แก่นตะเวน ทานตะวัน อุ่นเดือน มัดแขนแอน้อย แก้กำเนิด….เกี่ยวกันไหมเนี่ย
ไม่รู้จะบันทึกอะไรในวันที่ชีวิตวุ่นวายช่วงเดือนสิ้นปีอย่างนี้…แต่ก็ยังอยากเขียน
วันพักเหลือเพียบ แต่กลับไม่ได้ วันนั้นต้องรอประชุมนี่ วันนี้ต้องรอประชุมโน้น พอมีช่วงว่างตั๋วกลับไม่มี เครื่องบินน่านกรุงเทพเลิกให้บริการอีก เอ้าบ่นบ่น
เมื่อตอนเย็นนั่งเชียร์ลาวเตะบอลกับสิงคโปร์ ทางช่องลาวสตาร์ได้ภาษาฟุตบอลมาเล่าสองสามคำ
บาลเตะ คือ ฟุตบอล
บานไหม คือ ลูกโทษ
ลูกแจ๋ คือ ลูกเตะมุม
เมื่อตอนบ่ายไปเดินดูแปลงปลูกทานตะวันของพี่น้อง ดอกทานตะวันที่หงสาเรียกว่า ดอกแก่นตาเวน ครับ
เรื่องราวที่ไปที่มาของการปลูกทานตะวันที่หงสานี้เริ่มต้นเมื่อปีกลาย ผมไปเห็นปลูกอยู่ที่ริมรั้วหน้าบ้านของเจ้าสมจิตลูกน้อง (คนเดียวที่มีอยู่) เห็นออกดอกติดเมล็ดงามดี ถามดูได้ความว่านำเมล็ดพันธุ์มาจากสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรหลวงพระบาง จึงบอกให้เก็บเมล็ดไว้ขยายต่อ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ ผมก็ควักกระเป๋าตัวเอง ๒๐๐๐ บาทเป็นทุนให้ไถที่ ทำน้ำหมักชีวภาพสูตรบำรุงต้น สูตรบำรุงเมล็ด และสูตรไล่แมลง ซื้อขนมมาล่อชวนให้เด็กๆแถวนั้นมาช่วยกับปลูก มาถอนหญ้า หากวันไหนไม่มีงานก็ให้สมจิตพักงานกลับมาดูแล ผลงานของเจ้าสมจิตเข้าตาพี่น้องชาวหงสาอยู่ไม่น้อย ปุ๋ยชีวภาพสูตรของเราน่าจะได้ผล ต้นทานตะวันสูงท่วมหัวดอกบานเท่าชามใบโต เมล็ดเต็ม โดยไม่ต้องง้อโบรอนเหมือนที่เคยปลูกที่มอชอ. แปลงปลูกแก่นตาเวนของเราอยู่ใกล้ถนน แถวนั้นมีไร่แตงโมหลายเจ้า ที่เก็บแตงมาวางแผงขายริมทาง เจ้าของสวนแตงยิ้มกันหน้าบานเพราะวัยรุ่นชวนกันมาถ่ายรูป พากันซื้อแตงโมไปผ่ากินกันในแปลงทานตะวันของเรา เจ้าสมจิตรายงานว่าเมียกระเทาะได้เม็ดทานตะวันร้อยกว่ากิโล ขายกิโลละสิบพัน (๔๐บาท)ได้เงินพอสมควร
ปีนี้มีคนมาขอเมล็ดพันธุ์ไปปลูกสิบกว่ารายแล้วครับ เลยมอบหมายให้ท่านสมจิตไปสอนทำปุ๋ยชีวภาพ ขยายองค์ความรู้ ขยายสมาชิกเกษตรปลอดเคมีได้อีก นับว่าเงิน ๒๐๐๐บาท ที่ลงทุนไปนั้นคุ้มค่า
ชาวหงสาซื้อเมล็ดทานตะวันไปทำอะไร
เอาไปรับแขก ไว้แทะเล่นแก้เหงาปาก เขาว่าอย่างนั้น (ไม่เหมือนที่ผมเคยไปปล่อยไก่ที่ยุโรป ผมกับพรรคพวกไปซื้อมาแทะเล่นกันคนเขามองแปลกๆ อ้าวที่แท้ที่โน่นเขาเอาไว้เลี้ยงนกกัน…) ถามเขาต่อว่าแขกอะไร เขาก็ตอบว่าแขกที่มาเวลามีงานที่บ้าน เช่น งานศพ มาเยี่ยมคนป่วย และมา “อุ่นเดือน”
“อุ่นเดือน” คือการมาเยี่ยมเยียน มาอยู่เป็นเพื่อน ครอบครัวที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ หรือที่ภาคกลางเรียกว่า อยู่ไฟ นั่นเอง แต่ทางเหนือกับทางลาวเรียกเหมือนกันว่า “อยู่เดือน” แต่การอยู่เดือนของชาวยวนเจียงใหม่ กับชาวลาวหงสาจะต่างกัน ชาวล้านนาแม่ลูกอ่อนจะเก็บตัวเงียบๆในห้องห้ามไม่ให้ได้กลิ่นอะไรที่ฉุนแรง ท่านว่าประเดี๋ยวจะ “เป็นลมผิดเดือน” แต่ที่หงสากลับเป็นว่าผู้คนมาเยี่ยมมาอยู่เป็นเพื่อนกันคึกคัก คนเฒ่าคนแก่มานอนเป็นเพื่อน กลางคืนก็เล่านิทานกันจนค่อนรุ่ง คนหนุ่มก็ตั้งวงร่ำสุรากันเฮฮา สาวๆหนุ่มๆเล่นไพ่กันหลายวงหลายแบบ ดึกๆก็มีต้มเป็ดต้มไก่เลี้ยงกัน เขาจะมาอยู่เป็นเพื่อนกันอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มคลอดจนครบหนึ่งเดือน เมล็ดทานตะวันของผมจึงมีบทบาทในการรับแขกอย่างนี้นี่เอง เคยถามเขาว่าตลอดเดือนต้องให้เมล็ดทานตะวันรับแขกราวยี่สิบสามสิบกิโล ทีเดียว
เมื่อครบหนึ่งเดือนแล้ว ก็ต้องมีพิธีรับขวัญเด็ก หรือ การ “ผูกแขนแอน้อย” เป็นงานใหญ่ชนิดต้องแจกบัตรเชิญ บางบ้าน (ส่วนใหญ่) ถึงกับมีดนตรีมาเล่น มีการจัดรอบรำวงกันทั้งวันทั้งคืน ส่วนเหล้ายาอาหารนั้นมีเพียบ ล้มหมู ล้มวัวกันก็มี บางงานถึงกับเชิญเจ้าเมืองมาเป็นประธานเลยเชียว
พิธีที่เกี่ยวกับเด็กเล็กที่เคยเห็นอีกอย่างก็คือ การแก้กำเนิด ครับ เขามักทำพิธีในรายที่เด็กเลี้ยงยาก เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยๆ โดยมีความเชื่อว่า เด็กมีพ่อเกิด แม่เกิดมาอยู่ด้วยไม่ยอมไปไหน หากปล่อยไว้พ่อเกิดแม่เกิดอาจจะพากลับคืน จึงจำเป็นต้อง “เจรจา”ขอเด็กมาเป็นกรรมสิทธิ์ ในการจัดพิธีก็ต้องไปเชิญหมอพราหมณ์ มาตั้งเครื่องบายศรี มีเครื่องคาวหวานสังเวย มีเงินหมันเงินฮางโบราณเตรียมไว้ซื้อตัวเด็ก จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของหมอพราหมณ์ท่านจะโอมพระเวทคาถาไม่รู้กี่บท มีการเจรจาต่อรองกับพ่อเกิดแม่เกิดของเด็ก (ขั้นตอนนี้ใช้เวลาสามสี่ชั่วโมงพ่อหมอท่านช่างอดทนจริงๆ) เพื่อขอเด็กมาเลี้ยงดู เริ่มพิธีตั้งแต่เช้าบ่ายคล้อยโน่นถึงจะเสร็จพิธีกรรม
จากแก่นตาเวน ลากไปหาพิธีแก้กำเนิดได้อย่างไรก็ไม่รู้
จบละครับ
« « Prev : อยากเล่นกับตัวเลขกันนักใช่ไหมครับท่าน
Next : ขนมลำเจียก กับคู่แฝดที่หลวงพระบาง » »
2 ความคิดเห็น
เมื่อวานนั่งกินข้าวกับ ดร. วี… ที่มุกดาหาร คุยกันว่า วันที่ 17 จะเชิญทุกจังหวัดไปร่วมงาน “ตุ้มโฮม” ที่อินแปง เพราะมีข้อมูลใหม่ในเรื่องการพึ่งตนเอง หลัง FTA ชุดใหม่มีผลในเร็ววันนี้ หนึ่งในแนวคิดคือ การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ดร.ให้พิจารณาปาล์ม ทานตะวัน ซึ่งพี่ก็เสนอ ต้นเอกมหาชัยที่ป้าจุ๋มเอามาแนะนำ
ดร.กล่าวว่า รูปธรรมเรื่องการพึ่งตนเองมีไม่มากนัก ในฐานะที่โครงการลงปฏิบัติเองน่าที่จะคุยกันให้มากในเรื่องนี้ และสนใจที่จะสนับสนุนการหีบเอาน้ำมันออกมาใช้เป็นน้ำมันรถ หรืออื่นๆเพื่อลดการซื้อ…ฯลฯ ตอนนี้ทองแท่งมาเป็น ปทจ.ที่สกลนคร หากอนู่นานจริงก็จะเป็นยุคทองของอินแปงเลย…
ตอนนี้ HBS นายหล่อง นายสยาม ทำมันสำปะหลังอินทรีย์ได้ถึง 8-9 ตันต่อไร่ นี่หากทำตามคำแนะนำจริงๆน่าจะสูงกว่านี้ เลยต้องลุยกันในปีสุดท้าย…
น่าจะถึงยุคทองของสกลนครเสียทีครับ (แต่สนง. ทปษ.ของเราท่าจะเหนื่อยหน่อย…)
อินแปงนั่นเขาฝังรากลึกอยู่แล้ว มีคนมาแต่งกิ่งหน่อยก็ผลิดอกบานสะพรั่ง ฝากใจไปงานตุ้มโฮมด้วยครับ
ผมเองก็ได้แนวทาง ได้ความรู้มาจากอินแปงไม่น้อยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ที่นี่ อ้ายเพ็ง สีเมือง ผู้ช่วยผมที่นี่ก็เคยไปดูงานไปผูกเสี่ยวกับพ่อเขียน ศรีมุกดามาแล้ว เลยคุยกันรู้เรื่องดีครับ
การเพิ่มจำนวนผู้ปลูกทานตะวันของพี่น้องชาวหงสา
กับความสำเร็จในการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ที่ดงหลวง
ช่วยยืนยันคำ “ระบบเกษตรนิเวศวัฒนธรรม” ได้เป็นอย่างดีครับ
ว่าแต่วันอาทิตย์นี้เย็นๆพี่อยู่ขอนแก่นไหมครับ จะไปขโมยไม้กอล์ฟเก่าๆสักชุด