เข้าวัดนมัสการ
สิบห้าค่ำเดือนห้า เป๋นพญาวันในวันนี้ เพื่อเป๋นศรีศิริมงคลปกหัว พาตัวออกจากที่ซ่อน จรลีไปหานบไหว้พระ ต๋ามปาเวณีเมินมา แต่เก่ากี้…นายเฮย
๑๖ เมษา ตามปฏิทินไทยกลางน่าจะพ้นวันมหาสงกรานต์ไปแล้ว แต่หนังสือปี๋ใหม่เมืองเปิ้นว่าวันนี้วันเดือนเป็งเป็นวันพญาวัน ซึ่งตรงกับทางเมืองลาวที่ถือว่าวันนี้เป็นวัน “สังขารขึ้น” สำหรับผมแล้ว วันนี้เป็นวันอยากไหว้พระ หลังจากโอ้เอ้วิหารรายอยู่หน้าคอมฯจนสาย ก็ดิ้นรนพาตัวเองออกจากเซฟเฮ้าส์มาโต๋เต๋อยู่แถวหน้าโรงแรมเทวราช เดินไปแอบเหล่คุณลุงสามล้อถีบที่จอดหน้าตลาดสดสี่ห้าคัน เดินเข้าไปถามคุณลุงท่าทางใจดีเจ้าหนึ่งว่าให้ช่วยพาไปไหว้พระสักสี่ห้าวัด แต่ขอให้มีวัดพระธาตุแช่แห้งด้วย คุณลุงท่านจัดตารางให้เสร็จ ถามราคาท่านบอกว่าสามร้อย เอ้าสามก็สามไปโลดครับลุง
(๑) จากหน้าตลาดไปพระธาตุแช่แห้ง ลงเดินช่วยลุงเข็นรถสามล้อถีบตอนขึ้นสะพาน กับตรงเนินก่อนถึงวัดพระธาตุ ถึงบริเวณวัดยังมีผู้คนคับคั่ง มีจุดให้บริการให้ญาติโยมบริจาคทรัพย์ทำบุญทำทานกันหลายจุด แต่พอเข้าเขตกำแพงแก้วไปแล้วก็รู้สึกได้ถึงความสงบสงัดด้วยบุญรังสีจากองค์พระธาตุ…..
ตระหง่านง้ำสีทองสุกปลั่ง
มะลังมะเลืองฉัพรังสีเฉิดฉาย
ยอดฉัตรต้องตะวันเปล่งประกาย
เบ่งอบายพุทธคุณหนุนค้ำโลก
พระพักตร์พระประธานเอิบอิ่ม
โอษฐ์เจือยิ้มกรุณาไร้ซึ่งโศก
นาคสะดุ้งเชิงหลังคาเหมือนอวยโชค
ดั่งวิหคการเวกเสียงกังสดาล
(๒) นั่งรถย้อนเข้าเมืองคุณลุงคุยจ้อเรื่องบะเก่าของเมืองน่าน ท่านว่าสมัยก่อนบุญใหญ่ของเมืองน่านมีสี่บุญ คือเดือนห้าเป็งบุญวัดสวนตาล เดือนหกเป็งบุญพระธาตุแช่แห้ง เดือนเจ็ดเป็งบุญถ้าผาตูบ และเดือนแปดเป็งบุญขึ้นธาตุเขาน้อย หลังจากนั้นก็เตรียมลงไร่ลงนา ลงช่วยเข็นรถตอนขึ้นสะพานอีกครั้งจากนั้นคุณลุงก็พาแวะวัดที่สอง วัดกู่คำ….
วิหารงามรวบรัด เงียบสงัดสงบใจ
นายร้อยท่านสร้างไว้ ในปีสองสี่หกห้า
เพดานงามวิจิตร เนรมิตรงานศิลป์สรร
ปานว่าองค์เทวัน มาแต่งแต้มประดิษฐ์งาน
ในวิหารยังมีธรรมาสน์เก่ารูปทรงกระทัดรัดฝีมือช่างพื้นบ้าน ทำด้วยไม้ประดับกระจกสี มีเสน่ห์ที่เห็นชาวบ้านท่านเอาไม้ไผ่มาสานเป็นรูป “ตาแหลว” สองแผ่นประกบกันตรงกลางใส่ไว้ด้วยดอกไม้ทับแห้ง แล้วแขวนประดับไว้บนธรรมมาสน์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
วัดกู่คำเป็นวัดที่สงบเงียบ ไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่าน ทำให้สามารถนั่งมองความสวยงามอันละเอียดที่ช่างฝีมือพื้นบ้านได้บรรจง ประดิษฐ์ประดอยไว้…
ฝ้าเพดานวิหารวิจิตร
ดุจเนรมิตรลวดลายสลักเสลา
ติดกระจกเสริมแต้มรูปเงา
ธรรมมาสน์ของเก่างามชดช้อย
ประตูแต่งลายรดน้ำงามประณีต
ได้พินิจงามงดหยดย้อย
ท่านนายร้อยพกาฝากรูปรอย
ปีสี่ร้อยหกสิบห้าท่านอุทิศ
(๓) วัดช้างค้ำ….
วัดช้างค้ำค้ำจุนพุทธศาสน์
อภิวาทพระเจดีย์เป็นศรีเกล้า
พระนันทศากยมุนีเป็นร่มเงา
กู่พระเจ้านครน่านท่านสถิตย์
หลวงพ่อใหญ่ในวิหารอารามใหญ่
สงบใจได้บูชาอาราธนาศีล
เจดีย์ทรายปักตุงสีงามระริน
ดูไม่สิ้นเสน่ห์เหนือฮีตล้านนา
(๔) วัดภูมินทร์
จากวัดช้างค้ำข้ามสี่แยกไปไหว้วัดภูมินทร์ วิหารทรงจตุรมุข องค์พระประธานทั้งสี่ด้าน ยังคงความน่าเลื่อมใส ภาพวาดบนผนังยังคงมีเรื่องราวชาวเมืองน่านแต่เก่าก่อนน่าถอดรหัสทุกรูป นาค สิงห์ มอม มกร ที่เฝ้าอยู่เชิงทางขึ้นทั้งสี่ด้านยังคงยืนรูปเฝ้าอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าในวันนี้จะมีเสียงไฮปาร์คการเมืองจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวฝั่งตรงกันข้ามแทรกมาบ้างก็ตาม
ศรัทธาเสกสรรค์สร้าง พุทธศิลป์
งามงดราวองค์อินทร์ แต่งแต้ม
ผลงานท่านศิลปิน ปางก่อน
งามหยดงามชดช้อย พร่างแพร้วแสงธรรม
(๕) วัดมิ่งเมือง เป็นอีกวัดหนึ่งที่คุณลุงสามล้อว่า ไม่ควรพลาดด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นที่สถิตย์ของเสาหลักเมืองน่านนั่นเอง ที่วัดมิ่งเมืองท่านสร้างวิหารใหม่ฝีมือปูนปั้นแบบตระกูลช่างเชียงแสนงดงามหมดจด ส่วนพระประธานในวิหารท่านว่าเป็นของเก่าสร้างในปี ๒๔๐๐ ที่เสาหลักเมืองท่านสร้างอาศรมมียอดเป็นพรหมสี่พักตร์
……มิ่งเมืองมีนามด้วยหลักเมืองสถิตย์
งามวิจิตรลายปูนปั้นพระวิหาร
มีภาพเขียนเรื่องเมืองน่านครั้งโบราณ
ท่านสมภารให้สร้างไว้ได้ชื่นชม
ตระกูลช่างปั้นเชียงแสนแถลงไว้
หลวงพ่อใหญ่เป็นของเก่าดูงามสม
กังสดาลกล่อมเสียงทิพย์ให้รื่นรมย์
น้อมบังคมหลักเมืองเป็นหลักชัย
(๖) วัดหัวข่วง อยู่ติดกับคุ้มหลวงเจ้านครน่านตามธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณ เป็นวัดที่ก่อสร้างด้วยศิลปะช่างล้านนาแท้ๆ มีหอไตรเก่าแก่สวยงามน่าเสียดายที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ตู้พระธรรมลายรดน้ำยังคงงดงามมีสภาพดี ในวิหารมีธรรมาสน์ของเก่าที่เขียนไว้ว่าเจ้าแม่บัวแว่นสร้างอุทิศถึงเจ้าราชบุตร สลักเสลาไม้ประดิษประดอยย่อเหลี่ยมหลายมุมหลังคาเป็นช่อชั้นดังฝีมือของช่างชั้นครู….
,,,,,,,หัวข่วงแห่งเมืองน่าน แต่โบราณท่านสร้างวัด จัดไว้ใกล้หอคำ ไว้ฟังธรรมใส่บาตร มิได้ขาดทุกวันศีล เป็นอาจิณต์ต่อกันมา ผ่านเวลาผ่านสมัย เหมือนใครใครค่อยค่อยลืม ท่านไม่ปลื้มของเก่า ปล่อยแดดเผาฝนชะพัง ทั้งผนังหลังคารั่ว ดูน่ากลัวจะพังครืน ช่วยกันฟื้นอนุรักษ์ ปกป้องรักษา เถิดเฮย
(๗) เกือบบ่ายสองโมง ลุงสามล้อพาไปวัดสุดท้ายของโปรแกรม คือวัดสวนตาล ท่านบอกว่าวัดนี้ต้องไปไหว้พระเจ้าทองทิพย์ ท่านว่าเป็นพระที่งามที่สุดของเมืองน่าน เจ้านายทุกพระองค์เคยเสด็จมาบูชา ได้ไปเห็นได้อ่านประวัติองค์พระก็สมคำร่ำลือ ท่านเขียนไว้ว่า พระเจ้าทองทิพย์สร้างโดยพระเจ้าติโลกราช แห่งเชียงใหม่ในคราวที่มาได้เมืองน่านเป็นเมืองออกโดยไม่เสียเลือดเนื้อ จึงโปรดให้สร้างพระเจ้าทองทิพย์ขึ้นในปี ๑๙๙๓ โน้นแนะครับ กราบพระ แล้วออกมาสรงน้ำพระด้านนอกวิหาร ใส่บาตรเหรียญ……
….พระเจ้าตองติ๊บ แห่งวัดสวนต๋าน เป๋นของโบฮาน เพิ่นสร้างหล่อไว้ ติโลกราช เป๋นเจ้านั้นไซร้ จากเมืองเจียงใหม่ มาสร้างปูจา ด้วยเหตุเมื่อครั้ง องค์ท่านนั้นหนา กับพระมารดา มาได้เมืองน่าน นั้นแล นายเฮย…
ขอคารวะทุกท่านในวันสงกรานต์ครับ
(ขออภัยหากฉันทลักษณ์ผิดพลาดตัวสะกดผิดเพี้ยน บทร้อยกรองแบบเร่งด่วนที่ร่ายไว้ในเวลาอันน้อยนิดตอนไหว้พระ ไม่อยากแก้ไข อยากถ่ายทอดบรรยากาศในขณะนั้นครับ)
« « Prev : ไชยะบุรีสี่เมืองเหนือ ตอนที่๑ เยือนเชียงฮ่อน ไหว้พระธาตุเชียงลม
Next : ส่งพระขึ้นเมืองบน ฮดสรงสาธุเจ้า พิธีกรรมวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองปีใหม่ลาวที่เมืองหงสา » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เข้าวัดนมัสการ"