โครงการไทยเข้มแต่ไม่แข็ง
วันนี้มีตัวแทนชุมชนฝั่งทุ่งกุลาร้องไห้มาเยี่ยม พร้อมกับเอาข้าวหอมมะลิใหม่มาฝากหลายถุง เป็นกลุ่มที่เคยมาอบรมที่สวนป่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็กลับไปสร้างเครือข่ายทำข้าวอินทรีย์ รวมกลุ่มกันทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ละเลิกปุ๋ยและสารเคมี 100% คุยว่าข้าวสารที่เอามาฝากมีกลิ่นหอมนิ่มอร่อย ตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะทดลองหุงและทำเป็นข้าวต้มพิสูจน์ ผู้นำเล่าว่าตั้งใจจะมาเล่าความเป็นไปให้ฟัง และอยากจะขอเชิญให้ไปเยี่ยมและนอนคุยกับชาวบ้าน 1 คืน ช่วงนี้ก็ไม่ว่างเสียด้วยสิครับ จึงขอเลื่อนรายการลุยทุ่งไปก่อน พร้อมเมื่่อไหร่จะไปนอนทุ่งกุลาร้องไห้
กลุ่มบ้านเก่าน้อยป่าโนนซาดโนนเพ็กพัฒนา อยู่ที่หมู่2 ตำบลหนองบัวแก้ว อำเภอพยัคษฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อยู่ในพื้นที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ได้รับเงินทุนหมุนเวียน พันธุ์ข้าว และด้านวิชาการผลิตข้าวอินทรีย์ ในกลุ่มทำนาดำทั้งหมด ใช้แรงงานคนเกี่ยวข้าว ปีนี้ฝนดีและเก็บเกี่ยวทันฤดูกาล เมล็ดข้าวที่ได้จึงสมบูรณ์ดี ในกลุ่มมีโรงสีเป็นของตนเอง สีข้าวบริการกันเอง และส่วนหนึ่งสีเป็นข้าวกล้องจำหน่าย ถุงละ 5 ก.ก. ราคาประมาณ 200 บาท ปีนี้พัฒนายกระดับถึงขั้นผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิจำหน่ายในราคา ก.ก.ละ 22-28 บาท
ข้าวที่เอามาฝาก มีทั้งข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง
ผมถามว่า..ในหมู่บ้านกินข้าวกล้องกันไหม?
ชาวบ้านบอกว่า..บ่ได้กิน เขานิยมกินข้าวเหนียว
อ้าว! ข้าวอินทรีย์คุณภาพดีที่คุย ๆ นี่นะ ..ไม่มีครอบครัวไหนเปิบกันเลย
โธ่ๆๆๆ..อุตส่าห์ผลิตอาหารได้คุณภาพดี
แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการบำรุงสุขภาพในครัวเรือนตนเอง
คุยกันหลายเรื่อง โยงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการดูแลสุขภาพในชุมชน ชาวบ้านยังนิยมซื้ออาหารจากรถพุ่มพวงและร้านค้า ใครปลูกผักหญ้ากินเองถือว่าด้อยหน้าตา ถ้าเป็นอย่างนี้ แผนการพัฒนาชุมชนมีปัญหาแล้วละครับ ชาวบ้านยังอยู่ในกระแสเถื่อนที่ล้างสมองให้ดำเนินชีวิตแบบหัวมงกุฎท้ายมังกร งบไทยเข้มแข็ง งบกองทุนหมู่บ้าน การแก้ไขหนี้นอกระบบ การประกันราคาสินค้า เงินยืมบ้า ๆ บอ ๆ อีกเป็นกะตั๊ก ไม่ได้มีส่วนสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง ถ้าเราไม่เจาะลึก ดูแต่รายงาน ก็จะเห็นภาพลวงตา และโชว์ตัวเลขที่สวยหรู แบบนี้พัฒนาให้ตายก็กลับมาอีหรอบเดิม “ไทยเข้มแต่ไม่แข็ง”
แม่หวีเอาน้ำเสาวรสมาเลี้ยง
เอาน้ำสมุนไพรปั่นมาให้ชิม
ฝากฟักทองกลับบ้าน
ฝากต้นสมุนไพรให้ไปปลูก
ชวนปลูกข้าวมะลิแดง
และนัดกันว่าผมจะกินข้าวด้วย
แต่มื้อพิเศษนั้นขอให้ข้าวบ้านลืมปั้นข้าวเหนียวสักมื้อหนึ่ง
ทุกครัวเรือนหุงข้าวกล้องมะลิที่แช่ข้ามคืนให้เป็นข้าวงอก
แล้วเราจะลองกินข้าวกล้องพร้อมเพรียงกัน
เรื่องการยกระดับวิถีชีวิตไปสู่การสร้างวิถีชีวิตและเสริมสุขภาพดี
ไม่ง่ายเลยอย่างที่ท่านบางทรายฝ่าฟันอุปสรรคมายาวนาน
แม้แต่การกินข้าวให้ได้ประโยชน์ต่อตัวชาวนาเองก็ต้องมีกุศโลบาย
คนที่ทำนามาตลอดชีวิต..วันนี้จะต้องมาเรียนรู้วิธีกินข้าว
โธ่ๆๆ เรื่องสุขภาวะชุมชนนี่มันเป็นเส้นผมบังภูเขาจริง ๆ นะครับ
แคว๊กๆๆ
« « Prev : ความทุกข์-สุข ต้นปี2553
8 ความคิดเห็น
หะ แรกดีใจที่พ่อครูเล่าว่าพี่น้องทุ่งกุลาเอาข้าวอินทรีย์มาให้
แต่เมื่อพ่อครูถามว่ากินอะไร กลับไปกินข้าวเหนียว…อือ…
ผมย้อนไปนึกถึงสมัยแรกๆที่ผมทำงานพัฒนาที่สะเมิง เชียงใหม่
ชชาวบ้านที่มาช่วยงาน ให้ทำอะไรทำหมด นิสัยใจคอก็เป็นชาวบ้านธรรมดา
แต่เมื่อพวกเราไปขอชาวบ้านสีข้าวกล้องมาหุงกินนั้น
ชาวบ้านที่มาช่วยงานเรากลับแอบไปหุงข้าวขาวกิน…????
อ้าว…มันเรื่องอะไรกัน คนนอกหาข้าวกล้องกิน คนใน(ชุมชน) กินข้าวขาว
เรื่องนี้น่าจะมีรายละเอียดถึงเหตุถึงผลของเขา แต่อย่างไรก็ตาม
การเปลี่ยนโลกทัศน์ ค่านิยมของคนนั้นเป็นงานใหญ่
——-
เรื่องที่พ่อครูที่เล่าให้ฟังนั้น เป็นประเด็นใหญ่ของงานพัฒนา
….คุยกันหลายเรื่อง โยงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการดูแลสุขภาพในชุมชน ชาวบ้านยังนิยมซื้ออาหารจากรถพุ่มพวงและร้านค้า ใครปลูกผักหญ้ากินเองถือว่าด้อยหน้าตา ถ้าเป็นอย่างนี้ แผนการพัฒนาชุมชนมีปัญหาแล้วละครับ ชาวบ้านยังอยู่ในกระแสเถื่อนที่ล้างสมองให้ดำเนินชีวิตแบบหัวมงกุฎท้ายมังกร งบไทยเข้มแข็ง งบกองทุนหมู่บ้าน การแก้ไขหนี้นอกระบบ การประกันราคาสินค้า เงินยืมบ้าๆบอๆอีกเป็นกะตั๊ก ไม่ได้มีส่วนสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง ถ้าเราไม่เจาะลึก ดูแต่รายงาน ก็จะเห็นภาพลวงตา และโชว์ตัวเลขที่สวยหรู แบบนี้พัฒนาให้ตายก็กลับมาอีหรอบเดิม “ไทยเข้มแต่ไม่แข็ง” …..
งานพัฒนาโดยรัฐนั้น ทำเป็นชิ้นๆ เหมือนระบบผู้ชำนาญการ เหมือนหมอเฉพาะทาง ใครทำงานดิน ก็เอาแต่ดินๆๆๆๆๆ ใครทำเรื่องข้าวก็ข้าวววววว ฯลฯ แต่ชีวิตนั้นมันทั้งหมดไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง และเมื่อเอาทุกอย่างมาบูรณาการกัน นั้น การบูรณาการของครอบครัวนาย ก ก็ไม่เหมือนการบูรณาการของนาย ข เพราะเงื่อนไขของครอบครัวต่างกัน เช่นที่ดิน แรงงาน ทุน ความรู้ ความเข้าใจ ความถนัด ความชอบ โลกทัศน์ ชีวทัศน์ นี่แหละคืองานพัฒนาโดยรัฐที่หน่วยงานเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้านไป ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการนะครับ แต่ประเทศไหนๆก็เป็นแบบนี้
ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรถึงจะดีกว่านี้ เราต้องการผู้บริหารที่เห็นการบูรณาการเป็นเรื่องจริงจัง เราต้องการชาวบ้านที่เห็นความสำคัญของการลดการพึ่งพาข้างนอก ขณะเดียวกันเราต้องการเห็นชาวบ้านพึ่งพากันและกันด้วยทุนทางสังคมเป็นรากฐาน ซึ่งไม่ง่ายเหมือนแม่ครัวฝีมือเอกที่ต้มแกงได้รสถูกปาก แต่การพัฒนาคน พัฒนาชุมชน นั้นเราไม่สามารถปรุงอะไรได้ด้วยตัวเราเอง สังคมซับซ้อนมากกว่าการปรุงเครื่องแกง สังคมซับซ้อนมากกว่าการยึดหลักการตรงไปตรงมา
ยิ่งร้ายไป คือ เราไปสร้างชาวบ้านที่มีครอบครัว ในชุมชน กว่าจะได้มาแต่ละคน แต่ละครอบครัว ก็ยากเย็น ใช้เวลาเป็นปีปี แต่เจ้าเด็กวัยรุ่นที่โตขึ้นมานั้น มันวิ่งไปตามกระแสบริโภคมากกว่าจะหาความรู้แท้จริง สุดที่เราจะวิ่งไปสกัดกั้นไว้ให้ได้หมด ดูซิครับ เดี๋ยวนี้รถมอเตอร์ไซด์ มันล่อให้ดาวน์เพียง 1 บาท (หนึ่งบาท)เด็กในชุมชนมีหรือจะไม่วิ่งไปเอาออกมาขี่เล่น งานพัฒนาคน พัฒนาชุมชนมันมากมายทำกันไม่หมดไม่สิ้นครับ แตะตรงไหนเป็นงานไปหมด
และแล้วมันคงไม่พ้นที่จะต้องกล่าวซ้ำอีกว่า ” การศึกษามันผิดพลาด ” พลาดไปหมดตั้งแต่การศึกษาจากพ่อแม่ในครอบครัว และการศึกษาในระบบโรงเรียน ไม่ต้องดูอะไรมากครับ อบรมเลี้ยงดู สั่งสอนกันอีท่าไหนเล่าถึงได้ผลผลิตออกมา มีความอ่อนด้อยไปเสียแทบทุกด้าน ที่เห็นเด่นชัดสัก 2-3 รายการ ได้แก่
นั่นคือต้นตอ ที่มาของการ “ไปไม่ถึงไหน” ของพัฒนาในทุกๆเรื่อง
ทางแก้หรือผ่อนหนักเป็นเบาน่าจะได้แก่
อิ อิ อิ .. แคว้ก ๆๆ
การบ้านของเมืองไทยและคนไทย
จุดเล็กๆแต่แผลใหญ่มาก กำลังขยายไปเรื่อยท่ามกลางความวิตกกังวลของคนที่ใกล้ชิดอย่างเราๆ
กระบวนการเป็นปัญหา วิธีการก็สับสน
น่าสงสารคนไทย มีพร้อมทุกอย่างแต่ทำอะไรไม่ได้เท่าที่ควร
เรื่องนี้จะไปฝากความหวังไว้ที่ใครก็คงจะยาก
เรากลับมาทำจากตัวเราเองดีกว่า
ค่อยๆคิด ค่อยๆปลูก ค่อยๆทำ ค่อยๆยั่ว ค่อยโม้ๆๆและโม้
รับทราบปฏิบัติ
ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ตัวเองได้รับคำตอบของการกระทำอยู่อย่างหนึ่งค่ะว่า ต้องเริ่มที่ตัวเองจริงๆเลยค่ะ ตอนนี้คนรอบข้างอาจจะมองไม่เห็นในสิ่งที่เราเห็นแต่อย่างน้อยเขาก็เห็นสิ่งที่เราทำ ส่วนการที่เขาทั้งหลายจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรก็สุดวิสัยจะไปอภิปราย……
เพราะเวลามีน้อยเกินกว่าจะทำอย่างนั้น…เอาเวลามาปฏิบัติให้มาก สร้างแรงจูงใจด้วยตัวเองและมีกัลยาณมิตรที่เข้าใจสิ่งที่เราทำเป็นแรงเสริมกำลังใจให้คิดทำต่อๆไป นี่คือปณิธานที่มุ่งเลยค่ะครูบา…
อุ้ยสร้อย เข้าใจตรงกันอยู่เสมอ แคว๊กๆ
สนับสนุนอุ๊ยสร้อย
แหม พ่อขาบันทึกนี้อาดเอี๋ยว นึกถึงท่านสส.หญิงประท้วงท่านประธานสภาชะมัดเลยค่ะ ดิฉันขอประท้วงท่านประธาน”ไม่แข็ง” 55555555555555
จ๊ากสสสสส แคว๊กๆๆ