เมื่อได้อ่านบทความชิ้นยาวมากของนักเรียนแพทย์ท่านนี้แล้ว บอกตามตรงว่าอยากให้กำลังใจ แต่ให้ไม่ถูก เพราะความจริงที่คุณหมอเล่ามาทั้งหมดนี้ทำให้จุกค่ะ
ก็พอดีนึกขึ้นได้ถึงชุมชนออนไลน์แห่งนี้ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมภูมิปัญญาอันสุขุมคัมภีรภาพ
ถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไป ดิฉันใคร่เรียนขอคำชี้แนะจากทุกท่านที่ได้แวะเวียนเข้ามาอ่านด้วยค่ะ เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแนวทางแก้ปัญหาดินพอกหางหมูที่สะสมกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่นเหล่านี้
ขอขอบพระคุณทุกท่านล่วงหน้าค่ะ
“มุมมองต่อหมอของคนไทยสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้วล่ะมั้ง”
หลังๆมานี้ เวลาอ่านเจอ comment ของคนไทยที่มีต่อแพทย์แล้วรู้สึกท้อแท้เศร้าใจยังไงไม่รู้ มีเรื่องฟ้องร้อง มีเรื่องด่าว่า เรื่องเหน็บแนมหมอออกมาให้อ่านให้เห็นบ่อยๆ พี่ๆน้องๆ ที่อคติไปกับหมอทั่วๆไปนั้น คุณรู้ชีวิตจริงๆ ของพวกเราแค่ไหนกันแน่นะ T.T เราคงว่าไม…่ได้หรอก ถ้าคุณอาจจะได้พบประสบการณ์ไม่ดีๆ จากหมอบ้าง (ซึ่งอาจเกิดจากนิสัยของหมอแต่ละคนเอง หรือที่จริงแล้วเค้ามีสาเหตุอะไรที่คุณไม่รู้หรือเปล่า ถ้าอ่านต่อจะมีบอกเป็นระยะๆ) ชีวิต หมอเดี๋ยวนี้กดดันมากนะคับ คนสมัยก่อนมองว่า เรามาทำงาน มาตรวจเค้า มาช่วยเค้า รักษาเค้าให้หายจากโรค (ตอนนี้ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้อายุ 40 ขึ้นไป น่ารักมากๆๆ) แต่คนสมัยใหม่ (ไม่ทุกคนนะครับ) มีเยอะแยะมากเลยที่มองว่า เรามาเป็นหมอเนี่ย เป็นงานบริการ เป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่ต้องทำ และถ้าทำออกมาได้ไม่ดี ไม่ 100% ก็เป็นความผิดอีกด้วย ซึ่ง ตรงจุดนี้ ผมคิดว่าหมอทุกคน (อย่างน้อยก็ 95% ของหมอนะครับ) เวลาเราไปรักษาคนไข้น่ะ เราอยากให้พวกคุณหาย อยากให้พวกคุณมีความสุขยิ้มแย้มกลับบ้านนะครับ ไม่มีหมอคนไหนที่รักษาโดยตั้งใจไม่ให้คุณหายหรอกครับ คำว่าเลี้ยงไข้น่ะ ไม่มีคนไหนทำหรอกครับแค่ที่ต้องตรวจๆอยู่ทุกวันนี่ก็เล่นเอาเหนื่อยลากเลือด ละ ถ้าหายปกติ ไม่ต้องมาหาใหม่ได้ จะดีที่สุดเลย ทำไมคนในสังคมบางคนถึงต้องโกรธเกลียดอาชีพเราด้วยล่ะครับ
1.งาน ในรพ.รัฐนั้น เยอะมากๆๆๆๆ เลยครับ ผมคิดว่าหมอที่ทำงานทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกันล่ะครับ เราไม่ได้อยากได้เงินเยอะขึ้นนะครับ เราอยากให้งานที่ทำอยู่ตอนนี้มันน้อยลงบ้างต่างหาก - อย่างเช่น งานในโรงบาลอำเภอ ตื่นเช้ามา 8 โมง …แน่ะ สงสัยล่ะสิคับว่าเห็นหมอมาตรวจผู้ป่วยนอกก็เกือบ 10 โมงทุกที จริงๆแล้วเราไปถึงโรงบาลตั้งแต่ 8โมงแล้วนะคับแต่ ไปเริ่มตรวจที่ผู้ป่วยใน (เต็มที่ 30 เตียง มักจะมีคนไข้จริงประมาณ 10-20 เตียง ถ้าช่วงไข้เลือดออกระบาดก็ปาเข้าไป 50 กว่าเตียง) ถ้าเคสละ 3-5 นาทีก็หายไปเป็นชั่วโมงแล้วครับ เสร็จแล้วก็เดินไปห้องคลอด ไปวางแผนให้คนที่ยังไม่คลอดและดูว่ามีปัญหาอะไรรึเปล่าจะได้แก้ไว้ก่อน เสร็จแล้วเราก็ยังไม่ได้ไปผู้ป่วยนอกนะ เดินไปแวะห้องฉุกเฉินก่อนว่ามีเคสด่วน อุบัติเหตุอะไรรึเปล่า แล้วก็ไปถึงห้องตรวจผู้ป่วยนอกก็เกือบ 10 โมง มองไปเห็นคนไข้กว่า 100 คนที่บางคนมองด้วยสายตาสงสัยว่า ทำไมหมอมันมาเอาป่านนี้ฟะ แล้วก็ก้มๆเงยๆตรวจคนไข้ 100 กว่าคนให้เสร็จก่อน 4 โมงเย็นบางวันก็ล้นไป5โมง6โมง แต่ยังไงก็ต้องตรวจให้หมดนะครับ ไม่มีคำว่า วันนี้ 4 โมงเย็นแล้ว ลุงมารอตรวจใหม่พรุ่งนี้นะ พอตรวจเสร็จ เราก็อยู่เวรครับ คือ เวรเนี่ยมันอยู่ 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้านะครับ สามารถตามเราไปดูคนไข้ได้ตลอดเวลา จะกินข้าว จะอึ จะนอน หรือจะโทรคุยกับแฟนอยู่ ก็ต้องไป เมือคืนนี่โดนจัดหนัก กลับบ้านเที่ยงคืน โดนตาม ตี4 1 ครั้ง ตี4 ครึ่ง 1ครั้ง ตี5 1ครั้ง 6โมงเช้าอีก 1 ครั้ง แล้ว 7โมงครึ่ง เราก็ตื่นเพื่อแปรงฟันอาบน้ำไปทำงาน ชะเอิงเงย - ที่นี้เวรเนี่ย ปีนึงมีกี่วัน มันก็ต้องมีหมออยู่ทุกวันล่ะคับ อย่างที่โรงบาลผมมีหมอ 2 คน ก็อยู่กันคนละครึ่งปี หมายถึงทำงานกลางวันอย่างเดียวครึ่งปี และ ทำงานทั้งวันทั้งคืนอีกครึ่งปีนะ (อ่านไม่ผิดคับ ทำทั้งวันครึ่งปี ทั้งทั้งวันทั้งคืนอีกครึ่งปี) ส่วนเสาร์-อาทิตย์และ วันหยุดยาว เราก็ต้องผลัดกันได้กลับบ้านไปหาครอบครัว คนนึงหยุดช่วงปีใหม่ อีกคนนึงหยุดช่วงสงกรานต์ เป็นต้น (สงกรานต์ที่ผ่านมา เราอยู่เวร 120 ชั่วโมงรวด อุบัติเหตุอื้อเลย T.T) >> คุณคิดว่าเหนื่อยหรอคับ ถ้าผมบอกว่า ตอนสมัยผมฝึกงานปี2 ผมเคยไปดูงานโรงบาลอำเภอแห่งหนึ่งในจ.สุราษฎร์ อยู่ห่างจากถนนใหญ่เข้าไป 60 กิโล มีแพทย์อยู่คนเดียว ผมนับถือความอึดของพี่หมอคนนั้นมากเลยคับ เพราะถ้าผมอยู่สองคนต้องอยู่เวรคนละครึ่งปี พี่เค้าอยู่คนเดียว ทุกคนก็คงเข้าใจนะครับว่าอยู่เวรปีละกี่วัน (คงขึ้นกับว่าเดือนกุมภาปีนั้น มีกี่วันอะนะ ผมว่า) - วันเกิดปีนี้กลับไปกินเค้กกับแม่ที่บ้าน แม่บอกว่าดีใจจัง ตั้งแต่ลูกเรียนขึ้นปี 4 มาจนตอนนี้ (ตั้ง 5ปีละ) เห็นต้องไปอยู่เวรตอนวันเกิด พอดีทุกทีเลย ตอนปี5 เราได้ช่วยทำคลอดเด็กในวันเกิดตัวเองด้วย เราก็ยิ้มๆแล้วแซวคุณแม่เล่นๆว่า ลูกคุณเกิดวันเดียวกับหมอเลยนะ วันต่อมาพ่อแม่ของน้องเอาช่อดอกไม้มาให้ บอกว่า “สุขสันต์วันเกิดนะหมอ” ประทับใจสุดๆอะ เรายังจำได้นะ ที่เค้าตั้งชื่อเด็กว่า น้องไนน์ ป่านนี้น่าจะ 3-4 ขวบแล้วมั้งเนี่ย - มีอยู่วันนึงที่เราตรวจคนไข้ทั้งวัน วิ่งไปวิ่งมาในรพ.ทั้งคืน พอตอนเช้าก็ไปตรวจอีก แล้วก็มีลุงคนไข้คนนึงถามว่า “หมอน่าสงสารจัง ได้นอนบ้างรึเปล่า” เรายิ้มแก้มปริเลยล่ะ เอาจริงๆนะ ถ้าคนไข้คนไหนถามหมอแบบนี้ หมอจะมีความสุขมากเลยล่ะ ลองไปถามดูนะ - เคสผู้ป่วยนอกนี่ไม่เท่าไหร่ เคสห้องฉุกเฉินนี่ล่ะ ที่เล่นเอาเราเกือบตาย มีอยู่วันนึง(ตอนนั้นอยู่รพ.จังหวัด มีแพทย์อยู่ห้องฉุกเฉินครั้งละ 1-2 คน) อยากจะเรียกว่าวันแดงเดือดเหลือเกิน ในขณะที่กะลังดูเคสผู้ป่วยอุบัติเหตุหนัก 2 เตียง คนนึงปอดแตกต้องใส่ท่อ อีกคนหัวแตกไม่รู้สึกตัวต้องส่ง CT สมอง ก็มีแม่วิ่งร้องไห้อุ้มเด็กชักเข้ามา เราก็ตะโกนสั่งยากันชักแล้วก็ รีบช่วยเคสอุบัติเหตุก่อน แต่ก็ยังไม่เสร็จ ก็มีเคสคนเมายาบ้า ญาติมัดเป็นข้าวปุ้นเข็นเข้ามาอีกเตียงนึง ยังไม่ได้ไปดู มีมอเตอร์ไซด์ชนกันเข้ามาอีก 2 คน ตอนนั้นหัวผมจะระเบิดแล้วคับ ต้องสั่งรักษาคนไข้พร้อมๆกันหลายเตียง และแน่นอนว่าญาติใครๆก็รัก คนไหนเค้าก็อยากให้หมอดูญาติตัวเองก่อนนะครับ คือ สำหรับเรา เราคิดว่างานหนักไม่ได้กินไม่ได้นอน นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่งานหนักที่ทำเต็มที่แล้วยังไงก็ไม่ทัน มันน่ากลัวมาก แล้วคนสมัยนี้ฟ้องเรากันเป็นว่าเล่นด้วย มันชวนเครียดมากๆเลยครับ อันท้ายนี้เจ็บสุดคือ ขณะที่เรากำลังปวดหัวดูแลคนไข้หนักไม่ทันอยู่นั้นเอง ก็มีคุณแม่อุ้มลูก 3 ขวบเดินเข้ามาด้วยอาการก้าวร้าว “หมอ ลูกชั้นมารอตั้งชั่วโมงนึงแล้วนะ เนี่ยเป็นไข้จะตายอยู่แล้ว” (เอ่อ ลูกแม่ไข้ ไอ เจ็บคอ รู้สึกตัวดี กินได้ ถ้าไม่รักษาหายเอง 7-10 วัน ถ้าให้ยา หายเร็วขึ้น 3-4 วัน มันไม่เรียกว่าจะตายนะแม่ แม่หันไปมองข้างหลังหมอก่อนได้มั้ยคับ) งานที่ว่ายุ่งแบบนี้ไม่ใช่นานๆครั้งนะครับ ผมว่าโดยประมาณ 4 ใน 7 วันจะเป็นอย่างนี้ล่ะ - ลองมองกลับกันคุณสามารถมายืนในจุดนี้ รับแรงกดดันแบบนี้ได้หรือเปล่าครับ กับการทำงานเต็มที่ไม่ได้กินไม่ได้นอน แต่ก็ยังไม่ทัน ก็ยังโดนคนด่าคนฟ้อง โดยต้องทำใจเสมอว่า เค้าทำไปเพราะ สภาพอารมณ์เค้าย่ำแย่จากอาการเจ็บป่วย T.T - เรื่อง ทำไม่ทันนี่มีเยอะมากเลยนะ จากประสบการณ์จริงของเรากับเพื่อนๆที่จบด้วยกันมา อย่างเช่น เพื่อนคนนึงผ่านหอผู้ป่วยเด็ก มีเคสรายงานให้ไปรับเด็ก (ปล.การรับเด็ก คือ การตามหมอเด็กไปเตรียมตัวยืนรอในห้องคลอด ในกรณีที่คิดว่าเด็กที่เกิดมาเสี่ยง อาจมีปัญหาแรกคลอด จะได้ช่วยได้ทันที) ปัญหามันอยู่ที่ว่า เพื่อนผมมันมีอยู่ตัวเดียว สองมือ สองเท้า แต่มันโดนตามให้ไปรับเด็กสองคนพร้อมกันเนี่ยสิ คนนึงผ่าคลอดในห้องผ่าตัดชั้น4 อีกคนนึงน้ำคร่ำ เหม็นเขียว กำลังจะคลอดอยู่ที่ห้องคลอดชั้น3 >> หมอนะ ไม่ใช่นินจาจะได้แยกร่างได้ เพื่อนๆก็เลยเอามาแซวกันเล่นทีหลังว่า ทำไมไม่บอกพี่พยาบาล ชั้น4 ว่า เดี๋ยวเด็กคลอด โยนลงมาทางหน้าต่างเดี๋ยวจะรอรับชั้น3นะ คุยกันขำๆล่ะ แต่ไอเพื่อนตอนที่อยู่เหตุการณ์จริงมันคงไม่ขำเท่าไหร่หรอก เพราะ ถ้าเด็กคนไหนออกมาแล้วแย่ขึ้นมา แล้วมัวไปดูอีกคนนึง ก็คงโดนฟ้องล่ะมั้ง หรืออย่างตอนเราเคยอยู่เวรอายุรกรรม ในแต่ละคืนมีคนไข้ในความดูแล 2 ตึก 4 ชั้น ประมาณเกือบ 200 เตียง ที่นอนๆอยู่มีทั้งมะเร็งปอด หัวใจตีบ ไตวาย ติดเชื้อช็อค >> ในที่ว่าๆมา มีแจ๊คพ็อตแตกอาการหนักพร้อมกันขึ้นมา 2-3 เตียงก็เป็นเรื่องเลย โดนตามพร้อมกันหนักทั้งคู่ อยู่คนละตึกกันด้วย ถ้าเป็นคุณๆจะทำยังไงล่ะคับ ถ้าคุณไปดูคนไหนก่อน อีกคนนึงไปไม่ทันแล้วอาการหนักเสียชีวิต โดนฟ้องไม่รู้ด้วยนะ เอ้อ “บางครั้ง บางที ที่คนไข้และญาติคิดว่า หมอดูแลคุณช้า หรือไม่เต็มที่นั้น สาเหตุก็อย่างที่ว่านี่แหละครับ เราไม่ได้ดูแลคุณคนเดียว เรากำลังดูคนไข้ที่มีชะตากรรมเดียวกับคุณอีกไม่รู้กี่คน บางคนหนักกว่าคุณด้วยซ้ำ ถ้าทำได้ ก็ช่วยใจเย็นๆ คุยกับหมอเค้าดีๆหน่อยนะคับ เราเข้าใจและบอกตัวเองเสมอล่ะว่า คุณหรือญาติของคุณกำลังเจ็บป่วย ย่อมอยู่ในช่วงที่อารมณ์ควบคุมลำบาก แต่เวลาที่เราทำสุดชีวิตสุดใจขาดดิ้น แล้วโดนคุณด่า มันท้อนะครับ” (ผม เคยยุ่งจนไม่ได้กินข้าวติดต่อกันตั้ง 27 ชั่วโมงแน่ะ ถ้าเรื่องไม่ได้นอนก็เคยติดต่อกันประมาณ 60 ชั่วโมงได้ล่ะ ไอ้ที่ไม่ได้นอนนี่ ช่วงเรียนปี6 กะทำงานปีแรกนี่โคตรบ่อยเลย ถ้าถามว่าง่วงบ้างไหม ผมเคยเผลอหลับในขณะกำลังเขียนนามสกุลตัวเอง ในใบรับรองแพทย์ที่เขียนให้คนไข้นะคับ ลืมตาขึ้นมาปากกาอยู่ในมือ กับตัวหนังสือยึกยือ ไม่รู้เขียนอะไร เงยหน้ามาเจอคนไข้ยิ้มอยู่ เค้าคงเข้าใจผมล่ะคับ) - เราคิดว่าสาเหตุจริงๆ ก็คงเพราะหมอไม่พอ หมอลาออกหรือไปอยู่เอกชนเยอะล่ะครับ ยิ่งวันก่อน อ่านไปเจอคนออกความเห็นว่า “เป็นหมอจะบ่นทำไมว่างานเยอะ ไม่อยากทำก็ลาออกซะสิ” มันแปล๊บนะครับ ที่เราไม่ออก เพราะ คนที่อยู่ต่อตายแหงแก๋ไงล่ะคับ คนหายไปคนนึงนี่ จำนวนคนหารที่ช่วยกันตรวจคนไข้นี่เล่นเอางานหนักเลยนะครับ แล้วถ้าหมอเหนื่อยแล้วไม่ไหว ออกไปอยู่เอกชนกันหมด อย่างที่เค้าว่าจริงๆ ใครลำบากล่ะครับ คนที่พูดคงไม่ลำบากหรอกมั้ง สงสัยจะตรวจแต่เอกชนอยู่แล้ว ชาวบ้านตาดำๆ ที่ต้องรอนานกว่าเดิมต่างหากที่น่าสงสารน่ะ
2. งานที่เราทำมันเป็นงานที่อยู่กับความเครียด อยู่กับความเจ็บป่วย อยู่กับคนที่กำลังจะตายตลอดเวลา ความสุขของงาน คือ การทำให้คนเหล่านั้นหน้ายิ้มแย้ม เดินกลับบ้านได้อย่างมีความสุข - แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ใช่ดอกเตอร์เค ไม่ใช่ก็อดแฮนด์เทรุ ที่รักษาได้ทุกโรค เราต้องอยู่กับคนเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย บางคนเป็นมะเร็งในช่องท้อง ท้องอืดโต ต้องเอาเข็มจิ้มพุงระบายน้ำออก 3-4 วันครั้ง ต้องนอนปวดร้องโอดโอยอยู่ตลอด บางคนก็ต้องพึ่งมอร์ฟีน เวลาที่เราต้องไปดูแลเค้าและสภาพจิตใจของผู้ป่วยและญาติที่ต้องอยู่กับภาพ แบบนั้นทุกวัน ถ้าสภาพใจเราไม่ดีพอ หมอเองก็จิตตกเอาง่ายๆเลยนะ (ยิ่งบางทีไม่ได้กินไม่ได้นอนอยู่ก่อนอีก) - การที่เราต้องไปบอกคนที่เดินได้ ใช้ชิวิตปกติดี ว่าคุณเป็นเอดส์ คุณเป็นมะเร็ง มันไม่ใช่เรื่องที่สนุกเลย เราเคยเจอป้าคนนึงหายใจเหนื่อยๆ ตรวจเจอมะเร็งปอด ตอนที่บอกแก แกยิ้มแล้วบอกเราด้วยรอยยิ้มแบบขมขื่นว่า “แหม ว่าแล้วเชียว” (จริงๆแล้วแกไม่อยากให้หมอเครียดไปด้วย) บางคนนี่ทำใจไม่ได้นั่งนิ่งไปหลายนาที บางคนร้องไห้ไม่เป็นอันทำอะไรก็มี มันเป็นอะไรที่กดดันจิตใจคนเป็นหมออยู่บ่อยๆเลยนะ (ที่จริงมีคาบสอนเรื่อง วิธีการบอกคนไข้เหล่านี้ เรียนกันจริงๆจังๆหลายชั่วโมงเลย) และ เป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วย เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รู้ว่า ตัวเองเป็นอะไร อยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ จะทำอะไรก็รีบๆทำซะ มันเครียดมากๆ - ไอ้ที่เครียดกว่าคือการต้องเจอกับคนไข้ หรือญาติที่จะเอานู่น จะเอานี่ ซึ่งถ้าไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงอะไร เราก็ยินดีจะทำให้นะครับ แต่บางอย่างที่มันส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ เราก็ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน อย่างเราเคยเจอคนวิ่งหัวไปชนฝา รู้สึกตัวดี ไม่ปวดหัว แต่ญาติบอกกลัวเลือดจะออกในหัว ขอให้ CT สมอง คือ เราจะบอกว่าการ CT มันมีข้อบ่งชี้นะ ว่าอาการอย่างไร ความเสี่ยงอย่างไร ควรทำแต่เวลาเจอมาแบบนี้ ลำบากใจแฮะ เพราะ CT ครั้งละ 3000-4000 เงินที่เอามาใช้ก็เงินที่รัฐเหมาจ่ายเป็นรายหัวโครงการ 30 บาทให้คนทั้งจังหวัดนั่นล่ะ ใช่เงินหมอเองซะที่ไหน ถ้าคนวิ่งๆชนๆ นิดหน่อยๆ รู้สึกตัวดี ขอ CT กันทุกคน แล้วเอาเงินส่วนนี้มาใช้กันหมด แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปรักษา ไปเป็นค่ายาให้คนไข้คนอื่นๆล่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะตามมาด้วยประโยคเด็ด ถ้าเราจะไม่ CT ให้ “ถ้าเป็น อะไรขึ้นมาทีหลังนะ ผมฟ้องคุณตายแน่” ….. ทีนี้ก็แล้วแต่หมอแต่ละคนแล้วล่ะ ว่าจะเลือกความปลอดภัยของตัวเอง หรือจะเลือกเงินค่าดูแลคนไข้ในโรงบาลของประชาชน - ตัวอย่างที่เด็ดที่สุดนั้นเป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดในเขตนราธิวาส ที่เอามาให้เราเรียนกันตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี4 เพื่อให้คุยกันว่า ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้ควรตัดสินใจอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า “มีชายหญิง คู่หนึ่งมาตรวจเลือดก่อนแต่งงาน ผลเลือดออกมาว่าสามีเป็นเอดส์ (สามีรู้อยู่แล้ว) สามีมาบอกหมอว่าห้ามบอกภรรยาที่กำลังจะแต่งงานกันเด็ดขาด ถ้าบอกจะตามยิงครอบครัวหมอให้ตายหมดบ้านเลย” เอาล่ะคับ ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้จริงๆ แบบที่พี่หมอคนนึงเคยเจอ เป็นคุณๆจะทำอย่างไร เหมือนที่หลายคนชอบพูดให้เห็นบ่อยๆว่าคนเป็นหมอต้องเสียสละตัวเองสิ แต่ถ้าเค้าจะยิงพ่อแม่ เมียลูกคุณด้วยล่ะ คุณจะโอเคหรอคับ..
3.งาน ที่ทำอยู่เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบสูงมาก จะทิ้งไปเฉยๆไม่ได้ ไม่ใช่ว่าบอกว่า โอ๊ยวันนี้เป็นไข้ปวดหัว แล้วจะไม่ไปตรวจก็ได้นะครับ บางที่ที่ตอนผมไปตรวจคนไข้ ตอนนั้นไข้ผมสูงกว่าเค้าอีกนะ ยิ่งตอนอยู่ในโรงบาลมหาลัย ผมเคยเห็นพี่คนนึงแกแทบจะไม่มีแรงแล้ว ให้น้ำเกลือ เดินเอามือค้ำเสาน้ำเกลือตัวเองไปดูคนไข้เลยนะ (อันนี้คงแล้วแต่แรงฮึดของหมอแต่ละคนมากกว่าแฮะ) - อย่างที่บอกว่า งานมันเป็นงานที่จะหายไปเฉยๆไม่ได้ ต้องมีหมออย่างน้อยที่สุดหนึ่งคนอยู่ในโรงบาลนั้นตลอดเวลาเสมอ จะลาก็ต้องบอกก่อนจะได้หาหมอจากที่อื่นมาช่วยไว้ก่อน ต้องรื้อโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหาเพื่อนหมอทีละคนๆ ที่เคยเรียนเคยทำงานด้วยกันมาก่อน ว่าวันนี้ใครที่ไม่อยู่เวรที่อื่นอยู่แล้วบ้าง มาอยู่ให้หน่อยพอดีมีธุระ เดี๋ยวจ่ายตังเพิ่มให้ ถ้าหาไม่ได้ เอ็งก็อยู่ไปเองเหอะ สำคัญแค่ไหนก็ไปไม่ได้หรอก ล่าสุดฟังมาจากรุ่นน้องปี 5 ว่ามีน้องคนนึงไปงานศพพ่อตัวเอง ขาดเรียนไป1-2 วันแต่โดนซ้ำทั้งวิชาไปเลย เราก็ไม่แน่ใจนะว่า คณะเค้าต้องการจะสอนรึเปล่าว่า ถ้าวันนึงเอ็งจบไปทำงาน แล้วเกิดญาติเสีย เมียคลอดลูก บ้านถูกไฟไหม้ ถ้าเอ็งยังหาคนมาอยู่แทนไม่ได้ เอ็งห้ามออกจากโรงบาลไปเกินระยะที่ตามได้ถ้ามีเคสอุบัติเหตุจะตายและมาถึง โรงบาลใน 5นาทีให้ได้อย่างนั้นล่ะมั้ง (เอ๊ะ อ่านประโยคนี้ซ้ำแล้วรู้สึกว่างานเรามันเหมือนอะไรไม่รู้ จะออกไปได้ต้องหาคนมาอยู่แทนให้ได้ก่อน เหอๆๆ )
4. ความยากของการทำงาน
งานของเราจัดเป็นวิชาชีพนะครับ ก็คือ อาชีพที่อยู่ดีๆ นึกจะเป็น ก็ไม่ใช่ว่าจะใส่ชุดหมอมาเป็นเลยได้ ต้องเรียนหนักกัน 6ปี เนื้อหาที่เรียนนั้นก็เยอะ (ทุกวิชาชีพก็เยอะทั้งนั้นล่ะผมว่า) แต่ที่มันค่อนข้างยากขึ้นมาอีกระดับนึงก็คือ ความรู้ทางการแพทย์เป็นความรู้ที่ดิ้นได้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และ ยังมีความไม่แน่นอนสูง คนไข้ที่มากด้วยอาการแบบเดียวกันเป๊ะๆ 100 คน สามารถเป็นโรคที่ต่างๆกันไปได้ถึง10โรค ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่มาด้วยปวดท้องขวาล่าง สามารถเป็นได้ตั้งแต่โรคธรรมดาพื้นๆ ไม่อันตรายเช่น ฉี่ติดเชื้อ ลำไส้อักเสบ ปวดcyst นิ่วในท่อไต ไปจนถึงโรคที่อันตรายถึงชีวิตถ้าไม่ผ่าตัด อย่างเช่น ไส้ติ่งอักเสบ ท้องนอกมดลูก เป็นต้น ทำให้การวินิจฉัยนั้นบางครั้งค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคระยะแรกๆ ที่อาการไม่ชัดเจน เราก็ต้องรักษาโดยคิดถึงโรคที่เป็นได้มากที่สุดก่อน แล้วค่อยนัดมาดูอาการครับ คนไข้ที่เดินเข้ามาอาจจะมีอาการเหมือนในหนังสือเป๊ะๆ หรือ เป็นอาการแบบเดิมที่เราเจอมาเป็นครั้งที่ร้อย ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นโรคนั้นที่เราคิดเสมอไปนะครับ ดังที่อาจารย์แพทย์จะกรอกหูพวกเราเสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดแน่นอน 100% ใน medicine” เวลาที่เราคิดว่าผู้ป่วยเป็นอะไร ให้คิดโรคที่อาจเป็นได้อีกสาม-สี่โรคเผื่อไว้เสมอ
- ยกตัวอย่างอาการที่คน”ไข้” เดินมาหาเราบ่อยที่สุด ก็คือ “ไข้” ครับ คนทั่วไปอาจจะคิดว่า “ไข้” เป็นโรคบ้านๆ รักษาง่ายนะคับ ความเป็นจริงก็คือ มันง่ายเกินไปต่างหากที่คนๆนึงจะเป็นไข้ มันถึงได้ยากสำหรับหมอไงล่ะคับ
ไข้ ก็เหมือนกับเป็นอาการเตือนที่อยากบอกให้ร่างกายรู้ตัวว่าไม่สบาย ไม่ว่าคุณจะเป็นโรคอะไรก็ไข้ได้ทั้งนั้นล่ะคับ แต่เวลาหมอวินิจฉัย เราจะเอาไข้เป็นแค่ตัวประกอบร่วมกับอาการร่วมอย่างอื่นที่คุณเป็นต่างหาก เช่น ไข้+ไอ เจ็บคอ=คออักเสบ ไข้+ถ่ายเหลว=ลำไส้อักเสบ หรือ ไข้+แผลในปาก+ผื่นแพ้แสง+ฉี่เป็นฟอง+ซีด+..=โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง หรือ ไข้+ร่าน+ติดเชื้อเป็นๆหายๆบ่อยๆ = เอดส์รึป่าวฟะ เป็นต้น แต่สมัยนี้ด้วยการแพทย์ที่เข้าถึงง่าย เราเคยเจอคนที่มาด้วยไข้ 5 นาที ไม่มีอาการอย่างอื่นเลย ตรวจร่างกายไม่เจออะไร แถมเอาปรอทวัดไข้ไปก็ไข้ไม่ขึ้นอีกต่างหาก >> เครียดคับ.. อันนี้ผมพูดถึงในเชิงระนาบ คือ หนึ่งคนหนึ่งโรคนะคับ แต่ที่เจอจิงๆ คนที่มาด้วยไข้ มีได้ตั้งแต่ ไม่เป็นโรคเลย มาโรงบาลตอนเช้าๆ บอกว่าตัวเองเป็นไข้ ขอใบรับรองแพทย์ลางานวันนี้ ไปจนถึง คุณป้าอายุ95 ปีที่นอนซมอยู่บ้าน ทั้งชีวิตไม่เคยมารพ.เลย ญาติพาออกจากบ้านมาได้ตอนที่แกไม่รู้สึกตัวแล้ว มาถึงห้องฉุกเฉิน X-rayปอดก็เจอปอดบวม เจาะเลือดก็ติดเชื้อในเลือด ส่งฉี่ตรวจก็มีเชื้อ พลิกดูหลังก็มีแผลเน่าที่ก้น คือ ตรวจไปเจอสาเหตุเป็นสิบๆโรคเลยก็มีคับ
- โรคบางโรคนั้นอันตราย เสี่ยงต่อการฟ้อง เจอได้น้อยมากในคนที่มีอาการแบบเดียวกัน และดันไม่มีวิธีตรวจยืนยันแบบง่ายๆซะอีกครับ ขอยกตัวอย่าง มะเร็งในกระเพาะแล้วกันนะครับ
“กระเพาะอักเสบ : มาด้วยอาการแสบแน่นลิ้นปี่ บางคนแน่นขึ้นอก บางคนคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย”
“มะเร็งในกระเพาะ :มาด้วยอาการแสบแน่นลิ้นปี่ บางคนแน่นขึ้นอก บางคนคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย”
ใช่ครับ ในคนไข้ที่เดินเข้ามาหาเราด้วยอาการปวดแน่นลิ้นปีวันละสิบยี่สิบคน ในคนไข้เหล่านั้น เราตรวจซักเดือนสองเดือน จะมีคนไข้ที่จิงๆแล้วเป็นมะเร็งในกระเพาะแอบอยู่ซัก 1คนคับ แต่อาการคือมาแบบเดียวกันเป๊ะๆเลยคับ (บางคนก็บอกว่า มะเร็งก็น่าจะคลำได้ก้อนสิ >> ก้อนมันไม่จะเป็นต้องยื่นออกมาด้านนอกกระเพาะนี่ครับ เวลาตรวจผมก็ไม่เคยเอาแขนล้วงลงไปในคอคนไข้ซะด้วย) วิธี่ที่จะบอกว่าเป็นหรือเปล่าก็มีอยู่ แค่ส่องกล้องกับ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เจอ (แต่เอกซเรย์ทั่วไปไม่เห็นนะคับ เห็นแต่ลมกลมๆดำๆในกระเพาะ) มันจะหนักใจหมอตรงที่ว่าเคสไหนเราควรจะส่งไปส่องกล้องนะสิครับ อย่างเช่น จังหวัดผมมีหมอศัลย์ส่องกล้องได้อยู่สามคน แต่มีคนที่มีอาการแบบนี้หลายแสนคน ผมก็คงไม่ส่งไปส่องกล้องทุกคนจิงมั้ยครับ เราก็เลือกเป็นรายๆไป อย่างเช่น แก่มาก มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะมาก่อน ถ้าดูแล้วเสี่ยงเราก็ส่งให้เลย แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป เราก็รักษาดูก่อน คนไหนที่กินยาแล้วกินยาอีกยังไม่ดีขึ้น จัดเป็นความเสี่ยงข้อนึงครับ ให้ส่งไปส่องกล้องได้เลย อันนี้คือตามหนังสือเรียนจริงๆนะครับ แต่ในความเป็นจริงก็คือ กับคนที่ปวดท้องมาแบบนี้ พอเราให้ยารักษาไปปุ๊บ พอไม่ดีขึ้นก็ไปอีกโรงบาลนึง ไม่ดีขึ้นก็ไปที่คลินิค พอเจอหมอคนใหม่ หมอทุกคนก็ทำตามหลักครับ ถ้าไม่มีความเสี่ยงก็รักษาก่อนถ้าไม่ดีขึ้นค่อยส่งไปส่องกล้อง สุดท้ายเปลี่ยนหลายๆที่เข้าก็ไปลงที่รพ.เอกชน >> รพ.เอกชนส่องทีนึงเรียกตังเป็นหมื่นครับ จะเสี่ยงไม่เสี่ยงเค้ายินดีจะส่องกล้องให้คุณอยู่แล้ว พอส่องเจอปุ๊บ แจ๊คพ็อตก็ลงกับหมอโรงบาลแรกๆไงคับ เราตรวจคุณตามเกณฑ์นะคับ ตามหนังสือเรียนเลยคับแต่สุดท้าย เราก็กลายเป็นหมอที่ว่า “เนี่ย ชั้นไปรพ.สั่งแต่ยากระเพาะมาให้ ต้องไปตรวจรพ.เอกชน ไม่งั้นไม่รู้นะเนี่ยว่าตัวเองเป็นมะเร็ง (พยายามลดระดับความรุนแรงของการด่าให้แล้วนะคับ)”
ผมอยากให้มีใครซักคนคิดค้นวิธีตรวจมะเร็งกระเพาะที่ง่ายกว่านี้มากๆเลยค้าบบบบบ
- ความรู้ของเรานั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันๆนึงจะมีผลวิจัยออกใหม่จากทั่วโลกวันละเป็นร้อยๆฉบับ บางอันเป็นของจริง บางอันเป็นของที่บริษัทยาจ้างให้ทำเนียนออกมา ที่ต้องมีหมอเฉพาะทางไม่ใช่แค่เพราะ เนื้อหามันเยอะต้องแบ่งย่อยลงไปถึงจะรู้ได้ละเอียด แต่เพราะคนที่เป็นหมอเฉพาะทาง เค้าจะต้องไปติดตามนั่งดูผลวิจัยและความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆเหล่านี้ในขอบข่ายงานของเค้าด้วยคับ เรื่องบางเรื่องที่ผมเรียนจบมาตอนปี6 พอผมทำงานปีแรก มันก็เปลี่ยนไปแล้วก็มีครับ ยกตัวอย่าง เรื่องสำคัญๆ เลยแล้วกันนะคับ การช่วยเหลือคนที่ไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น เรียนกันมา6ปี เค้าสอนให้เป่าปากช่วยหายใจก่อนแล้วค่อยปั๊มหัวใจ พอผมจบมาทำงานปีแรก องค์การแพทย์โลกก็บอกให้เราเปลี่ยนจาก ปั๊มหัวใจก่อนแล้วค่อยเป่าปากครับ สรุปหรือว่าไอคนที่มันสอบไม่ผ่านข้อนี้ตอนสอบจบหมอเมื่อปีที่แล้ว จิงๆแล้ว มันรู้ล่วงหน้าว่าปีนี้เค้าจะเปลี่ยนวิธีการ แล้วจิงๆมันเป็นคนเดียวที่ทำถูกอยู่แล้วรึป่าวหว่า อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ
ยากใช่มั้ยล่ะครับ การเป็นหมอ กับ องค์ความรู้ในการวินิจฉัยและรักษา ที่เยอะ ไม่แน่นอน กำกวม ครึ่งๆกลางๆ และยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ห้ามพลาดนะ พลาดขึ้นมาก็ ..โดนฟ้อง.. ไงครับ
55 หัวเราะทั้งน้ำตา (ยังไม่เคยโดนนะ และหวังว่าจะไม่โดนต่อไป เพี้ยงงงง!!)
5. เรื่องฟ้องร้อง ที่จริงอันนี้มันก็เป็นสิทธิของคนไข้น่ะแหละครับ เราคงจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีกแล้วกับค่านิยมของคนไทย(สมัยใหม่) ที่มองหมอว่าเป็นอาชีพเงินถุงเงินถังนั่งกินนอนกิน ฟ้องนิดฟ้องหน่อยคงไม่เป็นไรล่ะมั้ง (ถ้าอ่านมาจากข้างบนจะรู้ว่าแลกมาด้วยการไม่ได้กินไม่ได้นอน ไม่ได้เที่ยว เท่าไหร่นัก) ยิ่งถ้าเจอแบบที่ว่า ทำเต็มที่ที่สองมือสองเท้าจะมี แต่ก็เอาไม่ทัน ก็ยังโดนฟ้องน่ะ หมอสมัยนี้ถึงหนีออกไปหมดไงครับ ไปอยู่รพ.เอกชน คนไข้น้อยกว่า จะตรวจอะไรก็เงินคนไข้เองนั่นล่ะ อยากตรวจอะไรบอกมาพี่จัดให้ ว่างั้นเหอะ อยู่รพ.รัฐทำก็ไม่ทัน ต้องตรวจแบบโคตรจะเร็วโดยที่บอกว่าไม่ให้ผิดพลาดเลย ปีนึง 10,000-30,000 เคส เอ่อ ผมว่าสงสัยต้องเปลี่ยนไปใช้ I-core seven แล้วล่ะมั้ง จะตรวจอะไร เราก็ต้องตรวจตามข้อบ่งชี้ เพราะเงินค่าตรวจก็ค่ารักษาที่เค้าเหมาจ่ายให้คนในจังหวัดน่ะแหละ - ยิ่งล่าสุด ที่มีข่าวเรื่อง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการแพทย์ อันนี้ที่รู้ๆมา หมอจะประท้วงกันเยอะ ก็คงไม่แปลกเท่าไหร่ เพราะ ที่เห็นแผนภูมิวิธีปฏิบัติงานแล้วโคตรจะ but-soap เลย ฟ้องปุ๊บ จ่ายตังก่อนเลย ถูกผิดไม่เกี่ยว (ยังกะแอนตาซิล) เสร็จแล้วก็จะยกมาวินิจฉัยด้วยคณะกรรมการซึ่งต้องไม่มีหมออยู่ในคณะนั้น เพราะคิดว่าหมอจะออกความเห็นเข้าข้างหมอด้วยกัน (เอ่อ คือพี่จะตัดสินเรื่องการวินิจฉัยและรักษาโดยไม่ต้องมีความรู้ทางการแพทย์ ประกอบก็ได้ว่างั้นเหอะ) แถมเงินที่จ่ายชดเชยให้คนไข้ก็ยังไม่เห็นมีบอกชัดเจนว่าตัดสินยังไงว่าให้ เท่าไหร่ ตรวจสอบยังไง ถ้านี่เราฮั้วกันเอง ฟ้องแล้วยกฟ้องกันเล่นเอาตังเล่นๆ ดีมะ สงสัยเค้าคิดว่า คนสมัยนี้ยังชอบฟ้องหมอกันไม่พอล่ะมั้งครับ สนับสนุนกันขนาดนี้ ทำไมรู้สึกว่าถ้าเป็นเกม อาชีพเราก็เหมือนบอสในเกมที่ดรอบของดีๆ ให้ตังเยอะ แต่ไม่เคยโจมตีกลับ ยังไงยังงั้นเลย ไม่รู้เหมือนกันแฮะ - ผมรู้สึกว่าคนทั่วไปคงจะคิดว่า พรบ.พวกนี้ออกมาเหอะ ถ้าหมอตั้งใจทำงานเต็มที่และถูกต้องจริงๆ จะกลัวโดนฟ้องไปทำไม ในความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้นน่ะสิครับ อย่างที่เล่าๆไปบ้างแล้ว ว่าต่อให้คุณทำเต็มที่จนไม่ได้กินไม่ได้นอนแล้ว ถ้ามันโชคร้าย เอาไม่ทัน คนไข้หนักกำลังจะตายพร้อมๆกัน อยู่คนละตึกกัน ก็เตรียมตัวได้เลยอยู่ที่ญาติเห็นใจคุณแค่ไหนแล้วล่ะ ยิ่งตอนพวกอุบัติเหตุหมู่รถทัวร์ รถไฟ รถเด็กนักเรียนชนกันนะ พระเจ้าจอร์จ เค้าประกาศเรียกหมอทั้งโรงบาลมาช่วยกันที่ห้องฉุกเฉินเลยคับ อันนี้ทำได้ถ้าอยู่โรงบาลใหญ่ แต่ถ้ารถมันชนบนถนนทางหลวง แล้วบาปมันไปตกอยู่ที่โรงบาลอำเภอเจ้ากรรมที่มีหมอ 2-3 คนล่ะคับ พวกคุณยังอยากให้สิ่งเหล่านี้ทำร้ายจิตใจหมอที่ตั้งใจทำงานจริงๆอีกหรอคับ - ผมคิดว่า คนที่ผลักดันพรบ.นี้น่าจะมีอยู่ 2 กลุ่มล่ะ หนึ่งคือพวกที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เค้าต้องสูญเสียจริงๆ และอยากให้แพทย์และโรงพยาบาลมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเราคิดว่าถ้าโรงบาลต้องเอาเงินที่ติดหนี้ตัวแดงกันทุกโรงบาลทั้งประเทศ อยู่แล้วจากโครงการ 30 บาท แบ่งมาให้กองทุนกลางอย่างที่พรบ.นี้บอก เงินที่เหลืออยู่อย่าว่าแต่เอามาพัฒนาโรงบาลหรือจ่ายค่าจ้างหมอและลูกจ้าง โรงบาลเลย ผมว่าค่ายาจะรักษาคนไข้จะไม่พอด้วย ถ้าหลายๆคนยังไม่รู้ บางโรงบาลจังหวัดหลายๆแห่งเริ่มมียากลุ่มดีๆที่ใช้ๆอยู่ค่อยๆหายไปแล้วนะ วันก่อนจะสั่งยาแล้วหาไม่เจอ เคยไปถามห้องยา เค้าบอกว่า โรงบาลค้างค่ายาบริษัทมา 6 เดือนละ เค้าเลยไม่ให้ยามาแล้ว กลุ่มที่สองคงเป็นกลุ่มที่รอรับผลประโยชน์ที่ยังไม่รู้ว่าเค้าจะตรวจสอบยัง ไงอย่างที่ว่านี่ล่ะ คงต้องเรียกว่า พวกทำนาบนหลังคน แถมทำบนหลังคนที่กำลังพยายามช่วยเหลือคนอื่นอีกต่างหาก ไอพวกโคตร “ที่นี่” เอ๊ย (กรุณาเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษก่อนอ่านนะครับ) - พอเราไม่พอใจพรบ.นี้ ก็มีการประท้วงกันด้วยการนัดกันใส่ชุดดำไปตรวจ ซึ่งก็แน่นอน พวกที่ผลักดันพรบ.ก็ออกมาด่ามาว่าหมอนั่นล่ะ จะบอกว่า เราก็ทำได้แค่นั้นล่ะครับให้พวกคุณรู้ว่าเราไม่ต้องการพรบ.นั้นขนาดไหน จะให้พวกเราประท้วงหยุดงานทั่วประเทศหรอ เชื่อเหอะ ว่าต่อให้มีคนบ้าจี้ยุให้ทำกันจริงๆ ก็ไม่มีหมอคนไหนหยุดงานประท้วงหรอกครับ งานเรามันต่อเนื่องนะครับ ถ้าผมหยุดไป ใครจะไปดูคนไข้ผมล่ะคับ จะปล่อยเค้านอนเจ็บนอนตายหรืออย่างไร ถ้าเป็นหมอจิงๆ ทำไม่ได้หรอกครับ - ผลที่ตามมาจากการฟ้องร้องเยอะก็มีนะครับ >> หมอโรงบาลอำเภอ เดี๋ยวนี้แทบจะเลิกผ่าตัดกันทั้งประเทศแล้วครับ ทำดีเท่าทุน ผ่าคนไข้หายเป็นร้อยเป็นพันก็ไม่ได้มีใครมาเห็น แต่เกิดคนไข้มีปัญหาขึ้นมาซักคนก็โดนฟ้องตามระเบียบ ข้อดีคือคนไข้ได้เข้าไปผ่าตัดโรงบาลจังหวัด มันก็ดีนะ เสี่ยงน้อยลง แต่ก็ต้องรอคิวยาวขึ้นล่ะคับ เพราะ จิงๆแล้วหมอที่อยู่โรงบาลอำเภอผ่าตัดบางโรคได้ แต่ไม่ผ่ากันแล้ว คนไข้ก็ไปกองกันอยู่ที่โรงบาลจังหวัดอย่างเดียว ผ่ากันทั้งวันทั้งคืนเลย จิงๆแล้วจะบอกว่า บางที่นั้นรพ.จังหวัด แพทย์ที่กะลังผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าคลอดให้น่ะ เป็นรุ่นน้องผมนะ ใช้ทุนปีแรกที่โรงบาลจังหวัดก็ต้องช่วยผ่าตัด ถ้ามีปัญหาให้ตามพี่ที่กำลังผ่าอยู่ห้องข้างๆ เพราะหมอผ่าตัดจริงๆ ขาดแคลนมากๆๆๆๆ แต่พอขึ้นใช้ทุนปี2ปี3 มาอยู่ที่โรงบาลอำเภอ เราก็เลิกผ่ากันซะงั้น พวกเพื่อนหมอศัลย์หมอสูที่กำลังเรียนต่อกันอยู่ก็ประสบปัญหา คนไข้ส่วนใหญ่ยืนยันไปรพ.มหาลัย เค้าจะผ่ากับอาจารย์หมอเท่านั้น อันที่จริงแล้ว คือ เราให้ผ่าตัดโดยมีอาจารย์หมอยืนคุมน่ะล่ะ แต่คนไข้เดี๋ยวนี้ไม่เอาแล้ว ก็แค่สงสัยว่า ถ้าอาจารย์หมอที่อยู่กันรุ่นนี้เกษียณไปหมดในอีก 10-20 ปี คนที่จะผ่าได้ระดับเก่งในอีก 10-20 ปีข้างหน้าคงลดลงมากล่ะนะ เพราะ ไม่รู้จะเอาประสบการณ์จากไหน อันนี้ เราได้ยินวิธีแก้ปัญหาสุดเด็ดมาด้วย เพราะช่วงปีก่อนชอบได้ยินในคณะลือกันเหลือเกินว่า เค้าจะยืดอายุราชการหมอให้เกษียณที่ 70 ปี ^^ ลือมายังไงไม่รู้ล่ะ แต่ไม่ค่อยขำเท่าไหร่ เพราะอายุขัยเฉลี่ยของแพทย์นั้นน้อยกว่า อายุขัยเฉลี่ยประชากรทั้งประเทศนะครับ ที่จำได้ คือมันน้อยกว่า 70 ปี นี่ล่ะ เลยไม่แน่ใจว่าไอแนวคิดนี้มันจะให้เราทำงานจนตายแล้วขุดเราขึ้นมามาทำงานต่อ อีกรึเปล่า - การฟ้องร้องเดี๋ยวนี้มันเยอะจิงๆ ที่จิงบางอย่างมันไม่น่าจะฟ้องกันได้เลยนะ ตัวอย่างที่เพื่อนผมโดนมาก็มีตั้งแต่ A. เพื่อนผมกำลังตรวจห้องฉุกเฉิน มีคนไข้อาการหนักที่ต้องรีบรักษาอยู่ มีคนเดินเข้ามาบอกให้เขียนใบรับรองแพทย์ให้ทันที เค้าจะรีบใช้ เพื่อนผมบอกให้เค้าไปรอก่อน จะตรวจคนไข้หนัก แล้วคนไข้ก็หงุดหงิดเดินหายไป พร้อมกับวันต่อมารพ.ก็โดนฟ้องร้องมาว่า ขอใบรับรองแพทย์แล้วไม่เขียนให้ ชะเอิงเงย B. ผมเองตรวจคนไข้เป็นหอบหืด พ่นยาไม่ดีขึ้นแปลนนอนรพ. ปกติ คนไข้ชั้น 3 กับ 4 เค้าจะรับคนไข้ใหม่สลับกัน คิวของลุงต้องไปอยู่ชั้น 4 ปรากฏว่า ลุงลงมาด่าผมให้ผมย้ายแกให้ไปนอนชั้น 3 เพราะ แกไม่ถูกกะพยาบาลชั้น 4 ผมก็คิดว่ามันไม่จำเป็น คนไข้ชั้น3 ก็นอนเต็มอยู่แล้ว ปรากฏว่า เรื่องไปถึงผอ. สุดท้ายก็แจ้งลงมาว่าให้ผมย้ายคนไข้ดังกล่าวไปนอนชั้น 3 โดย ต้องไปขอคนไข้อีกคนที่นอนอยู่ชั้น3 ให้ย้ายขึ้นไปอยู่ชั้น4 เหตุการณ์นี้ตอนเที่ยงคืนกว่านะครับ >> เหตุผล คือ ถ้าโรงบาลโดนฟ้อง ไม่ว่าจะไร้สาระแค่ไหนมันก็ต้องเขียนรายงาน พี่เค้าเลยบอกว่าให้ยอมๆไปเหอะ เฮ้อ อ้อ ประเด็นสำคัญ ตือ คนไข้คนนี้เค้าไม่เต็มอ่าคับ ไม่ใส่เสื้อผ้า พูดวกไปวนมาไม่รู้เรื่อง คือจะบอกว่า เดี๋ยวนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้อง หมอต้องยอมตามหมดแม้กระทั่งคนบ้าแล้วนะคับ C. เพื่อนอีกคน โดนตามไปดูคนไข้รับใหม่ตอนตีสาม ถ้าถามผม ผมว่าหนึ่งคือหน้าแกง่วงมากน่ะแหละ เพราะอยู่ติดกัน 40-50 ชั่วโมง สองคือ หน้าแกออกแนวโหดๆ ผิวออกคล้ำๆหน่อย (เป็นคนใต้น่ะ) เช้าวันต่อมา โดนเรียกไปคุย เพราะญาติบอก หมอหน้าไม่รับแขก…. เอ่อ พี่ญาติเค้าคิดว่าเพื่อนผมเป็น counter-service หรอเนี่ย D.เป็นเรื่องที่ฟังมาจากพี่หมอห้องฉุกเฉินโรงบาลมหาลัยแห่งหนึ่ง เคสเด็กเป็นไข้ พี่หมอวินิจฉัยเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากเด็กมีชีพจรเร็ว ความดันต่ำๆ จึงแนะนำนอนโรงบาล แม่เด็กปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า ร้านค้าไม่มีคนเฝ้า >> 1 วันต่อมา เด็กมาแบบเพลีย กระสับกระส่าย อยู่ในสภาวะช็อค พ่อและญาติๆของเด็ก รุมด่าประนามหมอที่หน้าห้องฉุกเฉินว่า ทำไมถึงปล่อยลูกผมกลับบ้าน คุณคิดว่าแม่เค้าทำอะไรอยู่คับ ยืนก้มหน้าอยู่ข้างหลังเฉยๆคับ ปล่อยให้หมอโดนด่าไป แต่เคสนี้เค้าไม่ได้ฟ้องอะไรโรงบาลนะคับ แม่เค้าคงรู้อยู่ในใจดีล่ะ แต่ผมสงสัยว่าพี่หมอเค้าทำอะไรผิดไปตรงไหนหรือคับ ที่ต้องโดนคนด่าแบบนั้น และในทางกลับกัน ถ้าเหตุการณ์แบบนี้ที่แนะนำนอนโรงบาลแต่แม่จะพากลับบ้านให้ได้เกิดขึ้นอีก คุณคิดว่าพี่เค้าควรทำอย่างไรหรอคับ E . อันนี้เป็นเรื่องของอาจารย์หมอศัลยกรรมที่ผมเคยทำงานด้วยนะคับ แกก็ผ่าตัดแทบทั้งวันทั้งคืนอยู่แล้ว คืนนึงมีคนไข้โดนมีดกระซวกท้องมา คนแทงเป็นเพื่อนบ้านกัน (รู้สึกจะมีอิทธิพลในแถวนั้นล่ะคับ) จาย์หมอรีบเอาเข้าไปผ่าตัด ออกมาคนไข้ก็ยังอาการหนักมาก ประโยคแรกที่ ญาติพูดกับจารย์ผม คืออะไรรู้มั้ยครับ “รักษาให้เต็มที่นะหมอ ลูกผมเป็นอะไร ผมจะฟ้อง” จารย์ผมสวนตรงนั้นเลย แกคงวีนแตกไปแล้วล่ะ “หมอรักษาแทบตาย คุณจะฟ้องหมอ แต่คนแทง คุณไม่ว่าอะไร ปล่อยให้นอนกระดิก ไหค่ อยู่บ้านหรอ” เป็นที่สะใจของพวกผมมากๆเลยคับ อันนี้คงเป็นความคิดส่วนตัวของผมนะคับ งานเราไม่ได้เปลี่ยนไปมากหรอกคับ แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปและไม่เข้าใจเราต่างหากที่ทำให้หมอต้องอยู่ในสภาพชีวิตแบบนี้ ผมคิดว่าต่อๆไป ถ้าเรื่องแบบนี้รู้กันในวงกว้างมากขึ้น ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เด็กๆในอนาคตที่จะเข้าเรียนหมอจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน คะแนนสอบเข้าหมอน่าจะต่ำลงเรื่อยๆทุกปีๆ อาจเป็นคนที่มีระดับผลการเรียนปานกลางแต่ใจรักจะเป็น มารักษาลูกๆหลานๆในอนาคตมากกว่า เพราะ เด็กเก่งๆ ถ้าเค้าไม่ได้รักจริงๆ เค้าได้รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น เค้าอาจจะหนีไปเรียนอย่างอื่นกันหมด ถ้าคุณจะเีถียงว่า ก็หมอเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ผมคิดว่า ครูกับราชการก็เป็นอาชีพที่มีเกียรติเหมือนกันครับและก็เป็นที่นิยมในสมัย 20-30 ปีก่อนเหมือนกัน แต่สมัยนี้คนเก่งๆ ก็ไม่นิยมที่จะเรียนกันมากเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว สำหรับน้องๆที่จะเข้าแพทย์จริงๆ ถ้าน้องไม่แน่ใจว่าตนเองเหมาะรึเปล่า แนะนำว่า มหาลัยแพทย์ทุกที่มีจัดกิจกรรมค่ายเพาะกล้านะครับ เพื่อให้น้องได้สัมผัสส่วนนึง ของการเป็นหมอ แล้วน้องค่อยตัดสินใจก็ได้ครับว่าตนเองรักและพร้อมที่จะเข้ามาเป็นวิชาชีพเดียวกับพวกพี่ๆรึเปล่า ” อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรประกอบอาชีพอื่น ” พระราชดำรัสของพระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทยครับ สุดท้ายนี้ ขอบคุณมากที่อ่านมาถึงนี่ บ่นซะยาวเลย ก็แค่เหนื่อยแค่ท้อ กับการที่เห็นคนออกมาด่ามาว่าอาชีพของเรา ทั้งที่เราก็ทำกันเต็มที่ ผมว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ด้วยว่า ส่วนลึกมันมีแบบนี้อยู่ อาชีพใคร ใครก็รัก ใครก็ภูมิใจในอาชีพของตน ผมชอบอาชีพนี้นะ คุยกะคนไข้ สนุกดี ลุงๆป้าๆก็น่ารัก แกล้งเด็กๆก็สนุก ที่เคยเจอจริงๆ ก็มีแค่คนไข้ส่วนนึงแค่หยิบมือน่ะแหละที่ทำให้เราท้อแท้เหนื่อยใจ เหมือนที่คนไข้เองก็ต้องคิดเหมือนกัน ว่ามีหมอแค่ส่วนนึงเท่านั้นล่ะที่ทำตัวไม่ดี (ยอมรับว่ามีให้เห็นจริงๆนะล่ะ) แต่อย่าเอาสิ่งที่เกิดขึ้นมาเหมารวม มาลงโทษหมอทั้งหมดสิครับ หมอที่ตั้งใจทำงาน เวลาเจอเรื่องแบบนี้แล้วเหนื่อยจิงๆนะ อยู่เวรเดือนละ 25 วัน ยังไม่เท่าเหนื่อยใจกับเรื่องพวกนี้เลย ผมคิดว่า อ่านจบแล้วคุณจะเกลียด จะอคติกับอาชีพของเราน้อยลงบ้างซักนิดนะคับ สุดท้ายนี้ คงต้องอ้างมาจาก คำสอนของพระบิดาที่บอกเพื่อสอนแพทย์จบใหม่ทุกคน i don’t want you to be only a doctor but i also want you to be a man เป็นคำสอนสำหรับแพทย์ทุกคนว่า อย่าเป็นแค่หมอ แต่ให้เราเป็นมนุษย์คนนึงด้วย คือ เวลารักษา อย่าตรวจแต่โรคอย่างเดียว ให้มองว่าเค้า คือ คนทั้งคน ไม่ได้เป็นแค่สิ่งมีชีวิตที่มาด้วยโรค แต่อยากให้สังคมสมัยนี้รับรู้ด้วยว่า I don’t want you to see me only as a doctor but i also want you to see me as a man too T.T เพราะ หมอเองก็มีชีวิต มีจิตใจ มีครอบครัวต้องดูแลเหมือนกันนะครับ
ปล. มีคนถามเข้ามาว่า บทความนี้เอาไป share ต่อที่อื่นได้มั้ย ขอตอบว่าได้ครับ คนทั่วไปที่ได้อ่านบทความนี้จะได้เข้าใจในอาชีพและการทำงานของแพทย์มากขึ้นไงครับ share ได้เลยครับ ไม่มีการตามไปเก็บตังตามหลังแน่นอนคับ ^^