เรียนตามอัธยาสัย
เรียนตามอัธยาสัย แบบออกจากที่ตั้ง ไม่ได้นั่งๆนอนๆเรียนเหมือนบางวันเป็นวิธีเรียนที่สนุก เอาความพอใจและความตั้งใจผสมผเสกัน ขอแต่รู้เป้าประสงค์ว่าจะมีการดำเนินหาวิชาความรู้อยู่ที่ไหน ยากลำบากอย่างไรผู้เรียนต่างดั้นด้นกันไป ไม่มีพิธีรีตรองมาก ใครอยากจะได้ความรู้ก็มา “มาพบกันครึ่งทาง” ระหว่างผู้ให้และผู้รับ แม่ใหญ่ ใครๆก็ออกเดินทางมากันตั้งแต่ไก่โห่ ผมกับขาใหญ่ปลุกกันออกเดินทางตั้งแต่ตี4 ขับรถยามเช้าๆอากาศดี เห็นวิถีริมถนนสายกบินบุรี-โคราช เราแวะที่บางคล้า เดินชมตลาดเช้า แวะกินข้าว ซื้อผลไม้ ซื้อขนมเปี๊ยะไปฝากเพื่อนฝูง แล้วเดินทางผ่านวังน้ำเขียว เข้าสู่สถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
(รักต้นไม้ไม่เจอคำว่าหลายใจ)
ประมาณ 9.30 น.ล้อทุกคันมาบรรจบกัน แม่ใหญ่มาถึงก่อนเพื่อน ทีมคุณมะปรางจากสุพรรณบุรีมาถึงติดๆ เจ้าพ่อสังขะมาถึงก่อนหน้าเรานิดๆ ผมกับขาใหญ่มาเกือบสุดท้ายถ้าพ่อวิจิตร จันทรานุวงค์ จากพุทไธสงไม่ตามมา เจ้าหน้าที่ถาม มากี่คน แค่นี้รึ ก็แค่นี้แหละ พวกหัวไวใจสู้เน๊าะๆหายาก จำนวนน้อยนิดนี่แหละคือพวก “หัวกะทิ” ไม่ใช่ ห า ง ก ะ ทิ แน่นอน
(กว่าต้นไม้จะโต ใจเราพองโตล่วงหน้า)
ระหว่างที่รอเข้าป่าไปชมการปลูกไม้กลุ่มกระถินเทพาปลูกยูคาลิปตัส เชิงการวิจัยและพัฒนาป่าไม้ พวกเราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสนุก คุณประกายจากด่านช้างสุพรรณบุรีแกมีไฟในหัวใจ พลังความคิดความตั้งใจนั้นมหาศาล เบื้องหลังการเป็นผู้นำด้านกิจกรรมเสริมสร้างธรรมชาติก็ไม่ธรรมดา สมราคาพวกหัวกะทิจากเมืองบรรหารบุรี
คุณบรรดิษฐ์ หงษ์ทอง นักวิชาการป่าไม้ ชำนาญการพิเศษ จับพวกเราขึ้นรถปิคอัพ พาไต่เขาด้านฝั่งขวาขึ้นไปชมแปลงปลูกป่าไม้หลากหลายวัตถุประสงค์ โดยมีเป้าใหญ่เรื่องการคัดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ มีงานวิจัยมากมายหลายเรื่องมาเล่าที่ไปที่มาให้เราเห็นกับตา คุณบรรดิษฐ์และทีมงานช่วยกันถ่ายทอดประสบการณ์ ให้เห็นว่าป่าไม้นั้นมีคุณต่อแผ่นดินในแง่มุมดีๆมากมาย ต้องลงทุน ต้องต่อสู้กับปัญหานานับประการ สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าธรรมชาติปลูกและดูแลตัวเอง สบายกว่าการที่มนุษย์จะเข้าไปจัดการมากเลย
(สาธิตการเพาะชำกล้าไม้ด้วยการปักกิ่งชำ..กว่าจะได้แต่ละต้น)
อาหารมื้อเที่ยงผ่านไป การเรียนรู้เรื่องปักกิ่งชำต้นอาคาเซียก็เริ่มขึ้น
เจ้าหน้าที่พาเราไปดูแปลงแม่ไม้พันธุ์ดีที่คัดสรรจากต้นแม่ไม้สวยๆ
ตัดมาชำแล้วแล้วปลูกเพื่อเอายอดไปปักกิ่งชำอีกที
ทั้งๆที่นี่มีห้องปฏิบัติการด้านเพาะเนื้อเยื้อสมบูรณ์แบบ
แต่ ก า ร เ ลื อ ก วิ ธี ห นึ่ ง วิ ธี ใ ด ย่ อ ม มี เ ห ตุ ผ ล กำ กั บ
เจ้าหน้าที่ให้เราได้ลงมือฝึกงานจนครบทุกขั้นตอน
เพื่อให้มีสามารถไปปักกิ่งชำ-ไปปลูกหรือ-ผลิตกล้าจำหน่ายในพื้นที่ของตนเองได้
ถ้าไม่ได้รู้เห็นขั้นตอนเราก็อาจจะนึกว่าง่ายๆ
ในความเป็นจริงนั้นไม่ง่ายไม่ยากถ้าเราใส่ใจและตั้งใจดูเทคนิคให้ครบถ้วน
(เด็กนักเรียนโข่งเข้าห้อง)
ช่วงบ่ายแก่ๆเราเข้าห้องรับฟังการบรรยาย ชมสไลด์
เติมเต็มความรู้ให้กระชับยิ่งขึ้นในเรื่องความสำคัญการพัฒนาพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ
คุณวิฑูรย์ เหลืองวิริยะแสง เดินทางจากจากห้องประชุมกรมป่าไม้
มาทันบรรยายเรื่องราวการพัฒนาพันธุ์ไม้ตลอดระยะเวลา 30 ปี
คุณวิฑูรย์ เล่าว่า ในการประชุมที่กรมป่าไม้วันนี้มีเรื่องสำคัญที่เครียดกันทั่วหน้า ที่ทราบว่าไม้ยูคาลิปตัสที่เพาะเนื้อเยื่อเบอร์K07 นำไปปลูกกันทั่วประเทศ กำลังเกิดโรคระบาดล้มตายจะเสียหายกี่หมื่นกี่แสนไร่ก็ยังไม่รู้ ปัญหานี้ยังป้องกันไม่ได้เสียด้วย ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า..การที่ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงทำให้โรคแมลงใหม่ๆระบาดทั่วโลก ยกตัวอย่างด้วงเจาะยอดมะพร้าวในไทย สวนมะพร้าวเสียหาย เกษตรกรชาวสวนย่ำแย่ ผู้บริโภคหน้ามืดเพราะมะพร้าวสั่งเข้าจากต่างประเทศราคาแพง อะไรๆก็เป็นไปได้ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่รักษาความหลากหลายทางพันธุกรรม แม้แต่ยางพาราก็เถอะ มีโอกาสที่จะเจอโรคระบาดจนหง๋ายเก๋งได้ เพราะมีพันธุกรรมเกี่ยวกับสายพันธุ์น้อยมาก ถ้าเกิดโรคระบาดก็จะเสียหายแบบระเนระนาด
(งานปรับปรุงพันธุ์ไม้เหมือนปิดทองหลังพระ ต้องอดทน)
ภาคการบรรยายครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่จับเราขึ้นรถไปชมแปลงไม้แม่พันธุ์ดีระดับดารา ซึ่งปลูกไว้เต็มเขาฝั่งซ้าย นั่งรถไต่เขาไปเรื่อยๆจนถึงยอดเขาสะแกราช ระหว่างทางคุณบรรดิษฐ์ หงษ์ทอง กรุณาขับรถนำพาพวกเราด้วยตนเอง ระหว่างทางก็เล่าประวัติของสถานีแห่งนี้ ซึ่งน้อยนักที่คนภายนอกจะรู้..
(กว่าจะเป็นป่า กว่าจะผ่านกาลเวลาง่องแง่ง..เหนื่อยๆๆ)
ในสมัยสงครามเวียดนาม อเมริกามองหาฝืนป่าที่มีสภาพคล้ายๆกับป่าของประเทศเวียดนาม สุดท้ายก็เลือกเอาพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ฝึกทหารก่อนเข้าสู่สงคราม เพื่อให้เป็นความลับและปลอดภัยจึงมีการอพยพชาวบ้านหลายตำบลออกจากไปทั้งหมด จัดเป็นพื้นที่ห้ามเข้าเด็ดขาด หลังจากนั้นอเมริกาก็ทำการฝึกนักรบมากมายหลายยุทธวิธี รวมทั้งมีการทดลองเรื่องสารเคมีบางอย่างด้วย ทหารต่างชาติต้องเรียนรู้วิธีการดำรงชีพในป่าอย่างเข้มข้น ไม่อย่างนั้นแล้วไปรบกับเวียดกงที่เชี่ยวชาญการรบจรยุทธได้ยังไงละ
หลังจากเสร็จสิ้นสงครามเวียดนาม อเมริกาเป๋กลับไปไม่เป็นท่า พื้นที่ป่าบนภูเขาหลายหมื่นไร่แห่งนี้ ได้ยกให้กรมป่าไม้นำมาสร้างสถานีวิจัยเรื่องพันธุ์ไม้อาคาเซียแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของเอเซีย นับเป็นความโชคดีของคนไทย ที่มีพื้นที่วิจัยพันธุ์ไม้ป่าอย่างกว้างขวางสมบูรณ์มาก อากาศของที่นี่เย็นสบาย มีอาคารต่างๆมากมาย มีที่พัก ที่ประชุม แปลงเพาะชำ แปลงปลูก ครบถ้วนทุกประการในการที่จะศึกษาและถ่ายทอดพันธกิจเกี่ยวกับงานป่าไม้ คนที่สนใจด้านพันธุ์ไม้น่าจะได้มาเยือน ของเขาเด็ดสาระตี่จริงๆขอบอก
เจ้าหน้าที่พาเราไปชมแปลงแม่ไม้อายุ 20-30 ปี
ที่มีแม่พันธุ์ไม้ระดับนางเอกให้พวกเราอึ้งกิมกี่
เปลี่ยนทัศนะคติที่เคยมีกับพันธุ์ไม้ต่างประเทศไม่เหลือเหลอ
ยูคาลิปตัสและอาคาเซียต้นสูงลิบลิ่ว
แต่ละต้นใหญ่โอบไม่มิด
เห็นแล้วรักอยากจะปลูกต้นไม้ทั่วหน้า
(ถ้ามนุษย์รักต้นไม้ โลกจะน่าอยู่กว่านี้)
ย้อนกลับลงมา ทางสถานียังเตรียมอาหารเย็นอร่อยๆเลี้ยงอีกมื้อหนึ่ง ได้คุยอย่างเป็นกันเองอีกรอบ รับแจกเอกสาร แจกของฝาก แจกความปรารถนาดีระหว่างกัน เป็นมิติการเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านดุจญาติสนิท ใครมีอะไรก็ว่ามา จะขอไม้พันธุ์ดีไปปลูก ก็ได้เลย พ่อวิจิตรนอนรอรับที่สถานีคืนนี้ แม่ใหญ่ ขาใหญ่ เดินทางมายังร้านเนื้อโคขุนใกล้ๆกับมหาวิทยาลัยสุรนารี สั่งจิ้นจุ่มรอ..ท่านจอหงวนมาพร้อมกับไวน์หวดข่าเต็มย่าม จัดการรินแจกให้ชมและชิม รสชาติพิเศษจริงๆของบอก ตอนนี้ผมหอบกลับไปที่สวนป่าหลายขวด ไว้ให้แซ่เฮได้ลองชิม ไม่งั้นจะหาว่าโม้ๆๆ และ โม้
คืนนี้นอนที่สัมมาคาร ทุกคนต่างเหนื่อยระโหย
ผมหลับไปงีบหนึ่งก็ตื่นมาบันทึกเรื่องราวไว้
วันแต่ละวัน ผ่านไปๆ
ถึงเป้าหมายจะอยู่ห่างไกล
ถ้าเราได้ก้าวเดินก็นับว่าเวลาของชีวิตเคลื่อนไหว
ดีกว่าจะทิ้งวันเวลาให้ชำรุด
ใ ค ร ทำ อ ะ ไ ร ไ ด้ ก็ ทำ ๆ เ ถิ ด น ะ ค รั บ
อย่านอนหลับทับสิทธิ์
ลุกขึ้นมา-กา-กะ-บาท-ช่อง-รักและคิดถึงลานปัญญา
คิคิคิ
Next : ไปไหนมา สามวาห้าศอก » »
4 ความคิดเห็น
รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม เก็บรายละเอียดไปทุกซอกทุกมุม ขออนุญาต link ไปให้ครูอ่านใน FB นะคะพ่อครู
ออตลง อาคาเซียไปแล้วครับ 340 ต้น แต่ปลูกถี่จัดอิอิ ลองดู
สิงหาคมจะหว่านข้าวไฮ่ระหว่างล่องอาคาเซียดู
งานนี้แม่ใหญ่บุกบั่นน่าดู คงหายเหนื่อยแล้วนะครับ
:: ออตควรจะปลูกอาาเซียห่างๆหน่อย ประมาณ 5×6เมตร
ถ้าปลูกถี่เดี๋ยวก็ได้ตัดทิ้งก่อนโต เสียดายกล้าไม้
อาจจะแจกคนอื่นช่วยปลูกก็ได้
เมื่อไรจะมีโอกาสอย่างนี้อีกค่ะพ่อครู