รู้ว่าไม่รู้อีกมากมาย

8 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 24 เมษายน 2011 เวลา 7:41 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1782

การเดินทางไปร่วมกับกลุ่ม “เฮ” ที่โคราชครั้งนี้  ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆมากมาย  แม้จะเป็นช่วงเวลา เพียง หนึ่ง คืนสองวัน เท่านั้น  เรื่องแรก ที่ได้เรียนรู้เมื่อไปถึง  ก็คือเรื่องจุลินทรีย์  สามารถเอาไปทำ  พลาสติค ได้  อะไรจะขนาดนั้น!!! อาจารย์อธิบายได้อย่างชัดเจน   แต่คนฟัง   ฟังอย่างเบลอๆเล็กน้อย   เพราะตัวเอง ไม่มีพื้นฐานทางนี้เลย  เป็นนักเรียน สายศิลปภาษา   เลยไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับจุลินทรีย์   นอกจากได้ยินผ่านหู ผ่านตาบ้าง  รู้เรื่อง EM มา หน่อยๆ รู้เรื่องการหมักแก็สธรรมชาติมานิดๆ  พอมารู้ว่า เจ้าตัวเล็กๆที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนี้ สามารถนำไปทำอะไรต่อมิอะไร ได้มากมายแล้ว จึงต้องยอมรับว่าทึ่ง และอึ้ง ไปเลย  แล้วก็จะต้องมีการบ้าน หัวข้อใหญ่ที่ต้องกลับมาศึกษาต่อไปอีกมาก

ตอนเย็นไปทำอาหารทานกันที่บ้านอาจารย์ทวิช อาจารย์ย่างไก่ด้วยเตาพิเศษแบบใหม่ล่าสุดที่ประหยัดเวลา และรสชาดอร่อยนุ่มนวล   แต่เนื่องจากบรรยากาศไม่ค่อยเป็นใจ  เพราะต้องทำตัวสั่น แข้งขากระดิก หลบยุงป่า  อยู่ตลอด เวลา จนไม่เป็นอันตั้งสติสังเกต หรือพูดคุยกับใคร   ดีที่ช่วงหลัง คุณ logos ไปซื้อยากันยุง มาวางไว้ให้     จึงค่อยคุยได้รู้เรื่องมากขึ้น

มาคราวนี้ ได้เจอชาวลานตัวเป็นๆเพิ่มขึ้นอีกหลายคนเช่น  อ.ทวิช  ลุงเปลี่ยน ครูปู คุณ Logos และป้าจุ๋ม   คนสุดท้ายนี้  พอเจอแล้วตื่นเต้นมาก  เพราะกลายเป็นคนที่เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน ตั้งแต่เมื่อ  40 ปีที่แล้ว  พอเห็นหน้ากันก็รู้สึกคุ้น  แต่พอป้าจุ๋มรำลึกเรื่องความหลังเก่าๆ บางเรื่องขึ้นมาให้ฟัง    ก็นึกออก  เหมือนได้เอา ภาพเก่าๆในสมัยกระโน้น  ขึ้นมาฉายซ้ำ จนแจ่มแจ๋วไปเลย

การเจอตัวเป็นๆหลังจากที่เคยได้อ่านความคิดของเขามาก่อนแล้วนั้น  ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกันได้รวดเร็ว และจับแนวถูกว่า คนไหนเป็นอย่างไร  สันทัดเรื่องอะไร  เพราะในลานปัญญา  คนเขียน เอาตัวจริง  ความรู้สึกนึกคิดจริง    มาตีแผ่อย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา  ไม่มีอาการเขียนอย่างพูดอย่าง  ไม่ต้องกลัวว่าจะมาถูกหลอก   ไม่เหมือนพวกเด็กสาวๆที่ไปแอบมีกิ๊กในเนต  แต่พอไปเจอตัวจริง แล้วก็ผิดหวัง  เพราะไม่เหมือนอย่างที่คิดไว้  เคยมีเรื่องราวฟ้องร้องกันในต่างประเทศ  ที่ชายหญิงสองคน คุยกันในเนตมาแรมปี จนรักกัน ชอบพอกัน  จึงนัดเจอตัวจริง   ปรากฎว่าฝ่ายชายพบว่า  ฝ่ายหญิงแก่กว่าฝ่ายชายเกือบสองรอบ  เลยโดนฝ่ายชายฟ้องว่าฝ่ายหญิงหลอกลวง  เรื่องนี้ จบลงอย่างไร ไม่ได้ติดตาม   แต่การไปเจอตัวเป็นๆของชาวลานครั้งนี้  แม่ใหญ่ไม่แปลกใจ เพราะรู้จักทุกคนมาก่อนแล้วจากการอ่าน

วันรุ่งขึ้น  ตอนเช้า ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ ที่รวบรวม เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณมาแสดงไว้อย่างมากมาย  มีห้องเล็กๆห้องหนึ่งที่  อาจารย์ทวิช  แสดงผลงานที่คิดขึ้น  มีทั้งที่ยังไม่ได้จดสิทธิบัตร  และยังไม่ได้นำออกเผยแพร่    ที่แม่ใหญ่ติดใจก็มี ที่ดื่มน้ำของเด็กๆ ที่ปรับระดับได้ตามความสูงต่ำของคนดื่ม  ที่สีข้าว ซึ่งหน้าตาเหมือนเครื่องออกกำลังขาแขน ในโรงยิมไม่มีผิด  เตาถ่าน ที่อาจารย์ นำมา วิจัยและพัฒนา จนได้เตาที่ให้ความร้อนสูง  ใช้เชื้อเพลิงไม้(น้อยกว่าเตาทั่วไปหลายเท่า) ราคาแค่ห้าร้อยบาท  ถ้านำไปแจกชาวบ้านที่ใช้เตาถ่าน  จะลดการเผาป่าไปปีละเป็นหมื่นล้าน  สิ่งประดิษฐ์สุดท้ายที่แม่ใหญ่ชอบมากๆ คือที่ตากเมล็ดข้าว  ซึ่งทำง่ายมากๆ แต่มันช่าง practical จริงๆ  ไม่ว่า จะการกลับหน้าเมล็ดข้าว  การประหยัดเวลาในการตาก  แถมไม่ต้องกลัวน้ำท่วมอีกด้วย (ขออนุญาตไม่อธิบายในรายละเอียด   เพราะพูดได้ไม่เหมือนเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ )ระหว่างการชมพิพิธภัณฑ์ ได้เดินคุยกับพวกพ่อใหญ่สามคนที่พ่อครูพามาจากพุทไธสงค์  พ่อใหญ่สามคนนี้จะรู้จักเครื่องไม้เครื่องมือโบราณนี้ได้ดีกว่าพวกเรา  เพราะหลายอย่างพ่อใหญ่เคยได้ใช้มาก่อน  ได้แอบถามเรื่องปลูกข้าวทำนา  และบอกว่าแม่ใหญ่อยากทำนาสาธิตที่ขอนแก่นสักหนึ่งไร่ โดยใช้เทคโนโลยี่พื้นบ้าน  อย่างกังหันลมและระหัดวิดน้ำเข้านา  แม่ใหญ่ก็อยากนำมาใช้ที่นา  เอาไว้ให้เด็กนักเรียนได้ศึกษากัน    ป้าจุ๋มได้ยิน  เลยอาสาจะมาเป็นที่ปรึกษาให้อีกแรง  พ่อใหญ่ทั้งสามก็แนะนำพันธ์ข้าว  และวิธีการปลูกแบบต่างๆ  แม่ใหญ่เลยบอกว่า มาบอกเล่าแค่นี้ ไม่พอ  แม่ใหญ่เอาไปทำไม่ได้หรอก ไม่มีประสบการณ์เลย  ต้องมาเป็นที่ปรึกษาตัวจริงให้ด้วย เลยตกลงกันว่า  เราจะเริ่ม โครงการแปลงข้าวสาธิตกันต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพราะป้าจุ๋มให้ความรู้แม่ใหญ่ว่า  ให้ปลูกวันเกิดแม่ (12 สิงหาคม) เก็บเกี่ยววันเกิดพ่อ( 5 ธันวาคม)  ต้องขอบคุณป้าจุ๋มที่บอกอะไรที่ทำให้แม่ใหญ่จำง่ายๆดีจริงๆ

หลังจากนั้น ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน  ซึ่งได้จัดแสดงอย่างน่าสนใจ  และมีชีวิตชีวา   ได้ขอรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่เอาไว้แล้ว   ตั้งใจจะนำไปให้ครูที่โรงเรียน พานักเรียน   มาทัศนศึกษาที่นี่ภายในภาคการศึกษาหน้า

ตอนบ่ายได้ตามพ่อครูไปที่ศูนย์วิจัยไม้อาคาเซีย  หรือที่เรารู้จักกันในนาม กระถืนณรงค์  ได้ไปเห็นกระถินณรงค์พันธ์ใหม่ต้นตรง สูงชลูด อายุประมาณสิบปีขึ้น  พ่อครูบอกว่า  เป็นไม้เนื้อแข็ง  สวยงาม เอาไปปลูกสร้างบ้านเรือนได้ดี  ใช้เวลาปลูกน้อยกว่าต้นสัก  แต่คุณภาพไม่แพ้กัน  แม่ใหญ่เกิดกิเลสอีกแล้ว  เอ มีที่ดินอยู่อยู 4 ไร่ ปลูกข้าวไปแล้ว 1 ไร่  ยังพอมีที่ปลูกป่าอีก สัก 1 ไร่กระมัง  เจ้าหน้าที่บอกว่า วันที่ 2 พฤษภาคม จะแจกกล้าไม้ 500 ต้น โดยแค่เอาบัตรประชาชน  มาแสดงเท่านั้น  ป้าหวานบอกจะเอา 1000 ต้นก็ได้นะ ป้าหวานให้ยืมบัตรอีกใบ  ก็เลยบอกว่า 500 ต้นคงพอแล้ว  อาจจะมากเกินที่ดินก็เป็นได้ ยังไม่ได้เรียนรู้เลยว่า เขาปลูกห่างถี่กันแค่ไหน  ได้ยินพ่อครูสอนคุณชลิตที่ร่วมเดินทางมาด้วย ว่าให้ปลูกห่างทุกๆหกตารางเมตร แล้วปลูกไม้หอมจีนแทรกตรงกลางระหว่างต้นอาคาเซีย   แม่ใหญ่ก็ได้ การบ้านอีกข้อให้ต้องค้นคว้าต่อไปอีกแล้ว

สรุปว่า เดินทางคราวนี้  ได้เรียนรู้เรื่องใหม่อีกมาก  ได้การบ้านมาหาคำตอบก็อีกหลายเรื่อง   ขอบคุณผู้คนที่ได้ไปพบเจอะเจอ และโอกาสดีดี ขอบใจยายจิ๊กที่ช่วยขับรถและถ่ายรูป  เชื่อว่าจิ๊กเองก็ได้เรียนรู้ไม่น้อยไปกว่าแม่เหมือนกัน


เตรียมพร้อมแล้ว

9 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 21 เมษายน 2011 เวลา 6:58 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1429

สมาชิกทางขอนแก่นนัดแนะเรื่องการเดินทางไปไหว้ย่าโมเรียบร้อยแล้วนะคะ  ตกลงทีมเราไปกันสี่คน มีป้าหวาน ลุงเปลี่ยน แม่ใหญ่ และน้องจิ๊ก (ลูกสาว) ที่อาสามาเป็นสารถีให้ โดยต้องโดดกิจกรรมค่ายไปครึ่งวัน  แถมยังต้องเอางานแปลแบกไปทำด้วย  แต่จิ๊กก็สมัครใจไป เพราะได้ยินแม่ใหญ่พูดถึงลานปัญญาอยู่บ่อยๆ  และแม่ใหญ่ก็โฆษณามากว่า จะได้ดูเรื่องดีดีที่ท่านจอหงวนคิดประดิษฐ์ขึ้น (โฆษณาตามที่อ่านของพ่อครู ตัวเองก็ยังไม่ได้เห็นเหมือนกัน)

เขียนไปชวนออตในเฟสบุคแล้วว่าให้ไปด้วยกัน  ยังเหลือที่ในรถอีก 1 ที่ และรับรองจะมาส่งให้ที่ท่ารถ สถานีรถไฟ  ไม่ว่าจะดึกดื่นป่านใดในวันที่ 22  หรือจะกลับหกโมงเช้าวันที่ 23 ก็มาส่งให้ที่ท่ารถได้  รถวิ่งแค่สองชั่วโมง    ยังมาทำงานทันแน่ๆ   ก็ไม่รู้ว่าตาออต จะอิดออดสมชื่ออีกหรือเปล่า

ไปคราวนี้ แม่ใหญ่ เตรียมของสำเร็จรูปไปร่วมด้วยช่วยกันนะคะ  เอาใส้กรอกเปรี้ยวทอดไปสองกิโล  ปลาส้มทอดอีกสองกิโล  พร้อมข้าวเหนียวนึ่ง  และแจ่วบอง ผักจิ้ม   ตอนป้าหวานไปทำอาหาร ก็อาสาจะไปช่วยหั่นๆและล้างเก็บกวาดแทน เพราะต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ทำกับข้าวไม่เป็น ทั้งๆที่มีแม่ (ยายจ๋า) ทำอาหารอร่อยสุดยอด   เป็นลูกสาวไม่รักดีค่ะ  แม่เรียกเข้าครัว เริ่มด้วยปอกหอมปอกกระเทียม  ก็เบื่อ หนีงาน ไม่ยอมทำ  แถมเถียงแม่ฉอดๆว่า “หนูจะไม่ทำกับข้าว  หนูจะซื้อก๋วยเตี๋ยวกิน”  พอไม่มีแม่แล้ว นึกถึงอาหารอร่อยๆรสมือแม่ แล้วเสียดายว่ารู้งี้เรียนวิชาไว้หน่อยก็คงจะดี

การไปร่วมเฮคราวนี้  ถือเป็นครั้งแรก  เป็นน้องใหม่วัยดึกค่ะ  เมื่อคราว GTK มาประชุมสัมนาที่ขอนแก่นเมื่อสองปีที่แล้ว ก็ได้เยี่ยมหน้าเข้าไปประเดี๋ยวประด๋าวเพราะติดธุระ  คราวนี้ตั้งใจว่าจะอยู่ให้ตลอดรายการเลย

เจอกันนะคะ

ก่อนไปก็ทำการบ้านนะ  กลับไปอ่าน บล็อคของหลายๆคน  ที่ลงชื่อจะไป เพราะการอ่านความคิดอ่านของแต่ละคน ทำให้เราได้รู้จักตัวเขาไว้ก่อนพอประมาณ  เดี๋ยวไปเจอตัวจริงแล้วจะทักไม่ถูก  ยิ่งขี้หลงขี้ลืมอยู่ด้วย 


ไปช่องสะงำ

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 19 เมษายน 2011 เวลา 10:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1908

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ได้มีโอกาสไปส่ง  ลูกเขยฝรั่ง  กลับไปทำงานให้กาชาดสากลที่เมือง  อัลลองเวง ติดชายแดนไทย เขมร  เวลาจะเดินทางเข้า ออก ประเทศ  ต้องผ่านทางด่านช่องสะงำ จังหวัดศรีษะเกษ 

ปกติลูกสาวลูกเขยเขาก็ไปรับไปส่งกันเอง   แต่เที่ยวนี้ลูกสาวไม่ว่าง  ประจวบกับแม่ใหญ่ อยากไปดูบ้านเมืองแถบนั้นบ้าง   เพราะไม่ค่อยได้ไป  จึงขอติดรถไปด้วย      ขาไป ออกเดินทางจากขอนแก่น ไปแวะรับลูกชายคนเล็ก   ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วก็ให้เขาขับรถต่อไปให้    เดินทาง  ไปตามเส้นทาง มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด       มีอยู่ช่วงหนึ่ง  พอออกจากร้อยเอ็ด เข้าสุรินทร์  จะ เป็นทุ่งนาผืนกว้างใหญ่    ดูแห้งแล้งมากๆ  ต้นไม้ใหญ่แทบจะไม่มี  แต่ก็มีร่องรอยปลูกข้าวเต็มผืนนา  เพราะยังมีซังข้าวแห้งหลงเหลืออยู่   ช่วงปลูกข้าว คงต้องรอฝนเพียงอย่างเดียว ไม่ค่อยเห็นแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงเลย    แต่ได้เห็นร่องรอยการขุดคลองยาวขนานไปกับถนน  หลายสิบกิโลเมตร  ดูเป็นคันคลองที่เพิ่งถูกขุดใหม่ๆ  น่าจะเอาไว้เก็บกักน้ำ เมื่อฝนตก  ในฤดูฝนที่จะถึงนี้ 

ขับรถผ่านท่าตูม   และเลี่ยงเข้าเส้นวงแหวน  ไม่ได้ผ่าเข้าไปในเมืองสุรินทร์  ขับต่อไปจนถึงสังขะ    ดูป้ายชื่อรายทาง ชักจะฟังไม่เป็นภาษาไทยแล้ว ออกจะเป็นสำเนียงเขมรอยู่มาก  มองดูผู้คนชาวบ้าน  ก็ดูตัวเล็กๆ ดำๆ  ไม่ค่อยเหมือนคนไทยในภาคอื่นๆ  พูดภาษาฟังไม่ค่อยรู้เรื่องแต่ได้ยินเสียงกระดกลิ้น ตัวรอ ตัวควบกล้ำ ค่อนข้างชัดเจน    จากสังขะ ขับรถต่อไปจนถึง   จุดผ่านแดนถาวรบริเวณช่องสะงำ อ.ภูสิงห์  จังหวัดศรีสะเกษ  มีชายแดนติดกับอำเภออัลลองเวง  จังหวัดอุดรมีชัย  ซึ่งเป็นประตูสู่นครวัด-นครธม  ในเขตจังหวัดเสียมราฐของราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีระยะทางจากอำเภออัลลองเวงถึงจังหวัดเสียมราฐ ประมาณ 135  กิโลเมตร    การเปิดด่านนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวรในจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อการค้าและการท่องเที่ยว  ซึ่งจะทำให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นศูนย์กลางทางการค้า  การท่องเที่ยวในอีสานตอนใต้  สามารถเชื่อมโยงกับสามเหลี่ยมมรกต  ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีขึ้นในสามประเทศ  คือ ไทย-กัมพูชา-ลาว  ไปแล้วก็อยากรู้อยากเห็นมากขึ้น จึงได้กลับมาค้นเรื่องราวของช่องสะงำ ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า

ข้อมูลทั่วไปช่องสะงำ

ช่องสะงำเป็นช่องทางทางธรรมชาติ ที่ติดต่อกับชายแดนไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา  เป็นเส้นทางที่ประชาชนทั้งสองประเทศ ใช้ติดต่อสัญจรกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ  โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เส้นทางสายนี้ถูกเรียกว่า “เส้นทางสายลวด”  ซึ่งชื่อนี้มาจากการที่เป็นเส้นทางสายโทรเลข ที่ใช้ติดต่อสื่อสารในช่วงที่เสียมเรียบ พระตะบองและศรีโสภณเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย  บริเวณเมืองอัลลองเวงใกล้กับช่องสะงำ ในอดีตยังเคยเป็นที่ตั้งของเขมรแดง    อีกทั้งเส้นทางช่องสะงำ - อัลลองเวง- เสียมเรียบ  ซึ่งเป็นเส้นทางจากช่องสะงำสู่นครวัด-นครธม  ยังเคยถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัย ของกองกำลังเขมรแดงอีกด้วย   ช่องสะงำตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านแซร์ไปร์ ตำบลไพรพัฒนา  การเดินทางจากอ.เมืองศรีสะเกษถึงจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์มีระยะทางประมาณ 105 กม.  จากช่องสะงำถึง จ.เสียมเรียบที่ตั้งนครวัด-นครธม มีระยะทางประมาณ 135 กม. (อรอุมา  ท่าบุญ, 2547:หน้า 21)

Image

 ระยะทางจากสังขะไปช่องสะงำ แค่ 40 กิโลเมตร แต่ถนนไม่ดี และทางค่อนข้างเปลี่ยว แต่ก็เห็นว่ากำลังปรับปรุงถนน ที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ด้วยการลาดยางทับไปบนผิวถนน อยู่หลายกิโลเมตร  พอเข้าใกล้ช่องสะงำ  ก็เห็นภูเขาเป็นแนวยาวอยู่ข้างหน้า  นึกถึงวิชาภูมิศาสตร์ที่เคยเรียนนึกไม่ออกว่าชื่อภูเขาอะไร   เลยต้องกลับมาค้นคว้าอีก  ถึงบางอ้อ ว่าชื่อ ภูเขาพนมดงรัก  ซึ่งเป็นแนวเขายาวตลอดชายแดน   ตรงส่วนช่องสะงำนี้ ชาวบ้านเรียกว่า ภูสิงห์   รู้สึกคลับคล้ายคลับคลากว่าเคยเป็นข้อสอบสมัยมัธยม ว่า เทือกเขาไหน กั้นเขตแดนอะไรบ้าง  แต่มาบัดนี้จำไม่ได้แล้ว ดีที่ยังมีที่ให้ค้นคว้า เรียกคืนความทรงจำ  ข้อมูลของพนมดงรัก ทีกลับมาค้นพบมีดังนี้

ทิวเขาพนมดงรัก  เป็นทิวเขาหินปูนอยู่ทางตอนใต้สุดของภาค เริ่มต้นจากบริเวณช่องตะโก ซึ่งเป็นรอยต่อกับทิวเขาสันกำแพงไปทางทิศตะวันออกจนถึงภูแดนเมือง แล้วทอดตัววกขึ้นเหนือไปสุดที่ลำน้ำโขง ในเขตอำเภอพิบูลมังษาหาร รวมความยาว ประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร เป็นทิวเขาแคบ ๆ มีความกว้างระหว่าง ๔ - ๒๕ กิโลเมตร ทางด้านเหนือมีลักษณะเป็นลาดยาวไปทางพื้นที่ราบสูง ซึ่งสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร ส่วนด้านใต้เป็นผาชันลงไปสู่ที่ราบต่ำที่เรียกว่าเขมรต่ำ ยอดเขาสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ เมตร ยอดสูงสุดคือพนมดงรัก สูง ๗๒๑ เมตร อยู่ทางใต้อำเภอเดชอุดม เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำโดมใหญ่ ยอดสูง ๆ จะอยู่ในเขต จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งจะมีความสูงเฉลี่ย ประมาณ ๖๐๐ เมตร ได้แก่
            พนมแม่ไก่  สูง ๕๓๒ เมตร อยู่ทางใต้ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
            พนมตาเหมือน  สูง ๖๗๒ เมตร อยู่ทางใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
            เขาพระวิหาร   สูง ๖๕๗ เมตร อยู่ในเขต อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
            ในทิวเขานี้มีช่องทางผ่านหลายช่อง ที่สำคัญคือ ช่องจอม ช่องเสม็ด และช่องเม็ก
            นอกจากทิวเขาทั้งสี่ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีเนินเขาโดด ๆ ไม่สูงนักอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ของภาคในบริเวณพื้นที่ระหว่างลำน้ำสงครามกับลำน้ำโขงได้แก่
            ภูสิงห์  สูง ๔๑๘ เมตร ยาวประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
            ภูวัว  สูง ๔๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
            ภูเขาเหล่านี้เป็นปลายของทิวเขาที่ต่อเนื่องมาจากดินแดนฝั่งตะวันออกของลำน้ำโขง

ส่งลูกเขยไปเมื่อเวลา บ่ายสอง  เขาชวนไปกินลมชมวิวที่ร้านอาหารในเขมร  แต่เห็นเมฆฟ้าครึ้มดำมาเป็นทิว กับรายงานอากาศที่ทราบมาก่อนว่าจะมีฝนตกหนักในวันนี้ จึงไม่รับคำเชิญ  รีบหาทางกลับขอนแก่น โดยใช้คนละเส้นทางกับขามา  คือ ออกจากสังขะ  เข้าสุรินท์    ผ่านมาทาง สตึก บรบือ บ้านไผ่ และเข้าขอนแก่น   ตอนผ่านสตึก ฝนกำลังตกหนัก  และเจอฝนมาจนถึงบรบือ ต้องขับรถช้าๆระมัดระวังมาตลอดทาง   นึกอยากเยี่ยมแวะกราบพ่อครูบาที่สตึก   แต่เห็นว่าไม่เหมาะ เพราะไม่ได้แจ้งไว้ ล่วงหน้า อีกทั้งฝนฟ้าก็กำลังตกแรง  กลับถึงขอนแก่น เกือบสามทุ่ม

ไปเที่ยวครั้งนี้  ได้เรียนรู้  และได้กลับมาทำการบ้าน  เพิ่มความรู้ให้ตัวเอง  แล้วก็เลยเอามาเผื่อแผ่ผู้สนใจด้วย 


ดอกไม้ไทย 5 ชนิด…พิชิตโรค

3 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 7 เมษายน 2011 เวลา 5:57 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1569

มีเพื่อนส่ง forwarded mail มาให้ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงเอามาลงไว้อีกครั้ง ไม่แน่ใจว่าเคยมีใครเขียนไว้ก่อนแล้วหรือยัง เพราะจริงๆเรื่องนี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่อย่างกว้างขวางแล้ว

ดอกขจร
ดอกไม้หาง่ายในท้องตลาดราคาย่อมเยา ทั้งยังปลอดสารพิษ รสชาติอร่อย ส่วนใหญ่จะนำมาปรุงเป็นขนมดอกขจร หรือตอนนี้ดอกสีเขียวอ่อนนำมาผัดน้ำมันหอย ปรุงในจานยำ จิ้มน้ำพริกชุบแป้งทอด

ประโยชน์ : มีแคลเซียมสูงบำรุงกระดูกและฟัน วิตามินเอบำรุงสายตา สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลด้วย

ดอกแค
คนโบราณบอกว่าดอกแคแก้ไข้หัวลม เหมาะจะกินช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเปลี่ยนฤดู และดอกแคยังมีใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ จึงช่วยในระบบขับถ่ายได้ดี เหมาะจะนำมาใส่ในแกงส้ม จานยำ หรือผัดใส่หมูสับ กุ้งสับ หรือจะลวกจิ้มน้ำพริก

ประโยชน์ : ช่วยแก้ปัญหาท้องผูก และป้องกันโรคมะเร็งลำไส้

ดอกโสน
ขนมดอกโสนที่คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่รู้จักกันดี มีรสหวานชวนรับประทาน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น นำมาชุบแป้งทอดกรอบ รับประทานกับขนมจีนน้ำพริก ผัดน้ำมันหอยนำไปลวกจิ้มน้ำพริก แกงดอกโสน ยำดอกโสน

ประโยชน์ : เป็นยาแก้ปวดมวนท้อง

ดอกอัญชัน
เมื่อก่อนคนนิยมใช้นำมาปรุงแต่งสีสันอาหารให้ดูน่ารับประทาน เช่น ขนมช่อม่วง ขนมชั้น เล็บมือนาง โดยคั้นเอาน้ำมาผสมกับอาหารก่อนจะปรุงหรือหยอดสีม่วง ตอนหุงข้าวจะได้ข้าวสีสวย แต่ตอนนี้เริ่มเป็นที่นิยม โดยนำดอกไปตากแห้ง หรือใช้ดอกสดต้มน้ำและเติมน้ำตาล มะนาว ดื่มแก้กระหายคลายร้อน

ประโยชน์ : สารแอนโธไซยานิน มีอยู่มากในดอกอัญชัน จึงช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น

หัวปลี
เป็นดอกของต้นกล้วย กินได้ทั้งแบบดิบและสุก รสชาติจะฝาด นำกลีบมาชุบแป้งทอดกินได้ หรือจะใช้ใส่ในแกงเลียง ต้มยำไก่ กินแกล้มกับขนมจีนน้ำพริก ทำทอดมัน และอีกสารพัดเมนูของอร่อย ซึ่งหาทานได้ง่ายมาก มีมากมายตามสวนไร่นา

ประโยชน์ : บรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร ใบหัวปลีมีธาตุเหล็ก บำรุงเลือด ป้องกันโลหิตจาง และลดน้ำตาลในเลือด


เที่ยวไปเรียนไป

1 ความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 26 มีนาคม 2011 เวลา 11:44 (เย็น) ในหมวดหมู่ เรื่องที่เรียนรู้ #
อ่าน: 1436

                  มาเมืองตราดคราวนี้ มีเรื่องให้แปลกใจ เพราะตั้งแต่เข้าเขตเมืองมาก็เห็นธงแดง  มีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง ปลิวไสวไปทั่วเมือง    เลยเกิดอาการสงสัย ไปสอบถามชาวบ้านร้านถิ่น จึงทราบว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของเมืองตราด  จากฝรั่งเศส   ตั้งแต่เมื่อ 104 ปีก่อน   คือวันที่ 23 มีนาคม   2449    ชาวตราดจึงได้จัดงานวัน “ดราดรำลึก  ขึ้นทุกๆปี เพราะถือว่าเป็นวันสำคัญ   และธงแดงรูปช้างสีขาว ก็คือธงที่ใช้ในประเทศไทย ก่อนที่จะมาเป็นธงไตรรงค์เช่นปัจจุบันนั่นเอง

และเพื่อให้รู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไหนๆก็มาถึงถิ่นแล้ว   จึงเข้าไปค้นหาใน กูเกิ้ล  ได้พบประวัติเมืองตราดโดยละเอียดว่า

อ่านต่อ »



Main: 0.11014699935913 sec
Sidebar: 0.089296102523804 sec