ไปไหนมา สามวาห้าศอก
ออกจากเคหา ไปหาความรู้ ไปดูเขาเพาะชำกล้าไม้อะคาเซีย นึกว่าจะง่ายๆ เจ้าประคุณเอ๋ย เหงื่อตกเชียวแหละ คุยกันในหมู่ที่ไปศึกษาดูงานสรุปว่า..ถ้าจ้างให้เราผลิตจำหน่าย ต้องคิดราคาต้นละ 10 บาทถึงจะทำได้ แต่ในโครงการส่งเสริมการปลูกป่าสู่ชุมชนของสถานีวิจัยสะแกราช ได้ผลิตกล้าพันธุ์ดีออกแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้สนใจทั่วไป แจก10ต้นบ้าง50ต้นบ้าง500ต้นบ้าง ตามความเหมาะสมของผู้มาขอรับกล้า ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อได้ไปแล้ว จะไปดำเนินการปลูกอย่างไรให้สมประโยชน์กับความตั้งใจของราชการ
ไปสถาบันวิจัยสะแกราชเที่ยวนี้ ได้รับหนังสือ บทสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการส่งเสริมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาว เสนอต่อ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) โดยศูนย์วิจัย คณะวนศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กันยายน 2552 ผมเข้าใจว่าประเด็นนี้เป็นการสรุปผลการดำเนินการส่เสริมปลูกไม้ในลักษณะต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ พบว่าประสบผลสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ตามวัฒนธรรมองค์กรของผู้ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ที่ยึดเอาความคิดความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก ฉอดๆๆกันในมุมของวิชาการล้วนๆ เรื่องกระบวนการป่าไม้ทั้งหลายมันจึงยี่ยักยี่หย่อน ต้องลงทะเบียนบ้างละ ห้ามใช้เลื่อยยนต์ จะเผาถ่านต้องขออนุญาต เจ้าหน้าที่ต้องมาตรวจสอบตอนเอาไม้เข้าเอาถ่านออก จะย้ายถ่านต้องไปทำหลักฐานการขนย้าย จะแปรรูปไม้จะต้องขออนุญาตอีกไม่รู้กี่ใบ ต้องผ่านหน่วยงานไม่รู้กี่โต๊ะ กว่าจะได้ลายเซ็นต์มา..อกอีแป้นแทบแตก ขึนทำตามกฏระเบียบอดตาย ขาใหญ่ทั้งหลายจึงทำไม้เถื่อนกันสนุกสนาน จ่ายใต้โต๊ะสะดวกกว่าจ่ายบนโต๊ะ อิ อิ
ปลูกก็ยุ่ง
จะตัดจะแปรรูปก็ยาก
จะขนจะจำหน่ายก็ลำบาก
ถ้าระบบระเบียบมันห่วยแตกอย่างนี้
ไอ่ลิงตัวไหนละครับที่มันอยากจะปลูกสร้างอาชีพสวนป่า
ทั้งๆที่กระบวนการทั้งหมดทั้งมวลนี้ชาวบ้านลงทุนลงแรงเองทั้งนั้น
กรมป่าไม้..ทำอะไร นอกจากจ้องเตะตัดขา ออกกฏระเบียบมาคุมกำเนิดความก้าวหน้า
รอเก็บค่าใบอนุญาต หาเรื่องตรวจจับผิด
ซึ่งค่าภาคหลวงที่ได้จิ๊บจ้อยเต็มที
ไม่คุ้มกับค่าเสียความรู้สึกระหว่างกันหรอกนะครับ
..เข้าไม่ถึง ไม่พัฒนา เอาเสียเลย
กรมป่าไม้มีโครงการส่งเสริมเกษตรกรดีๆมากมาย
แต่กฏระเบียบเต่าล้านปี เข้าทำนอง..ทำดีแทบตาย แล้วเอาตีนลบ
ลองเปรียบเทียบกับการส่งเสริมปลูกยางพาราดูสิครับ ต่างกันราวฟ้ากับดิน เกษตรกรได้รับการสนันสนุนสุดลิ่มทิ่มประตู รับแจกพันธุ์ยาง ปุ๋ย เงินกู้ เริ่มมีรายได้ตั้งแต่ปีที่ 7 ถ้าเอามาเปรียบกับโครงการส่งเสริมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นทุนระยะยาวแล้ว เฮ้อ เหนื่อยครับ เหนื่อย ..การปลูกไม้ยืนต้นนี่นะครับ ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ก็ลองปลูกต้นยางนา ต้นประดู่ ต้นแดง ดูสิครับ กว่าจะมีรายได้จะต้องนานถึง 20-50 ปี เกษตรตรที่ไหนอยากจะปลูกอยากจะรอ พวกคิดสั้นด้วยแล้วจะมองว่า..ปลูกไปทำไมวะ มันนาน ไม่ได้ใช้ ตายเสียก่อน สู้ไปขะโมยตัดไม้ดีกว่า รายได้ดีและเร็วกว่ากันมาก
ประเด็นพวกนี้ผมพยายามหาทางออกด้วยการปลูกไม้หลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น
1 ปลูกไม้โตเร็วระยะสั้น3- 5ปี พวกไม้ที่ใช้ประโยชน์และตัดขายได้เร็วภายใน 3-4 ปี เช่นไม้ยูคาลิปตัส กลุ่มนี้ก็เหมือนถูกมัดมือชกอยู่ดี โรงงานกระดาษกดคอซื้อตันละ 6-700บาท หาทางเอาไปเผาถ่าน ก็เจอกฏหมายห่วยแตกอีกยุบยับ เพิ่งจะมาเข้าท่าตอนที่ฝึกอบรมเอาไม้กลมขนาดเล็กมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องเรือน ตามที่ได้เล่าถึงการฝึกอบรมไปก่อนหน้านี้
2 ปลูกไม้โตเร็วระยะกลาง 4-15ปี ไม้กลุ่มนี้ที่เป็นพระเอกน่าจะเป็นไม้ไผ่พันธุ์ต่างๆที่มีคุณสมบัติกินหน่อและใช้ลำ ไผ่บางชนิดเริ่มเอาลำมาใช้งานประดิษฐ์ใช้สอยงานทำเฟอร์นิเจอร์ ได้ในอัตราทวีคูณวัตถุดิบตั้งแต่ปีที่ 4-5-6 เป็นต้นไป ไผ่บางชนิด เช่น ไผ่กิมซุงให้หน่อทั้งปี ถึงลำต้นจะไม่ตรงแต่ก็เอาทำตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้จิ้มฟัน เอาไปเผ่าถ่านก็เหมาะเช่นกัน แต่ถ้าเป็นไผ่พันธุ์ราชินีซางนวล เธอเอ๋ยลำต้นใหญ่ตรงแน่วเหมือนขาโต้นนางเอกหมอลำ พระเอกอีกตัวที่ได้รับความสนใจทั่วไปได้แก่ไม้สัก แต่ที่สุดยอดในสายตาผม ขอยกให้กับไม้อะเคเซียพันธุ์ลูกผสม ที่แม่ใหญ่กับออตเอาไปปลูก เป็นไม้ตระกูลถั่ว ใบเอาไปเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง หมักทำอาหารสัตว์เป็นไม้เนื้อแข็งระดับเดียวกับไม้ประดู่ไม้แดงบ้านเรา แต่โตเร็วกว่ากันเยอะเลย อะไรที่มาจากต่างประเทศ ลงท้ายด้วยคำว่า“เทศ” มันมักจะใหญ่โตมะลักกั๊กกว่าของเรา ลองดูนกกระจอกบ้านเรา กับ นกกระจอกเทศสิครับ ตัวใหญ่อุ้มไม่ไหวเชียวแหละ เรื่องไม้อะคาเซียมีรายละเอียดเยอะ ที่ผมๆปลูกๆแบบสะเปะสะปะไปแล้วหลายสายพันธุ์ มีตั้งต้นหงิกงอ ใส้ฟัก ยืนต้นตาย บางพันธุ์ก็ลำต้นสวยตรง กำลังโตวันโตคืน มาตอนนี้สถานีวิจัยสะแกราชพัฒนาพันธุุ์ได้ดี จึงน่าปลูก และปลูก ผมและขาใหญ่จะช่วยกันปลูกปีนี้สัก 50,000 ต้น ปลูกไผ่ 20,000 ต้น แก่จวนจะเข้าโลงอยู่แล้ว จะช้าอยู่ไย ปีต่อๆไปก็จะปลูกอีก และอีก ๆๆ
3 ปลูกไม้ระยะหงำเหงือก เรียกว่าปลูกแล้วลืมทั้งไปได้เลย ส่วนมากจะเป็นไม้พื้นถิ่นที่ดีๆบ้านเรา เช่น ไม้ยางนา ประดู่ แดง พะยูง มะค่าโมง ก้ามปู ฯลฯ ไม้กลุ่มนี้เหมาะกับคนที่เข้าใจและรักธรรมชาติ ซึ่งควรจะเกิดความรู้สึกว่า ปลูกต้นไม้แล้วทำไมต้องตัดด้วย ปลูกเอาบุญ-ปลูกชดเชยบาป-ปลูกติดแผ่นดิน จะได้ไหม? โดยเฉพาะการปลูกโดยหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคีสิ่งแวดล้อมต่างๆ ควรจะปลูกไม้พื้นถิ่นทุกชนิด คนไทยช่วยกันปู้ยี่ป้ยำป่าไม้กันมามาก หายใจเอาอ๊อกซิเจนฟรีๆมานานแล้ว ควรหัดคิดและทำอะไรดีๆคืนให้กับธรรมชาติเสียบ้าง
เท่าที่ผมทำการปลูกต้นไม้แบบตาบอดคลำช้าง จนกระทั้งมาถึงวันนี้ ผมได้รับความรู้ความรักจากป่าไม้อย่างคาดไม่ถึง ได้อาศัยยอด ดอก ผล หัว มาเป็นอาหาร ไม้บางชนิดยังเป็นสมุนไพร ให้ดอกหอมเอาอกเอาใจเราฟรีๆ ปีไหนฝนดีๆมีเห็ดให้เก็บหลายยก แล้งมาก็มีรังมดแดงให้แหย่เอาไข่มายำ เอาแค่มองหยาบๆทำหยาบๆยังได้ประโยชน์ถึงเพียงนี้ ไม่แน่นะครับ ถ้าโลกวิกฤติพลังงานมากๆ ไม่มีแก๊สไม่มีไฟฟ้าเพราะเกิดวิตฤมหันตภัยอะไรสักอย่าง ท่านอาจจเดี้ยงเอาง่ายๆ ถ้ามีป่าสวนครัวหลังบ้าน อย่างน้อยก็ยังได้อาศัยเก็บอาหาร-ฟืนหุงต้ม-ยา-หรือแม้แต่เอามาตีเป็นโลง
ห รื อ เ ธ อ จ ะ เ ลื อ ก น อ น โ ล ง พ า ล ส ติ ก
ถ้ามีไม้ก็เผาเอากระดูกมาเข้าโกษ ทำอย่างไร เอาไปกลบฝังเหมือนขยะเน่าๆอย่างนั้นรึ
หลักการของโครงการส่งเสริมปลูกต้นไม้เป็นทุนระยะยาว
รูปแบบของการปลูกต้นไม้ มีเป้าหมายแตกต่างจากครงการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจของกรมป่าไม้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ปลูกที่มีต้นไม้อยู่แล้ว ดูแลรักษาต้นไม้ในระยาวจนถึงรอบตัดฟัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีแรงจูงใจจึงละทิ้งเมื่อพ้นระยะส่งเสริม5ปี โครงการฯจึงออกแบบส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ผสมหลากหลายชนิด ทั้ง รู ป แ บ บ ที่ เ น้ น ก า ร ป ลู ก ไ ม้ ป่ า เ ป็ น ส ว น เช่น ปลูกยางนา สัก ตะเคียนทอง ฯลฯ แล้วแซมด้วยพืชนานาชนิดที่เป็นสมุนไพรและพืชอาหาร และ รู ป แ บ บ ที่ เ น้ น ก า ร ป ลู ก ไ ม้ แ ท ร ก ใ น ส ว น เ ดิ ม เช่น การปลูกตะเคียนทองแทรกลงในสวนเงาะ ทุเรียน และลองกอง เป็นต้น ควรหนาแน่นของหมู่ไม้ในการปลูกระยะแรกไม่ควรน้อยกว่า 100ต้น เพื่อจะทะยอยตัดสางไม้ออกมาใช้ประโยชน์ สำหรับต้นไม้ที่จะอยู่จนครบรอบตัดฟัน และนำมาเข้าโครงการฯ เพื่อประเมินมูลค่าเป็นทุนระยะยาวนั้นจะต้องไม่เกิน 25 ต้น/ไร่ โดยจะต้องเป็นชนิดไม้ที่โครงการกำหนด ดังนี้
1 กระถินเทพณรงค์ อะเคเซีย 5 แสนไร่
2 ประดู่ 1 ล้านไร่
3 สัก 1 ล้านไร่
4 พะยูง 5 แสนไร่
รวม 3 ล้านไร่
โอกาสในการขายคาร์บอนเครดิต
เรื่องนี้ยังเป็นการเคาะกะลาหลอกหมา ทั่วโลกมีโครงการที่ผ่านการรับรองซื้อขายคาร์บอนในตลาดภาคบังคับเพียง 8 โครงการเท่านั้น ในกรณีการส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อเป็นทุนในระยะยาวนั้น อาจไม่เข้าเกณฑ์การซื้อขายคาร์บอนในตลาดภาคบังคับ หากเป็นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ หรือการปลูกต้นไม้แซมในสวนผลไม้เดิม ยกเว้นกรณ๊ที่เป็นการปลูกป่าในพื้นที่ๆทำการเกษตรเดิม โดยต้นไม้ที่ปลูกจะต้องเข้าเกณฑ์นิยามป่าไม้ ตามกลไกพัฒนาที่สะอาด ได้แก่ มีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1ไร่ ต้นไม้มีขนาดสูงกว่า 3เมตร มีการปกคลุมเรือนยอดไม่น้อยกว่า30%
สรุป..อะไรที่เกี่ยวข้องกับการป่าไม้ มันก็จะยุ่งๆอยู่อย่างนี้นะครับ
ป่าไม้ ทำท่าจะเป็น ป่าม้วย อยู่ยังงี้ละครับ
:: ตัดทอนจากเอกสารบางส่วนในการประชุมวิชาการด้านป่าไม้
โครงการ “เปิดบ้านวิชาการด้านป่าไม้” ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีด้านป่าไม้เพื่อประชาชน”
ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารกริตสามะพุทธิ กรมป่าไม้
ท่านที่สนใจงานการป่าไม้น่าไปเกร่ดูนะครับ
มีหัวข้องานวิจัยดีๆเด็ดๆมากมาย เช่น
- ก้าวใหม่ของการวิจัยป่าไม้
- การปลูกและการจัดการไม้เศรษฐกิจ
- การใช้ประโยชน์ไม้เศรษฐกิจ
- การวิจัยไม้พลังงานทดแทน
- การใช้ประโยชน์สมุนไพร ของป่า
- การใช้ประโยชน์แมลง และจุลินทรีย์ป่าไม้
- ผลงานวิจัยป่าไม้สู่ประชาชน ข้าน้อยอยู่ในกลุ่มนี้ละขอรับ
- 15.30-17.30 น. วันที่ 29 มิ ย.2554
(ทดสอบปุ๋ยนาโน หรือจะนาเน่า ต้องพิสูจน์)
:: เมื่อวานนี้ กำลังนั่งคุยกับเพื่อนผู้อารีย์ที่มารับ-ส่ง ก็มีรถมาจอด2คัน ลงรถกันตุ๊บตับ ครูวันชัย แสวงชัย เป็นหัวหน้าแก๊งค์ เข้ามาบอกว่าวันนี้จะมาสาธิตปุ๋ยนาโน ตราจิ้งโจ้ผวา ทีมสาธิตไล่ผมไปแปลงปลูกต้นไม้ มะนาว มะละกอ ไผ่ ชี้โบ้ชี้เบ้บอกว่า..ระดับครูบาปลูกยังงี้ได้ไง พืชมันต้องออกผลจนเก็บไม่หวานไม่ไหว ถามว่าทำยังไงละ ..ก็ต้องใช้ปุ๋ยนาโนของผมสิครับ ว่าแล้วแกก็จัดการใส่ปุ๋ยรอบๆบริเวณต้นมะนาว กะรันตีว่า ภายใน 7 วัน จะเห็นความเปลี่ยนแปลง มะนาวจะออกลูกเต็มต้น เอาไปใส่น้ำพริกจนครกแตกก็ไม่หมด เซียนขี้โม้แห่งชาติถามว่า ..มีต้นยางพาราที่เป็นโรคและไม่ให้น้ำยางไหม มิสิ เยอะด้วย
(ปุ๋ยตราจิ้งโจ้ รึ จะโจ้หรือจะจอด เดี๋ยวก็รู้)
ว่าแล้วแกก็ไปโรยปุ๋ยใสโคนต้นยางพาราที่เป็นโรค
พร้อมกับคุยสำทับว่า..รับรองว่าภายใน2เดือน น้ำยางไหลโจ๊กๆ ว่างั้น !!
เฮ้อ ..ผมว่าผมขี้โม้แล้ว
แต่ลูกศิษย์มันพัฒนาการแซงหน้าพระอาจารย์ไปไม่รู้กี่ระดับ
ถ้ามีการประกวดคนขี้โม้
ผมจะส่งเจ้าหมอนี่แหละเข้าชิงชัย อิ อิ
Next : ช่วยกันทำมาหากินด้วยครับบบ.. » »
5 ความคิดเห็น
ผมขอเสนอเข้าร่วมประกวดอีกสกุลครับ คือ ไม้มะหาด เนื้อไม้ดี ลายสวย แข็ง โตไว มีผลไม้อร่อย เปลือกเอามาทำยาสมุนไพรได้หลากหลาย
แล้วขี้เหล็กละบาท่าน ตกรายการแล้วหรือครับ อย่าลืมใบขี้เหล็กธาตุอาหารสูงมาก อย่าว่าแต่ให้วัวกินเลย ผมว่าเอามาสกัดเป็นอาหารเสริมคนยังได้เลยครับ
ว่าไปแล้วอยากขอกระบกด้วย เพราะไม้เนื้อดี ลูกดกมาก
เรื่องพันธุิ์ไม้กรมเป็นผู้กำหนด ชนิดที่ท่านบอก เขาไม่รู้จักครับบบบบ อิ
ตอนนี้กำลังสะสมพันธุ์ต้นไม้เตรียมไปปลูกในที่ ซึ่งเคยเป็นนากุ้งที่เพิ่งมีคนมาขอให้ช่วยซื้อไว้ พันธุ์ไม้ที่หาได้ในพื้นที่ มียางนา สัก พยอม จะขอเอกมหาชัยไปปลูกด้วยได้มั๊ยค่ะพ่อครู
คิดถึงขี้เหล็ก ยอ ประดู่ ราชพฤกษ์อยู่เหมือนกัน แต่ยังหาแหล่งพันธุ์ไม้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าเขาขยายพันธุ์กันยังไง
ต้นมะหาดและกระบกที่อาจารย์เอ่ยถึงไม่เคยเห็นว่าเป็นยังไง ภาคใต้มีหรือเปล่าค่ะอาจารย์
ไม้พะยูงนี่คือเจ้าต้นที่พ่อครูเคยให้ไปปลูกใช่มั๊ยค่ะ ตอนนี้มันสูงได้แค่ท่วมหัวเพราะว่าปลูกใส่กระถางไว้
เจ้าอะคาเซียพันธุ์ใหม่ที่พ่อครูว่า ยังขอจากกรมป่าไม้ได้มั๊ยค่ะ จะได้ขอมาปลูกในพื้นที่ศูนย์อพยพของคนน้ำท่วมที่เขาพนม
ไม้ที่เอ่ยถึงพอมีให้ แต่จะขนไปยังไงละครับ
กรมป่าไม้มีข้อแนะนำการเลือกปลูกไม้ตามรายภาค ภาคใต้มีรายชื่อดังนี้
ยางนา-ตะเคียนทอง-สะตอ-เคี่ยม-หลุมพอ-เหรียง-ยมหิน-กันเกรา-มะฮอกกานี-ไข่เขียว-สะเดาเทียม-ทุ้งฟ้า-ทัง-ทุเรียนป่า-จำปาป่า-กระถินเทพา-กระถินณรงค์-และ โกงกาง
คงต้องพิจารณาพื้นที่ประกอบเด้วย
คงต้องเลือกตามวัตถุประสงค์ของเราเป็นหลัก
ปลูกหลากหลายไว้เป็นดีที่สุด
ไม้พยูง เป็นไม้พื้นถิ่นอีสาน ถ้าจะปลูกเพื่อทดลองก็ไม่เสียหาย แต่โตช้ามาก
ศูนย์ป่าไม้ที่สุราษฏร์ฯมีงานทดลองดีๆจำนวนมาก อยากจะหาวันเวลาไปเยี่ยมอยู่เหมือนกัน
เป็นแหล่งเพาะพันธู์ไม้หอมจีน อีกด้วย อิ