หัวโม่งเพื่อชีวิตและสังคม
อ่าน: 2580
สืบเนื่องจากเรื่องลูกโม่งที่เล่าในตอนที่แล้ว ผมก็เขียนสะเปะสะปะถึงสภาพที่เกิดขึ้นรอบๆบ้านในแต่ละวัน ลงบันทึกไปแล้วได้รับความเห็นที่เป็นประโยชน์กลับมากมาย แต่วันนี้ถือว่าเป็นพิเศษจริงๆ เป็นความรู้ใหม่สดๆรับทราบแล้วสามารถนำไปปฏิบัติทันที เกิดประโยชน์โดยตรง แถมยังอร่อยด้วย ผมโง่มานาน..ปลูกต้นเหรียงไว้หลายสิบปีมาแล้ว จนกระทั้งต้นโตออกดอกออผลแต่.. คนที่ไม่มีกึ๋น..เห็นอะไรก็ไม่เข้าใจ อย่างมากก็แค่แปลกใจ เพราะมันไม่ใช่พันธุ์ไม้ที่ไม่มีอยู่ในพื้นที่ถิ่นมาก่อน ..ก็เลยทำแบบ
“ปลูกไว้ก่อนพ่อสอนไว้”
ก่อนหน้านี้ ผมชี้ชวนให้ญาติโกทั้งหลายช่วยกันเขียน..เขียน บันทึกเรื่องราวต่างๆ เนื้อหาการเขียนของเรามีผู้รู้มาอ่าน ถ้าท่านเห็นว่าสิ่งที่เขียนยังตกหล่น ท่านก็ช่วยเติมให้ เป็นการต่อยอดความรู้ที่ยอดเยี่ยมมาก
“ดังนั้นการเขียน คือวิธีเรียนประการหนึ่งที่สำคัญมาก”
เมื่อเร็วๆนี้ มีนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์มาปรึกษา เรื่องเขียนงานไม่ออก ไม่รู้จะตั้งต้นเขียนอย่างไร ขมวดประเด็นให้จะแจ้งอย่างไร จากการคุยกัน ส่วนมากจะบ่นเรื่องการเขียน ..เขียนไม่ออก..ทำไมมันเป็นยังงั้นละ ในเมื่อค้นคว้าเนื้อหามาพอสมควรแล้ว แสดงว่ามีปัญหาที่การลิขิต นักศึกษายุคนี้ใช้คอมพิวเตอร์เพราะมันรวดเร็วและสะดวกดี ไม่ทราบว่าวันหนึ่งๆได้เขียนบันทึกด้วยลายมือสักกี่บรรทัด เมื่อไม่ฝึกฝนทักษะต่างๆมันก็เหี่ยวเฉา ครั้นจะเอาจริงเอาจังก็อึ้งกิมกี่สิครับ
ขออนุญาตยิบยกที่ท่านมหาชัยวุธ บันทึกต่อยอดให้ผมเป็นนักเรียนตั้งแต่ไก่โห่ บทความขึ้นลานปับท่านก็สอนปุบทันที่ทันด่วน รู้แล้วผมก็คว้าถาดใบหนึ่งไปเก็บลูกโม่ง นึกว่าจะมีไม่มาก ที่ไหนได้ต้นเหรียงส่งบรรณาการอาหารชั้นสูงมาให้จนล้นถาด เก็บสนุกด้วยนะครับ มีก้านเล็กๆให้จับลูกเล็กๆขาวนวล ส่วนเมนูอาหารนั้นคงต้องทดลอง ผมเป็นคนอีสานที่ชอบกินสะตอ ตอนนี้ปลูกสะตอไว้หลายสิบต้นแต่ยังไม่ออกฝัก ที่ผ่านมาอาศัยชะอมกินแก้ขัด แต่ตอนนี้มีลูกโม่งที่รสชาติใกล้เคียงกว่า จึงครึกครื้นในใจยิ่งนัก จะเริ่มลุยตั้งแต่มื้อเช้านี้เลย ด้วยการยำมะเขือกรอบใส่ถั่วพูใส่งาคั่วใส่ดักแด้ เอาลูกโม่งเป็นเครื่องเคียง อร่อย+แซบ! จริงๆนะขอรับ
ฝากเรื่องไปถึงคนที่ไม่กินผัก
ชอบไม่ชอบเป็นพื้นฐานส่วนตัว
ก็คนไม่ชอบกินน่ะ..จะให้ชอบยังไงละ
ไม่ชอบก็ไม่แตะนะสิ
ถึงมีผักปนมาในอาหารก็เขี่ยออก
แม้แต่ผักชีก็เมิน
เอาอย่างนี้ดีไหมครับ เพื่อสุขภาพของเรา ช่วงปลายเดือน 28-31 จะมีเมนูดวลสะเดา เห็นทีจะต้องเพิ่มเอาลูกโม่งไปบรรจุไว้ด้วย ป้าหวานเล่าว่าขอนแก่นสะตอแพงเหลือเกิน ถ้ายังสนใจจะมาลองลูกโม่งมะโรงมะเส็งก็ได้นะครับ ..หาที่ไหนได้..อาหารชั้นสูง หล่นลงมาจากท้องฟ้าวันละตุบสองตุบ เรามาลองออกแบบทำอาหารแนะนำคนที่ไม่ชอบผัก ให้ชื่นชิมแบบค่อยเป็นค่อยไปดีไหมครับ เช่น ข้าวต้มมะรุม ยำไข่ห่านมะเขือกรอบ ไข่เจียวยอดมะกล่ำ ฯลฯ
ความรู้ที่เกิดจากการต่อยอดเรื่องลูกโม่ง
BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17พฤศจิกายน 2009 เวลา 6:41
“ลูกโม่ง” หรือ “หัวโม่ง” นี้แหละ ไม่ว่าจะเป็นโม่งเหรียงหรือโม่งตอ ใช้เป็นผักสดกินกับน้ำพริกหรือแกงส้มแกงเผ็ดก็ได้ ดีนักแล…
ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็มี “สะตอป่า” (บางคนว่า่ เหรียง) ขึ้นอยู่ในวัดต้นหนึ่ง ลำต้นราว๑-๒ คนโอบ สูงราวน่าจะถึงสิบเมตร ก็เป็นลูกโม่งตลอดเกือบทั้งปี ตกเกะกะโดนหลังคาบ้าง คูน้ำบ้าง ถนนบ้าง…
มีน้องเณรชาวนครรูปหนึ่ง บอกว่า “กินได้” และหลายคนก็ยืนยันว่ากินได้ แต่ก็ไม่มีใครคิดจะเก็บไปกิน… วันหนึ่ง มีแกงเผ็ดแต่ไม่มีผัก น้องเณรจึงไปเก็บลูกโม่งมาล้าง ใส่จานถวายเป็นผักเหนาะ เป็นที่ถูกใจของพระคุณเจ้า เหลือจากพระคุณเจ้าแล้ว พวกเด็กวัดซึ่งเป็นชาวใต้ทั้งหมด ทดลองแล้วก็ชอบใจจึงไปเก็บมาเพิ่ม…
รดชาติของลูกโม่ง คล้ายๆ กินสะตอทั้งเปลือก ฝาดๆ กรอบๆ และมีกลิ่นของสะตอหรือเหรียง ยามไม่มีผัก สามารถแก้ขัดได้ ทำให้เจริญอาหารยิ่งขึ้น… และตั้งแต่นั้นมา ลูกโม่งต้นนี้ ก็ไม่ค่อยจะได้หล่นถึงหลังคาหรือคูน้ำ เพราะมีคนคอยช่วยเก็บช่วยสอยตลอด…
เจริญพร
« « Prev : บ้านผมโดนระเบิดตกใส่
Next : แนวคิดขยับเศรษฐกิจพอเพียง » »
1 ความคิดเห็น
เจริญพร