อยากเล่นกับตัวเลขกันนักใช่ไหมครับท่าน
เมื่อสองวันก่อน เขาเอาการบ้านมาให้
เป็นข้อตกลงกันระหว่างโครงการกับรัฐบาลลาว
เป็นการบ้านที่โครงการไปสัญญาไว้เกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
องค์การทรัพยากรน้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยการแนะนำของคณะที่ปรึกษาชาวตะวันตก เขายกร่างสัญญามาให้ เป็นประเด็นในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่แยกต่างหากจากข้อกำหนดในการชดเชยทรัพย์สิน กล่าวคือ ท่านกำหนดให้โครงการต้องรับผิดชอบพัฒนารายรับของครอบ ครัวพี่น้องดังนี้
(๑) ภายในระยะเวลา ๒ปีหลังเริ่มโครงการ รายได้ของประชาชนต้องไม่ต่ำกว่าเส้นระดับความยากจน ( ๑.๘แสนกีบต่อคนต่อเดือน จำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย ๖ คนต่อครอบครัว) คิดเป็นเงินประมาณ ๑๓ ล้านกีบ หรือตกเป็นเงินไทย ๕หมื่นกว่านิดๆบาท
(๒) ภายในระยะเวลา ๘ปี ต้องรับประกันรายได้ของประชาชนให้เท่ากับรายได้ต่อครัวเรือนในระยะก่อนมีโครงการ ก็ราวๆ ๒๐ล้านกีบ หรือ ๘หมื่นบาทต่อครอบครัวต่อปี (ความจริงเขากำหนดให้ภายใน ๓ปี แต่พวกเราไปต่อรองว่าถ้าท่านอยากให้เราใช้โปรแกรมการปลูกยางพารา ก็ต้องรอ ๘ปีจึงจะได้รับผล)
(๓) ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี ต้องรับประกันรายได้ของประชาชนให้มากกว่าเดิม ๕๐% นั่นก็คือ ต้องทำให้รายได้ของชาวบ้านไม่ต่ำกว่า ๓๐ล้านกีบต่อครอบครัวต่อปี ก็ประมาณ ๑แสนสองหมื่นบาท
ทั้งนี้ท่านยังบอกมาอีกว่า จะมีการตรวจสอบทุกสองปี หากทำไม่ได้มีบทปรับไหมด้วย(นะจะบอกให้)
ถามตัวเองในฐานะที่ปรึกษา ว่าหวั่นใจไหม ก็หวั่นๆบ้างเล็กน้อย ไม่ได้รู้สึกกดดันมากมายนัก
ก็งานชิ้นนี้ผมได้เริ่มคิด เริ่มทำมาตั้งแต่ปี ๑๙๙๕ โน่นแล้ว ทำๆหยุดๆจนจะมาเอาจริงกันอีกทีก็หนนี้
แต่ถามว่าพอใจ ชอบใจกับข้อกำหนด กับแนวทางการพัฒนาที่เขาวางไว้หรือเปล่า
หากเป็นเมื่อก่อน ก็คงไม่รู้สึกอะไร เขาให้โจทย์มาก็แก้ให้เขาก็จบเรื่อง
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป พอได้พบพานอะไรต่างๆมากขึ้น เริ่มมองเห็นสัจธรรมแห่ง “ความสุขที่แท้จริง” แล้ว
ทำให้เริ่มเกิดความรู้สึก ไม่ยินยอมพร้อมใจ หรือเห็นพ้องด้วยสักเท่าใด
การเล่นกับตัวเลขนั้นทำได้ง่ายนิดเดียว ยิ่งเขากำหนดที่ค่ารายได้รวม ไม่ใช่รายได้สุทธิเช่นนี้ ก็เล่นได้สบายๆสิครับ อยากให้รายได้สูงก็ใส่เงินลงทุนลงไปเยอะก็เท่านั้นง่ายนิดเดียว ผมลองคิดเล่นๆถึงแหล่งของรายได้ไว้อย่างนี้ครับ
๑ ) รับเข้าทำงานในโครงการครอบครัวละ ๑คน ได้ค่าแรงปีละ ๗ ล้านกีบ
๒) ลงทุนปลูกยางพาราให้ครอบครัวละหนึ่งเฮกตาร์ พอปีที่๗ก็ได้เริ่มกรีดยาง พอปีที่๘เป็นต้นไปก็จะมีรายได้อย่างต่ำปีละ ๑๕ ล้านกีบ แต่ในระยะปีแรกๆตอนที่ต้นยางฯยังเล็กอยู่ ก็ให้ปลูกพืชไร่สลับระหว่างต้นของยางฯ เช่น ข้าวโพด งา ลูกเดือย สับปะรด ข้าวไร่ เป็นต้น การปลูกพืชไร่ผมกำลังพัฒนาระบบการปลูกแบบเหลื่อมฤดู ทำให้สามารถปลูกได้สองชนิดต่อปี ประมาณว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า ๓ ล้านกีบต่อปี
๓) จัดที่ดินให้อีกหนึ่งเฮกตาร์ ให้ทำการเกษตรประเภทอื่นๆ เช่นปลูกพืชไร่เหมือนกับในที่ดินแปลงแรก หรือปลูกถั่วแระไว้ปล่อยครั่ง หรือปลูกข่าขายเมล็ด หรือปลูกปอสา ก็จะมีรายได้อีก ๓ล้านกีบต่อครอบครัวต่อปี (โปรแกรมนี้จัดสำหรับพี่น้องชาวลาวเทิงที่ไม่ถนัดกับการเกษตรแบบประณีต) หรือหากจะเป็นโปรแกรมสำหรับพี่น้องที่ขยันๆหน่อยเสนอให้ปลูกส้มเกลี้ยง เพราะไปดูมาแล้วว่าที่เมืองน้ำบากเขาปลูกกันได้โดยไม่ใช้สารเคมี หรือปุ๋ยเคมีใดๆเลย ส้มเกลี้ยงสามารถนำไปโฆษณาเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้สบายๆ หากปลูกส้มเกลี้ยงพี่น้องจะมีรายได้ราวๆ ๑๐ล้านกีบต่อปี ในสวนส้มเกลี้ยงท่านสามารถปลูกกาแฟแซมระหว่างต้นส้มได้อีกต่างหาก หรือหากรายใดใจสู้ปลูกยางพาราอีกหนึ่งเฮกตาร์ ก็มีสิทธิ์ได้อีก ๑๕ล้านกีบ
๔) อาชีพนอกภาคเกษตรที่มองไว้คือ การต่อยอดกิจกรรมที่มีอยู่ปัจจุบัน เช่น งานทอผ้าซึ่งทุกวันนี้บรรดาแม่บ้านมีรายได้จากการขายผ้าทอปีละ ๑๐ล้านกีบต่อครอบครัว ส่วนงานปักผ้า และงานจักสานไม้ไผ่ทำรายได้ให้กับพี่น้องราวๆ ๒-๓ ล้านกีบ
๕) อาชีพเสริม ได้แก่การเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ก็ได้ขึ้นแผนงานจัดพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีปางเลี้ยงวัวควายที่จ้างพี่น้องมาดูแล มานอนเฝ้า มีนักวิชาการสัตวบาลมาช่วยดูแล พร้อมทั้งมีโครงการที่จะมอบแม่พันธุ์วัว/ควาย ให้แต่ละครอบครัวเป็นออมสินที่มีชีวิต เอาไว้แบ่งขายลูกในปีที่๕และที่๖ เป็นรายได้มาทดแทนกรณีที่ปลูกพืชแซมในสวนยางไม่สามารถปลูกได้
กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์สามารถทำรายได้เข้าครอบครัวประมาณ ๓ ล้านกีบต่อปี
เป็นอย่างไรบ้างละครับท่านแผนงานของผม บวกตัวเลขบวกไปบวกมาอย่างไรก็เกินข้อกำหนดที่เขาให้มา อย่างนั้นก็สบายแล้วใช่ไหมครับ ถ้าจะว่าสบายก็ถือว่าสบายได้ หากควบคุมแผนกิจกรรมให้เป็นไปตามแผนหลักที่วางกรอบไว้
แต่โดยส่วนตัวแล้ว “ผมยังไม่แล้วใจ” หมายความว่ายังตะขิดตะขวงใจยังไงอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ว่าจะพยายามใช้หลัก นิเวศวัฒนธรรมเกษตร มาใช้ในการวางแผน โดยการสร้างทางเลือกไว้หลายๆทางให้พี่น้องต่างกลุ่มชาติพันธุ์ เลือกนำไปปฏิบัติตามความถนัดก็ตาม
แต่เมื่อเล่นมามีกรอบบังคับที่ตัวเลขรายรับ นี่ก็คงจะดิ้นไปรูปแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ได้ยาก
ขยับมาแอบบ่นถึงประเด็นที่ “ยังไม่แล้วใจ” ดีกว่า
ประการแรก เป็นการวางแผนจากข้างบนอีกแล้ว ไอ้คนหัวหน้าตัวที่วางแผนก็คือไอ้กระผมคนเขียนบันทึกนี่เอง (คนที่เคยด่าคนอื่นอยู่ปาวๆ ว่าต้องเริ่มที่ความต้องการของพี่น้อง)
ประการสำคัญที่สุด ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องการวัดดัชนีความสุขของพี่น้องที่ตัวเลขรายได้ต่อครัวเรือนนี่แหละ ไม่เข้าใจจริงๆพวกนักสถิติ นักตัวเลขนี่
ทำไมเขาไม่คิดว่า พี่น้องชาวบ้านต้องการความสุขแบบไหน
พี่น้องอาจต้องการชีวิตที่เรียบง่าย มีกินอิ่มท้อง มีบ้านอยู่ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นความต้องการพื้นฐานก็ได้
แต่เล่นมาแบบ ต้องทำหนึ่ง ทำสอง ทำสาม ทำสี่อย่างนี้นะพี่น้อง ห้ามแตกแถวประเดี๋ยวรายได้ไม่ถึงเป้า ข้าพเจ้าจะเดือดร้อน
ถ้าเป็นแบบนี้ก็หมายความว่า พี่น้องทุกคนต้องตรากตรำทำงานกันงกๆ ออกจากบ้านไปทำงาน ทำสวน กันทุกวันไม่ต้องหยุดต้องพักกัน ลูกเด็กเล็กแดงก็ต้องเอาไปฝากครูเลี้ยง ฮีตคองวันค้ำวันพักงานในวันพระวันที่มีงานศพงานบุญในหมู่บ้านก็คงจะจางหายไป บุญประเพณีต่างๆก็คงจะต้องถูกประยุกต์ให้เข้ากับภาวะเร่งด่วนของภารกิจ
ถ้ามาแบบนี้แล้วการพัฒนาชุมชนแบบที่มีการลงจัดเวทีชาวบ้าน การระดมความคิด การกระตุ้นให้พี่น้องปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก การยกป่ามาไว้ในสวน การเกษตรแบบรักษ์ป่ารักษ์ดินรักษ์สภาพแวดล้อม การมีเศรษฐกิจครอบครัวอย่างพอเพียง การลดรายจ่ายในครัวเรือน อะไรต่างๆเหล่านี้คงจะต้องพับแผนงานเก็บเข้ากระเป๋า ทำทุกอย่างที่ได้ขายได้เงินก่อน
ชักจะคิดถีงพี่น้องไทบรูดงหลวง พี่น้องเครือข่ายอินแปงเสียแล้วสิครับ
« « Prev : To Do Tag
Next : แก่นตะเวน ทานตะวัน อุ่นเดือน มัดแขนแอน้อย แก้กำเนิด….เกี่ยวกันไหมเนี่ย » »
4 ความคิดเห็น
คิดอย่าง ทำอย่าง
ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่………..บ้องกัญชา อิอิ
เป็นบัญชีกะปิแบบแปลกๆ ที่มองตัวเลขรายรับด้านเดียวครับ
ถั่วแระหรือปลูกข่าขายเมล็ด
อาส์เปลี่ยนพอเมล็ดข่า มาแบ่งปันไหมละครับ
มีเพื่อนรุ่นพี่ เคยทำงานด้วยกันมาที่ สุรินทร์ เขามาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อะไรทำนองนี้ กับ EKKO ที่น้ำเทินสอง เขาออกอากาศเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ว่าโครงการใหญ่แบบนี้ต้องรวมต้นทุนเรื่องที่เปลี่ยนกำลังทำนี้ไปด้วย ซึ่งงบไม่น้อยทีเดียว เขาพูดเปรียบเทียบ มาบตาพุดบ้านเราว่า ไม่ได้ลงทุนด้านนี้เลย หรือน้อยไป