สัปดาห์จิตวิทยาในสวนป่า

อ่าน: 3870



พรหมลิขิตบันดาลชักพา
กว่าที่พระอาจารย์โสรีช์ โพธิแก้ว จะมาเยือนที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสานได้เวลาก็ผ่านไปหลายปี หลังจากที่เกริ่นกันยามพบปะ ขอบคุณสวรรค์และครูอึ่ง ผมเฝ้ารอครูอยู่เสมอ เพราะคนที่ไม่มีครูเป็นตัวตนย่อมกระหายใคร่ฝากตัวเป็นศิษย์ เพิ่งจะมาสมใจนึกคราวนี้ ภาควิชาจิตวิทยาที่ปรึกษา คณะครุศาสตร์จุฬาฯ ได้พากันมาลงพื้นที่ภาคสนามที่บุรีรัมย์ ทำให้ผมได้กราบครู..ได้ทั้งวิชาการและวิชาเกินจนหนำใจ พระอาจารย์ได้สอนวิชาครูยิ่งกว่าครู กระบวนการครูได้ทอดวางให้เราประจักษ์ทุกเสี้ยวเวลา ทริปนี้ยังมีอาจารย์ไพลิน กาญจนภานุพันธ์ ได้กรุณาแนะนำวิธีเขียนหนังสือให้แก่ชาวเรา คุณพรพรรณเพื่อนรักแห่งเมืองละปูนมาเยี่ยมยามด้วย เสียดายไม่มีเวลาได้คุยกันเท่าที่ควร แต่ก็ยังดีใช่ไหมครับที่ได้ปะหน้าค่าตากันถึงในป่า คนป่าประทับใจมากขอบอก..

ตีแตกความสงสัย
พระอาจารย์ได้เคาะกะโหลกในเรื่องที่ผมค้างคาใจหลายสิบข้อ
ยกตัวอย่าง เช่น
อาจารย์ครับ
พืชผักต้นไม้ก็เป็นสิ่งที่มีชีวิต
เมื่อคนเราเอาผักมากินจะไม่บาปเหมือนกินเนื้อสัตว์หรือครับ
ครูบาครับ
ทุกสิ่งทุกอย่างถูกมนุษย์คิดข้อกำหนดเอาเอง ลองนึกดูสิครับ ไก่มันจิกกินปลวกมันมีความรู้สึกบาปไหม นกมันจิกกินแมลงมันรู้สึกว่าตัวเองผิดไหม วัวกินหญ้ามันรู้สึกว่าได้ทำร้ายหญ้าไหม?
อาจารย์ครับ
อาจารย์ครับ
อาจารย์ครับ..
ไม่ว่าจะเรียนถามประเด็นใด พระอาจารย์ก็ฟันฉั๊วะ ชัดเจนจะแจ้งกระเจิงใจ เต็มอิ่มและเป็นปลื้มอย่างเป็นที่สุด..เดิน ๆ ไปเห็นดอกไม้อาจารย์ก็เด็ดเหน็บหูให้ลูกศิษย์ อาจารย์เอากีต้าร์เล่นชวนลูกศิษย์ร้องเพลงไปด้วยกัน ระหว่างอาจารย์บางทรายบรรยายเรื่องการพัฒนาชนบท อาจารย์มีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วยติดบอร์ด นั่งยิ้มแป้นอยู่แถวหน้า ร่วมเรียนร่วมสนทนาคอยต่อยอดและเติมเต็มในมุมที่เราคาดไม่ถึง อาจารย์บอกว่า การเรียนสำคัญกว่าวิธีเรียน

ตรงกับที่หลวงพ่อชาสอนไว้ ..

ธรรมชาติทุกอย่างเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เป็นอะไร เหมือนกับโรคในร่างกายเรานี้ เป็นเจ็บ เป็นไข้ เป็นหวัด ไอ เป็นโรคนั้นโรคนี้ ก็เป็นในกายของเรา ความเป็นจริงเราก็หวงแหนกายของเราเกินขอบเขตเหมือนกัน ก่อนที่จะหวงแหนก็เนื่องจากความเห็นผิดจึงปล่อยไปไม่ได้ อย่างบ้านเราอยู่เดี๋ยวนี้ เราสร้างมันขึ้นมาเป็นบ้านของเรา จิ้งเหลนมันก็มาอยู่ จิ้งจกตุ๊กแกมันก็มาอยู่ มดแมลงปลวกหนูมันก็มาอยู่ เราก็เบียดเบียนมัน เพราะเราเห็นว่าศาลาของเรา

เหมือนกับโรคในร่างกายเรา  ร่างกายเราถือว่าเป็นของๆเรา ถ้าจะมาเจ็บหัวปวดท้องนิดหนึ่งก็ทุรนทุราย ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นทุกข์ ไม่อยากให้มันเป็นอะไรเลย

ที่นี่เหมือนกัน บ้านนี้ไม่ใช่บ้านของเราตามความเป็นจริงนะ เราเพียงแต่เป็นเจ้าของชั่วคราว หนูแมลงมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราว แต่มันไม่รู้จัก ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ความเป็นจจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่มีตัวไม่มีตนอยู่นี้ เราก็มายึดสังขารก้อนนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาแน่นอนเข้าไป

ทีนี สังขารจะเปลี่ยนก็ไม่อยากให้มันเปลี่ยน

บอกเท่าไรก็ไม่เข้าใจ พูดเท่าไรๆก็ไม่เข้าใจ

บอกจริงๆก็ยิ่งหลงจริงๆ

อันนี้ไม่ใช่ตัว ว่าอย่างนั้นก็ยิ่งหลงใหญ่ ยิ่งไม่รู้เรื่อง

เรามาภาวนาให่มันเป็นตัว ตน ฉะนั้น

คนโดยมากไม่เห็นตัวตน

ผู้ที่เห็นตัวตนจริงๆ คือผู้ที่เห็นว่ามิใช่ตัวตน มิใช่ตน

(วงสนทนาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช้า-สาย-บ่าย-เย็น)

พระอาจารย์และลูกศิษย์ล้อมวง
วางหมอเจ๊ไว้เป็นไข่แดงระหว่างไปไหว้ลา
ทุกคนร้องเพลงกล่อมหมอเจ๊คนสวย
กว่าจะแกะกันออกจากอ้อมกอดได้
ต่อมน้ำตาก็แตกไปไม่รู้กี่ร้อยแหมะ
ลีลาชั้นครูมีให้ดูตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงดึกดื่นเข้านอน
แบบนี้จะไม่ให้ผมตื่นตาตื่นใจอะไรได้

(เมื่อผู้รู้เจอผู้อยากรู้ ความรู้ก็ทะลักออกมา)

ว่าที่ปริญญาเอก
ตลอดเวลาพระอาจารย์ได้ถ่ายเทความรักความรู้ผ่านการดำรงชีวิตประจำวัน อาจารย์เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้นคำว่าครู นึกออกไหมครับ ครูบางคนมีคูขวางกั้น พยายามเสกสรรปั้นแต่งความเป็นครูให้ผิดปกติแบบข้าง ๆ คู ๆ ผมจึงอยากให้คณะครูผู้บริหารการศึกษาที่มาเรียนปริญญาเอกได้พบเห็นสิ่งนี้กับตาตนเอง อนุโลมให้มาร่วมสังคกรรมในวันท้าย ๆ แต่ก็ไม่ทราบว่าตามีแววหรือไม่ จึงโพล๊งกลางวงเป็นรายคนว่า ทำไมถึงมาเรียนปริญญาเอก คุณหมอจอมป่วน ครูอึ่ง คุณคอนดั๊กเตอร์ อุ้ยจั๋นตา พยายามช่วยกันตะล่อมอย่างกล่อมเกลา พระอาจารย์มาขมวดบทส่งท้ายอีก นักศึกษาเหล่านั้นโชคดีมหาศาล แต่จะได้อะไรไปกี่มากน้อยไม่ก็ทราบ ช่วงเช้าตั้งวงคุยกันอีกรอบ ทราบว่าท่านว่าที่ปริญญาเอกทั้ง 19 ชีวิต ยังติดสไตล์และวัฒนธรรมขององค์กรอยู่มาก ก็ได้แต่บอกว่า..ถ้ามาที่นี่อย่าแบกเอาตำแหน่งเอาทฤษฎีเอาความเชื่อเอาความคิดเก่าๆเข้ามาด้วย เพราะจะไม่ได้อะไรกลับไป สวนป่าไม่มีน้ำยาอะไรหรอก ไม่มีอภินิหารมากพอที่จะไปเติมน้ำที่เต็มแก้วให้ใครได้ คิ คิ..


(บรรยากาศเกาะติดสถานการณ์มีให้เห็นตลอดเวลา)

ดีใจที่มีวันนี้
ผมดีใจแทนครูอึ่งและลูกศิษย์ของพระอาจารย์โสรีช์ทุกคน คนเราเกิดมาได้เจอครูของครูนั้นยากนัก แต่เมื่อเจอแล้วก็นับเป็นวาสนา และผมก็ดีใจแทนเครือญาติสกุลเฮที่ได้มาร่วมรับการเจิมสติปัญญาจากพระอาจารย์ในทริปนี้ นับเป็นความภูมิใจลึก ๆ ของสวนป่า ที่ได้ร่วมก่อตำนานบ้านมกรากับชาวฮาเข้ามาเป่ายิ๊งฉุบกัน ดีใจกับป้าหวาน แห้วศรี อาว์เปลี่ยน ออต ครูอาราม ที่ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศที่อบอวลชวนชื่นมื่น อุ้ยกับครูอึ่ง ผู้เขียนหลักสูตรจะว่าจะไดก็บ่อฮู้ รอกอดกับป้าจุ๋มจะได้อะหยังไปบ้างโปรดรออ่านจากเจ้าตัวด้วยความระทึกระทวย ป้านาย น้าอึ่ง ลุงบางทราย หมอจอมป่วน ดูแล้ว..มันส์…พะยะค่ะ ใช่ไหมเล่า ผมแอบขยายผลตัวตนของชาวเฮตามวาระและโอกาสอำนวย คำว่าเจ้าเป็นไผได้รับการขานรับพอสมควร หนังสือจำหน่ายได้เรื่อยๆ พรุ่งนี้จะไปบรรยายที่วิทยาลัยพยาบาลสมเด็จพระราชชนนีสุรินทร์ ก็จะเอาหนังสือไปจำหน่ายด้วย เพราะเขากำหนดให้พูดเรื่องการขยายเครือข่าย..แหม ยังกะเตะหมูเข้าปากแมวเลยนะนี่ อิ อิ..

นี้แหละครูของครู
พระอาจารย์ได้หล่อหลอมลูกศิษย์ทุกรุ่นเนียนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งหายากมากในแวดวงการศึกษา เมื่อมาเจอธรรมเนียมของคนสกุลเฮ แถมยังมีเวลาอยู่ด้วยกันนานพอสมควร แต่ละวันเต็มไปด้วยความรู้คู่ความรัก ทำให้เกิดการรักความรู้ รักเรียน รักความเพียรไม่สร่างซา นอกจากร้อนวิชาแล้ว อากาศยังร้อนอบอ้าวจนบางเวลาเหงื่อซึม แต่ความเย็นใจมาบรรเทาให้ห้วงวิกฤติไปได้ด้วยดี กิจกรรมปั้นพระ เดินชมสวน เก็บผักมาทำอาหาร เดินชมป่า เด็ดหญ้าไปเลี้ยงวัว ให้อาหารไก่ต๊อก ไก่แจ้ นกยูง และเป็ดห่าน ชวนกันร้องเพลง ตั้งวงสนทนา นอนเรียนบ้าง เดินเรียนบ้าง นั่งเรียนบ้าง แต่ละวันผ่านไปเร็วเหลือเกิน

(ดนตรีกาล ยามค่ำคืน)

คืนอำลา
ผมยกเอามโหรีพื้นบ้านมาแสดงท่ามกลางแสงเทียนว๊อบ ๆ แวม ๆ
พระอาจารย์เล่นกีตาร์ร้องเพลงกันอย่างสนุก
เรียกว่าครบเครื่องเรื่องดนตรีทั้งลูกทุ่งและลูกกรุง…

ยายฉิมเก็บเห็ด
เด็ก ๆ มาปลุกตั้งแต่ตี 5 พากันไปเดินป่าออกกำลังขาและกำลังใจ ได้สุขภาพดีมาอักโข เดิน ๆ ไปน้ำลายเหนียวก็ชวนให้ชิมยอดส้มรม ยอดต้นนางดำที่รสเปรี้ยวปะแล่ม ๆ หนูนักศึกษาคนหนึ่งตาดีไปเจอเห็ดหำม้า ผมจำได้ว่าพระเคยแนะนำว่ากินได้ เด็ก ๆ เอาไปต้มให้สุกแล้วยำมาชิมกันทั่วหน้า กลายเป็นเมนูเด็ดโดยบังเอิญ (เรื่องนี้ครูแห้วอิจฉาตาร้อนมาก) มาทีไรไม่เคยได้เก็บเห็ด เราเดินป่าหลายลี้ เหนื่อยก็ชวนนั่งคุยกัน ชมโน่นชมนี่ เห็นทุกคนชอบ ผมคิดในใจว่า..ถ้ามาหน้าฝนสภาพแวดล้อมเขียวขจี เห็ดผุดมาเต็มพื้น เธอเอ๋ยสนุกว่านี้เยอะเลยนะ

(เดินป่า เก็บผัก เป็นการเดินเรียนรู้ได้ยืดเส้นยืดสาย)

เอกลักษณ์สวนป่า
ถ้ามาแล้วไม่หลงก็ไม่ใช่สวนป่าที่นี่
ป้ายบอกทางเขียนไว้แล้วแต่ยังไม่เอาไปติด
น้าอึ่งบอกให้เขียนป้ายใหม่..
“หลงทางเสียเวลา หลงบ้านครูบามาตามลูกศรนี้”

อาจารย์หายไปในป่า
ระหว่างที่เด็ก ๆ ปั้นพระดินเหนียว พระอาจารย์โสรีช์เดินเข้าป่าไปคนเดียว หายไปประมาณชั่วโมงเศษ ครูอึ่งได้รับโทรศัพท์บอกว่าพระอาจารย์หลงป่า ..เอาละสิ โจทย์นี้ไม่เหมือนรถบัสเข้าสวนป่าไม่หรอกถูกนะน้อง สอบถามทางโทรศัพท์ อาจารย์เดินไปทางทิศไหน สภาพที่ยืนอยู่เป็นยังไง ได้ยินเสียงแตรรถยนต์ที่เรากระจายตัวเพ่นพ่านค้นหาไหม คำตอบก็คือ อาจารย์ยืนอยู่จุดไหนก็บ่อฮู๊เตื้อ ยืนอยู่ใต้ก้อนเมฆกลุ่มดำ ๆ มีทางเดินรอยน้ำกัดเซาะ รถยนต์ไม่น่าจะเข้ามาได้ สองข้างทางมีแต่ต้นยูคาฯ พวกเราก็ตื่นตาแตกสิครับ ตกลงแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง
- น้าอึ่งอ๊อบนั่งรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง
- คนงานขับมอเตอร์ไซค์ลุยตามทางคนเดิน
- รอกอดบอก..ผมจะเดินกึ่งวิ่งไปทางนี้
- ผมกับครูอารามครูอึ่งนั่งรถเก๋งตระเวนหาในป่า
- แม่หวี กับอุ้ย ไปจุดธูปบนเจ้าที่เจ้าทาง

มหกรรมหลงป่าเที่ยวนี้ งัดตำราออกมาใช้ทุกประเภทเลยล่ะครับ ยังดีโทรศัพท์คุยกันได้เป็นครั้งคราว ดวงตะวันกำลังลับฟ้า บนท้องฟ้าฝนทำท่าจะลงเม็ด ถ้าแบตเตอรี่โทรศัพท์อาจารย์หมดเมื่อไหร่ก็บ่ฮู้ ถ้าความมืดมาเยือน ฝนเทลงมา ล้วนเป็นโจทย์ที่บีบหัวใจ ..อารามขับรถไปตามซอกซอยที่บอก บีบแตรเป็นระยะ ๆ บางครั้งเราก็ฉวัดเฉวียนหน้าแห้งมาเจอกัน รอกอดเหงื่อโชกเสื้อ เราจอดรถตะโกน..แล้วสอบถามไปทางโทรศัพท์ อาจารย์ได้ยินเสียงหนูไหม..อาจารย์บอกบ่ได้ยิน แต่..ได้ยินเสียงนกยูงร้อง..เฮ้อ..แบบนี้ใจชื้นขึ้นมาเป็นกอง แสดงว่าอาจารย์หลงป่าอยู่ในสวนเรานี่เอง ก่อนจะมืดตื๋อ..อาจารย์ก็เดินตามทิศที่นกยูงร้องออกมาถึงที่พัก นับว่าเจ้าโต๊กมีส่วนช่วยในการค้นหาอาจารย์อย่างมาก เหตุการณ์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..

“เสียงคนหรือจะสู้เสียงนกยูง)

(คุณหมอ JJ และชาวคณะรังสีเทคนิคบุกสวนป่าเป็นชุดแรก)

ตารางคนดีมาเจอกัน
วันที่ 3 ผมกับครูปูมาถึงสวนป่าตอนบ่าย ๆ
วันที่ 4 ครูอึ่ง อาราม อาจารย์ไพลิน พรพรรณ คุณหมอจอมป่วนมาถึง รอกอด ป้าจุ๋ม มาถึงตอนเย็น
วันที่ 5 ป้านาย หมอเจ๊ น้าอึ่ง อุ้ย มาถึงตอนเช้า
พระอาจารย์ JJ นำชาวคณะรังสีวิทยาขอนแก่น 40 ชีวิตมากินข้าวเที่ยง ช่วงบ่ายคณะจิตวิทยาที่ปรึกษา คณะครุศาสตร์จุฬา ฯ มาถึง
ท่านบางทราย อาว์เปลี่ยน ป้าหวาน ออต มาถึง
วันที่ 6 นักศึกษาจิตวิทยามาสมทบอีก 4 คน
วันที่ 8 นักศึกษาป.เอก มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 20 คนมาถึง แผ่นดินชวนนักศึกษากิจกรรมค่ายบัณฑิตมาถึงก่อนเที่ยงเล็กน้อย  หลังจากผ่านเมนูมื้อกลางวันไปแล้ว เราก็ตั้งวงสนทนา ที่เบิกโรงด้วยวงหมอแคนหมอลำเต้ยของนักศึกษา ต่อด้วยการถามใจนักศึกษาปริญญาเอก

(แผ่นดินกับลูกหลานบัณฑิตค่ายอาสา ม.มหาสารคาม)

มหกรรมเจี๊ยะ

รถวิ่งเข้าวิ่งออกวันละหลายคณะ รถขายไอติมผิดสังเกตขับตามมาดู แหม แบบนี้ก็โดนใจขาโจ๋เจ้าเก่าสิครับ มะรุมมะตุ้มกันอร่อยใต้ต้นลำไย นอกจากมีน้ำสมุนไพรใส่น้ำแข็งให้ชิมตลอดแล้ว ยังมีไอติมอ่อยร้อนตอนบ่าย เรื่องอาหารการกินทริปนี้เสน่ห์ปลายจวักระเบิด ป้าหวานและพ่อครัวหัวป่าส์ทั้งหลายช่วยกันปรุงอาหารเลิศรสโอชา น้ำหนักขึ้นไปไม่รู้กี่กิโล ตามไปดูรายการเมนูที่บล็อกของอาว์เปลี่ยนอีกทีนะครับ แต่ถ้าใครสนใจกล้วยปั่นต้องถามป้าหวานเอาเองนะครับ


(2 จอหงวน แห่งเอเซีย)

ลาก่อนสวนป่า

เก็บข้าวของมากองไว้
ใครได้อะไรกลับไปบ้างหนอ
กระซิบบอกความในใจ
กลั้นสะอื้นรื่น ๆ ต่อมน้ำตาแตกไม่ไหวปล่อยให้ไหลโฮ
ยากที่จะห้ามความปิติ
ไปดีเถิดนะคนดี
อย่าลืมถ่ายเทความในใจลงบล็อก
เราจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่ม

(อาจารย์จะหอบเอาแม่หวีขึ้นรถไปด้วย แล้วผมจะอยู่กับใครละคร๊าบบบบบบบ)

เพื่อเป็นหลักฐานว่าสังคมแห่งความดีงามนั้นไม่ไกลเกินเอื้อม

สวนป่าก็คงอยู่แบบป่า ๆ ตลอดไป

จะดูแลต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นที่ระลึก

ขอบคุณสำหรับทุกความดีความงาม

ขอบคุณคุณหมอจอมป่วนที่เกาะติดสถานการณ์แบบหายใจรดต้นคอ

ขอให้เจริญ ๆ เถิดหนาพ่อคุณ-แม่คุณ..

(ป้านายรับฉายาหญิงเก่งในดวงใจของสวนป่าไปเรียบร้อย)

หมายเหตุ
ระหว่างที่บันทึกนี้
ได้รับรายงานจากอีกาคาบข่าว
ว่าบางคณะกลับไปถึงบ้านแล้ว
บางคณะอยู่ในระหว่างการเดินทางเข้าใกล้จุดหมายแล้ว
ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพทุกสาย

แคว๊กๆ

« « Prev : จุดไต้ไม่ตำตอ

Next : พายุจริงหรือจะสู้พายุใจ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:22

    โอย ยายฉิมโดนจนได้ ใครๆ บอกว่าไปเก็บเห็ดหน้าร้อนไม่เจอหรอก ยายฉิมก็ไม่เจอ แต่กลุ่มนี้เจอครับ สมญานามว่าแห้วนั้นถูกต้องแล้ว

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:26

    จ๊ากส์ แห้วเต็มๆๆ

  • #3 เจ จิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 21 ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:05

    รสชาดเห็ดนั้นเด็ดดวงจริงๆครับ มันเหมือนตับซะจนน้องคนหนึ่งที่ไม่ทานเครื่องในรู้สึกผิดที่ทานเห็ดนี้เข้าไปเลย แต่สำหรับผมต้องบอกว่าเด็ดสุดๆ รู้สึกโชคดีที่สุดเลยครับ ตอนนี้กลับถึงบ้านแล้วเลยมารายงานตัว ส่วนการบ้านจะส่งมาแน่นอนครับ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:29

    เชิญเขียนความคิดเห็นไว้ท้ายหน้า http://lanpanya.com/mahashivalai/archives/3 หรือส่งเป็นอีเมลไปที่พี่อึ่ง อย่าลืมแนะนำตัวอีกทีนะครับ

  • #5 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 7:05

    เห็ดที่เล่านี้ น่าจะเป็นบรรณาการจากสวรรค์ อิอิ

  • #6 ออต ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 12:48

    กราบขอบพระคุณ ครูบาฯที่ใ้โอกาสได้เจอ ครูของครู
    ครูผู้ที่บรรลุแล้วในจิตวิทยาแห่งการเป็นครู

  • #7 chantana.wil ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:49

    มาที่มหาชีวาลัย  ทำให้ตามีแววมาขึ้น  ทำให้รู้ว่า  ความสุขที่แท้ คือ  การได้เรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติ … นั่นคือ …  สวรรค์บนดิน 
    ณ ชั้นสวนป่า นั่นเอง

    ขอขอบคุณ  พระอาจารย์ใหญ่พ่อครูบา  อาจารย์โสรีย์  อาจารย์หมอ  ดร.ศักดิ์พงษ์  และผู้ร่วมชะตาในวงเสวนาทุกคน ถ้ามีโอกาสหวังว่า
    คงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกนะคะ

    Poohgy  (น.ป.เอก รุ่น 3 ม.ราชภัฏมหาสารคาม)

  • #8 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:25

    จัดประกวดภาพทริปนี้ดีไหมครับ
    1 ใครจะออกกติกา
    2 ใครจะอาสา เอามือลง
    3 ใครจะเป็นกรรมการตัดสิน
    4 ฯลฯ  อิอิ

  • #9 ลานซักล้าง » สิ่งหนึ่ง นำสู่อีกสิ่งหนึ่ง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 มกราคม 2011 เวลา 0:03

    [...] SMS มา (ขอบคุณนะครับ) บอกว่า อ.โสรีช์ ออก ทีวีไทยตอนนี้อยู่ค่ะ [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.57473707199097 sec
Sidebar: 0.48322796821594 sec