ไปช่องสะงำ

โดย maeyai เมื่อ 19 เมษายน 2011 เวลา 10:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1839

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ได้มีโอกาสไปส่ง  ลูกเขยฝรั่ง  กลับไปทำงานให้กาชาดสากลที่เมือง  อัลลองเวง ติดชายแดนไทย เขมร  เวลาจะเดินทางเข้า ออก ประเทศ  ต้องผ่านทางด่านช่องสะงำ จังหวัดศรีษะเกษ 

ปกติลูกสาวลูกเขยเขาก็ไปรับไปส่งกันเอง   แต่เที่ยวนี้ลูกสาวไม่ว่าง  ประจวบกับแม่ใหญ่ อยากไปดูบ้านเมืองแถบนั้นบ้าง   เพราะไม่ค่อยได้ไป  จึงขอติดรถไปด้วย      ขาไป ออกเดินทางจากขอนแก่น ไปแวะรับลูกชายคนเล็ก   ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วก็ให้เขาขับรถต่อไปให้    เดินทาง  ไปตามเส้นทาง มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด       มีอยู่ช่วงหนึ่ง  พอออกจากร้อยเอ็ด เข้าสุรินทร์  จะ เป็นทุ่งนาผืนกว้างใหญ่    ดูแห้งแล้งมากๆ  ต้นไม้ใหญ่แทบจะไม่มี  แต่ก็มีร่องรอยปลูกข้าวเต็มผืนนา  เพราะยังมีซังข้าวแห้งหลงเหลืออยู่   ช่วงปลูกข้าว คงต้องรอฝนเพียงอย่างเดียว ไม่ค่อยเห็นแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงเลย    แต่ได้เห็นร่องรอยการขุดคลองยาวขนานไปกับถนน  หลายสิบกิโลเมตร  ดูเป็นคันคลองที่เพิ่งถูกขุดใหม่ๆ  น่าจะเอาไว้เก็บกักน้ำ เมื่อฝนตก  ในฤดูฝนที่จะถึงนี้ 

ขับรถผ่านท่าตูม   และเลี่ยงเข้าเส้นวงแหวน  ไม่ได้ผ่าเข้าไปในเมืองสุรินทร์  ขับต่อไปจนถึงสังขะ    ดูป้ายชื่อรายทาง ชักจะฟังไม่เป็นภาษาไทยแล้ว ออกจะเป็นสำเนียงเขมรอยู่มาก  มองดูผู้คนชาวบ้าน  ก็ดูตัวเล็กๆ ดำๆ  ไม่ค่อยเหมือนคนไทยในภาคอื่นๆ  พูดภาษาฟังไม่ค่อยรู้เรื่องแต่ได้ยินเสียงกระดกลิ้น ตัวรอ ตัวควบกล้ำ ค่อนข้างชัดเจน    จากสังขะ ขับรถต่อไปจนถึง   จุดผ่านแดนถาวรบริเวณช่องสะงำ อ.ภูสิงห์  จังหวัดศรีสะเกษ  มีชายแดนติดกับอำเภออัลลองเวง  จังหวัดอุดรมีชัย  ซึ่งเป็นประตูสู่นครวัด-นครธม  ในเขตจังหวัดเสียมราฐของราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีระยะทางจากอำเภออัลลองเวงถึงจังหวัดเสียมราฐ ประมาณ 135  กิโลเมตร    การเปิดด่านนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวรในจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อการค้าและการท่องเที่ยว  ซึ่งจะทำให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นศูนย์กลางทางการค้า  การท่องเที่ยวในอีสานตอนใต้  สามารถเชื่อมโยงกับสามเหลี่ยมมรกต  ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีขึ้นในสามประเทศ  คือ ไทย-กัมพูชา-ลาว  ไปแล้วก็อยากรู้อยากเห็นมากขึ้น จึงได้กลับมาค้นเรื่องราวของช่องสะงำ ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า

ข้อมูลทั่วไปช่องสะงำ

ช่องสะงำเป็นช่องทางทางธรรมชาติ ที่ติดต่อกับชายแดนไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา  เป็นเส้นทางที่ประชาชนทั้งสองประเทศ ใช้ติดต่อสัญจรกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ  โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เส้นทางสายนี้ถูกเรียกว่า “เส้นทางสายลวด”  ซึ่งชื่อนี้มาจากการที่เป็นเส้นทางสายโทรเลข ที่ใช้ติดต่อสื่อสารในช่วงที่เสียมเรียบ พระตะบองและศรีโสภณเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย  บริเวณเมืองอัลลองเวงใกล้กับช่องสะงำ ในอดีตยังเคยเป็นที่ตั้งของเขมรแดง    อีกทั้งเส้นทางช่องสะงำ - อัลลองเวง- เสียมเรียบ  ซึ่งเป็นเส้นทางจากช่องสะงำสู่นครวัด-นครธม  ยังเคยถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัย ของกองกำลังเขมรแดงอีกด้วย   ช่องสะงำตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านแซร์ไปร์ ตำบลไพรพัฒนา  การเดินทางจากอ.เมืองศรีสะเกษถึงจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์มีระยะทางประมาณ 105 กม.  จากช่องสะงำถึง จ.เสียมเรียบที่ตั้งนครวัด-นครธม มีระยะทางประมาณ 135 กม. (อรอุมา  ท่าบุญ, 2547:หน้า 21)

Image

 ระยะทางจากสังขะไปช่องสะงำ แค่ 40 กิโลเมตร แต่ถนนไม่ดี และทางค่อนข้างเปลี่ยว แต่ก็เห็นว่ากำลังปรับปรุงถนน ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ด้วยการลาดยางทับไปบนผิวถนน อยู่หลายกิโลเมตร  พอเข้าใกล้ช่องสะงำ  ก็เห็นภูเขาเป็นแนวยาวอยู่ข้างหน้า  นึกถึงวิชาภูมิศาสตร์ที่เคยเรียนนึกไม่ออกว่าชื่อภูเขาอะไร   เลยต้องกลับมาค้นคว้าอีก  ถึงบางอ้อ ว่าชื่อ ภูเขาพนมดงรัก  ซึ่งเป็นแนวเขายาวตลอดชายแดน   ตรงส่วนช่องสะงำนี้ ชาวบ้านเรียกว่า ภูสิงห์   รู้สึกคลับคล้ายคลับคลากว่าเคยเป็นข้อสอบสมัยมัธยม ว่า เทือกเขาไหน กั้นเขตแดนอะไรบ้าง  แต่มาบัดนี้จำไม่ได้แล้ว ดีที่ยังมีที่ให้ค้นคว้า เรียกคืนความทรงจำ  ข้อมูลของพนมดงรัก ทีกลับมาค้นพบมีดังนี้

ทิวเขาพนมดงรัก  เป็นทิวเขาหินปูนอยู่ทางตอนใต้สุดของภาค เริ่มต้นจากบริเวณช่องตะโก ซึ่งเป็นรอยต่อกับทิวเขาสันกำแพงไปทางทิศตะวันออกจนถึงภูแดนเมือง แล้วทอดตัววกขึ้นเหนือไปสุดที่ลำน้ำโขง ในเขตอำเภอพิบูลมังษาหาร รวมความยาว ประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร เป็นทิวเขาแคบ ๆ มีความกว้างระหว่าง ๔ - ๒๕ กิโลเมตร ทางด้านเหนือมีลักษณะเป็นลาดยาวไปทางพื้นที่ราบสูง ซึ่งสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร ส่วนด้านใต้เป็นผาชันลงไปสู่ที่ราบต่ำที่เรียกว่าเขมรต่ำ ยอดเขาสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ เมตร ยอดสูงสุดคือพนมดงรัก สูง ๗๒๑ เมตร อยู่ทางใต้อำเภอเดชอุดม เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำโดมใหญ่ ยอดสูง ๆ จะอยู่ในเขต จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งจะมีความสูงเฉลี่ย ประมาณ ๖๐๐ เมตร ได้แก่
            พนมแม่ไก่  สูง ๕๓๒ เมตร อยู่ทางใต้ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
            พนมตาเหมือน  สูง ๖๗๒ เมตร อยู่ทางใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
            เขาพระวิหาร   สูง ๖๕๗ เมตร อยู่ในเขต อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
            ในทิวเขานี้มีช่องทางผ่านหลายช่อง ที่สำคัญคือ ช่องจอม ช่องเสม็ด และช่องเม็ก
            นอกจากทิวเขาทั้งสี่ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีเนินเขาโดด ๆ ไม่สูงนักอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ของภาคในบริเวณพื้นที่ระหว่างลำน้ำสงครามกับลำน้ำโขงได้แก่
            ภูสิงห์  สูง ๔๑๘ เมตร ยาวประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
            ภูวัว  สูง ๔๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
            ภูเขาเหล่านี้เป็นปลายของทิวเขาที่ต่อเนื่องมาจากดินแดนฝั่งตะวันออกของลำน้ำโขง

ส่งลูกเขยไปเมื่อเวลา บ่ายสอง  เขาชวนไปกินลมชมวิวที่ร้านอาหารในเขมร  แต่เห็นเมฆฟ้าครึ้มดำมาเป็นทิว กับรายงานอากาศที่ทราบมาก่อนว่าจะมีฝนตกหนักในวันนี้ จึงไม่รับคำเชิญ  รีบหาทางกลับขอนแก่น โดยใช้คนละเส้นทางกับขามา  คือ ออกจากสังขะ  เข้าสุรินท์    ผ่านมาทาง สตึก บรบือ บ้านไผ่ และเข้าขอนแก่น   ตอนผ่านสตึก ฝนกำลังตกหนัก  และเจอฝนมาจนถึงบรบือ ต้องขับรถช้าๆระมัดระวังมาตลอดทาง   นึกอยากเยี่ยมแวะกราบพ่อครูบาที่สตึก   แต่เห็นว่าไม่เหมาะ เพราะไม่ได้แจ้งไว้ ล่วงหน้า อีกทั้งฝนฟ้าก็กำลังตกแรง  กลับถึงขอนแก่น เกือบสามทุ่ม

ไปเที่ยวครั้งนี้  ได้เรียนรู้  และได้กลับมาทำการบ้าน  เพิ่มความรู้ให้ตัวเอง  แล้วก็เลยเอามาเผื่อแผ่ผู้สนใจด้วย 

« « Prev : เข้าสู่สภาพปกติ และเกินปกติ

Next : เจอเรื่องดีดี แต่เช้ามืด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 เมษายน 2011 เวลา 12:27 (เย็น)

    แหม มาเฉียดแบบเส้นยาแดงผ่าแปดเลยนะนี่
    ถ้าแม่ใหญ่แวะมา ฝนตก ก็นอนสักคืนก็ได้
    จากสตึกไปขอนแก่น
    งีบหนึ่งก็ถึงแล้ว ..

    ช่องสะงำเคยไปเที่ยวหลายปีมาแล้ว
    ต้องมีเวลาไปช่องทางลับ จะเห็นอะไรๆเยอะเลย อิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.39963603019714 sec
Sidebar: 0.33507108688354 sec