เรียนวิชาติดดิน
(แคบหมูลำพูน องุ่นสระบุรี แกงเห็ดบุรีรัมย์ เป็นสื่อการสอน)
ชีวิตบ้านป่า คนอยู่ป่าควรดำรงตนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เข้าเมืองตาหลิ่วไม่หลิ่วตาตาม เดี๋ยวก็ตาแหก หรือไม่ก็โดนแหกตา การปรับตัวเข้ากับธรรมชาติจะมีความสุขมากกว่าที่จะไปปีนเกลียว บางคนมาบ้านป่าแต่อยากจะให้มีนั่นนี่แบบอยู่ในเมือง มองหาไอ้นั่นก็ไม่มีไอ้นี่ก็ไม่สะดวกก็เลยทุกข์ แทนที่มาแล้วจะสนุกกลับหงอยเพราะความเคยชิน ที่สวนป่าจึงแอบสอนวิชาต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ดังนี้
(ถ้าไม่เห็นภาพทั้ง 2 พร้อมกัน เราจะนึกไม่ออกว่าแม่ไก่เลือกที่ออกไข่ที่ไหน)
1. วิชาแรก ปรับตัวปรับใจให้มีความสุข เกี่ยวข้องกับวิธีคิดและการสังเกตุ อาจจะได้เรียนวิชา แม่ไก่หาที่ออกไข่อย่างในรูปข้างบนก็ได้
2. วิชาทดลองใช้ชีวิตช่วงสั้น ๆ ทำอยู่ทำกินบนหลับนอน บนฐานความไม่พร้อม คนเราเมื่อแปลกถิ่นแปลกที่ ถ้าไม่ละวางก็จะมองหาความพร้อม ถ้าไม่เปลี่ยนมุมมองก็จะทุกข์
3. วิชาการจัดการความรู้ในธรรมชาติ จะชวนเดินชมแล้วชี้ชวนดูว่า ในธรรมชาติมีชุดความรู้ที่มหาศาลและสำคัญอย่างไร เธอเห็นปลวกไหม แมลงไหม เห็ดไหม ต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อย ต่างเกื้อกูลกันฯลฯ ถ้าเจอช่วงเห็ดออกก็จะได้เก็บเห็ด
4.วิชาที่สี่ วิชารักบ้านเกิด เธอเห็นไหม นี่แดดนะ นี่ลมนะ นี่ฝนชุ่มฉ่ำนะ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล แล้วประเทศเราก็มีสิ่งนี้มากกว่าประเทศอื่น ต้นทุนของโลกมากองอยู่ที่เรา ทำให้เรามีทุ่งนา ป่าไม้ พืชไร่พืชสวน สารพัดสารพัน ประเทศอื่นเขาทำไม่ได้หรอกที่จะให้มีแดด-ลม-ฝน-ที่พอดีอย่างนี้ เธอรู้ไหม แดดอ่อนแต่ละเช้ามีมูลค่าเท่าไหร่ ฝนตกแต่ละครั้งตีราคาเท่าไหร่
5. วิชาที่ห้า วิชาวิจัยแบบไทบ้าน พาไปดูแปลงปลูกมะรุม มะกล่ำ ผักยืนต้นชนิดต่างๆ จะชวนปลูกต้นไม้เอกมหาชัย พืชพลังงานทดแทนเป็นที่ระลึก
6. วิชาที่หก วิชาหม้อข้าวหม้อแกง ชวนทำอาหารบ้านป่า แบ่งกลุ่มให้คิดเมนู ไปเก็บผักมาผัด-ต้ม-ยำ-แกง-ตามถนัด จะแจกหม้อดินให้ไปทดลองหุงข้าวแบบโบราณ ถ้าโชคดีรอกอดอาจจะสอนวิชาเตาไฟแบบดาโกต้า คราวนี้สนุกกันใหญ่
7. วิชาที่เจ็ด ช่วงกลางคืน จะชวนสนทนาว่าด้วยวิธีเรียน และการค้นหาความรู้ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ชวนคุยเรื่องเจ้าเป็นไผ
8. วิชาที่แปด จะชวนไปลงทุ่ง ไปพบปะนักสู้ชีวิตที่เขาทำเรื่องบริหารจัดการครัวเรือนตามแนวทางพระราชดำริ นักศึกษาจะได้ไปพบปะนักปฏิบัติด้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวจริงเสียงจริง
9. วิชาที่เก้า เรื่องที่ชาวค่ายสนใจและเสนอ อาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสอบถาม การเสนอแนะ
10. วิชาที่สิบจะให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอว่า มาที่นี่แล้วได้อะไรกลับไป
11. วิชากอด อำลาแล้วขึ้นรถ บ๋ายบาย
ในกรณีมีครูอาจารย์มาด้วย ก็จะชวนสนทนา ในประเด็นครูกับนักเรียนจะลงลำเรือลำเดียวกัน จะต้องช่วยกันพายลำนาวา เรียนรู้ด้วยกันได้อย่างไร ในเรื่องเดียวกันมันมีชั้นการเก็บเกี่ยวความรู้ต่างระดับกัน ข้อดีก็คือทุกคนจะมีหัวอกของผู้เรียนเหมือนกัน ถ้าครูกับลูกศิษย์เห็นอกเห็นใจซึ้งกันและกัน การปฏิรูปการศึกษาจะง่ายขึ้น
ฝนตกพรำมาแต่เมื่อวาน เมื่อคืนนี้นอนฟังฝนตกเบา ๆ กล่อมเราให้หลับสบาย วันนี้ก็คงเปาะแปะต่อไปอีก ออกไปเดินก็เฉาะแฉะ แต่ก็สนุกนะ เราจะได้เห็นภาพธรรมชาติในยามชุ่มฉ่ำ นอกเหนือจากภาพปกติธรรมดา เพียงแต่เวลาเดินต้องดูให้ดี อย่าไปย่ำรากไม้ที่เขากำลังหาอาหาร
(เห็ดไค จากพ่อใหญ่ดา)
พูดถึงอาหารชาวป่าช่วงนี้ เห็ดดูจะเป็นพระเอก เคียงคู่มากับผักสด หน่อไม้ ยอดตำลึง ยอดบวบ ยอดฟักทอง ยอดกะทกรก ยอดผักปัง ยอดมะระขี้นก ยอดผักชะอม ยอดมะกล่ำ ยอดมะรุม มีให้เลือกมากมายจนต้องมาดูเมนูป่า ว่าอะไรแกงใส่อะไรมันถึงจะกลมกล่อม ตรงนี้จะต่างจากคนเมือง วิธีเลือกจะต่างกัน คนเมืองจะเลือกอาหารสำเร็จรูป แกงอะไร ผัดอะไร นึกอยากจะกินอะไร
(เห็ดละโงกจากเจ้าหนูเปี๊ยก)
คนบ้านป่ามีขั้นตอนอีกแบบหนึ่ง จะแกงอะไรร่วมกับผักอะไรก็ควรคำนึงถึงภูมิปัญญาป่าเหมือนกัน ช่วงนี้มีบรรณาการจากสวรรค์ เห็ดเกิดหลายชนิด เห็ดแต่ละชนิดบางทีก็มีผักที่เข้ารสกัน ..วันนี้พ่อใหญ่ดาแห่งเม็กดำ ฝากเห็ดไคมากับหลานสาวที่ฝึกงานที่นี่ เม็กดำมีป่าธรรมชาติ ที่เป็นแหล่งเห็ดป่านานาชนิด ..เช้านี้เจ้าเปี๊ยกลูกน้าไหล คนงานมาช่วยกรีดยาง มาเรียกป้าหวี ป้าหวี แต่เช้า..เสียงเรียกมาพร้อมกับเห็ดละโงกมาให้ 10 กว่าดอก เมื่อรวมกันแล้วน่าจะได้แกงเห็ดหม้อย่อม ๆ เชียวแหละ ผมบอกแม่หวีวันนี้จะขอลงมือเอง จะแกงเห็ดแบบง่าย ๆ ทำตามที่ใคร่ครวญว่าจะแกงแบบไหนใส่อะไร ทดลองดูเผื่ออร่อย อิอิ
วิธีทำ
1. ยกหม้อตั้งไฟไม่ต้องใส่น้ำเยอะ เพราะจะมีน้ำเห็ดออกมาอีก
2. น้ำเดือดเอาน้ำพริกปลาป่นที่แวะซื้อจากสระบุรีใส่ไป 4 ช้อน
3. เอาเห็ดที่ล้างแล้ว 30 ดอกใส่ลงหม้อ
4. ปล่อยให้เดือดสักพักบุบพริกที่หนูสวนกับหอมแดงใส่ลงไป
5. เติมน้ำปลา ชิมให้ได้ที่
6. ฉีกใบมะกรูดกับแมงลักหรือยอดชะอมใส่ลงไป
7. ปิดฝาหม้อแล้วยกมาโต๊ะอาหาร
8. คราวนี้ก็เปิบสิครับ อิอิ
8 ความคิดเห็น
ขอแลกเปลี่ยนเรื่องการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ไม่ใช่เฉพาะสวนป่านะครับ ทุกๆครั้งไม่ว่าใครจัด จัดให้ใครหรือจัดที่ไหน ? ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เสียดายเงิน เวลาของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าช่วยกันมันก็จะเกิดประโยชน์คุ้มค่าขึ้น ดีกว่าจัดๆไปได้ประโยชน์ไม่เต็มที่
คงแยกพูดด้านผู้จัด อันนี้หมายถึง
-ผู้บริหารหน่วยงานที่จัด (อาจารย์ที่พามาด้วย) ต้องชัดเจนว่าจะพาใครมา มาเรียนรู้อะไร จะได้อะไรในเวลาที่จำกัด มาถูกงานไหม ? เช่นพามาสวนป่า รู้จักสวนป่าไหม ? สวนป่ามีอะไรให้เรียนรู้ ? จะได้ไม่เกิดอาการ มาผิดงาน
-ทีมวิทยากร ก็ต้องชัดเจนว่าใครมา ? อยากมาเรียนรู้อะไร ? จะให้อะไรได้บ้างในเวลาที่จำกัด จะได้ไม่ผิดงานเช่นกัน อันนี้ต้องพูดคุยกับคนที่พามาให้ชัดเจน รวมทั้งทีมวิทยากรก็ต้องมีลมหายใจเดียวกัน
-ผู้เข้ารับการอบรม หรือคนที่มา ผู้จัด(หมายถึงคนที่พามา) ต้องอธิบายให้คนที่มาเข้าใจว่า จะไปไหน? ไปทำไม ? ไปทำอะไร ? แล้วจะได้อะไรบ้าง ? คนที่มา ถ้าเป็นไปได้ก็เต็มใจมา ไม่ใช่บังคับมา
ก็ว่ากันไปอย่างที่ควรจะเป็น ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร มาๆเหอะ เดี๋ยวก็โดนเคาะกะโหลกเอง คงได้อะไรไปบ้างไม่มากก็น้อย ประเภทว่าทำให้ดีที่สุดในสถานะการณ์ ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ขอคารวะ 1 จอก
ทุกอย่างควรจะเป็นไปตามที่ท่านจอมป่วนเสนอ
อย่าลืมดูแลสุขภาพนะครับ พ่อครูฯ (ผมคือคนที่ไปร่วมขุดดินถมถนนกับ SCG แต่ไม่ใช่ SCG ครับ)
ชื่อผม หนุ่มเมืองกล้วยไข่ ครับ
น่าอิจฉาพ่อครูจังค่ะ ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ เป็นชีวิตที่มีความสุขมากกว่าชีวิตที่อยู่ในเมือง ถึงแม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม แต่ก็สู้ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติไม่ได้นะค่ะ
chakunglaoboy
ด้วยความยินดีครับ ยังเหลือหลุมรออยู่นะครับ อิอิ
nuaor
อย่าอิจฉาเลย อยู่ที่ไหนก็สุขได้ ถ้าทำใจให้ปกติสุข อิอิ
อย่าลืมกินมะรุมแก้เซ็ง
หลุมไฟดาโกต้า Dakota Firehole ตามคำขอครับ