คำขอของแผ่นติน

ไม่มีความคิดเห็น โดย sutthinun เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 เวลา 7:26 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 4643

ตอนที่ 2

จากบทสรุปของพวกเรา หลายท่านเห็นตรงกันว่านักศึกษาควรจะได้ฝึกปฏิบัติมากกว่านี้ ช่วงที่มาอยู่ที่น่าน3ปี ทางศูนย์ฯควรจะหาที่ดินให้ฝึกปฏิบัติคนละ 2-5ไร่ เพื่อเอาวิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาฝังลงหลุมแล้วให้ผลิผลิตผลทางวิชาการออกมาเห็นเป็นรูปธรรม นั่นก็หมายความว่านิสิตแต่ละคนจะได้เรียนเชิงประจักษ์ ได้เพาะปลูกได้เลี้ยงสัตว์ได้ปลูกต้นไม้ด้วยมือตนเองจนครบวงจร เพื่อให้ตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นสำคัญต่อมวลมนุษย์อย่างไร?

คณะชาวเฮอยากเห็น..แปลงเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน ยามใดที่มีการจัดงาน เจ้าของผลิตผลจะได้นำมาผลิตมาทำเลี้ยงดูแขกเหรื่อ ในยามปกติก็จะนิสิตก็จะได้บริโภคอาหารของตนเอง เป็นการซึมซับจิตวิญญาณของธรรมชาติ เรียนรู้การใช้วิถีชีวิตเกษตรกรพันธุ์ใหม่อย่างเข้มข้น จะได้มีความเพิ่มทักษะการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไปผ่องถ่ายให้กับครอบครัวยามที่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด

บั ณ ฑิ ต ส า ย พั น ธุ์ ข้ า ว ก ล่ อ ง มั น จั ก ก ะ จี้ น ะ ข อ รั บ .

บัณฑิตย้อมผมสีแดงแช๊ด ก็จักกะจี้ ครับผ๊ม!

คุณหมอจอมป่วนให้ความเห็นว่า..คนไหนที่ชอบการจัดการ การแปรรูปต่างๆ ก็เข้าไปร่วมมือกับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ไปเอาโจทย์มาจากชนบท เข้ามาวิเคราะห์และใคร่ครวญว่าจะใช้วิชาความรู้แปลงและแปรรูปวัตถุดิบในชุมชนให้มีมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้นอย่างไรได้บ้าง อย่าไปมองแต่โครงการใหญ่ๆ เรื่องแบกะดินนี่แหละเหมาะที่จะปูพื้นฐานให้นักก่อการการเกษตรมือใหม่ยิ่งนัก ควรมองเรื่องใกล้ตัวให้ทะลุ แล้วจะรู้ว่ามีเรื่องที่น่าเข้าไปตะลุมบอลมากนัก ที่สำคัญนิสิตจะได้รู้เห็นข้อมูลภาคการผลิตระดับในชุมชนอย่างถ่องแท้

จะไปพัฒนาชุมชนก็ต้องคลุกอยู่กับชุมชนสิครับ

เข้าไปปิดประตูตีแมวเลย

การปลูกฝังวิชาการเกษตรที่ทรงพลัง..ควรจะผ่านการลองผิดลองถูก

ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหา เอาปัญหามาตีแตก

ประยุกต์วิชาความรู้เข้ากับเทคโนโลยีและอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นตนเอง

ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมอบคืนลูกหลานสายพันธุ์เกษตรแนวใหม่คืนให้แก่แผ่นดิน เพื่อเป็นของขวัญที่ชาวจุฬาจะตอบแทนประเทศชาติ ประชาชนคนไทยต้องการได้เห็นของขวัญดังกล่าวนี้ ซึ่งมันควรจะแตกต่างทั้งตัวทรัพยากรบุคคล ความรู้ความคิดความสามารถผสานความเข้าใจให้เป็นความเข้าใจ การไปอยู่อาศัยในชนบทนั้นมันไม่ยากจนดิ้นล้มดิ้นตายอะไรหรอก ผืนแผ่นดินไทย/สังคมชนบทไทยไม่ได้เสียหายจนใครไปอยู่ไม่ได้ ชนบททุกวันนี้มีอินเตอร์เน็ท-ไฟฟ้า-ประปา-ถนนคอนกรีต-โทรศัพท์-โทรทัศน์-วิทยุ-แม้กระทั้งร้านเซเว่นก็มีให้เธอเปิดแข่งขัน ทุกอย่างขึ้นกับการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้ตระหนักถึงความงดงามและความดีงามของชนบท

มันดีเท่าไหร่แล้วที่ได้กลับมาอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่

ได้โผกลับมาทำงานในถิ่นเกิดที่เคยวิ่งเล่นสมัยเป็นเด็กๆ

เ ลิ ก เ ป็ น บั ณ ฑิ ต เ น ร คุ ณ กั น เ ถิ ด

รักบ้านเกิด กลับถิ่นเกิด ทำหน้าที่ลูกหลานไทยที่เปี่ยมสำนึกดี

นอกจากกัดไม่ปล่อยแล้ว เธอควรกอดไม่ปล่อยอีกด้วย

ถามตัวเองให้ชัด เจ้าเป็นไผ

ทำไมถึงรู้สึกนึกคิด จึงเห็นดีเห็นงามกับการทิ้งถิ่น

คนเรานะเธอ..ถ้าดีจริง..ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้หรอก

เธอกลัวทำไม? ถ้าภูมิรู้ภูมิธรรมของเธอเป็นของจริง อยู่กับความจริง ผิดก็ได้เรียน ถูกก็ได้เรียน ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ เรียนรู้วิธีทำงานบนฐานความไม่พร้อม เกษตรกรก็เหมือนผัก มีหลายสายพันธุ์ แล้วแต่จะเลือกเฟ้นมุ่งไปทางด้านไหนอย่างไร? การเรียนรู้ไม่มีวันจบ ถ้าเธอเป็นผู้เรียน ชีวิตเธอจะสนุกและบรรเจิดมากกับที่ได้ออกมาใช้ชีวิตในท้องฟ้ากว้าง

พ่อแม่พี่ป้าน้าอาต่างก็เป็นต้นทุนที่ชัดเจนอยู่แล้ว เธอก็เรียนวิชาความรู้ไปแล้วนี่ ถ้ากลับไปอยู่บ้านสร้างอาชีพการงานให้ดีขึ้นไม่ได้ก็นับว่าประหลาดแล้วละ คนรุ่นเก่าเขาไม้ได้ฝึกหัดฝึกฝนอะไรอย่างเป็นระบบเหมือนเธอ เขายังทำไร่ทำนาส่งเธอมาเรียนได้..ทุกอย่างที่มีอยู่แล้วเป็นทุนทรัพย์มหาศาล รอให้เธอได้เข้าไปพัฒนาการ ใช้วิชาความรู้ได้อย่างสนุก มด ปลวก แมลง นก ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ไหน มันยังสร้างที่อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้อย่างธรรมชาติได้ ทางคณาจารย์ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว นับเป็นโอกาสทองของชีวิตที่หาไม่ได้อีกแล้ว

อย่าไปสนใจแสงสีในบางกอกนักเลย

กรุงเทพฯนับวันจะเน่าและเละเทะ

ไปไหนเห็นแต่รถติด นั่งอุดอู้อยู่ภายใต้การบังคับของไฟเขียวไฟแดง

ใช้ชีวิตเหมือนเต่า..ไปไหนมาไหนคลานไปทีละกระดึบๆๆ

คนกรุงถูกมัดตราสังด้วยความเจริญจอมปลอมและแถกเถื่อน

กลับบ้านเรา..รักรออยู่

เธอเข้าใจไหม? ความหวังใหม่ของชาติมันยิ่งใหญ่อลังการประมาณไหน เทียบไม่ได้หรอกกับการที่เธอเรียนเพื่อไปเป็นลูกกระจ๊อกในโรงงานต่างๆ ถ้าจะมาเรียนเพื่อไปเป็นบัณฑิตโหลๆเหมือนคนอื่น นับว่าน่าเสียดายโอกาสทองชีวิตนัก เธอจะไปเพิ่มอัตราโหลๆทำไมเล่า ลุกขึ้นอย่างทระนง ประกาศความเป็นลูกจุฬาฯสายพันธุ์หัวเสริมใยเหล็ก

ที่ผ่านมา ทุกสถาบันมุ่งผลิตบัณฑิตทิ้งถิ่น ถ้าจุฬาฯสามารถผลิตบัณฑิตคืนถิ่นได้ย่อมเป็นคุณแก่แผ่นดินนี้อเนกอนันต์ ประเด็นที่เราได้รับคำถามจากบัณฑิตที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งก็คือ ความตระหนก..ไม่มั่นใจที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ยังไม่ทราบว่าจะเอาอะไรไปต้นต้นที่บ้านเกิด เ รื่ อ ง นี้ ถื อ เ ป็ น สิ่ ง ป ก ติ ตราบใดที่เรายังไม่ได้ให้นักศึกษาฝึกงานอย่างเข้มข้น สถาบันยังไม่มีพื้นที่แบ่งให้นิสิตรับผิดชอบทำการเกษตรประณีต จัดให้มีที่พำนักอยู่อาศัยในแปลงเกษตรของตนเอง ทำการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์ในระดับบ่มเพาะวิชาการ+วิชาชีพ ผ่านงานการปฏิบัติ

สิ่งใดก็ตามถ้าผ่านมือย่อมผ่านใจเข้าไปเพาะความตระหนัก

การที่วิพุทธิยาจารย์มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังถือเป็นแรงบันดานใจที่ดี

แต่ถ้าไม่มีกิจกรรมมารองรับทุกอย่างจะกลายเป็นไฟไหมฟางได้

การเรียนวิถีเกษตรนั้นต้องลงทุนด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ควรเรียนรู้เรื่องกิจกรรมก่อนที่จะผันผ่านไปเป็นกิจการ ไม่อย่างนั้นเราจะได้แต่บัณฑิตที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่มีพลังกายพลังใจพอที่จะยืนหยัดพิสูจน์ความสามารถของตนเองได้ สุดท้ายก็ผลิตบัณฑิตที่ไม่สามารถ

ปลดครุยลงลุยโคลนได้

ถ้าเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ผมอาจจะไม่มั่นอกมั่นใจอะไร แต่สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีท่านอาจารย์อรรณพและคณะที่หัวใจเต็มร้อย ยึดคติ “กัดไม่ปล่อย” หัวใจเสริมใยเหล็กกันทั้งนั้น ด้วยบารมี เกียรติภูมิ และความพร้อมของจุฬาฯ ลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเอง เครดิตและแนวร่วมก็มีมหาศาล .จุฬาฯทำได้อยู่แล้วละครับ

การส่งมอบของขวัญให้แก่ประเทศชาติในวาระทองของจุฬาฯ

ของขวัญที่ประเทศนี้รอคอยมานานนับ100ปี ใน พ..2560

ยังมีเวลาลุ้นกันอย่างเต็มที่

คงไม่มีเหตุผลที่จุฬาฯจะมาสร้างหลักสูตรผลิตบัณฑิตขึ้นมาเพื่อลอยเพสังคม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตทางการเกษตรที่ใจร้ายใจดำไม่แยแสที่จะเอาความรู้ไปอุ้มชูสังคมและทดทนบุญคุณพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เฝ้าเลี้ยงดูบุตรหลานตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ทนทุกข์ทนสู้ความเหนื่อยยากเพื่อจะให้ลูกกลับมาอยู่ด้วยในยามเฒ่าชรา มารับไม้ต่อ เอาวิชาความรู้มาปรับปรุงบ้านเกิดให้เจริญก้าวหน้าพอที่จะอยู่กับยุคสมัยเขาได้ ช่วยให้ครอบครัวและชาติตระกูลได้ทำหน้าที่ผดุงโลกใบนี้ไว้ด้วยระบบการเกษตรที่ไม่ปีนเกลียวกับธรรมชาติ

บัณฑิตทางการเกษตรทิ้งถิ่นนับแสนคนมาแล้ว สงสัยว่าไปเรียนวิชาหัวใจพลาสติกมารึไร ทำไมจึงมีอคติต่อชาติภูมิของตนเอง นอกจากไม่ดูดำดูดีแล้ว บางคนยังร่วมมือคนอื่นเอาเปรียบภาคการเกษตรของบรรพบุรุษอีกแน๊ะ ถ้าเป็นภาษา”ลูกลูกทุ่ง” เขาเรียกว่า “พวกเลี้ยงเปลืองข้าวสุก”

ผันตัวเองไปเป็นพวกวัวลืมตีน

ผันตัวเองไปเป็นคนใจไม้ไส้ระกำกับบ้านเกิด

ผันตัวเองไปเป็นหมาหลงอยู่บนทางด่วน

ปัญหา สถาบันการศึกษาสอนวิชาทิ้งถิ่นอย่างบ้าเลือด ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยๆแล้วนะครับ ชนบทล่มสลาย วิถีชุมชนพ่ายแพ้กระแสเถื่อน ก็เพราะคนรุ่นหลังไม่ได้ทำหน้าที่สืบทอดอนาคตของชนบทนั่นเอง เรื่องนี้จะโทษเด็กอย่างเดียวไม่ได้หรอก ในเมื่อสถาบันการศึกษามุ่งเน้นเอาลูกหลานเขาไปครอบวิชา”รับใช้คนอื่น” นโยบายทุกรัฐบาลก็เป็นส่วนสำคัญ ที่มีวิสัยทัศน์สุดโต้งไปทางภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เราแทบไม่มีต้นทุนทางด้านเทคโนโลยีและวิชาการเท่าที่ควร ต้องนำเข้าทุน นำเข้าความรู้ นำเข้าเทคโนโลยี นำเข้ามลภาวะมลพิษที่อันตราย สร้างความวิบัติและความหายนะอย่างน่าสะพรึงกลัว พวกขาใหญ่และเสียงดังเหล่านี้ นำพาชาติไปสู่หลุมดำ ทำให้สังคมของประเทศทุพลภาพ ทรัพยากรเสียหายยับเยินเพราะเอามาอุดหนุนให้เกิดอุตสาหกรรมที่ซ่อนเร้นความแถกเถื่อน

ภาคอุสาหกรรมดูก้าวหน้านำพาความเจริญมาให้

แ ต่ ทำ ไ ม สภาพของสังคมนับวันจะแตกแยกเสื่อมโทรมละครับ

ผู้คนในภาคเกษตรอ่อนแออ่อนไหวไม่สามารถพึ่งตนเองได้

ต้องอาศัยแบมือขอความช่วยเหลือภายนอกเหมือนเปรตขอส่วนบุญ

ภาคการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งควรจะเป็นวินัยและเข็มทิศชี้ทางที่ถูกต้องให้กับอนาคตของชาติ ก็ไม่ทราบว่าชี้โบ้ชี้เบ้ไปทางไหน? ทำไมผู้คนในชาติถึงไร้สำนึกและขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเกิดเมืองนอนขนาดนี้ เราพัฒนาชาติกันอย่างไรละครับ กิเลศและอำนาจเถื่อนมันจึงเฟื่องฟูจนยากจะกำกับดูแลได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเสาหลักของแผ่นดินนี้ ผลิตคนดีมีความสามารถมารับใช้ประเทศชาติบ้านเมืองหลากหลายสาขาอาชีพนับล้านคน ประชาคมของจุฬาฯ พลังของจุฬาฯไปซุกอยู่แห่งหนไหนหนอ ทำไมคนไทยในชนบทจึงยักแย่ยักยันอยู่อย่างนี้ หรือว่าคณะวิชาที่สอนๆอยู่นั้นขาดตกบกพร่องในบางประการ!

· เราลืมเปิดสอนภาควิชา รักชาติบ้านเมือง

· เราลืมเปิดสอนภาควิชา รับผิดชอบต่อบ้านเมือง

· เราลืมเปิดสอนภาควิชา กอบกู้วิกฤตบ้านเมือง

ช่วงท้ายของการตอบ-ถามปัญหา นักศึกษาได้ลุกจากเก้าอี้ ออกไปยืนล้อมวงกลม ให้คณะวิพุทธิยาจารย์เข้าไปอยู่เป็นไขแดง หลังจากนั้นเสียงแจ้วเจื้อยก็ดังขึ้น เนื้อร้องรำพันพึงถึงเจตนารมณ์ของบัณฑิตรุ่นแรก ที่ช่วยกันแต่งเพลงนี้ขึ้นมา. ฟังดูสิครับ

. เพลง’.กล้าดินผลิใบ

..จากบ้านนาแสนไกลสู่รั้วจามจุรีที่ยิ่งใหญ่

มาตั้งใจเรียนรู้วิธีจัดการ บริหารวิชาเกษตร

ด้วยอดทนและตั้งใจ เพื่อกลับไป ไปพัฒนาบ้านเรา

หลายคนบอกไม่ก้าวหน้า ไม่มีความมั่นคง

แต่เราทุกคนตั้งใจ ใช้ความรู้ฟื้นฟูแผ่นดิน

ให้กล้าดินของเราผลิใบ เกษตรไทยสักวันต้องนำชัยมา

สังคมเกษตรกรรมต้องการคนรู้คนเก่ง มาเป็นผู้นำและแก้ไข

ใช้ความรู้ ใช้ความมุ่งมั่น ใช้กำลังและความอดทน

เป็นสังคมเกษตรที่พัฒนา เมื่อกล้าดินของเราผลิใบ

ไม่นานก็จะออกผล เป็นสังคมเกษตรที่พัฒนา

ให้ชาติไทยก้าวไกล ก้าวไปก้าวหน้า

จะตั้งใจ เกษตรไทยต้องพัฒนา

ทำเพลงนี้ให้เป็นจริง ก็โย้นๆแล้วละครับ

จ ะ มี ข อ ง ข วั ญ อ ะ ไ ร ใ น โ ล ก หล้า

ที่ดีกว่าบัณฑิตจุฬาฯส า ย พั น ธุ์ใ ห ม่


คำขอของแผ่นดิน *****

อ่าน: 2200
ตอนที่ 1

คำร้องขอของแผ่นดิน*****

ขอส่งการบ้านของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่ได้ขึ้นไปพบปะลูกหลานชาวจุฬาฯ-น่าน สดๆร้อนๆ ปล่อยนานไปก็เกรงความจำจะเหี่ยวเฉา จึงปิดประตูเขียนรายงานที่บางกอก1วัน เรื่องราวอาจจะยาวไปบ้าง แต่ถ้าท่านใดกรุณาทนอ่านจนจบ จะวาสนาดีและเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ..และถ้าคอมเมนท์ก็เป็นอุปการคุณที่หอมหวานยิ่งนัก

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะตัวเอง

ขบวนที่ไปน่านคราวนี้ คับคั่งไปด้วยจอมยุทธของชาวเฮฮาศาสตร์ทุกภาคส่วน ซึ่ ง ต ร ง กั บ เ จ ต น า ร ม ณ์ ข อ ง ห ลั ก สู ต ร นี้ ที่ต้องการเชิญวิพุทธิยาจารย์อาสามาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ อาจารย์ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการเกษียณอายุ นักธุรกิจ พ่อค้า นักกฎหมาย ผู้นำท้องถิ่น นักปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ

วิพุทธิยาจารย์อาสา จะอาสาเข้ามาโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินทอง แต่จะได้ความสุขทางใจที่ได้อบรมแนะนำลูกหลาน ผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ ให้เข้าใจชีวิตการทำงาน และไม่ท้อถอยกับปัญหาอุปสรรคเมื่อทำงานในท้องถิ่นชนบท โดยที่ปูชะนียาจารย์อาสาจะเข้ามาอยู่กับนิสิต 3-5วันต่อเทอม สลับกันมา ทำให้มีความหลากหลายในข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาพบปะนิสิตจะเป็นเวลารับประทานอาหารร่วมกัน นิสิตอาจจะซักถาม ขอคำปรึกษา คำแนะนำจากปูชนียาจารย์และก่อนที่ท่านจะกลับหรือสิ้นสุดการการเยี่ยมยาม

จะมีการพบปะเพื่อสนทนากันทั้งชั้นปี ในสภาพนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนตึก ในโรงยิม ใต้ต้นไม้ หรือรอบกองไฟ เพื่อเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ ความล้มเหลว และสอดแทรกทัศนคติของจิตอาสา จิตสาธารณะ บริการชุมชน เข้าไปด้วย

การจัดกระบวนทัพของชาวเฮครั้งนี้ เริ่มจากน้าอึ่งอ๊อบได้ส่งหนังสือ “เจ้าเป็นไผ”กับ“โมเดลบุรีรัมย์” ไปให้นิสิตจุฬาฯ-น่าน-อ่านล่วงหน้าอย่างละ100 เล่ม และได้แนะนำให้นิสิตได้ลองเข้าไปทำความรู้จักกับคณะวิพุทธิยาจารย์ในเฟสบุกส์ ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้ก่อสัมพันธ์รู้จักกันก่อนเห็นหน้า เป็นการชี้แนะนิสิตให้เรียนรู้การสร้างเครือข่ายเชิงปฏิบัติการทั้งทางตรงและทางอ้อม เรียนการถ่ายเทความรู้ การกระแซะความรู้ เรียนวิชาให้ความรักก่อนให้ความรู้ รวมทั้งเรื่องการใช้ไอทีคลี่ขยายความรู้แบบง่ายๆตามสไตล์Handy man

ตามแผนงานฯ นิสิตจะถูกกำหนดให้เรียนรู้ทางไกลแบบมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive distance learning) เพื่อให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีสื่อสารหรือสืบค้นข้อมูล เพื่อจะได้เป็นแนวทางและคุ้นเคย เมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตไปปฏิบัติงานในท้องถิ่นห่างไกล ก็ยังสามารถสืบค้นข้อมูลทางWebsite หรือแม้กับการติดต่อกับคณาจารย์ของหลักสูตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พร้อมที่จะเป็นศูนย์บ่มเพาะ (incubator center) หรือศูนย์ศึกษาต่อเนื่อง (continuing education) ให้กับบัณฑิตไปตลอด ไม่ว่าบัณฑิตของหลักสูตรจะอยู่แห่งหนตำบลใด ก็ยังมีที่ปรึกษา มีที่พึ่งพาทางข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตลอดเวลา

การคิดเชิงบวกเช่นนี้ เท่ากับจุฬาฯทอดสะพานไฮเวย์2สาย เพื่อเปิดประตูวิชาการ-รับ-ส่ง-ข้อมูลข่าวสาร-ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาที่จำเป็นต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของลูกศิษย์-ยืนหยัดเคียงข้าง เป็นพี่เลี้ยงหน่อเนื้อเชื้อไขของตนตลอดไป นับเป็นการก้าวรุกเชิงกระบวนการ โดยสร้างสะพานความรู้สู่ภูมิภาคอย่างมั่นคง แทนการไปเปิดศูนย์สาขาต่างๆเพื่อผลิตกระดาษเปื้อนหมึกแจกปริญญาโท-เอกโหลๆ ให้บัณฑิตปัญญานิ่มออกมาเพ่นพ่านสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมือง ที่เปิดการสอนแบบยื่นหมูยื่นแมว “จ่ายครบจบแน่”

ตรงนี้ละครับที่บ่งบอกความเป็นแก่นแท้ของจุฬาฯ

ที่ไม่ยอมด่างพร้อย

ลดตัวลงไปขายเกียรติภูมิของสถาบันหากินกันอย่างกระสือ

เมื่อโจทย์กำหนดออกมาอย่างนี้ แทนที่จะไปคนเดียวโด่เด่ ผมก็ต้องยกไปทั้งเซทละครับ จึงตีฆ้องร้องป่าวไปว่า .มีเรื่องจิตอาสาพัฒนาการศึกษาไทยของจุฬาฯ ที่จังหวัดน่าน ญาติที่น่ารักท่านใดว่างให้ชูมือขึ้นสูงๆ ..เรามีเวลาเตรียมการไม่นานนัก แต่คณะเราสันทัดกรณีเรื่องอิงระบบอย่างนี้อยู่แล้ว ต่างคนต่างติดต่อนัดหมายการเดินทาง จะรับจะร่วมเดินทางเวลาไหนอย่างไรก็แล้วแต่เห็นควร ก่อนเดินทางไม่กี่วันก็ได้รายชื่อพระอาจารย์อาสาทั้งหลาย ผมแปะบทบาทให้ลองไปใคร่ครวญกันล่วงหน้า ท่านไหนจะต้องทำอะไรบ้าง?

ทุกอย่างก็เดินหน้าได้ดั่งพลิกฝ่ามือ

คณะที่ไปเฮน่านครั้งนี้ มีท่านอัยการชาวเกาะ/ครอบครัว บินมาจากภูเก็ต-เชียงใหม่ คุณหมอจอมป่วน/ครอบครัว/พ่วงตาหวานกับครูสุมาด้วย ขับรถมาจากพิษณุโลก พี่หมอเจ๊บินตรงจากกระบี่เข้าเชียงใหม่ ครูอึ่งครูอารามเอารถตู้จากลำพูนรับคณะที่บินลงเชียงใหม่ แถมยังไปหิ้วตัวครูแมว อาจารย์ป้อมและหนูฝนมาด้วย พระอาจารย์Handy ร้อนวิชาบินมาจากสุราษฎร์ธานีก่อนเพื่อน1วัน ส่วนผมบินจากบุรีรัมย์ต่อไฟล์บ่ายเข้าน่านพร้อมกับอาว์เปลี่ยน

นี่คือวิธีทำงานแบบอิงระบบสไตล์เฮฮาศาสตร์

เมื่อกดปุ่มแล้วทุกอย่างก็จะวิ่งเข้าสู่เป้าหมายโดยอัตโนมัติ

ไม่ต้องเขียนจดหมายเชิญสักแอ๊ะ

จะ จี บ ค น น่ า รั ก ต้องใช้หัวใจจีบครับผ๊ม!

นับไปนับมาแทบจะเป็นรายการเฮเมืองน่านไปเสียแล้ว เราเพิ่งทราบจากเจ้าถิ่นว่า สมเด็จพระเทพฯเพิ่งเสด็จมาเยี่ยมโครงการนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พอเรามาคณาจารย์ก็ยกทีมบินมาหมดสำนักงานฯอีกครั้ง ..สพ.ดร.อรรนพ คุณาวงษ์กฤต ในฐานะผู้อำนวยการฯ บอกว่า.. ทีมครูบายกพหลโยธามาอึกทึกขนาดนี้ ฝ่ายจุฬาฯก็ต้องยกทีมมาร่วมเฮฮากันหน่อย

เป็นการพบปะกันแบบยกทีมครับผม!

ท่านอาจารย์อรรณพ กรุณาพวกเราอย่างมาก

ท่านแนะนำโครงการผลิตบัณฑิตหัวใจพระเกี้ยวให้ชาวคณะเราฟังอย่างครับครัน นอกจากนั้นยังมอบเหรียญที่ระลึกในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60ปีพุทธศักราช 2549 จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นที่ระลึกแก่ชาวเฮทุกคนแล้ว ท่านยังดูแลเรายังกะไข่ในหิน แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว พาชมตลาด ใส่บาตรยามเช้าตรู่ พาไปชิมขนมบัวลอยป้านิ่มที่โด่งดังทะลุโลก

ผมกับอาว์เปลี่ยนเข้าไปทีหลัง..ได้รับเอกสารปึกใหญ่

เป็นคำถามของนิสิตที่อัดแน่นด้วยความสงสัยร้อยแปดพันประการ

มางานนี้..กว่าจะลาจากกันได้ เธอเอ๋ย ไหว้ลากัน 20 รอบได้ละมั๊ง !

สุกรนั้นไซร้ คือหมาหน่อยธรรมดา อย่างผมจะมาให้ความคิดเห็นในเรื่องใหญ่ๆสำคัญๆด้วยการไปดูไปเห็นข้อมูลแบบวับๆแวมๆเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เราจึงระดมออกแบบจัดกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น หลังจากเขี่ยลูกไปสักพักหนึ่ง ก็ได้ข้อสรุปว่าควรจะแบ่งกลุ่มออกเป็น3กอง แล้วให้นิสิตเดินหมุนเวียนมาพบปะวิทยากร ก็จะได้รับเนื้อหาสาระครบครัน

กลุ่มที่1ว่าด้วยเรื่อง learn how to learn in digital age

กลุ่มที่2ว่าด้วยเรื่องการเกษตรกับการพัฒนาชุมชน

กลุ่มที่3ว่าด้วยเรื่องพลังชีวิต จิตอาสา

ส่วนภาคบ่ายพระอาจารย์Handy นำเสนอวิธีการเรียนกับผู้รู้ผ่านระบบไอทีแบบง่ายๆ ที่พระอาจารย์ค้นคิดขึ้นเอง จบด้วยการตอบคำถาม มอบของที่ระลึก ฟังเพลงสุดซึ้งจากลูกหลานจุฬาฯ-น่าน ร่วมรับประทานอาหาร ขึ้นรถชมบริเวณศูนย์ฯจุฬาฯ-น่าน แล้วขยับไปชิมบัวลอยป้านิ่ม ถ่ายรูปหมู เฮฮากันพอหอมปากหอมคอ แยกย้ายกันกลับที่พัก ออกไปเที่ยวถนนคนเดิน กว่าจะได้ล้มตัวนอน หัวใจก็ผะผ่าวแล้วละเธอ

รายการที่สุดของที่สุด ท่านผู้อำนวยการฯอรรณพ คุณาวงษ์กฤต ประกาศบอกนิสิตปี2ว่า ร้อนนี้เราจะบุกอีสาน แต่นักศึกษาผู้นำมาขอคุยด้วย “เร็วนี้พวกผมจะไปหาครูบาได้ไหม” จะไปเอาข้อมูลมาทำโครงการเสนอในงานวิชาการจุฬาฯ ก็คงไม่มีปัญหาใดๆ ข อ แ ต่ เ พี ย ง ส่ ง เ สี ย ง ม า นัดหมายกัน

ผมมีอาการไข้หวัดกำเริบ ไอๆๆ จะไอเลิฟยูก็ไม่เชิง

ไอกะด็อกกะแด็กทั้งคืน

ยังดีนะที่ไปไหนมีคุณหมอไปด้วย

พี่หมอเจ๊กรุณาซื้อยาพร้อมอุปกรณ์ปลายแหลมเปี๊ยบ!

มากระหน่ำแทงก้น ฉึกๆ ! 2 เข็ม

นับเป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่ไม่มีใครอิจฉา

หลังจบสิ้นภาระหน้าที่กันแล้ว เราก็มารวมศีรษะกันในห้องของผม เพื่อขอข้อคิดเห็นจากการทำหน้าที่จิตอาสาในครั้งนี้ แต่ไม่อาจจะสรุปได้ในเวลาอันสั้น จึงโยกต่อไปคุยกันในวันรุ่งขึ้น หลังอาหารเช้า ไปส่งพระอาจารย์Handyที่สนามบิน แล้วพวกเราก็ตระเวนไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านหนองบัว ไปชมทิศทัศน์เมืองน่านที่วัดพระธาตุเขาน้อย แล้วหาที่เหมาะๆปรึกษาหารือกัน ว่าเราจะมีส่วนสนับสนุนพันธะกิจของโครงการนี้ได้อย่างไรบ้าง

ในลำดับถัดไปทางจุฬาฯ-น่าน จะเชิญคณะชาวเฮมาเป็นระยะๆ



Main: 0.052960872650146 sec
Sidebar: 0.058016061782837 sec