แต่ช้าแต่มาแห่..Ignite Thailand++ ครั้งที่ 3
อ่าน: 2297
ทุกครั้งที่มาถึงมานอนบางกอก ระหว่างทางมองเห็นต้นไม้ขึ้นกระย่องกระแย่ง ถึงจะมีการปลูกไว้บ้างแต่ก็ทรมานเหลือเกิน น่าสงสารจับใจ ทุกต้นถูกแผ่นคอนกรีตโบกทับโดยรอบ ส่วนกิ่งก้านก็ถูกตัดระรานเพราะมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ได้เติบโตอย่างอิสระตามธรรมชาติ เข้าทำนองปลูกไปรังแกต้นไม้ไป>> ในเมื่อคนกรุงจำเป็นต้องเลือกป่าคอนกรีต ทุกอย่างล้วนแต่แข็งๆหนักๆ มีสาเหตุทำให้หนักอกหนักใจทั้งนั้น เฮ้อ!
ป่าคอนกรีตสร้างออกซิเจนไม่ได้ เก็บน้ำในลำต้นไม่ได้ ดูดคาร์บอนไดออกไซไม่ได้ ไม่มีดอกไม่มีผลใดๆทั้งสิ้น สร้างเสร็จแล้วก็นับวันเสื่อมค่าถอยหลังไปทันที ความเจริญทำให้คนบางกอกอยู่กับโลกใบนี้อย่างจำกัดจำเขี่ย ร้อนรนฉุกละลุกลุกลี้ลุกลน ข้างห้องพักผมอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าBTS มองเห็นคนเดินทางซกๆเหมือนหนอน โอ้หนอชีวิต! ช่างเข้าใกล้กับวิถีพลาสติกเข้าไปทุกที ชีวิตที่ถูกไฟเขียว-ไฟแดง บงการ ก็ทู้ซี่อยู่ๆกันไปทำไงได้ ในเมื่อไม่คิดบวก ลบ คูณ หาร >>
ถ้าจะเลือกกิจกรรมระดมพลังเพื่อสังคม
งานชี้ชวนกันไปปลูกต้นไม้เป็นประจำทุกปีก็น่าสนใจนะครับ
คนบางกอกขยับความเข้าใจ
อาจจะชวนกันไปขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ในต่างจังหวัดก็ได้
ถ้ามีแนวคิดปลูกไม้ติดแผ่นดินตามอายุไขตัวเอง
สมมุติปลูกปีละ1ต้น
อายุ40ปีก็มีต้นไม้เกิดขึ้น40ต้น
ประชากรไทย60ล้านคนX40=2,400ล้านต้น/ปี
ถ้าปลูกกันคนละ2ต้น-3ต้น-100ต้น/ปีละ
คนบางกอกก็จะช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวได้อย่างเป็นรูปธรรม
ใ ค ร ไ ม่ เ ค ย ป ลู ก ต้ น ไ ม้ ย ก มื อ ขึ้ น !
ใ ค ร เ ค ย ป ลู ก ต้ น ไ ม้ เ อ า มื อ ล ง
ถ้ า รั ก ต้ น ไ ม้ เ ท่ า กั บ รั ก แ ฟ น เ ธ อ เ อ๋ ย . .
สร้างกระแสปลูกต้นไม้เพื่อชีวิตเพื่อโลกดีไหมครับ
เวลาวารีไม่คอยใคร ลีโอ ตอลสตอย นักปราชญ์ชาวรัสเซียที่ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ว่า เ ว ล า ที่ ดี ที่ สุ ด ก็คือเวลาปัจจุบันขณะ “เหตุผลก็เพราะเวลาทุกวินาที จะผ่านชีวิตเราเพียงครั้งเดียว” ไม่ว่าเราจะหวงแหนขนาดไหน มีเงินมากเท่าไรก็ไม่สามารถซื้อเวลากลับมาได้แม้แต่วินาทีเดียว เวลาที่เสียไปอย่างมีคุณค่า กับเวลาที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ล้วนไม่อาจเรียกคืนได้เสมอกัน หากเราไม่ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุดชีวิต เราก็สูญเสียโอกาสมากมายที่ควรได้ แม้เวลาจะไม่มีตัวตน แต่หากเรามีปัญญาก็สามารถสร้างคุณค่าที่เป็นรูปธรรม จากการใช้เวลาได้อย่างอเนกอนันต์
ให้เวลาตนเองรดน้ำใส่ปุ๋ยต้นไม้
ให้โอกาสตนเองปลูกต้นไม้
ให้โอกาสตนเองได้สนับสนุนการสร้างเสริมป่าไม้
อยู่ในบางกอกไม่มีที่ดินปลูกต้นไม้ ก็ออกไปช่วยกันปลูกต้นไม้ในชนบทก็ได้ ช่วยกันปลุกกระแส”ปลูกต้นไม้เพื่อชีวิต” อีกหน่อยก็จะขยายไปสู่ ”การปลูกต้นไม้เพื่อโลก”โดยอัตโนมัติ ปีนี้ประเทศเราประสบภัยพิบัติมากมาย ที่ความเสียหายขยายวงกว้างเพราะเรามีป่าไม้น้อยเกินไป ป่าเป็นตัวช่วยทางธรรมชาติที่เรายากจะมองเห็นกลไกลของผู้พิทักษ์ภัยพิบัติ ในยามปกติยังเป็นผู้เอื้ออาทร ต้นไม้นี่แหละครับที่เป็นเจ้าตำหรับ “จิตอาสาตัวจริง” ลองใช้เวลาที่มีอยู่นี้ ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ แง้มจิตอาสาที่เรามีอยู่ นอกจากจะทำให้เห็นพลังในตัวเองแล้ว ยังเป็นการสร้างสุขที่เผื่อแผ่ไปสู่สังคมที่ยั่งยืน ถ้าเราได้ปลูกต้นไม้กับมือตัวเอง ที่สำคัญ “ต้องเริ่ม” จะไขลานตนเองวิธีไหนไม่ยากหรอก วันนี้มีจอมยุทธด้านพลังบวก ชวนกันมาขึ้นเวทีบอกเล่าเก้าสิบ ก้าว11 ไปจนถึงก้าวที่22 ที่งาน Ignite Thailand++ ครั้งที่ 3 พฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554 ที่ โรงภาพยนตร์สกาล่า
ช่วงเวลาแดดร่มลมตก ว่างๆถ้าอยู่บางกอกก็ขอเชิญนะครับ
เรื่องของต้นไม้ป่าไม้มีสาระที่ต้องอธิบายกันยืดยาว ในเมื่อมีเวลาไม่มากนัก จึงนำเสนอเรื่องง่ายๆที่ใครๆก็ทำได้ เอาเรื่องใกล้ตัวใกล้ใจนี่แหละ อย่างน้อยถ้าคิดจะทำก็อาจจะปลูกต้นไม้ในกระถาง ถ้าไม่มีเวลาก็ใส่โฟลิเมอร์เข้าไป 15 วันรดน้ำครั้งหนึ่งก็ยังได้ อยากจะชูเรื่องปลูกแล้วได้ประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมแบบเลือกได้ ระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว-คำสำคัญจึงเน้นไปในกลุ่มประโยชน์ชิมก็ได้-ชมก็ได้- เช่น การปลูกผักพื้นเมืองระบบชิด การปลูกต้นไม้เพื่อเอาใบมาเป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ แนวคิด ปลูกแล้วตัดเอาเฉพาะกิ่งใบมาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องไปโค่นต้นไม้ การเพิ่มรายการผักชนิดใหม่ๆเข้าไปในเมนูของอาหารไทย การปลูกเสาวรสเพื่อคั้นเป็นน้ำดื่มประจำครัวเรือน การใช้สมุนไพรแบบพึ่งพาตนเอง ฯลฯ
เมื่อคืนอ่านเจอในหนังสือ เรื่องความเจริญก้าวหน้าของประเทศสิงคโปร์ ของท่านลีกวนยู >> อย่าแปลกใจเลยครับว่าประเทศสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างประเทศไทย ไม่มีคนมากมายเหมือนประเทศไทย ที่สำคัญในน้ำไม่มีปลา ในนาไม่มีข้าว เหมือนประเทศไทย ทำไมนับวันยังทิ้งห่างประเทศไทยไปเรื่อยๆ ท่านทราบไหมครับ หรือเพราะคนสิงคโปร์ล้วนถูกสอนมาให้รู้จักคำว่า I’ll Survive แต่คนไทยกลับถูกสอนมาว่า พ ว ก เ ร า โ ช ค ดี ที่ เ กิ ด บ น ผื น แ ผ่ น ดิ น ที่ แ ส น อุ ด ม ส ม บู ร ณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ค ว า ม รู้ สึ ก อ ยู่ ร อ ด ข อ ง เ ร า จึ ง ต่ำ ม า ก จ น ข า ด พ ลั ง ใ จ ใ น ก า ร ต่ อ สู้ ดิ้ น ร น เ พื่ อ ใ ห้ ต น เ อ ง พั ฒ น า ม า ก ขึ้ น ถ้าชีวิตไร้ความท้าทาย อยู่เฉยๆ น่าจะดีกว่า ทำไปทำไม คิดอย่างนี้เลยไม่มีอะไรพัฒนาหรือเปล่าครับ
ถ้าเราหันมาช่วยกันสร้างความท้าทายใหม่ๆ กระตุ้นให้เกิดความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งตนเอง กระบวนการ และองค์กร ไม่ต้องวิ่งตามก้นสิงคโปร์หรอกนะครับ หาวิธีวิ่งตามก้นกันลงไปปลูกต้นไม้ทั่วผืนแผ่นดินไทย เลือกเรื่องทำง่ายๆตรงๆเป็นจุดคลิก! ที่จะแตกออกไปสู่ความเข้าใจและความตั้งใจใหม่ๆ เราก็จะมีความภาคภูมิใจร่วมกันได้ แทนที่จะไปปลื้มประเทศอื่น เราก็สามารถรวมพลังบวกเข้าด้วยกัน เป็นตัวคูณของกันและกัน เมื่อนั่นแหละเธอเอ๋ย พลังของเราก็จะกระจายว่อนไปทั่วแผ่นดิน ปรากฏให้เห็นน้ำพักน้ำแรงที่ยืนตรงได้อย่างสง่างาม ถ้าเราช่วยแปลงผืนแผ่นดินขวานทองให้สดชื่นและสะอาดเต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า เจอหน้ากันก็ทักเสียหน่อย>>
“คนดีปีนี้เธอปลูกต้นไม้แล้วหรือยัง”
“ที่รักเธอรดน้ำต้นไม้แล้วหรือยัง”
แล้วเราจะได้ อิ อิ กันชั่วลูกชั่วหลาน
« « Prev : เรื่องไกลตัวแต่ใกล้ใจ
Next : ควันหลงงานอิ๊กไนน์ไทยแลนด์ครั้งที่ 3 » »
10 ความคิดเห็น
เชียร์ๆๆๆ
เบิร์ดสงสัยว่าทำไมต้องปลูกต้นไม้ใต้สายไฟฟ้าด้วย พิกลจริง
1 ประเทศด้อยพัฒนาไง ถ้าพัฒนาแล้วเขาจะร้อยสายไฟฟ้าไว้ใต้ดิน
2 เอาเรื่องการมองคุณค่าตรงตอนที่ต้นไม้โค่นลงที่เบริ์ดบอกไปลงไว้ในสไลด์บรรยายด้วยเน้อ ขอบอก อิ
3 การที่ยังมีกะใจจะปลูกก็ถือว่ายังดี ไม่หนีไปพาต้นไม้พาลสติกมาประดับ ส่วนจะปลูกนอกแนวสายไฟก็คงหาที่ไม่ได้ไม่เหมาะ ยังดีที่ไม่เลือกปลูกต้นไม้ที่ทรงพุ่มโตพรวดพราด ไม่ยังงั้นจ่ายค่าโง่กันทั้งปี
เจ็บกระดองใจเอ๋ยเจ็บกระดองใจ
ใยคนไทยจึงไม่รู้ตัวว่าโขคดี
มีแต่ยกให้ต่างชาติมาคลุกคลี
ทิ้งแต่หนี้ให้เราเอาดีไป
เป็นยังงี้มานานแล้วป้าหวาน
อดีตกาลไม่เคยได้แก้ไข
ไม่รู้ต้นปลายร้ายดีเป็นอย่างไร
งึมงำไปงั้นๆคนบ้านเรา
อิอิ
ผมเคยเสนอเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นสถาปนิกชื่อก้องของเมืองไทย (เอ่ยชื่อต้องร้องอ๋อ) ไว้นานนับยี่สิบปีแล้วว่า…น่าจะออกแบบบ้านในกทม. ให้มีหลังคาราบ เอาดินไปใส่ไว้ แล้วปลูกเป็นสวนผักไปเลย ทำนาก็ได้
ยิ่งตึกแถวยิ่งดี ปลูกมันเป็นสวนสาธารณะบนหลังคาตึกร่วมกันไปเลย
ต่อมาอีกหลายปี ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นเขาก็ทำแบบที่ผมคิดไว้..เด๊ะเลย ..ดังไปก้องโลก
ผมใคร่ขอมองโลกในแง่ดีว่า. คนกรุงเขารู้จักปลูกต้นไม้ ก็ยังดีกว่าไม่ปลูกเสียเลยนะครับ ต้นไม้กะปูนบางทีมันก็อยู่ด้วยกันได้ ผมสังเกตเห็นต้นวัชพืช “น้ำนมราชสีห์” มันแปลก มันชอบขึ้นระหว่างร่องของหินปูทางเท้า หรือว่ามันชอบปูน? อีกทั้งต้นไทรที่ขึ้นบนหินที่ปราสาทตาพรม ที่นครธม ก็มหัศจรรย์มาก นะครับ
แต่ถ้าจ้างให้ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ให้มานอนสูดแอร์เล่นเฉยๆ ริมรางรถ BTS แล้วให้ผมเดือนละแสน ผมขอปฏิเสธแน่นอนครับ …ขออยู่บ้านนอก ริมป่า เงินเดือน 1 หมื่นดีกว่า ..สาบาน
เราเริ่มคิดได้เร็ว แต่ลงมือช้าทุกที เพราะติดสุภาษิต “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” ก็ไม่รู้นะครับ อาจจะเป็นเพราะเรามีพื้นที่ราบว่างมากกว่าเขาก็อาจจะเป็นได้ แต่ถ้าปลูกผัก/พืชบนตึกได้ ก็น่าจะเยี่ยมเลยละครับ แต่นั่น>>จะต้องวางแผนตั้งแต่การออกแบบอาคารรองรับกิจกรรมเชิงสร้างสรรเพื่อนาคต ถึงยังงั้นก็เถอะ ถ้ามีเจ้าของอาคารยุคใหม่ทำเรื่องนี้ก็ไม่สาย เพียงแต่มันยังไม่โดนใจเจ้าของตึกนะสิครับ เพราะเขาอาจจะมองถึงการเพิ่มทุน คุ้มค่าไม่คุ้มค่า ..สักวันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ยังไม่เบื่อที่จะรอดูนะครับอาจารย์ เหมือนที่คนไทยมองดูเสาปูนโด่เด่ค้างเต้งริมถนนไปดอนเมืองนั่นแหละ เป็นอนุเสาวรีย์แห่งความคิดช้า ทำช้า สุดท้ายก็ไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ได้เพราะอะไร
เสนอแผลงๆเล่นครับ รัฐสร้างสำนึกต่อไปในการให้คนปลูกต้นไม้
และขณะเดียวกัน จับใครตัดไม้ได้ ลงโทษโดยการให้ปลูกป่าคนละ 5 ไร่ หรือเม่าไหร่ก็ได้ที่เหมาะสม
เด็กแว้น เอาไปปลูกป่าชายเลน
นักโทษ อย้่านั่งกินข้าวแดงอย่างเดียวออกไปปลูกป่ากันให้หมด
….ก็เขามีวิกฤติเป็นโอกาส ก็เอาคนทำผิดเป็นโอกาส(แรงงาน) ซะ เลย
แต่ที่แน่ๆคือ สำนึกของทุกคนในการปลูกป่า รักษาป่า รักษาไม้….
เข้าท่ามาเลยละครับแนวคิดนี้ เพียงแต่เจ้าภาพเรื่องนี้ยังหาไม่ได้ ที่มีหน้าที่ก็ทำเป็นแต่ลูบหน้าปะจมูก ถ้าเป็นสปปล.จบไปแล้วเรื่องนี้ เราคงทำได้เต๊าะแตะแบบใครเข้าใจก็ชวนกันปลูกกันเอง ไม่ต้องรอใคร ทำไปเรื่อยๆ เหมือนทำบุญนั่นแหละครับ ใครทำคนนั้นก็ได้ เราเห็นช่องทางที่จะทำดีกว่านี้ได้ แต่ระบบมันเละ ทุกอย่างก็ยวบยาบ จ่ายภาษีเลี้ยงคนไม่ดีให้อยู่สุขสบายไม่ต้องทำอะไร บางคนออกมาอยู่โลกข้างนอกบอกลำบาก หาเรื่องตีหัวหมาเข้าซังเตไปอีก เพราะมันสบายกว่าอยู่ข้างนอก ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ไม่อดไม่อยาก เฮ้อ แล้วก็หาเรื่องบ่นๆๆๆจนได้ เมื่อไหร่เราจะเข้มแข็งเท่าประเทศลาวก็ไม่รู้นะครับ อิ
มุมที่น่ากลัวในลาวก็มีครับ ฟังเชาคุยกัน ผมนั้นยังแค่หางอึ่ง เขาว่า ประเทศจีนบุกลาวจนน่ากลัวมาก ทางรถไฟด่วนจากจีนผ่านลาวมาจ่อประเทศไทยนั้นต้องขุดอุโมงค์เป็นร้อยแห่ง ต้องสร้างสะพานนับไม่ถ้วน ฯลฯ วางแผนให้เสร็จภายใน 5 ปี คนอย่างผมที่ไม่รู้เรื่องก็ส่ายหัวว่าโครงการมหึมาอย่างนี้มันจะเสร็จหรือ 5 ปี วิศวกรเขาว่าเสร็จเพราะเทคโนโลยีมากมาย
แล้วปัจจุบันนี้ ทุกหนทุกแห่งแม้ในหมู่บ้านมีแต่คนหนุ่มสาวจีนมาเปิดร้านขายของ เล็กๆ ก็เจ้าสัวเมืองไทยที่ร่ำรวยมาก็เริ่มจากเล็กๆนี่แหละ หนุ่มสาวพวกนี้มีเสียงเล่าว่ารัฐบาลจีนให้เงินคนละ 2 ล้านมาตั้งตัวเอาเอง เอาญาติพี่น้องในประเทศเป็นประกัน ออกนอกประเทศไปหากิน เอาตัวรอดเอง ผมเชื่อว่าคนจีนทำได้ คนเวียตทำได้ แต่พี่ไทยมัวแต่ขับมอเตอร์ไซด์แข่งกัน จับพวกตีกันข้างถนน หรือไล่ยิงกัน ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาสร้างชีวิตลิขิตตัวเองเลย
จีนและเวียตค้าขายเก่งจะไปเหลือหรือ เมื่อสังคมลาวเปิดประเทศมากขึ้น เราเองเป็นนักวิชาการลูกทุ่งไม่มีสังกัด ก็เฝ้ามองว่าสังคมแข็งแกร่งอย่างลาวจะไปได้นานเท่าไหร่ เอาใจช่วยสุดตัวให้ปรับตัวได้ทันและรู้เท่าทันกลยุทธทุนนิยม
ย้อนไปเรื่องทางรถไฟที่จีนจะสร้างเข้ามาลาว จ่อเข้าไทยนั้น ใครเคยไปจีนก็รู้ดีว่า ไม่ว่าทางรถไฟ หรือถนนรถยนต์ ถนนของเขาพยายามลากเป็นเส้นตรงให้มากที่สุด เจอะภูเขาเจาะ เจอะหุบเหวก็สร้างสะพาน เจอะไหล่เขาก็ไถเกรดให้ราบเรียบ ทั้งนี้ต้องการให้ถนนตรงมากที่สุดไม่ต้องสร้างสถิติพันโค้งอย่างบ้านเราหรือในลาว มีผลเสียคือต้นทุนสูงมาก แต่ผลดีคือประหยัดน้ำมัน หรือพลังงานในการขับรถ และลดการเกิดอุบัติเหตุมากมายที่จะเกิดขึ้น… ลงทุนสูงครั้งเดียว รักษาผลประโยชน์อนาคตไปนานเท่านาน น่าคิดมากนะครับ
ขอขอบพระคุณครูบาฯ มากนะครับที่ช่วยจุประกายให้พวกเราอีกครั้ง :)