พ่อใหญ่เสน่ห์ จามริก
วันนี้มีแขกจากบางกอกมาเยี่ยม คุยกันหลายเรื่องแต่มาจบตรงที่ลูกศิษย์ลูกหาศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก จะชวนกันระดมข้อเขียนเพื่อพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกถึงท่านอาจารย์ใหญ่ของเรา ทั้งๆที่มีการบ้านค้างคารอเวลาสะสางอยู่หลายกระบุงโกย แต่เรื่องที่รับมาตะกี้นี้สำคัญกว่า เพราะมีคุณค่าทางใจที่ไม่อาจจะประมาณได้ เราจะเอาเครื่องมืออะไรมาชั่งความเคารพรักที่มีต่อกันละครับ เรื่องทั้งหมดทั้งมวลเป็นความผูกพันทางใจ ที่ไม่ทราบว่าจะเอียงอกออกได้สะเด็ดอย่างไร มันแทรกซ้อนอยู่ในความคิดคำนึงเสมอมา ที่นึกถึงคราใดหัวใจก็ผะผ่าว..
ผมเป็นคนเรียนน้อยด้อยความรู้ แต่ยังวาสนาดีที่ได้พบกับกุูรูระดับเซียนขี่นกกระเรียนมากหลาย ครูผมแต่ละท่านเป็นเหมือนเบ้าหลอมให้ชาวบ้านตาโปๆ ได้รับการปลูกฝังทัศนคติ วิธีคิด วิธีเรียน กูรูผมนอกจากท่านจะถ่ายเทวิชาความรู้ให้อย่างถึงลูกถึงคน อย่างยากที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งไหนจะได้รับ ผมเรียนกับกูรูนอกระบบ-อิงระบบ-ได้รับหนังสือทุกเล่มที่ท่านเขียน บางเล่มต้องอ่านอย่างใคร่ครวญหลายรอบ ทั้งๆที่ท่านใช้ภาษาสะลวย มีวรรคทองจับใจให้เราต้องแอบจดไว้ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะที่ฉีกมุมให้ฉุกคิดโดนใจ
พ่อใหญ่ลงมาชนบทครั้งใด
จะลงมากินกลางดอนนอนกลางดิน
เ ปิ ด วิ ธี เ รี ย น วิ ช า ก า ร พั ฒ น า ท้ อ ง ถิ่ น ก ล า ง ท้ อ ง ทุ่ ง
โดยยกให้ชาวบ้านเป็นพระเอก
ให้โอกาส ให้กำลังใจ ให้ข้อชี้แนะ
ใจเย็นพอที่จะประมวลสิ่งที่เห็นสิ่งที่ฟังออกมาในภาษาวิชาการที่ชาวบ้านรู้เรื่อง
ใครอื่นอาจจะยกย่องเรียกท่านว่า“ราษฎรอวุโส”
แต่พวกเราชาวบ้านยกตำแหน่งให้เป็น “พ่อใหญ่”
พ่อใหญ่ของผมนุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุกลายสวย
ใส่เสื้อป่านคอกลมสีขาว
มีสร้อยทองเส้นเล็กๆห้อยคอ
เป็นพ่อใหญ่รูปหล่อที่สง่าใจดี
พ่อใหญ่ทุ่มเทลงลุยคุยกินนอนกับพวกเราชาวบ้านหลายปี
พ่อใหญ่ออกแบบวิธีสอนวิธีเรียนให้ชาวบ้านที่ยากจะหาใครคิดและทำถึงขั้นนี้
มีไหมครับ ? ท่านศาสตราจารย์จะหาญกล้ามาทำเยี่ยงนี้
พ่อใหญ่ชวนนักวิชาที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาลงมาถ่างความรู้ตามจังหวะที่ชาวบ้านเรียน ยกตัวอย่างถ้าจะเรียนเรื่องการเลี้ยงไก่ ท่านก็เชิญนักวิชาการเชี่ยวชาญระดับอาจารย์ไก่ มาอธิบายว่าวิชาการเลี้ยงไก่เขาทำอย่างไร ระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกเขาไปถึงไหน หลังจากนั้นก็จะเชิญชาวบ้านผู้ชำนาญด้านการเลี้ยงระดับเซียนไก่เรียกพี่ มาอธิบายขยายความว่าชาวบ้านมีวิธีเลี้ยงไก่อย่างไร ตรงจุดนี้สำคัญที่ทำให้ “วิชาการ” มาพบ “วิชาเกิน” เมื่อผู้ฟังพิจารณาทั้ง2ด้านแล้วก็มาแบ่งกลุ่มถกกัน ที่พูดนี่ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องไก่นะครับ ภาควิชาอะไรที่ชาวบ้านพ่อใหญ่จะเชิญมาสอนที่โรงเรียนชุมชนอีสานจนเป็นที่ล่ำลือ
เมื่อชาวบ้านได้ฟังได้รู้บริบททั้งสองฝ่าย
หยิบเอาส่วนที่ดีทั้งหมดมากำหนดเป็นแนวทางใหม่ของแต่ละครัวเรือน
ทำให้ชาวบ้านตระหนักในการทำอะไร..ควรศึกษาวิชาความรู้เสียก่อน
ไม่เฉพาะที่พ่อใหญ่ชวนนักวิชาการมาตลุยฝุ่นสอนชาวบ้านนะครับ หลายครั้งที่พ่อใหญ่ชวนชาวบ้านบุกไปแช็คแฮนด์กับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรต่างๆทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด พ่อใหญ่ยังไปขอทุนซาซากาว่าให้ผมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ฟิลิปินส์อีกต่างหาก เมื่อผมอยากรู้ว่าประเทศที่โดนวาตะภัยหนักหนาสาหัสทุกปี ชาวบ้านเขาอยู่เขาทำกินอย่างไร ทำไมถึงเอาตัวรอดจากภัยที่กระหน่ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ จะเห็นว่าพ่อใหญ่ไม่ใช้วิธีป้อนความรู้ แต่เปิดโอกาสให้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มสติกำลัง อะไรที่ชาวบ้านร้องขอ พ่อใหญ่จัดให้ไม่อั้น จ๊าบส์ไหมละครับ
แม้แต่ในกรณีระบบสารสนเทศชุมชน
พ่อใหญ่นี่แหละเป็นคนแรกที่แกะพิมพ์สารสนเทศชุมชนฉบับแรก
ได้ชักชวน นักศึกษา อาจารย์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ลงมาทำงานสร้างระบบสารสนเทศภายใต้ความตระหนักที่ว่า
ประเทศนี้มีแต่ระบบสารสนเทศของราชการ หรือของหน่วยงานต่างๆ
ถ้าจะให้ชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาด้วยสติปัญญาของเขาเอง
ช า ว บ้ า น ค ว ร จ ะ มี ร ะ บ บ ส า ร ส น เ ท ศ ฉ บั บ ชุ ม ช น อ ยู่ ใ น มื อ
ไม่อย่างนั้นจะเอาข้อมูลที่ไหนมาบริหารจัดการละครับ
สมมุติว่า..ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐให้ขุดแหล่งน้ำในไร่นา 10 แห่ง
แต่สมาชิกมีนับร้อยราย
ใครสมควรจะได้รับการช่วยเหลือลำดับชั้นจะเอาอะไรมาตัดสิน
ถ้าไม่ใช้ระบบสารสนเทศชุมชนมาเป็นตัวกำหนด
แต่ก็นั่นแหละ..งานนี้ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นเขา
ประเด็นนี้ละครับ..ที่ฉายแสงเรื่องสิทธิชุมชนที่พ่อใหญ่ผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศนี้
มาในระยะหลังผมเกี่ยวข้องกับงานการพัฒนาชนบทหลายวาระหลายกิจกรรม แต่ก็เห็นว่ายังห่างชั้นจากพื้นฐานที่อาจารย์วางไว้มากนัก ถ้ามองดูอย่างทั่วถ้วน ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับการพัฒนาวิชาชีพแบบพอกะเทิน กระบวนการแบบไหนที่ทำให้ชาวบ้านเป็นผู้เรียน ผู้อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองอย่างบากบั่น และจับกลุ่มกันเรียนให้รู้จักตนเอง เราสิ่งเห็นแต่สิ่งตรงกันข้าม ทำไปทำมาชาวบ้านมองไม่เห็นเงาตัวเอง อ่อนแออ่อนไหว แทนที่จะสร้างสิทธิหน้าที่ชุมชนให้ทรงพลังมีอานุภาพ กลับไปแบมือขอทานสิทธิ์จากผู้มีอำนาจเหมือนเปรตขอส่วนบุญ กลายเป็น “ลูกอีช่างขอ” ขอกองทุนหมู่บ้าน ขอสิทธิในการรักษาเป็นตายก็30บาท ขอให้เขาประกันราคาสินค้า ของงบไทยเข้มแข็งมาทำให้อ่อนแอ ทั้งๆที่ตัวเองมีสิทธิ์อันชอบธรรมอยู่แล้ว ที่จะแสดงให้ภาครัฐทำหน้าให้ชุมชนในทางที่ถูกที่ควร เมื่อสิทธิหน้าที่ทุกหมู่เหล่ามัวเมากับเรื่องเสมือนจริง ประชาชนคนรากหญ้าตกเป็นเครื่องมือให้นำไปกล่าวอ้างหาความชอบทำ
ผมได้แต่หวังว่า
ใครลอยเพประชาชน ประชาชนก็จะลอยแพ เอาคืนสักวัน
ใครที่หลอกประชาชน ประชาชนก็จะทิ้งให้เป็นหม้าย
ใครไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา สักวันจะโดนผีหลอก
โจทย์ชีวิต โจทย์สังคม โจทย์ประเทศเปลี่ยนไป
จะมาเต้นแร้งเต้นกาไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก
อกหักขึ้นมา น้ำใบบัวบกก็ช่วยไม่ได้หรอกนะเธอ
นอกจากจะไปเอายาผีบอกที่ชื่อ สิ ท ธิ ม นุ ษ ย ช น ม า ต้ ม ช ด น้ำประจำ
ในที่สุดแล้วประเทศนี้จะยิบยกเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเรียนมาใช้อย่างจริงจัง
ไม่อย่างนั้นเราจะตอบได้อย่างไรว่า..จะเอาอะไรมาฟื้นฟูวิถีไทที่นับวันแย้ๆโหวกเหวก
สถาบันบางแห่งมาชวนคุยเรื่องอัตลักษณ์ของตนเอง
บางแห่งชวนไปวิพากษ์เค้าโครงปฏิรูปของสถาบัน
บางแห่งขอให้เป็นผู้ช่วยกระบวนการสอนการวิจัย
ยังห่างไกลที่พ่อใหญ่ย้ำเตือนเรื่องสถาบันเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ยังออกอาการทิ้งถิ่นอยู่ร่ำไป
วิชาสิทธิชุมชน วิชาเห็นชุมชนอยู่ในสายตา วิชายูเทริ์นชีวิต
ใช่ว่าจะไม่มี ไม่ตีปิ๊ป
มีครับมี ..มีแต่น้ำ หาต่อนไม่เจอ
สังคมชนบทวันนี้ ..วิ่งตามก้นสถาบันการศึกษาเพื่อทิ้งท้องถิ่นนั่นแหละ
มุ่งสอนวิชาทิ้งถิ่น ป้อนลูกศิษย์ส่งไปให้สังคมใหญ่รังแก
พี่น้องผมวันนี้ไม่มีสุภาษิต “วัวลืมตีน”
เพราะต้อนวัวควายไปขายให้โรงงานลูกชิ้น
วัว เ ป็ น ลู ก ชิ้ น เจ้าของควาย จะ เ ป็ น ลู ก อ ะ ไ ร ล ะ ค รั บ
สุดท้ายบ้าก็บ้าวะ …ยาบ้าจึงเกลื่อนประเทศ
เมื่อพ่อใหญ่มาด้วยใจ จึงได้ใจจากชาวบ้านไปเต็มๆ ผมนึกถึงคืนที่เชิญท่านขึ้นนั่งบนโต๊ะสูงเหมือนจัดที่ให้พระเทศน์มหาชาติ แล้วพวกเราลูกศิษย์ลูกหานั่งล้อมวงข้างล่าง ใครสนใจประเด็นไหนก็ยกมือถาม พ่อใหญ่ก็จะตอบด้วยความเมตตา ลึกซึ้งทุกถ้อยกระทงความ เป็นความกรุณาที่ท่านมอบให้ลูกศิษย์อย่างตรงไปตรงมา โดยที่พวกเราไม่ต้องสอบเข้า ไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิต ไม่ต้องดื้นรนแต่งตัวทาปากขึ้นรถซ๊อกๆไปเรียน เป็นฝนอันชื่นใจที่โปรยปรายสติปัญญาให้ลูกศิษย์หลากสำนัก นึกถึงคราใดก็รักพ่อใหญ่อย่างจำหนับ
ผมเป็นลูกศิษย์รบกวนท่านไม่สร่างซา หน้ามืดครั้งใดก็ไปรบกวน ท่านก็เมตตาจัดให้เป็นพิเศษ ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ไม่มีกำไร-ขาดทุน พ่อใหญ่มีแต่ให้ และให้ ให้มากกว่าที่ขอทุกที ผมนั้นรู้ตัวว่าฤทธิเดชเยอะ แต่พ่อใหญ่ก็ยังอุปการะและเวทนาตลอดมา โทรศัพท์ด้วยความห่วงใยถามข่าวถึงคนโน้นคนนี้ น้ำท่วมไหม? พวกเราเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม ลูกศิษย์แบบไหนละครับที่รอให้พระอาจารย์ถามถึงก่อน มันน่าจับไปตอนเป็นขันทีเสียให้หมด อิ อิ..
ตอนที่ผมสร้างอาคารหลังใหญ่
เรานั่งปรึกษาหาชื่อจะเรียกว่าอย่างไรดี
ผมออกความเห็นว่า ตั้งเป็น ก ร ม ส่ ง เ ส ริ ม ร า ษ ฎ ร ดี ไ ห ม ?
พ่อใหญ่ให้แง่คิดว่า มันก็ไปตรงกับที่คนโน้นคนนี้ ม า ส่ ง เ ส ริ ม ร า ษ ฎ ร
ทำไมเราจะต้องรอให้ใครมาส่งเสริม
ราษฎรไปส่งเสริมคนอื่นบ้างไม่ดีหรือ?
นี่แหละจุดแฝงเร้นพิเศษที่สะท้อนหลักการความเป็นนักสิทธิมนุษยชนเชิงรุกของพ่อใหญ่
ก ร ม ร า ษ ฎ ร ส่ ง เ ส ริ ม จึ ง เ กิ ด ม า ด้ ว ย ป ร ะ ก า ร ล ะ ฉ ะ นี้
ลูกศิษย์เจ้าปัญหาคนนี้ไม่เคยลืมพระอาจารย์ใหญ่
ช่วงที่ไปกราบเยี่ยมตอนท่านเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เห็นงานเห็นภาระที่ท่านแบกไว้แล้วเหนื่อยแทน
ป ร ะ เ ท ศ นี้ ใ ช้ พ่ อ ใ ห ญ่ ข อ ง ผ ม เ กิ น ป ร ะ ม า ณ เ สี ย แ ล้ ว
พ่อใหญ่เพิ่งไปผ่าตัดซ่อมหัวใจในวัยอันอ่อนโรย
ผมเองก็ป่วยยอบแยบ..
มิรู้ว่าใครจะไปก่อนใคร..
ผมเป็นศิษย์มีครูก็เพราะพ่อใหญ่
ท่านเป็นผู้ปลุกเสกให้ผม “เป็นครูบา”
ที่ใครๆทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น อิ อิ
Next : คนรุ่นเก่าเอาหัวใจมาแปะกัน » »
2 ความคิดเห็น
คนบางคน เปรียบดังหัวสารเคมี ที่เรียกว่าตัวกระตุ้น (catalyst) ขอเพียง 1 ในล้านส่วน (1 ppm) ก็สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ได้มหาศาล
เสียแต่ว่าหลายทีตัวกระตุ้นแสนดี แต่วัตถุดิบมันด้านก็ง่าวกันไป
อิจฉาบาท่านที่ได้สัมผัสกับอรหันต์สังคมหลากหลาย ตอนนี้เผื่อแผ่เอามากระจายให้เรารับรู้ ก็ถือว่าร่วมผูกพัน นำไปสานฝัน และหรือไปทำอะไรให้ก่อเกิดประโยชน์ตนและท่านกันต่อไป
ลานปัญญาเป็นกระดานชนวน
สำหรับให้เรา-เล่า-เรียน-เขียน-อ่าน-คิด-ถ่ายเท-ถ่ายทอด
-ชี้แนะ-รับฟัง-รับรู้-ได้ดู-ได้เห็น-ได้เล่น-ได้ทำ-ได้จำ-ได้จด-จดๆๆๆ -จ้องๆๆๆ อิ