ขนมลำเจียก กับคู่แฝดที่หลวงพระบาง

โดย silt เมื่อ 17 ธันวาคม 2009 เวลา 10:54 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1922

๑๕ ธันวา หลังจากแว๊ปมาขอนแก่นได้ ๔๘ ชั่วโมง มีเวลาแค่ไปหาหมอ ๒ หมอ กับหาซื้อแปรงสีฟันชนิดนุ่มพิเศษ แล้วก็ต้องรีบเผ่นออกนอกประเทศ เพราะเขาหาไฟล์ที่จะนำเสนองานกับท่านเจ้าแขวงไม่เจอกัน

เที่ยวบินอุดร-หลวงพระบางที่ประกาศว่าเดลี่ไฟท์บ้าง บินเดย์๒๕๗บ้างนั้นกลับไม่มีบิน ทั้งๆที่ผมไปซื้อตั๋วเดินทางวันอังคารแท้ๆ (อันที่จริงไม่มีก็ดีไปอย่างช่วยประหยัดไปเยอะ ก็ค่าตั๋วหลวงพระบางมาอุดรเที่ยวเดียวตั้ง ๔พันกว่าบาท แต่หากข้ามไปบินเวียงจันทน์-หลวงพระบางค่าตั๋วเพียง ๒พันกว่าบาท)

คราวนี้ผมเลยใช้วิธีนั่งรถทัวร์สายขอนแก่น-เวียงจันทน์ ของ บขส. บ้านเรา สภาพรถนั่งสบายใช้เวลาเพียง ๔ชั่วโมงค่าโดยสารเพียง ๑๘๐บาท แล้วค่อยไปต่อเครื่องเที่ยวเย็นที่วัตไตไปหลวงพระบาง

๑๖ ธันวา เช้าตรู่ก่อนจะรีบนั่งรถผ่าดงฝุ่นไปข้ามน้ำโขงเพื่อประชุมที่ไชยะบุรี เจ้าลูกน้องตัวดีก็โทรมาจากหงสา สั่งซื้อพันธุ์ผักไปปลูกเพิ่มในแปลงสาธิตของเรา (น่าจะเปลี่ยนให้เป็นเจ้านายแทน…สั่งตรูเหลือเกิน..) เขาอยากได้ “โปเตแตง” คือหัวมันฝรั่ง “เม็ดหัวกาโรด”คือแครอท และ “หมากเลนจ๊ะเหย่อ”คือมะเขือเทศชนิดผลใหญ่ เอ้าจัดให้คร๊าบเจ้านาย ว่าแล้วก็วานรถให้วนกลับไปแวะซื้อให้ที่ตลาดเช้า

ซื้อของที่ต้องการเสร็จ แวะแผงขนมหวานซะหน่อย (หมู่นี้เพิ่งไปหาหมอมากินได้สบายเอาไว้ใกล้ๆจะไปเจาะเลือดรอบใหม่ค่อยอด แหะ แหะ) แล้วผมก็ไปปิ๊งเอาขนมอยู่ถาดหนึ่ง ลักษณะเป็นม้วนกลมๆ เปลือกนอกเป็นแป้งสีขาวคล้ายๆแป้งของโรตีสายไหม ใส้ข้างในเป็นมะพร้าวทึนทึกคั่วใส่น้ำตาล กัดชิมคำแรกหวานฉ่ำแทบจะละลายลิ้นไปด้วยเลยทีเดียว แต่กินได้แค่ชิ้นเดียวก็หมดความอยาก สงสัยอดของหวานมานานจนไม่คุ้นกับรสหวานๆ ถามอ้ายน้องคนขับรถ กับสาวๆญาติของเขาที่ขออาศัยรถกลับด้วยก็ไม่มีรู้จักชื่อว่าที่นี่เขาเรียกขนมอะไร ตัวเองก็ พยายามนึกว่าเคยกินขนมนี้ที่ไหนหนอ จำได้ว่าเคยได้ชิมได้ช่วยทำด้วย อร่อยกว่านี้มากแล้วก็สนุกมากๆด้วย แต่นึกไม่ออกว่าที่ไหนเมื่อไหร่ เริ่มหงุดหงิดกับความจำแบบครึ่งๆกลางๆของตัวเองจนกระทั่งรถแล่นมาได้แปดสิบกว่ากิโลมาถึงท่าเดื่อริมแม่น้ำโขง ได้เห็นเรือจอดอยู่ที่ท่าหลายลำ ภาพเรือมาเป็นตัวกระตุ้นให้นึกออกให้จำได้

ให้จำได้ว่า เหมือนกับขนมลำเจียกที่ผมเคยกินครั้งหนึ่งในชีวิตที่ อำเภอวิเศษชัยชาญบ้านพี่บางทรายนั่นเอง เคยได้ไปกินสมัยผมอยู่ปีสาม ยี่สิบปีที่แล้วโน่นแหนะ  สมัยนั้นยังไม่รู้จักพี่บูธแต่ไปแวะบ้านพี่สาวของอาจารย์ป๋า ดร.จิตติ ปิ่นทอง ได้ไปช่วยหลานสาวคุณป้าท่านทำด้วย ท่านว่าเป็นขนมที่มีขายที่เดียวที่ตลาดวิเศษฯนี้เท่านั้น จำได้ว่าวิธีทำคล้ายๆกับทำโรตีสายไหม คือเอาแป้งมาทาบนกะทะร้อนทีละแผ่น เอาใส้ที่เตรียมไว้ใส่แล้วม้วนเป็นท่อนๆ ได้กินเพียงครั้งเดียวก็ไม่เจออีก สงสัยมีขายที่เดียวอย่างที่คุณป้าท่านบอกจริงๆ จนกระทั่งมาเจอคู่แฝดของเขาในวันนี้ แต่รับรองว่าเหมือนแต่รูป ส่วนความอร่อยนั้นขนมลำเจียกกินขาดไปหลายขุม

ที่ได้ไปแวะอ่างทองนั้น เนื่องด้วยทางภาควิชาดินฯ โดยอาจารย์ป๋าท่านเป็นหัวหน้าภาคฯจัดทัศนศึกษาให้นักศึกษาทั้งภาควิชาไปเปิดหูเปิดตา ไปดูดินทั่วทุกภาคของประเทศไทยว่าต่างกันอย่างไร นักศึกษาทั้งภาควิชาฯสมัยนั้นก็มีไม่ถึงยี่สิบคนหรอกครับ เป็นพี่ปีห้าที่เรียนนานกว่าปกติ(ซูเปอร์)สามคน พี่ปีสี่สิบกว่าคน ผมปีสามคนเดียว(กว่าจะกระหน่ำขึ้นเวรสะสมวันหยุดได้พอ เล่นเอาพรรคพวกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก) และน้องปีสองอีกหนึ่งคน รวมกับนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวฝรั่งอีกสี่ห้าคน พากันขึ้นรถสองแถวของคณะไป

ออกจากเชียงใหม่ จุดหมายแรกท่านพาไปเยี่ยมโครงการ “อีสานเขียว” ที่ทางมช.ได้รับผิดชอบในพื้นที่ภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ พากันขุดดูดินชุดโคราช ดูแปลงปลูกหม่อนที่ต้องต่อสู้กับปลวกที่มากัดกินรากกินท่อนลำที่ปลูกใหม่ และไปดูการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าทำเลเลี้ยงสัตว์โดยการหว่านเมล็ดถั่วฮามาต้า

จากชัยภูมิเราก็ตีขึ้นไปจังหวัดเลย แล้วเราก็ลัดเลาะเลียบโขง สมัยนั้นยังมีด่านตำรวจทุกหนึ่งกิโลไปเยี่ยมสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดหนองคาย ได้เรียนรู้วิธีการจัดการที่นาที่น้ำจากแม่โขงเอ่อท่วมได้อย่างเหมาะสม ทำให้เห็นความแตกต่างของระบบภูมินิเวศที่แห้งแล้งของชัยภูมิกับ พื้นที่น้ำท่วมของหนองคาย

จุดต่อไปท่านพาแวะศึกษางานของ JICA ที่มาตั้งศูนย์วิจัยด้านดินที่ขอนแก่น ได้เห็นเครื่องทำฝนเทียมเพื่อศึกษาเรื่องการชะล้างพังทลายของดิน และชมหน้าตัดดินที่มีข้างล่างเป็นหินเกลือ พร้อมทั้งดูห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยวิเคราะห์ได้ถึงระดับอะตอม อันที่จริงข้อมูลด้านดินหรือไม่ว่าด้านอื่นใดก็ตาม ผมว่าเราได้มีการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์มามากๆแล้วที่มีข้อมูลอยู่ในมือ แต่ทำอย่างไรดีถึงจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเผยแพร่มาประยุกต์ให้พี่น้องเกษตรกรใช้ประโยชน์กันได้

จากขอนแก่นท่านพาไปขุดดูไส้เดือนแถวอำเภอนาเชือก ท่านสอนว่าที่ไหนดินเค็มให้ดูว่าตัวไส้เดือนจะตัวยาวตัวโตกว่าปกติมาก แวะดูดินเค็มและคราบเกลือหน้าดิน การปลูกข้าวในดินเค็ม แล้วเราก็ไปแวะขุดดูดินชุดบรบือ ที่ตัวอำเภอบรบือ ก่อนจะนั่งรถชมทุ่งกุลาร้องไห้แล้วเลยไปนอนที่อีสานใต้ น่าจะเป็นที่วิทยาลัยครูศรีษะเกษ ที่นั่นเราสร้างวีรกรรมหนีไปเที่ยวดิสโก้กัน ตอนเช้ามาถูกป๋าอัดซะน่วม

แล้วท่านก็พาเราลัดเลาะไปโผล่ที่สถานีประมงแถวแหลมงอบ ชาวดอยได้เห็นประมงน้ำกร่อย น้ำเค็มกันก็หนนั้นแหละ เราพากันไปดูดินที่ยังดิบหรือดินที่อายุน้อยตามที่อาจารย์สอน ขุดดูดินแถวริมป่าโกงกาง ดินที่ปลูกต้นสนทะเล ชาวดอยพากันเล่นน้ำทะเลกันจนบ่าย ก่อนที่จะถูกเรียกต้อนขึ้นรถห้อตะบึงไปยังป้ายหน้า อำเภอวิเศษฯบ้านของอาจารย์เอง ถึงวิเศษฯมืดค่ำคุณป้ากับหลานสาวต้มปลาแกงปลาทอดปลาที่ซื้อมาจากทะเลกินกันจนลืมอิ่ม แล้วผมก็ไปช่วยเขาทำขนมลำเจียก ที่นี่เองเจ้าขนมลำเจียกได้บรรจุเข้าในหน่วยความทรงจำของผม ปัดโธ่เก็บไฟล์ไว้นาน จนกระทั่งมาเห็นคู่แฝดของเขาเข้าในวันนี้จึงได้รื้อฟื้น คืนนั้นนอนชานเรือนตอนหัวรุ่งสะตุ้งตื่นกับเสียงหลังคาเรือโยงขาทวนแม่น้ำน้อยขึ้นมาขนข้าว เรือเปล่าเวลาลอดใต้สะพานเสียงหลังคาเรือครูดกับท้องสะพานดังก้องคุ้งน้ำ

ตอนเช้ากินน้ำพริกกะปิแสนอร่อย กับดอกโสนลวกราดด้วยหัวกระทิ กับข้าวสวยร้อนๆ นึกแล้วยังอร่อยไม่รู้ลืม ก่อนอำลาวิเศษฯ ขึ้นมาดูดินแถวกำแพงเพชรที่มีจุดพิเศษคือมีจอมปลวกจำนวนมากจริงๆ จำได้ว่ามาถึงเชียงใหม่เวลาสี่ทุ่มเศษ มาถึงก็แวะอาบน้ำเปลี่ยนเป็นชุดขาวขึ้นเวรดึกต่อทันที

พอนึกได้นิดหนึ่ง ปรากฏว่าความจำที่ลืมเลือนมันไหลมาเป็นสายน้ำ แทบพิมพ์ไม่ทันทีเดียว รีบบันทึกไว้ก่อนที่จะลืมไปอีกรอบ แต่ก็ดูเหมือนเป็นบันทึกที่สับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก อย่างไรก็ตามจากบันทึกอันสับสนข้างบน ผมได้ข้อสรุปสองสามประเด็นได้แก่
ประการแรก คือ ประโยชน์ของการจัดทัศนศึกษา ให้คนที่ไม่เคยเห็นได้รู้ได้เห็น อันนี้มีประโยชน์แน่นอน ต้องมีสักคนที่ได้ประโยชน์ ฉะนั้นคุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้โปรดพาเด็กไปเที่ยวเสียดีๆ
ประการที่สอง คือ พิสูจน์ได้ว่าความรู้ไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียน
และประการที่สาม คือ คุณประโยชน์ของเครือข่าย ของสายพัวพันมิตรสหาย ผมว่าที่อาจารย์ป๋าท่านสามารถนำพาลูกศิษย์ไปเยี่ยมชมที่ต่างๆได้มากมาย ได้รับการต้อนรับอย่างดี ได้เปิดโลกทัศน์ กว้างไกล นั่นเพราะท่านมีเครือข่าย มีมิตรสหายมากมายที่พึ่งพาได้นั่นเอง

ว่าไปแล้วก็เหมือนกับคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบไปรุมตัวกันแถวสวนป่าสตึกนะครับ ไหนๆก็ว่าแล้วก็ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนกันท่านผู้สนใจไปมุกดาหารในวันไทบรูลูกเผ่าของผม ประชาชนของพี่บางทรายช่วงต้นเดือนกุมภานะครับ ได้ข่าวแว่วๆมาว่าปีนี้เขาจะจัดกันอีก (สำหรับท่านที่เคยไปสัมผัสชาวไทบรูตอนเฮฯดงหลวงแล้วยังไม่จุใจ หรือสำหรับท่านที่ยังไม่เคยรู้จักไทโส้ )ใคร่ขอเชิญ 
 

« « Prev : แก่นตะเวน ทานตะวัน อุ่นเดือน มัดแขนแอน้อย แก้กำเนิด….เกี่ยวกันไหมเนี่ย

Next : ว่าด้วยบุญพระเวส วัดโพนไซ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 เวลา 3:07 (เย็น)

    ขอรู้วันโตยเจ้า….เผื่อจะตัดช่องน้อยแต่พอตัว(สามคน) ไป…อิอิ

  • #2 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 เวลา 5:05 (เย็น)

    ฉะนั้นคุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้โปรดพาเด็กไปเที่ยวเสียดีๆ
    ประการที่สอง คือ พิสูจน์ได้ว่าความรู้ไม่ได้มีเฉพาะในห้องเรียน
    และประการที่สาม คือ คุณประโยชน์ของเครือข่าย ของสายพัวพันมิตรสหาย

    โห..เห็นตวยขนาดเล้ยยย…
    ตอนนี้กำลังปวดหัว..ด้วยบรรดาคนแถวหละปูน บอกว่า โรงเรียนมงคลฯ เน้นแต่กิจกรรม ไม่เน้นวิชาการ
    เฮ้อๆๆๆๆ…ไม่รู้จะบอกอย่างไร ให้เห็นประโยชน์ของการเรียนรู้เชิงประจักษ์ ที่ทำให้เข้าใจวิชาการได้ลึกซึ้งกว่าเรียนแต่ในตำรา
    เปิ้นจะเอาแต่ตัวเลขบอกเกรด..ให้สูงๆ เข้าไว้  วิธีวัดผลถูกไม่ถูกก็ไม่แน่ใจ..

    อ้าว…เลยจ่มเสียละ..
    ใค่ลอดช่องกำสามสี่คนกับอุ้ยตวยเน้อเจ้า..

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 เวลา 6:16 (เย็น)

    อ่อยแบบนี้ไม่ดีเลยนะ บอกวันมาซะดีๆเลยน้อง จะได้ตัดช่องน้อยให้เป็นช่องใหญ่ที่จะพาตัวรอด บอกกันแต่เนิ่นๆเลยนะเออ..จะได้ไปด้วยได้คล่องตัวหน่อย…เฮ้อ..ไม่อยากบ่น ไม่อยากบ่นเล๊ย

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 เวลา 10:08 (เย็น)

    อิอิ… วันไทบรูนั้นเราจัดมาเป็นปีที่ 5 แล้ว เป็นวันของเครือข่ายไทบรูทั้งอำเภอดงหลวง 4 ตำบลได้นำเอาผลงานมาแสดง มาพบปะพูดคุยกัน เอาแนวคิดต่างๆมาแสดง  ส่วนใหญ่ก็จัดเป็นฐานความรู้ต่างๆ เช่น ฐานผักหวานป่า ฐานสมุนไพร ฐานเยาวชนคนรักถิ่น ฐานเกษตรผสมผสาน ฯลฯ ใครสนใจอะไรก็เข้าไปคุยซักกันให้กระจ่างแจ้งแดงแจ๋ไปเลย  เนื่องจาก เครือข่ายไทบรูเป็น Node ของเครือข่ายอินแปง ซึ่งเป็นลูกพี่ใหญ่ อินแปงมีสมาชิก 5 จังหวัด จำนวน 4000 ครอบครัวโดยประมาณ มีศูนย์เรียนรู้นับร้อยๆ มีวิสาหกิจชุมชน มากกว่า 200 กลุ่ม

    เครือข่ายไทบรูเป็น Node พิเศษ เพราะเกือบร้อย เปอร์เซนต์คือสหายเก่า และมีวัฒนธรรมเฉพาะ เราจะประชุมกันเร็วๆนี้ว่าจะจัดงานกันเมื่อไหร่ดี วันนี้ก็พบกันที่อินแปง สกลนคร มีสัมมนาที่นั่น นัดกันว่าสัปดาห์หน้าจะนัดคุยกำหนดวันกันครับ น่าที่จะเป็นปลายกุมภา หรือต้นๆมีนา ครับ เพราะเราอยากสรุปงาน ต่างๆในสนามที่ดำเนินการมาให้ครบก่อนเพื่อเอาไปแสดงในงานวันไทบรู สำคัญที่ว่าเราสรุปงานได้หมดเมื่อไหร่  ทีมงานก็ลดลง(ลาออกไปทำงานที่เดิม นายเก่าเรียกไป) ผมต้องลงไปช่วยงานสนามมากขึ้น เพราะเหลือแค่ สองคน พื้นที่ 4 ตำบล งาน 108 อย่าง อิอิ จึงไม่ค่อยมีเวลามาเจ๊าะแจ๊ะนะครับ

    มีเห็ดหลินจือผงมาฝากเปลี่ยนจากอินแปงด้วย ผู้ผลิตคือราชภัฏสกลนคร ภาควิชา food technology ร่วมกับบริษัทอะไรสักอย่างค้นคว้าสรรพคุณเห็ดหลินจือช่วยลดน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวาน  ได้ อย.แล้ว จะส่งมาให้ทดลองเด้อ…

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 เวลา 10:24 (เย็น)

    ถ้าใครสนใจมาเที่ยวงานไทบรู ดงหลวง หากมากันพอสมควรจะจัดข้ามไปเที่ยวเมืองสะหวันนะเขต กราบพระธาตุอิงฮัง เที่ยวตลาดสิงคโปร์  สังเกตุการณ์บ่อนคาสิโน เยี่ยมชมกงสุลไทยประจำสะหวันนะเขต คุนกับท่านกงสุล(หากท่านสนใจประเด็นไหนบอกได้) เที่ยวชมเมืองสะหวันนะเขต เที่ยวชมสถานที่สำคัญมุกดาหาร เช่น วัดเก่าที่อ๊อตไปจัดค่ายเด็ก ที่อาม่าไปเที่ยวมาแล้ว โบสถ์คริสที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น เลยไปกราบพระธาตุพนม ชมบ้านเรือน โบราณหน้าวัดพระธาติพนม เรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคม ชมหอแก้ว ที่รวบรวมวัฒนธรรมมุกดาหาร ชมเมืองมุกดาหารมุมสูงที่ภูมโนรมย์ กินปลาแม่น้ำโขง เที่ยวตลาดอินโดจีนริมโขง แล้วเข้าดงหลวงเที่ยวงานวันไทบรู  ใช้เวลาสัก 2-3 วัน มั๊ง  อิอิ

    หรือหากจะมีประเด็นคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดก็จัดให้ได้ ท่านเป็นลูกช้างระหัส 17  นายอำเภอดงหลวงก็เป็นนักพัฒนาเก่า บัญฑิตอาสา มธ. ลุยมาก ชอบทำงานกับชาวบ้าน ชอบคุยแลกเปลี่ยนกัน

    อ้าวเดี๋ยวจะกลายเป็นเฮฮาศาสตร์ ไป


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.1349470615387 sec
Sidebar: 0.024249792098999 sec