศอยู่ในเวลานี้ ก็มาจากการจ่ายเกินตัว คือแจกเงิน แจกโครงการ เรียกคะแนนเสียงนี่แหละ ความเสียหายก้อนใหญ่ที่จะฝังรากลึกในวัฒนธรรมการเมืองก็คือ การพึ่งพาภายนอกของชาวบ้านที่ไม่มีที่สิ้นสุด

งานนี้จะแจกความรู้ แจกความรัก แจกความปรารถนาดี ถ้าต้องการเห็นบุรีรัมย์บรรเจิด เราก็ไม่ควรจะทำแบบไฟไหม้ฟาง เพราะหลังจากวูบวาบแล้วมันก็จะเหลือแต่ขี้เถ้า ถูกลมกระโชกก็ไม่รู้ปลิวหายไปไหนหมด แทนที่จะสมวัตถุอย่างเดียว ก็ชวนกันมาสะสมประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แค่เปลี่ยนวิธีกินของคนบุรีรัมย์ให้เห็นเป็นตัวอย่าง สุขภาพคนไทยก็จะแข็งแรงขึ้นทั้งประเทศแล้วละครับ

การฉุกคิดจากจุดเล็กๆ เหมือนการเติบโตของต้นไม้ คนบุรีรัมย์ร่วมด้วยช่วยกันเติมความคิดความรู้ เพิ่มแรงบวกแรงใจให้แก่กัน ใช้ความเป็นคนบุรีรัมย์บ้านเฮามาเป็นแรงบวก เอาความรักบ้านเกิดมาเป็นตัวคูณ ปั้นบุรีรัมย์ให้พริ้งบรรเจิด ภายในครรลองที่พอเหมาะพอควรกับศักยภาพแห่งตน

“พระเจ้าอยู่หัว ทรงตอกย้ำเสมอว่า ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่ได้เปลี่ยนทรัพยากรมาเป็นเงินเป็นทอง แต่เปลี่ยนมาเป็นอาหาร เป็นของใช้ เป็นที่อยู่อาศัยให้พอดีพอเหมาะกับฐานะของคน ประเทศเราจึงอยู่มาได้โดยไม่เสื่อมทรุดเลย แต่ยุคหลังเราเปลี่ยนมันเป็นเงิน เราเปลี่ยนแผ่นดิน เปลี่ยนตันไม้ เปลี่ยนกุ้งหอยปูปลาเป็นสินค้า แล้วแผ่นดินก็ถูกทำลายลงในช่วงอายุคนรุ้นเดียวเท่านั้น”

เรามีภูเขา มีทุ่งนา มีป่า มีชายฝั่งทะเลที่มีทรัพยากรมั่งคั่ง แค่คนยุคเราเขลาเกินไปที่จะเก็บรักษาไว้ เราพยายามพัฒนาประเทศไปสู่ความร่ำรวย มีอุตสาหกรรมมากขึ้น มีรีสอร์ตมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่เราลืมมองไปว่า แหล่งผลิตอาหารกำลังเสื่อมโทรมและใกล้จะหมดไป แล้วเราจะหาอาหารคุณภาพดีๆได้จากที่ไหน ต่อให้ร่ำรวยเพียงใด ไม่มีอาหาร ไม่มีความมั่นคง แล้วสงครามแย่งชิงก็จะเกิดขึ้น จนกลายเป็นสงครามโลกในยุคอันใกล้นี้

ถ้าเรายังไม่เริ่มทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ

ต่อไปคนในกลุ่มเกษตรกรเรานี่แหละ

จะเป็นคนกลุ่มแรกที่สะสมสารเคมีไว้ในร่างกายมากที่สุด

แล้วปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับการรักษา

ที่วันนี้ผู้ป่วยล้นมืออยู่แล้ว

ก็จะยิ่งมีมากขึ้น

เรากำลังเดินไปสู่อนาคตที่อปราะบางกันรึเปล่า

วันที่5 ควรจะเป็นวันที่คนเมืองแป๊ะ มาแปะโป้งร่วมกัน

เลิกเล่นเป่าหยิงฉุบกันเถิดนะ

เพื่อที่พวกเราจะได้ส่งมอบบุรีรัมย์ที่ไฉไลให้กับลูกหลานเราต่อไป

คนเรามีหนี้ด้วยกันทั้งนั้น บางคนก็ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ผ่อนจิปาถะ แต่หนี้ก้อนหนึ่งที่เราควรจะรับผิดชอบร่วมกัน คือหนี้บุญคุณแผ่นดิน หนี้บ้านเกิดเมืองนอน ผมหนี้เรื่องนี้เยอะเลย ทบต้นทบดอกสะสมมานาน ยังไม่ได้ใช้คืนทุนรักบ้านเกิด งานนี้ละครับ จะได้เริ่มทยอยคืนนี้เสียที ผมออกแบบอย่างนี้ครับ นอกจากจะนำงานวิจัยไทบ้านไปเสนอแล้ว ผมจะไปขายความคิด ผ่านหนังสือ บุรีรัมย์โมเดล เจ้าเป็นไผ เพื่อคนบ้านเอ็ง กะจะลดแลกแจกแถม

ท่านใดซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง สามารถเลือกของแจกได้ 1 อย่าง เช่น หน่อกล้วย –เมล็ดหญ้าม้า-ลูกมะสัง-เมล็ดถั่วพูสีม่วง-เมล็ดน้ำเต้าสายพันธุ์ต่างๆ-เมล็ดอัญชันพันธุ์ดอกซ้อน-เมล็ดชมจันทร์-พันธุ์เผือกยักษ์ –ฯลฯ อยากจะขนไปแจกสักรถสิบล้อ แต่ก็เกรงใจเรื่องสถานที่ คิดว่าอย่างน้อยก็มีแจก1,000 ชิ้น ละครับ เสียดายที่เมล็ดไม้ช่วงนี้ยังไม่แก่ ที่สวนป่ามีของดีนะครับ เราตั้งเป็นธนาคารแม่ไม้ ปีนี้มี-เมล็ดสะเดา-เมล็ดอาคาเซีย-เมล็ดยูคาลิปตัส-ไม้แดง-ไม้ยางนา –พันธุ์ดีที่สุดในโลก เสียดายที่ช่วงนี้เมล็ดยังไม่แก่ ไม่งั้นจะขนไปแจกๆๆ และแจก จะได้ช่วยๆกันปลูก ตามนโยบาย..

“จังหวัดบุรีรัมย์เป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพชั้นยอด มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติชั้นเยี่ยม”

วันที่ 5 สวนป่าพร้อม ขาดแต่คนสวยมาช่วยโปรยยิ้มแถมการขายหนังสือ

ถ้าของแจกหมด

ก็ จ ะ แ จ ก ล า ย เ ซ็ น แ จ ก ก อ ด ดีไหมละครับ อิ อิ



Main: 0.054870128631592 sec
Sidebar: 0.065988063812256 sec