อำนวย เขาเป็นเพชรแท้ที่ผมค้นพบ

โดย silt เมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 10:00 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1853


ผมพบอำนวยเมื่อปีก่อนที่บ้านห้วยเยอ หมู่บ้านชาวขะมุที่ห่างไกลจากตัวเมืองหงสาระยะทางค่อนวัน วันนั้นผมไปหาข้อมูลเพื่อจะขอแบ่งดินแบ่งป่ามาให้ชาวบ้านของผมที่จะต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ละแวกนี้ วันนั้นสายตาของอำนวยมองผมแบบ “คนต่างขั้ว” เพราะผมไปรถโครงการแถมมีคณะนำจากเมืองพาไป เขาเข้ามาปกป้องผืนดินของบ้านห้วยเยอไว้อย่างสุดกำลังน้อยๆ ของพนักงานอาสาที่เพิ่งจบชั้น ปวส. มาฝังตัวทำงานพัฒนาชุมชนกับพี่น้อง เขาต่อสู้กับข้าราชการผู้ใหญ่ของเมืองอย่างไร้ความเกรงกลัว
วันนั้นผมตัดสินใจบอกทางเมืองไปว่าผืนดินบ้านห้วยเยอ ไม่เหมาะที่จะมาขอแบ่งปัน เพราะไม่คุ้มทุนกับการสร้างทางหลายสิบกม. เพราะไม่เหมาะกับพี่น้องชาวลื้อชาวลาวลุ่มของผม อำนวยได้ฟังก็แสดงความโล่งใจ ยอมมาร่วมวงพาข้าวกลางวันสามัคคีกับคณะของเรา แต่แววตายังฉายแววคลางแคลงใจ และไว้ตัวแยกตัวจากกลุ่มคนแปลกหน้าที่มาเยี่ยมยามอย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังยอมญาติดีกับผมพอที่จะเล่าให้ฟังว่า เขากับเมียเป็นคนเมืองไชยะบุรีพอเรียนจบก็แต่งงานกันแล้วมารับงานเป็นพนักงานพื้นฐานพัฒนาชุมชนซอกหลีกห่างไกลอยู่ที่นี่ มาทำงานหกเดือนแรกได้เงินอัตราจ้างจากโครงการช่วยเหลือของฝรั่งเดือนละพันกว่าบาท แต่หลังจากหกเดือนแล้วงบประมาณช่วยเหลือหมด อำนวยกับเมียยังไม่อยากจากพี่น้องเลยต้องโอนมาเป็นพนักงานอาสาของเมือง พนักงานอาสาที่ไม่มีเงินเดือนจากรัฐ พี่น้องชาวบ้านช่วยกันปลูกกระต๊อบให้ เรี่ยไรข้าวมาใส่ยุ้งฉางให้ มาสร้างครกตำข้าวให้ เรี่ยไรเงินมาให้ใช้สอยซื้อเกลือซื้อน้ำปลา บ้านห้วยเยอมีเพียงสี่สิบหลังคาเรือนเดือนหนึ่งๆได้เงินจากพี่น้องไม่เกินสามร้อยบาท
บ้านห้วยเยอในวันนั้น ทุกบ้านมีแปลงผักสวนครัว มีส้วมซึม มีตระกร้าขยะ หนทางเดินสะอาดเรียบร้อย มีป้ายเขียนข้อความคำขวัญต่างๆ ติดตามต้นไม้ ที่บ้านนายบ้านมีกระดาษเขียนแผนพัฒนาหมู่บ้านแปะติดไว้เต็มผนัง ผมนึกชื่นชมผลงานของอำนวยอย่างเงียบๆ เดินไปทางท้ายหมู่บ้านเห็นเด็กน้อยนั่งล้อมวงเรียนหนังสือกับเมียของอำนวย ชาวบ้านเล่าว่าเมื่อก่อนเด็กๆต้องเดินลัดป่าไปโรงเรียนบ้านนาปุงหนทางไกลร่วมเจ็ดกม. ใช่เป็นเส้นทางที่ผมเคยฝ่าดงทากไปเยือนบ้านห้วยเยอกับอ้ายบุญธงเมื่อสิบปีที่แล้วนั่นเอง  ตั้งแต่ครอบครัวของอำนวยมาอยู่ที่นี่เด็กน้อยประถมหนึ่งถึงสามไม่ต้องเดินไปเรียนที่นาปุง วันนั้นผมกับอำนวยลาจากกันอย่างคนแปลกหน้า
ระหว่างสองสัปดาห์มานี้ผมพบกับอำนวยอีกครั้งที่บ้านนาปุงและบ้านน้ำแก่น คราวนี้ผมไปชวนชาวบ้านปลูกป่ารักษาต้นน้ำ ไปสอนชาวบ้านทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมักชีวภาพ ปลูกงาและทำแปลงสาธิตการปลูกหมากเยา อำนวยมาช่วยผมปลุกระดมความคิดชาวบ้าน เขาเป็นคนลาวที่พูดภาษาขะมุได้คล่องแคล่ว เขาเล่าให้ฟังว่าทางเมืองให้ครอบครัวเขาย้ายออกมาจากป่าลึกบ้านห้วยเยอมาอยู่ที่สำนักงานพัฒนากลุ่มบ้านนาปุง ได้เลื่อนเป็นพนักงานสัญญาจ้างเงินเดือนประมาณห้าร้อยบาทต่อเดือน เดี๋ยวนี้ได้รับผิดชอบหมู่บ้านน้ำแก่นมีโจทย์หนักรอให้แก้ไขคือสร้างความสัมพันธ์ให้กับพี่น้องชาวขะมุเจ้าถิ่นเดิม กับชาวลั๊วะที่ย้ายมาอยู่ใหม่ให้บ้านน้ำแก่นเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมให้ได้ หากทำได้เจ้าเมืองจะบรรจุเป็นพนักงานสมบูรณ์ ส่วนเมียเขาได้ดูแลชาวลาวลุ่มบ้านนาปุงตอนนี้ลาไปคลอดลูกที่บ้านแม่ยายที่ไชยะบุรี 

ผมยังชื่นชมอำนวยกับการที่เขาทำตัวกลมกลืนเข้ากับพี่น้องชาวบ้าน กับการใฝ่รู้ในเรื่องการพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้อง กับอุดมการณ์ในการพัฒนาชุมชนของเขา หากมีเวลาว่างช่วงพักผมก็พยายามพูดคุยแลกเปลี่ยนแนะนำเขาเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่เคยที่จะหยิบยื่นเงินทองสิ่งของใดๆให้เขาเพราะรู้ดีว่าคนอย่างเขาอิ่มได้ด้วยศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ พบกันหนหลังๆดูเหมือนอำนวยจะยอมรับผมเข้าเป็นพวกมากขึ้น เขาดูกระตือรือร้นหูตาเป็นประกายหากผมมีข้อเสนอหรือคำแนะนำเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องโดยเฉพาะเรื่องนิเวศวัฒนธรรม วันนี้อำนวยมาแบบแปลกหลังการประชุมวางแผนกับชาวบ้านเรื่องปลูกป่า พูดคุยกันระหว่างที่ชวนกันเดินจากบ้านน้ำแก่นมาบ้านนาปุง เขาแทนตัวเองว่าลูกทำอย่างนั้นลูกทำอย่างนี้ แล้วเปลี่ยนคำเรียกตัวผมจากอาจารย์มาเรียกว่าพ่ออีกด้วย ได้ฟังแล้วขนลุก แม้นว่าจะจิตตกที่ว่าตูนี้หนอดูสูงวัยเป็นคราวพ่อเขาไปแล้วหรือ แต่ก็ดีใจที่ได้มีหน่อเนื้อผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน อีกหนึ่งเดือนข้างหน้าหากเมียเจ้าอำนวยพาลูกมาจากบ้านเห็นทีจะต้องหาวิธีรับขวัญหลานน้อยเสียแล้วเรา จะได้เป็นปู่แล้วคร๊าบ

« « Prev : เล่าเรื่องเมืองหงสา: ศิลป์ของการทำไร่

Next : (กะ)ปูไท » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 10:32 (เช้า)

    ใจมันสื่อกันได้ มันมีพลังดึงดูดเข้าหากัน ด้วยจิตที่มีความมุ่งมั่นที่เป็นธรรมค่ะ เ
    จอเพชรสักเม็ดมันมีค่ามหาศาล ดีกว่าได้กรวดหินดินทรายเป็นภูเขาๆค่ะ ขึ้นอยู่กับการเจียรนัย และนำไปวางไว้เพื่อใช้งานที่สูงค่า

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 11:05 (เช้า)

    หากพ่อครูบาฯ มาอ่านก็ต้องว่า  เอาอีก เอาอีก  ชอบ ชอบ

    นี่คือบทเรียนอีกบทหนึ่งของคนที่จะเข้าชาวบ้านแล้วให้ชาวบ้านยอมรับ
    หากมีเวลา พ่อเปลี่ยนลองบันทึกมุมมอง ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ คนในมองคนนอก คนท้องถิ่นมองคนแปลกหน้า ของอำนวย “ช่วงเปลี่ยนผ่านจากวันแรกที่พบกันจนมาถึงวันที่เขาเรียกพ่อ..”  น่าสนใจมุมมองของเขา บันทึกออกมาจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียน แก่เด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำงานชนบท…

    ภาควิชาพัฒนาชุมชนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องเอาบทเรียนเหล่านี้ไปศึกษาและฝึกฝนภาคปฏิบัติ…

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2009 เวลา 5:30 (เย็น)

    อ่านแล้วยิ้ม และแอบก๊ากเล็ฏๆกับภาวะจิตตกของพี่เปลี่ยน ฮี่ฮี่ฮี่

    ชอบค่ะ และชื่นชมด้วยดีใจที่มีคนอย่างนี้ และดีใจมากๆที่พี่เปลี่ยนมีโอกาสถ่ายทอดภูมิรู้ที่มีให้กับคนที่ตั้งใจจริงแบบนี้

    เพื่อนเอ๋ยถึงเรื่องหนึ่งว่า เวลานี้เราขาดคน ที่จะยอมตนเป็นอิฐก้อนแรกที่ทิ้งลงไป

    และก็จมอยู่ที่นั้น เพื่อให้ก้อนอื่นๆ ถมทับตนอยู่ที่นั่น และเสร็จแล้วเจ้าก้อนที่จะปรากฏ

    เป็นผู้รู้จักของสังคมก็คือก้อนที่อยู่เหนือก้อนอื่นสุด ส่วนก้อนแรกนั้นก็จมดินอยู่นั้นเอง”

     

    “หินก้อน แรกร่วง ลงพื้น ก้อนอื่น ร่วงตาม ทับถม

    กลบมิด ก้อนเก่า เจ้าจม สะสม เป็นทาง ให้เดิน”

    คำคมของครูโกมล คีมทองค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.055983066558838 sec
Sidebar: 0.014617919921875 sec