การพึ่งพิงป่าของพี่น้องหงสา

4 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 28 กันยายน 2011 เวลา 12:21 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1596

enter-post-title-here

นั่งปั่นรายงานเรื่องนี้อยู่ครับ พาสาลาวเสียด้วยแต่เอาขึ้นโชว์ไม่เป็น

กลุ่มบ้านที่1

กลุ่มที่2

กลุ่มที่ 3

ประเภทการใช้สอย % ประเภทการใช้สอย % ประเภทการใช้สอย %
1. อาหารจากพืชป่า 87 1. อาหารจากพืชป่า  72 1. ฟืน  99
2. ไม้ไผ่ 83 2. ฟืน 71 2. ไม้ไผ่ 94
3. ฟืน 75 3. ไม้ไผ่ 68 3. อาหารจากพืชป่า 94
4. หาของป่ามาขาย 47 4. อาหารจากสัตว์ป่า 17 4. หาของป่ามาขาย 60
5. ไม้สำหรับก่อสร้าง 42 5. สมุนไพร 15 5. อาหารจากสัตว์ป่า 23

เปอร์เซนต์ หมายถึง ร้อยละของครอบครัวทั้งหมดที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า

ประเด็นที่อยากอวดก็คือว่า พี่น้องชาวหงสามีการพึ่งพิงป่าสูงมากๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ไม้ใช้สอย ฟืน หาเก็บของป่ามาขาย หรือแม้กระทั่งสมุนไพร นึกไม่ออกจริงๆว่าหากขาดป่าแล้วพี่น้องจะอยู่กันได้อย่างไร

หากจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ที่อยู่ที่กินของพี่น้องบรรดาท่านเหล่านี้แล้ว ไม่เพียงแต่จัดสรรที่ทำกิน หาพืชมาให้ปลูก หางานให้ทำเพียงเท่านั้น

ต้องหาป่ามาคืนให้พี่น้องด้วย ดีที่คิดเรื่องนี้ไว้เมือสองปีก่อน ทำให้พอขอตังค์เขาเอาไว้ได้บ้าง ตอนนั้นมีแต่คนหัวร่อว่า จานย์ผีบ้านี้เอาหยังใส่ในดำรัสให้รุ่มร่ามทำไม

อย่าลืมเด้อ จานเปลี่ยน


บุรีรัมย์โมเดล ทางออกของภาวะ ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 19 กันยายน 2011 เวลา 2:51 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1547

 

ไม่ว่าคนทางสยามจะพูดว่า “ข้าวยากหมากแพง” หรือคนทางลุ่มน้ำโขงจะพูดว่า “ข้าวขาดแลง แกงขาดหม้อ” ก็พอจะแปลความหมายออกว่าเป็นภาวะทุกข์เข็ญยากลำบาก ที่ไพร่ฟ้าประชาอาณาราษฎร ต้องเดือดร้อนกันทั้งผอง

ด้วยว่าข้าว เป็นพืชอาหารหลักของคนในแถบอุษาคเนย์ มาช้านาน  ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศน์ เขียนไว้ว่าคนโบราณที่เคยอาศัยอยู่แถวๆนี้ ท่านปลูกข้าวเป็นมาตั้งแต่ ๕-๖๐๐๐ ปีที่แล้ว บรรพชนชาวเราจึงผูกพันกับข้าวตั้งแต่นั้นมา การพัฒนาการปลูกข้าวนั้น เริ่มตั้งแต่การปลูกข้าวไร่บนที่ดอน การหว่านข้าวตามริมบึง จนมาถึงการทำนาที่ควบคุมระดับน้ำชลประทานได้ มีทั้งนาหว่านน้ำตม นาหว่านกะชุที่หว่านไว้รอฝน ส่วนที่เขมรแถบริมโตนเลสาบนอกเมืองเสียมเรียบนั้นผมเห็นชาวนาหว่านข้าวฟางลอยไว้ตั้งแต่ก่อนฝนแรก ปล่อยวัวควายเดินแทะเล็มไปพลางๆ หลังจากฝนมาน้ำฟ้าหลั่ง น้ำหน้าดินก็มาท่วมขัง

ปัจจุบัน ท่านพากันหันมาปลูกข้าวแบบกล้าต้นเดียว และล่าสุดแม่ใหญ่ท่านกำลังนำพาน้องน้อยนักเรียนทำนาโยน บางเสียงก็โอดครวญมาว่า การทำนาแบบขังน้ำเป็นบ่เกิดของก๊าซโลกร้อนไปโน่น (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเหมือนนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะหรือไม่….) นี่ก็เกี่ยวพันกับเรื่องข้าวทั้งนั้น  

วิถีชีวิตของชาวกสิกร ต่างผูกพันกับฮีตคองประเพณีที่เกี่ยวกับ “ข้าว” นั้น มีมาตั้งแต่บุราณในทุกสังคมทุกชนชั้น เช่น พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของพระราชา หรือพิธีแฮกนาในท้องถิ่น พิธีทำขวัญข้าว พิธีเปิดประตูเล้าข้าวหรือบุญก่ำฟ้า ไปจนถึงการแต่งพิธีไหว้สาเวลาควายพระอินทร์มากัดกินข้าว ฯลฯ

วิถีพุทธแบบสยาม รวมถึงภาคพื้นอุษาคเนย์ ก็มีงานบุญที่เกี่ยวพันกับ”ข้าว”เกือบตลอดทั้งปี อาทิเช่น บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญคูณลาน บุญประทายข้าวเปลือก บุญข้าวจี่ ตานข้าวใหม่ เป็นต้น

“ข้าวกุ้มกิน” หรือข้าวพอกินตลอดปี จึงเป็นประเด็นคำถามหลักที่ผมมักใช้ถามไถ่ เพื่อเป็นดัชนีประเมินความอุดมพูนสุขของชุมชน หรือครอบครัวนั้นๆ

การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องใน สปป ลาว ท่านกำหนดไว้ว่า ประชาชนที่เสียสละเพื่อการพัฒนาโครงการ ต้องได้รับการเลี้ยงดูข้าวสารอาหารแห้งให้เพียงพอตลอดระยะเวลา ๓ปี หมายความว่าเฉพาะข้าวสารนั้น ท่านให้เลี้ยงดูคนละ ๒๕กิโลต่อคนต่อเดือน อันนี้ท่านอิงตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามทางผู้หลักผู้ใหญ่ทางฝ่ายเจ้าของประเทศท่านก็อดห่วงใยไม่ได้ว่า จะทำให้ประชาชนท่านเกียจคร้านนั่งงอมืองอเท้ารอกินข้าวฟรีหรือไม่? ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายรอการแก้ไข ไม่นับรวมถึงโจทย์เกี่ยวกับวิธีการ ว่าจะจ่ายเป็นเงินดีไหม หรือหาข้าวสารมาให้ แล้วจะควบคุมคุณภาพได้อย่างไร?  หากจ่ายเป็นเงินแล้วผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ถนัดรถราจะไปซื้อที่ไหน? ลองชวนจัดตั้งร้านค้าชุมชนจะเป็นไร ทั้งหมดเป็นเศษเสี้ยวของโจทย์ที่ต้องค่อยๆแก้ไข

ปีนี้น้ำท่วมหนัก ข้าวกล้าเสียหาย ทั้งในที่ในลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา แม่กลอง รวมถึงในพื้นที่อ่างโต่งน้ำแม่โขง แม่น้ำชี น้ำมูล น้ำสงคราม ลำโดม และทางอีกเบื้องฝั่งหนึ่งของแม่ของในเขต สปป ลาว เห็นทีปีนี้ประชาชีคงหนีไม่พ้นภาวะ ข้าวยากหมากแพง ข้าวขาดแลงแกงขาดหม้อ เป็นแน่แท้

แต่ผมว่าทั้งนี้ทั้งนั้น หากเป็นคนเดินดินท่านหนึ่ง ที่ชื่อ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธ์ ท่านคงไม่นั่งเฉยรอรับ ภาวะข้าวขาดแลงแกงขาดหม้ออย่างเด็ดขาด ครูบาฯท่านเป็นนักคิด นักทดลอง นักปฏิบัติ ที่สำคัญท่านรู้จักถอดบทเรียนแล้วนำมาถ่ายทอดได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านเป็น สว(สูงวัย)ไอที ที่ผู้น้อยต้องยอมคำนับ ข้อเขียนถ้อยคำของท่านครูบา ชวนติดตาม เรียบง่าย แต่ความหมายล้ำลึก นั่นเพราะท่านถ่ายทอดมาจากของจริงที่ได้ทำจริงๆมากับมือ

มนุษย์เรา ไม่ใช่แม่เหล็กที่จะสามารถมีแรงดึงดูดคนอื่นได้ แต่สำหรับครูบาสุทธินันท์ท่านนี้ เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนนักที่สามารถดึงดูดมหาชน จากมหาสาขาให้เข้ามาหาท่านได้อย่างไม่รีรอ ลองไล่เลียงดูรางวัลที่เชิดชูท่าน ลองไล่เลียงดูประดาคณะกรรมการต่างๆที่ท่านได้รับเชิญเข้าไปร่วม ไม่อาจแจกแจงได้จริงๆ ลองไล่เลียงดูพันธมิตรที่มาพัวพัน ฝากตัวเป็นน้องนุ่งลูกหลานรอบกายท่านผมว่า(หากยกเว้นผมไว้สักคนแล้ว)แต่ละท่านระดับสุดยอดหัวกะทิทั้งนั้น สิ่งใดทำให้ท่านมีแรงดึงดูดได้ถึงเพียงนี้ สิ่งนั้นคือ ท่านเป็น “ของจริง” หนังสือ บุรีรัมย์โมเดล ในมือของท่าน จึงเป็นเรื่องราว “ความจริง” ที่กลั่นกรองยกหยิบมาจาก “คนจริง” ที่ท่านสามารถนำไปใช้กับ “ชีวิตจริง” ได้แน่นอน


ร่ำเปิง หละปูน

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 6 กันยายน 2011 เวลา 11:09 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2133

เห็นพ่อครูบา กับขาใหญ่ท่านแวะเวียนไปหละปูนชัย เป็นตาสะออนหลาย นึกขึ้นได้ว่ามีรูปรอยคราวที่ไปทัวร์ไม้ไผ่ครั้งกระโน้นที่ยังไม่ได้นำมาอวด จึงใคร่ขอร่วมร่ำเปิงเมืองหละปูนด้วยคนครับ

 

หละปูนเหยงามฟ้า          ยามแลง

สูรย์ส่องงามสาดแสง      แต่งแต้ม

ระบำเมฆร่วมแสดง         งามแม้น

ดุจดั่งเป็นแว่นแคว้น        แดนสรวงเมืองแมน

 

อารามงามสงบ               พาเข้าพบนิพานสถาน

มีมาแต่โบราณ                เป็นหลักฐานความฮุ่งเฮือง

 

ดอกสาละวางบนมือสื่อสาระ                   

อยู่ที่จะปล่อยวางหรือยึดถือ

ว่าตัวกูของกูไม่ปล่อยมือ                          

มุ่งยึดถือทั้งอำนาจและสินทรัพย์

 

  

นวลนาฏน้องนาง ร่ายรำขับฟ้อน   แขนเอวแอ้นอ้อน อรชรแช่มช้อย

เยื้องย่างวาดแขน แป๋งตาชม้อย งามหยดย้อยนงคราญ

งามแม่กวงไหลผ่านหน้าพระธาตุ งามศิลปะหม้อดอกตอง เหมือนกับสัญญานว่าเมืองลำพูนมีอัตลักษณ์ของตนเอง แม้นว่าจะผ่านวันเวลายุครุ่งเรือง ร่วงโรย ฟื้นฟู หลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ครั้งสมัยพระนางจามเทวีแห่งทวาราวดีละโว้  ผ่านการอพยพหนีโรคร้าย แล้วกลับมาใหม่ จนถึงยุคฟ้าเมืองยองมาตั้งหลักแหล่ง

ลำพูนเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกัน ของสังคมเกษตร กับนิคมอุตสาหกรรม เป็นตัวอย่างของความเจริญทางวัตถุควบคู่ไปการรักษ์ฮีตโบราณ

ทำไมไม่มีใครคิดทำ โมเดลหละปูนบ้างน้อ

อ้าว อ้าว เลอะเลือนลามปามไปแล้ว (สงสัยพิษหมากัดกำเริบ อิอิ)


วาทะพี่Taxi “คุณนี่ท่าจะบ้า”

7 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 6 กันยายน 2011 เวลา 1:12 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1419

ตีสี่ ปั่นต้นฉบับเสร็จส่งเมล์แล้ว รีบเข้านอนเอาแรง เจ้านายมาเยี่ยมทั้งนายใหญ่นายรอง

๘ โมงเช้า มีหน้าอยู่เรือนพักสุพาพอน พาเจ้านายไปดู ดู ดู ดูงาน

๑๒ โมง พาเจ้านายแวะกินข้าวที่แคมป์ บอกลาเจ้าถิ่นก่อนกลับ

๒ โมงบ่าย ถึงเมืองเงิน ยังพอมีเวลาเหลือ พาเจ้านายไปเบิ่งน้ำของที่ท่าข้ามบักปากห้วยแคน บ่อนที่เพิ่นจะสร้างขัวข้ามแม่น้ำ

๓ โมงบ่าย กลับมาถึงด่านชายแดน ข้ามด่านกลับบ้านเรา ฉลองกาแฟเย็นหวานๆให้ฉ่ำใจ แล้วนั่งรถตู้มาน่านแวะกินหอยทอดแป้ง

๑ ทุ่ม ถึงสนามบินน่าน

๓ ทุ่ม ถึงสนามบินดอนเมือง เดินวนหลงทางก่อนเจอช่องเล็กๆพาไปโผล่ริมถนน

โบกแท็กซี่คันแรก “ไปนครชัยแอร์ครับ”….“หา…” “ไปนครชัยแอร์ไหมครับพี่” ...”ไปครับ”

………”ลงเครื่องแล้วไปต่อรถเหรอครับ” ….”ครับพี่ผมมาจากลาวขึ้นเครื่องที่น่าน แล้วจะต่อไปขอนแก่นครับ”

………”คุณจะบ้าเหรอ???????”

“พ่อเจ้าประคุณ….นี่ผมใครเขาจะเชื่อเนี่ย ว่ารับคนจากสนามบินไปส่งท่ารถทัวร์” “เอ่อ….พอดีผมเอ่อ…”

“นี่ผมเพิ่งตีรถมาจากวังน้อยนะนี่ คนเมื่อกี้ก็แปลกประหลาดไม่แพ้คุณหรอก มาไม่ทันรถจ้างผมพันหนึ่งให้ขึ้นทางด่วนไปดักรอรถทัวร์จะไปยโสธร ทั้งๆที่ถ้าทิ้งตั๋วใบนั้นแล้วซื้อตั๋วเที่ยวต่อไปหมดเงินแค่ห้าร้อยกว่าบาท”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากขาดการจัดการที่ดีประชาชีอาจหัวร่อในความเขลา แต่ผมก็มีเหตุผลนะ สามทุ่มแล้วจะหาเครื่องที่ไหนต่อไปขอนแก่น รึว่าเราคิดชั้นเดียว ทำไมไม่นอนพักกรุงเทพฯแล้วรุ่งขึ้นจับเครื่องเที่ยวเช้าไปขอนแก่น ที่นัดหมอไว้ทันเหลือแหล่ ไม่เป็นไรพลาดไปแล้วหลับมาในรถหกชั่วโมงก็ถือว่าได้พัก แต่มันมาเป็นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี่สิ

ลงรถที่ขอนแก่นใกล้ๆตีห้า นั่งงงง่วงอยู่พักใหญ่ด้วยความที่ไม่ได้จัดการเรื่องที่พักไว้ ญาติโยมที่เคยมารับเคยจัดการให้ท่านก็หมดโครงการกลับบ้านกันหมดแล้ว (นี่แหละหนา คุณชายเคยสบายจนเคยตัว) ไปแทมมารีนก็ไม่มีเบอร์ ไปพิมานรึ ไปบุษราคัมดีไหม ไม่เอาดีกว่าไปแถวโฆษะหรือเจิญธานีท่าจะดี เผื่อกลางวันจะได้เดินไปสอยเจ้ากระดานชนวนไฟฟ้ามาสักแผ่น ว่าแล้วก็แบกเป้สองใบเดินลัดเลาะสุ่มมืดไป (แล้วทำไมไม่เรียกรถ (ว่ะ…ขออภัย) เดินทำไม ไม่รู้สิคงไม่รู้จะบอกว่าไปไหนแน่นอนมั้งเดินไปดูไปดีกว่า)

อากาศเช้าๆที่ขอนแก่นเย็นดีเดินได้สบาย แต่พอใกล้จะถึงที่หมาย ตรงเยื้องๆร้านป้าหวานเท่านั้นแหละ เจ้าถิ่นสี่ตัวเห่าดังลั่น ตกใจ มัวแต่ระวังพวกที่ส่งเสียงข้างหน้าสาม เจ้าตัวที่สี่ดอดมาข้างหลังงับน่องแบบถากเฉี่ยวๆ แต่หนังก็เหวอะไปหลายอยู่ เสียงเจ้าของเขาตวาดมาให้เจ้าถิ่นเข้าบ้าน เลยรอดตัวไปแต่ตกใจขวัญหาย

เขยกไปสองโรงแรมที่หมาย ต้องหงายเก๋งกลับ เขาบอกว่าเต็มครับ (สงสัยเป็นเดือนถลุงเงินตามที่พี่บางทรายบอก) ม่ายไหวล่ะครับเดินไม่ไหวแล้ว ปลุกอ้ายสามล้อให้ไปตระเวนหาที่พักดีกว่า ตกลงได้ที่พิมานให้นอนปวดแผล ไปหาหมอเลยได้แถมฉีดยาแก้หมากัดอีกหนึ่งชุด อิอิ

นิทานเรื่องที่สองสอนคนขาดการวางแผนว่า ระวังหากไม่เตรียมการไว้น่องอาจเป็นแผล

กลับมากรุงเทพฯแล้วครับ แต่แผลยังตึงๆ อาบน้ำแบบสองขันตามวิธีของท่านจอหงวนม่วนคักๆ   



Main: 0.084695816040039 sec
Sidebar: 0.014518022537231 sec