ว่าด้วยบุญพระเวส วัดโพนไซ
ไปวัดมาครับ ถือว่าได้โอกาสเข้าวัดทำบุญส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
เป็นการเข้าสู่ศักราชใหม่ ที่อิ่มอกอิ่มใจ หลังจากที่ผ่านช่วงเวลาแสนยุ่งยากวุ่นวายในช่วงก่อนสิ้นปี
ก็มีทั้งรายงานประจำปี รายงานประจำเดือน งานบุญงานกีฬาต้อนรับปีใหม่ของหลายหน่วยงาน งานแต่งงานเกือบสิบคู่ในรอบสัปดาห์สุดท้ายของปีที่ได้รับบัตรเชิญ ทำเอากระเป๋าแบนไปหลายแสน(กีบ) สามวันสุดท้ายก่อนสิ้นปีนั่งถ่างตาปั่นรายงาน รวมเวลาที่ได้หลับไม่ถึงสองชั่วโมง
ความเหนื่อยล้า บวกกับการได้ข่าวการจัดบุญพระเวสบ้านโพนไซ ทำให้ผมยกเลิกแผนการเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุด ตั้งใจจะอยู่ทำบุญข้ามปี
ตั้งใจจริงๆ แต่ไม่รู้ว่าช่วงจังหวะไหนควรไป และจะไปร่วมทำบุญอย่างไร ก็ทุกทีเคยแต่ไปตักบาตรตอนเช้า แต่งานบุญพระเวสนี่เขามีตั้งสามสี่วัน เลยไม่รู้ว่าจะไปวันไหนดี ว่าแล้วก็สอบถาม ซักถามคนรอบข้าง ปรากฏว่าถามสิบคนก็ได้คำตอบสิบอย่าง แต่ที่แน่ๆทุกรายล้วนชวนไปกินเบียร์งานบุญพระเวสที่บ้าน ประมวลคำตอบแล้ว สรุปได้ว่า สำหรับคนหงสารุ่นใหม่ที่อายุสี่สิบห้าปีลงมา งานบุญพระเวส เป็นงานรื่นเริงเฉลิมฉลองอย่างหนึ่ง ที่มีการไปเก็บดอกไม้ป่ามาประดับวัด(พร้อมกับการกินเหล้า) การตั้งกองบุญที่บ้าน(กินเหล้ามากกว่าเก่า) การแห่ครัวทานเข้าวัด(เมามาย) จากนั้นก็มอบให้เป็นบทบาทของพระและผู้เฒ่าผู้แก่ไม่กี่คน ส่วนคนหน่มสาวก็ถือว่าหมดหน้าที่
นั่นทำให้ผมต้อง(แอบ)สังเกต และเข้าไปร่วมกิจกรรมอย่างตั้งใจ เพื่อที่จะบันทึกไว้ถ่ายทอดก่อนที่ความหมายที่แท้จริง และประเพณีที่งดงามจะเลือนหาย สิ่งที่ผมพบเห็นเป็นดังนี้
ขั้นตอนของบุญพระเวส บ้านโพนไซ เมืองหงสา
ก่อนวันแรก ประมาณ ๑ศีลใหญ่(๑๕วัน) บรรดาแม่บ้านวัยคุณป้าจะพากันพาดผ้าเบี่ยงไปเล่าบุญ บอกบุญตามหมู่บ้านต่างๆทั่วเมืองหงสา
วันเรก ๒๙ธันวา วันเก็บดอกไม้ป่า หนุ่มสาวจะพากันออกไปหาเก็บดอกไม้จากป่าชายบ้านนำมาที่วัด น้ำเมามีการบทบาท ตั้งแต่วันนี้ คนสูงวัยเล่าว่าสมัยก่อนวันเก็บดอกไม้หนุ่มสาวจะถือโอกาสได้พบปะอยู่กันตามลำพังห่างจากสายตาผู้ใหญ่ เป็นความทรงจำที่งดงามที่ได้ฟังจากป้าๆทั้งหลาย
วันที่ ๓๐ ธันวา วันประดับประดาวัด เตรียมข้าวของเครื่องใช้ในพิธี ตอนเย็นมีการแห่พระอุปคุตมาจากท่าน้ำ ด้วยความเชื่อว่าอัญเชิญท่านมาช่วยคุ้มครองให้งานบุญราบรื่น ส่วนที่บ้านที่เป็นเจ้าศรัธทาที่ตั้งกองบุญ (ปกติจะมีประมาณ ๒๐ กอง) จะเริ่มแต่งดาเครื่องไทยทาน แน่นอนงานเลี้ยง น้ำเมา ดนตรี ครบถ้วน เพื่อต้อนรับเพื่อนบ้านที่มาร่วมทำบุญ เรียกว่าการงัน(ฉลอง)กัณฑ์เทศน์
วันที่ ๓๑ธันวา ที่บ้านกองบุญมีการ “งัน”กันอย่างต่อเนื่องจนถึงยามบ่าย พอถึงเวลา
- ตอนเที่ยงมีพิธีฮดสรงน้ำพระเณรที่วัด
- ๔โมงเย็นก็เริ่มเคลื่อนขบวนแห่กัณฑ์ที่ประดับประดาอย่างสวยงามไปรวมกันที่วัดถวายทาน
- จากนั้นก็หมดภาระของคนหนุ่มสาว เป็นเรื่องราวที่ผมต้องไปตามดูเองแล้วละครับ
- ๑ ทุ่มผมพาดผ้าเบี่ยงหลบหลีกวงเลี้ยงฉลองส่งท้ายปีเก่าเกือบสิบแห่งที่พยายามเชิญชวนฉุดรั้งให้ร่วมวงด้วย ในที่สุดก็ลัดเลาะมาถึงวัดจนได้
- ที่ศาลาวัดวันนี้ประดับประดาสวยงาม โดยเฉพาะแท่นที่พระนั่งสวดวันนี้มีผ้าขาวกางกั้นสีขาวบริสุทธิ์มีอุบาสก อุบาสิกาวัยย่างเจ็ดสิบปีนุ่งขาวหม่ขาวราวยี่สิบคนนั่งพนมมือฟังพระสองรูปสวดอยู่ ข้างหน้าของแต่ละท่านมีพานดอกไม้ธูปเทียน และจุดเทียนไว้ตลอดเวลา ผมเข้าไปนั่งข้างพ่อเฒ่าสองท่านที่นั่งกำกับฆ้องและกังสดารอยู่ ท่านหันมารับไหว้บอกว่ากำลังเริ่มกัณฑ์บั้นต้น เดี่ยวจบผูกนี้แล้วให้รอดูเขาจุดบอกไฟดอกนั่งได้สักพักเห็นมีคุณป้าคุณยายที่ไม่ได้นุ่งขาว ทยอยกันพาดผ้าเบี่ยงถือพานเข้ามาร่วมฟังเทศน์ด้วย แต่ท่านไม่ได้ขึ้นมาบนศาลามณฑลพิธี เพียงแต่เอาเสื่อมาปูรอบๆชายคา
- ระหว่างฟังพระสวด มีแม่บ้านเอาน้ำขมมาบริการ เป็นน้ำต้มใส่บอระเพ็ดกับเกลือ
- พระสวดจบแรก ที่คุณตาบอกว่าเป็นบทบั้นต้นจบ มีการย่ำฆ้อง และตีกังสดาร แล้วก็อาราธนาบทสวดที่สอง คุณตาบอกว่าสวดอิติปิโส ในขณะเดียวกันที่ลานวัดมีการจุดบั้งไฟดอก ถึงตอนนี้ไม่รู้คนหนุ่มสาวจากไหนกัน มาเฮบั้งไฟดอกกันอย่างสนุกสนาน ปีนี้มีศัรธทาถวายบั้งไฟ ๓ อันใหญ่ๆ เมื่อจุดเสร็จคนหนุ่มสาวก็ไปตักบาตรสวรรค์ ปีนี้ทางวัดท่านยกติ้วเซียมซีมาที่หอตักบาตรสวรรค์ด้วย
- ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟ บนศาลาพระท่านก็สวดบทอิติปิโส แบบสวดคู่ต่อไป บทสวดจบหลังการจุดบั้งไฟนานพอควร ส่วนผมตอนนี้รับหน้าที่ต่อเทียนให้คุณตาสามสี่ท่าน แต่ละท่านมีพานจุดเทียนของตนเอง เทียนไขเล่มเล็กสีเหลืองจุดไม่ถึงสิบนาทีก็ไหม้หมดต้องรีบจุดเล่มใหม่ คราวนี้คุณตาตีฆ้องคุมคิวคงเห็นว่านั่งทนได้ เลยชวนอยู่ต่อให้ฟัง “บทสังกาด”ก่อน(เขียนตามคำบอกไม่ทราบที่จริง สัง-กาด เขียนอย่างไร) คุณตาคุณยายรอบๆข้างก็เชียร์ว่าให้อยู่ฟังก่อน เพราะเป็นบทสำคัญมาก
- บทสังกาด สวดเดี่ยวโดยพระรูปใหม่ คราวนี้เป็นภาษาลาวพอฟังออก สลับด้วยคาถาบาลีเป็นช่วงๆ สำเนียงและเสียงของท่านน่าฟังมาก บางตอนมี โอ้ละหนอเล่นลูกคอลูกเอื้อนราวกับหมอลำทางยาว แต่ก็ไม่มากจนทำให้ขาดความขลัง เท่าที่ฟังไปนั่งต่อเทียนไปจับใจความได้ว่า เป็นคำกล่าวถึงที่ไปที่มาของการเทศน์มหาชาติ กล่าวถึงพญามารมาผจญพระพุทธองค์ มีพระแม่ธรณีมาบีบมวยผมให้น้ำท่วม แล้วก็กล่าวถึง ๕พันขวบพรรษาที่พระพุทธองค์มาโปรด ว่าคิดเป็นกี่วันพระใหญ่ วันพระย่อย ประมาณนั้น
- ระหว่างฟังสวดมีคุณนายรองเจ้าเมืองมาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงกาแฟอุ่นๆ สวดบทนี้ใช้เวลานานจนถึงสามทุ่มกว่า แล้วคุณตาก็บอกให้ผมกลับ เพราะเขาเมืองเขาเคอร์ฟิวสี่ทุ่มเดี่ยวโดนจับ ส่วนด้านบนเณรกำลังสวดอีกสองผูกคือมาลัยหมื่น กับมาลัยแสน
- ผมแวะไปตักบาตรสวรรค์ เณรจับเซียมซีให้ได้หมายเลข ๘ ” ใบที่แปด มโหสถกับต่าว อุสาปะ อำพอนเป็นร้าง ท่านนี้ช่าง หนีจากพงพันธุ์ คิดถึงกัน แสนทุกข์แสนโศก ภัยและโรคบ่มาเบียดเบียน” สาธุ
- ส่วนบรรดาคุณตาคุณยายทั้งหลายท่านเตรียมเครื่องนอนมานอนเฝ้ากัณฑ์ ท่านบอกว่าตีสามจะปลุกพระขึ้นมาเริ่มสวดพระเวสกัณฑ์แรก เริ่มต้นจากทศพร ไป หิมพานต์ เรื่อยๆไปจนจบที่กัณฑ์นครรวม ๑๖กัณฑ์ หากเริ่มสวดตีสามจะจบเอาตอนสี่โมงเย็น
- ผมคงตื่นไปฟังสวดตั้งแต่กัณฑ์แรกไม่ไหว จึงฝากเงินคุณตาไว้ยี่สิบใบ วานช่วยใส่กัณฑ์เทศน์ทุกๆตอน ท่านจึงเรียกเอาบรรดาพ่อขาวแม่ขาวทั้งหลายมาให้พรเสียยืดยาว
- ท่านบอกว่าพรุ่งนี้ว่างให้มาฟังได้ตลอดวัน แต่จะให้ดีให้เตรียมด้ายมาด้วย เพราะหากตั้งใจฟังพระสวดหากท่านสวดถึงตอนที่เป็นภาษาบาลี หรือคาถาให้ขอดด้ายไว้หนึ่งขอด เมื่อฟังจนจบให้มาดูว่าขอดได้ครบตามจำนวนคาถารึเปล่า เป็นกุศโลบายที่ท่านอยากให้ตั้งใจฟังจิตใจไม่วอกแวก
๑ มกรา ผมตื่นไปวัดอีกครั้ง ฟังพระสวดกัณฑ์จุลพล และกัณฑ์มหาพลแล้วก็กลับมาด้วยความอิ่มบุญ
ร่วมรับบุญปีใหม่กับผมนะครับ
« « Prev : ขนมลำเจียก กับคู่แฝดที่หลวงพระบาง
Next : คนบ้าเกมส์ ว่าด้วยเรื่องเกมส์คอมพิวเตอร์ » »
1 ความคิดเห็น
อนุโมทนาสาธุครับ ลุงเปลี่ยน