ส่งพระขึ้นเมืองบน ฮดสรงสาธุเจ้า พิธีกรรมวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองปีใหม่ลาวที่เมืองหงสา

โดย silt เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 1:39 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2478

ได้เขียนเรื่องประเพณีวันปีใหม่ลาวในบันทึกก่อนๆ ไว้ว่า ที่ลาวท่านจะนับตามปฎิทินจันทรคติ ไม่ได้นับตามวันที่เหมือนบ้านเรา ซึ่งก็จะเหมือนกันกับในหนังสือปี๋ใหม่เหมืองของทางล้านนา แต่ก็จะเรียกชื่อของแต่ละวันในช่วงสงกรานต์ผิดกันไปบ้าง เช่นที่เจียงใหม่จะเริ่มที่วันสังขารล่อง แล้วตามด้วยวันเน่า-วันพญาวัน-วันปากปี๋-วันปากเดือน ส่วนที่หงสานี่จะเริ่มที่วันสังขารล่อง ตามด้วยวันเนาและวันสังขารขึ้น ต่อจากนั้นอีกหลายๆวันจะเป็นวันสมมาคารวะ ที่ลูกหลานจะไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (ที่นี่เรียกไปสมมา) แต่ละหมู่บ้านจะยกขบวนร้องรำแห่กันไปคารวะไปสรงน้ำพระที่วัดของหมู่บ้านข้างเคียง จนกระทั่งถึงวันที่ยี่สิบกว่าๆ ก็จะมีพิธีสรงน้ำส่งพระขึ้นเมืองบน และการสมมาพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด ถือว่าเป็นการจบการเฉลิมฉลองบุญปีใหม่อย่างสมบูรณ์ ดังเช่นที่วัดศรีบุญเฮือง เมืองหงสา ในเช้าของวันที่ ๒๔ เมษา ที่ผมได้เข้าร่วมพิธีจบการเฮดบุญปีใหม่ลาวอย่างไม่นึกไม่ฝัน


สิบโมงเช้าเศษๆผมจอดรถหน้าวัด ด้วยตั้งใจจะพาคณะแขกนักวิชาการเข้าไปกราบพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดของเมืองหงสา ด้วยมีการสลักไว้ที่ฐานองค์พระว่าสร้างปี พ.ศ. ๒๑๑๒ สามร้อยกว่าปีมาแล้ว (ปีเดียวกับที่ราชวงค์สุโขทัย กับราชวงค์สุพรรณภูมิมีความขัดแย้งกันในกรุงอยุธยาและ กรุงพิษณุโลก จนเป็นเหตุให้พระนเรศวรทรงต้องไปเป็นองค์ประกันที่เมืองหงษาวดีอย่างไรเล่าครับ) และอยากอวดจารึกเกี่ยวกับเจ้าหลักคำของวัดศรีบุญเฮืองอีกอย่างหนึ่งด้วย แต่ที่วัดวันนี้มีพ่อเฒ่าแม่แก่ห่มผ้าเบี่ยงถือขันเงินเข้าออกวัดอย่างหนาตา พยายามนึกว่าวันนี้มีบุญอะไรหนอ ก่อนที่จะสาวเท้าพาตัวเองเข้าไปถามไถ่พ่อๆที่นั่งรอที่หอแจก  ได้รับคำตอบว่าวันนี้จะเฮดบุญ “ส่งพระขึ้น กับฮดสรงสาธุ” เพื่อเป็นการจบบุญปีใหม่ลาว


บรรดาแม่เฒ่าพ่อลุงที่คุ้นหน้าค่าตากันดี ด้วยผมมาร่วมฟังธรรม มาตักบาตร มาเป็นคนอ่านโพยสลากในบุญข้าวสากที่นี่ก็หลายหนอยู่ ท่านชวนให้อยู่ร่วมทำบุญด้วย ท่านขยายความว่าที่วัดได้นิมนต์เอาองค์พระพุทธรูปมาไว้ให้ศรัทธาได้สรงน้ำตั้งแต่เริ่มบุญปีใหม่จนถึงวันนี้จะนำท่านขึ้นไปเก็บที่แท่นในวิหารจนกว่าจะถึงปีใหม่ลาวปีหน้าค่อยนำองค์พระออกมาใหม่ ก็เลยมาทำพิธีกันก่อนที่จะเก็บองค์พระ พร้อมกันนั้นก็จะมีการสมมมาคารวะพระภิกษุสามเณรทุกรูปด้วย ขั้นตอนที่ได้ทำไปแล้วในตอนเช้า ก็คือ การสรงน้ำพระพุทธรูป การสรงน้ำตุ๊พระสามเณร และขั้นตอนที่กำลังจะทำต่อคือการอาราธนาพระเมือเมืองบน กับการสมมาคารวะพระสงฆ์สามเณร


ในศาลาหรือที่นี่เรียกว่าหอแจก มีพานบายศรีประดิษประดอยแต่งเอ้ด้วยใบตองและดอกต๋าเหินสีขาว มีเงินกีบเป็นช่อชั้นยอดพาน มีขันเงินขนาดย่อมใส่ดอกไม้ธูปเทียนวางไว้ครบตามจำนวนพระเณร และที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็นพานพุ่มดอกไม้ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกับพานบายศรี ท่านใช้ไม้ทำเป็นโครงรูปทรงเป็นพานโปร่งๆคล้ายฉัตรซ้อนกันเป็นชั้นๆพร้อมเจาะรูเป็นช่องๆ แล้วดอกไม้สอดเข้าไปตามรูนั้น ก็จะกลายเป็นพานพุ่มดอกไม้ที่สวยงามมีเสน่ห์แบบพื้นบ้านโบราณของเมืองลาว


ระหว่างที่นั่งรอพระเณรท่านไปผลัดเปลี่ยนผ้าสบงจีวรที่เปียกจากการสรงน้ำของญาติโยม ผมก็ถูกบรรดาป้าๆแม่ๆทยอยกันมารดน้ำมาอวยชัยให้พร แต่ละท่านมาแบบสุภาพนุ่มนวล ค่อยๆรินน้ำอบที่ลอยด้วยดอกไม้แห้งกลิ่นหอมลงบนบ่าบนไหล่เบาๆพร้อมคำอำนวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข อายุหมั้นยืนยาว ทำเอาขนลุกน้ำตาแห่งความปิติปริ่มๆจะหยดเสียให้ได้
เมื่อพระท่านลงมานั่งประจำที่กันแล้ว ก็เริ่มพิธีด้วยการไหว้พระ รับศีล จากนั้นพระท่านก็นำทุกๆคนในศาลาก็หันหน้าเข้าหาแท่นพระพุทธรูป แล้วพ่อเฒ่าอาจารย์ก็กล่าวสรรเสริญคุณพระ แล้วจบลงด้วยการน้อมส่งพระท่านที่ลงมาโปรดมนุษยโลกอัญเชิญท่านกลับ “เมืองเนรพาน”


แล้วพระเณรท่านก็เปลี่ยนทิศนั่งหันหน้ากลับมาหาศรัทธาญาติโยม พ่ออาจารย์เริ่มพิธีสมมาคารวะต่อสิ่งอันไม่ดีไม่งามที่ได้กระทำในการมาทำบุญในวัด คำกล่าวของท่านเป็นคำร่ายโบราณที่มีสัมผัสคล้องจอง ถอดความได้พอสังเขปว่าดังนี้     สมมาพระสงฆ์ สมมาที่เครื่องไทยทาน อาหารคาวหวานที่เคยนำมาถวยแปดเปื้อน ที่ได้คิดอกุศลต่อพระเจ้าเจดีย์ในวัด ที่อาจเผลอเรอไม่ได้พาดผ้าเบี่ยงเข้าวัด ที่อาจมีทรายจากลานวัดติดเท้าออกไป อย่างนี้เป็นต้น จากนั้นก็ประเคนพานดอกไม้ธูปเทียนถวายพระเณรทุกรูป แล้วจบลงด้วยการรับพร ยะถา สัพพี จากพระท่าน เป็นจบพิธี


แต่คณะผู้เฒ่าผู้แก่ท่านบอกว่า “ยังมีอีกเวียก” พ่อลุงท่านหนึ่งรีบคลานเข้าไปหาท่านเจ้าอาวาส พร้อมกับยกพานดอกไม้ธูปเทียน ขอนิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นที่พึ่งพิงขอญาติโยมต่ออีกสักหนึ่งพรรษา แอบกระซิบถามคุณยายท่านบอกว่าท่านเจ้าอาวาสท่านบวชเรียนมาตั้งแต่เด็ก ท่านเปรยๆกับพ่อออกศรัทธาว่าอยากลาสิขาออกไปใช้ชีวิตเพศฆารวาส ทำมาหากิน  แต่พี่น้องชาวบ้านยังเสียดายท่าน ประกอบกับที่วัดยังหาพระที่พรรษาและมีบารมีมากพอที่จะมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดแทนได้ จึงอยากขอร้องให้ท่านอยู่ต่อ
ตอนแรกๆพระท่านส่ายหน้าไม่ยอมรับท่าเดียว ข้างฝ่ายคุณตาคุณลุงทั้งหลายก็พากันยกแม่น้ำทั้งห้ามาขอร้องอ้อนวอน ประสานกับเสียงร้องขอจากคุณป้าคุณยาย บางท่านก็เช็ดน้ำตาป้อยๆ ในที่สุดท่านเจ้าอาวาสก็เอื้อมมือออกมารับพานนิมนต์ รับปากว่าจะอยู่ต่อ เสียงโห่ร้องยินดีของพ่อแก่แม่เถ้าในศาลาดังอึงมี่ คุณยายหลายท่านปล่อยโฮ ผมเองก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาแห่งความปิติไปกับบรรดาท่านด้วย


ขอบพระคุณขอรับพระคุณท่าน สงกรานต์ปีหน้าผมจะมาสมมาท่านใหม่ และจะมาลุ้นขอต่ออายุพรรษาท่านอีกครั้ง

« « Prev : เข้าวัดนมัสการ

Next : รายงานสวนป่า วาระบ้านมกราชาวเฮฮาฯมาสานสัมพันธ์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 8:17 (เย็น)

    อ้ายเปลี่ยนตี้ฮักแพงหลาย… บ่สนเป็นเจ้าอาละวาดต่อก๋าเจ๊า ^ ^

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 8:50 (เย็น)

    ชุมชนที่มีแรงเสริมสร้างคุณธรรมความดีนี้คือพลังแห่งศรัทธา ที่เป็นแก่นแกนของแรงเกาะเกี่ยวในสังคมที่เป็นที่สุดเลยหละ ภาพอย่างนี้ เรื่องราวอย่างนี้ วัดจะมีความหมายมากมายนัก พ่อเฒ่าแม่เฒ่าได้ทำหน้าที่ของท่าน พระคุณเจ้ารับสมาทานแรงศรัทธา ใจถึงใจอย่างนี้ บรรยากาศของชุมชนมันจะเป็นเช่นไร หลับตาก็เห็นภาพแห่งความสุขสม กลมกลืน แบ่งปัน เอื้อาทร 

    นี่คือแรงศรัทธาที่ศรัทธายิ่งนัก…เปลี่ยน


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.070196151733398 sec
Sidebar: 0.031483888626099 sec