ไชยะบุรีสี่เมืองเหนือ ตอนที่๑ เยือนเชียงฮ่อน ไหว้พระธาตุเชียงลม
ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยให้ความคิดเห็นต่อการพัฒนาการเกษตรในเขตสี่เมืองเหนือของแขวงไชยะบุรี อันประกอบด้วย เมืองหงสา เมืองเงิน เมืองเชียงฮ่อน และเมืองคอบ จัดสรรเวลาได้ ๒วันก็รีบเดินทางไปปฎิบัติภาระกิจอย่างรวบรัด ในสามเมืองนอกเหนือไปจากเมืองหงสา เมืองทั้งสามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหงสา ออกจากหงสาไปประมาณ ๔๐ กม. เป็นเมืองเงิน จากนั้นนั่งรถข้ามเขาไปอีก ๖๐ กม.กว่าๆก็เป็นเมืองเชียงฮ่อน ส่วนเมืองคอบเป็นเมืองสุดชายแดนของลาวที่ยื่นเข้ามาในแขตแดนไทย หากไปจากเชียงฮ่อนตามเส้นทางปกติระยะทางก็กว่า ๗๐ กม. แต่หน้าแล้งอย่างนี้อ้ายน้องแนะนำให้ไปทางลัดเพียง ๔๐ กม.ก็ถึง การไปทำงานในสี่เมืองเหนือของไชยะซึ่งเป็นหนแรกของตัวเองที่จะได้ไปเยือนเมืองเหล่านี้ รู้สึกตื่นเต้นราวกับว่าจะได้ขึ้นยานย้อนเวลาไปเยือนอาณาจักรล้านนาเมื่อสักร้อยปีก่อน เพราะทราบมาว่า พี่น้องประชาชีชาวเมืองนี้เป็นชาวยวน ชาวลื้อเหมือนพี่น้องทางภาคเหนือของเรานั่นเอง
วางแผนการเดินทาง แผนการทำงานเอาไว้ว่า จะออกจากหงสาแต่เช้าตรู่ข้ามเมืองเงินไปให้ทันมื้อเที่ยงที่เชียงฮ่อน ตอนบ่ายประชุมกับเจ้าเมือง และกสิกรรมเมือง ไปดูพื้นที่เรือกสวนไร่นาเหมืองฝาย แล้วก็หนีวงสุราที่เขาเตรียมไว้ต้อนรับ ขับรถข้ามเขาไปดูสาวอาบน้ำที่ท่าน้ำเมืองคอบ อยากไปสัมผัสบรรยากาศเมืองคอบ เมืองที่ใครๆก็ห้ามไว้ว่าอย่าได้ไปนอนค้างเพราะไม่มีข้าวเย็นขายให้กิน รุ่งเช้าไปดูสวนดูนาที่เมืองคอบ แล้วย้อนกลับมากินข้าวกลางวันที่เมืองเชียงฮ่อน ก่อนแวะดูงานปลูกฝ้ายอินทรีย์ครบวงจรที่เมืองเงิน
เมืองเชียงฮ่อน มีดีที่เป็นหุบเขาขนาดใหญ่(กว่าเพื่อนๆในอีกสามเมืองที่เหลือ) มีที่ราบไว้ทำนาค่อนข้างกว้างขวาง ขนาดน่าจะประมาณหุบเมืองพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นแหล่งผลิตข้าวที่มีชื่อเสียงมานาน แต่ข้าวเมืองเชียงฮ่อนมีชื่อเฉพาะในด้านปริมาณ เขาว่ากันว่า “เชียงฮ่อนข้าวหลายหากแต่กินบ่แซบ” นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมถูกขอให้มาช่วยดูคุณภาพข้าวของเชียงฮ่อน (รู้สึกว่าเขาจะขอผิดคนเสียแล้ว แหะ แหะ หารู้ไม่ว่า ผมอยู่ข้างพวกอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง) ข้อมูลจากท่านรองเจ้าเมือง ท่านเล่าว่า เมืองเชียงฮ่อนมีที่นา ๒๒๐๐ เฮกตาร์ ได้ผลผลิตข้าวปีละ ๑๓พันโตน แปลง่ายๆก็คือ หนึ่งหมื่นสามพันตัน แต่ละปีขายข้าวออกจากเมืองประมาณ ๓พัน-๔พันตัน ขณะนี้ทางเมืองกำลังก่อสร้างฝายทดน้ำสองแห่งที่น้ำเม้า กับน้ำแมด โดยใช้เงินลงทุน ๔๑ตื้อกีบ คาดว่าถ้าแล้วเสร็จจะสามารถเอาน้ำเข้านาได้ ๘๐๐ เฮกตาร์ ทำนาปรังได้ ๓๐๐ เฮกตาร์ ในอีกห้าปีข้างหน้า คาดว่าผลผลิตข้าวของชาวเชียงฮ่อนจะสูงถึง ๒๑พันตัน นั่นหมายความว่าจะสามารถส่งออกข้าวได้สูงถึง ๑๐พันตันเลยทีเดียว พี่น้องเมืองหงสาของผมที่จะสูญเสียที่นา ๘๐๐เฮกตาร์หรือข้าวเปลือกจะหายไปราว สี่พันตันก็ไม่ต้องกลัวอดข้าวแล้วละครับ (แต่จะเอาตังค์ที่ไหนไปซื้อเขา นั่นค่อยว่ากันอีกที)
เมืองเชียงฮ่อนร้องขอให้ช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง ในการนี้ผมต้องศึกษาถึง สภาพการเพาะปลูกข้าวทั้งในอดีตและปัจจุบัน สภาพพื้นที่ ระบบชลประทาน ปริมาณน้ำฝน และสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่ปลูกพืชหลังนา เพราะว่า หากแนะนำข้าวพันธุ์ปรับปรุงที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี แต่ถ้าทางนี้ปุ๋ยราคาแพงหรือหาซื้อไม่ได้ก็ไม่เหมาะสม หากที่นาส่วนใหญ่เป็นนาดอนอาศัยน้ำฟ้าอย่างเดียวการแนะนำพันธุ์ข้าวที่อายุการเก็บเกี่ยวยาวๆก็ไม่น่าจะปลูกได้ ในทางกลับกันหากที่นาส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำมากจะไปแนะนำพันธุ์ข้าวดออายุสั้นเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวพี่น้องก็จะบ่นว่าน้ำยังไม่แห้งเกี่ยวข้าวลำบากอีก อาชีพการปลูกพืชหลังนาก็สำคัญ เพราะหากพี่น้องจะใช้พื้นที่นาปลูกกระเทียม ปลูกยาสูบ ถั่วลิสง แตงโมเป็นรายได้หลักกันอยู่ ก็ต้องละเว้นไม่เอาข้าวพันธุ์หนักอายุยาวไปส่งเสริม จะเห็นได้ว่าการจะทำอะไรแบบบุ่มบ่ามสุ่มสี่สุ่มห้านั้น อาจมีผลกระทบอื่นๆตามมาภายหลังก็เป็นได้ ดังนั้นให้รอบคอบปิดปประตูเสี่ยงไว้เป็นการดีที่สุด
เชียงฮ่อนนอกจากจะลือนามในเรื่องมีทุ่งกว้าง มีข้าวหลายแล้ว ยังเป็นที่รู้จักกันว่า มาเชียงฮ่อนหากบ่ได้อมเมี่ยงส้มดมแก้วสาวยวนแล้ว แปลว่ายังมาบ่ถึงเมืองเชียงฮ่อน ชาวเมืองเชียงฮ่อน หากมาเดินปะปนกับพี่น้องชาวล้านนา ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน หรือได้ยินสำเนียงพูดจากันก็แยกไม่ออกว่าเป็นคนที่มาจากประเทศลาว แต่ที่นี่พี่น้องชาวยวนเมืองเชียงฮ่อน กลายเป็นหนึ่งใน “พี่น้องบรรดาเผ่าของประเทศ” ไปซะงั้น เมืองเชียงฮ่อนมีด่านเข้าออกกับบ้านเราที่ด่านประเพณี ตรงกับอำเภอสองแคว จังหวัดน่านครับ
ไปถึงเชียงฮ่อนก่อนเพลเล็กน้อย ดูเวลาแล้วยังพอมีเวลาว่าง(ก่อนจะทำงาน) เพราะที่ลาวนี่ภาคบ่ายอ้ายน้องรัฐกรท่านเข้าทำงานกันบ่ายสองโมง ก่อนไปหามื้อกลางวันใส่ท้อง เลยไปแวะไหว้พระธาตุคู่เมือง ชื่อพระธาตุเชียงลม ตามตำนานในแผ่นพับของเมืองท่านว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยช่างชาวพม่า แต่ผมดูรูปทรงขององค์พระเจดีย์แล้วก็ยังแคลงใจว่าไม่คล้ายกับธาตุม่านทั่วๆไป แต่เจดีย์ไม่ว่าจะอย่างไรก็เป็นพุทธสัญลักษณ์ ได้กราบไหว้ก็รู้สึกร่มรื่นในจิตใจ เดินเข้าไปกราบพระในโบสถ์ พระประธานท่านเป็นศิลปะพม่าจริงๆ ที่หน้าองค์พระประธานเห็นมี “ขันแก้วตังสาม” หรือ พานรูปทรงสามเหลี่ยมสำหรับวางดอกไม้บูชาพระ ตั้งอยู่อย่างสงบนิ่ง งดงาม ผมไม่ได้เห็นขันแก้วตังสามมานานมากแล้ว อาจเพราะตัวเองไม่ได้เข้าวัดฝ่ายคามวาสีมานาน หรือว่าเดี๋ยวนี้ได้หายไปจากบ้านเราตามกาลเวลาก็ไม่ทราบ
ได้มาเห็นขันแก้วตังสาม ที่วัดพระธาตุเชียงลมคราวนี้ ก็ถือว่าได้ขึ้นยานย้อนเวลาหาอดีตแล้วละครับ
« « Prev : บุนมะโหลาน งานช้างเมืองหงสา
5 ความคิดเห็น
เรื่องดีเยี่ยม แต่ภาพน้อยไปหน่อย
อยากเห็นภาพผู้คนไปทำบุญ
สาวแก่แม่หม้ายก็ได้ พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ก็ดี ภาพเด็กๆ-พระสงฆ์ ก็น่าสนใจ
ใช่แล้วครับ พ่อครูบาฯ อยากดูรูปเยอะๆ อาว์เปลี่ยน น่าสนใจยิ่งนัก
อ่านจุใจมากครับอ้าย
อยากไปแล้ว อยากไปแล้ว
อยากไปแอ่วดตยคนค่า
ลุงเปลี่ยนเจ้า ..คณะจะจัดงาน 50 ปีของคณะ และมีการพิจารณาขอบทความจากศิษย์เก่าทำหนังสือที่ระลึก..อุ๊ยเสนอชื่อลุงเปลี่ยนกับครูใหญ่ไป เปิ้นสนใจ๋กั๋นแต้ๆเลย…อิอิ..
รายละเอียดจะติดต่อลุงเปลี่ยนทางเมลดีก่อ..หรือว่าเดือนพฤษภาคมไปป๊ะกั๋นที่สวนป่าได้ก่อเจ้า
ครูใหญ่รับปากแล้ว รอลุงเปลี่ยนแฮมคนเจ้า…อิอิ…
ขอบพระคุณครับ
บันทึกต่อไปว่าด้วยเมืองคอบ จะเพิ่มรูปให้จุใจ
โดยเฉพาะรูป สาวที่ท่าน้ำ อิอิ
อุ๊ยครับ ผมมีนัดรับยาที่ขอนแก่นช่วงต้นเดือนหน้าพอดีครับ ถ้าบ่มีการเปลี่ยนแปลง น่าจะได้เจอกันที่สวนป่า
แต่ตั้งชื่อบทความไว้แล้วครับ “ด้วยแรงส่งจากคณะพยาบาล….ผู้เชี่ยวชาญคนนี้จึงได้เกิด” ฮิ ฮิ เห่อซะไม่มีครับ ครูใหญ่ก็ครูใหญ่เต๊อะ